การแถลงผลการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) ครั้งแรกของนอนนอนและอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย

การแถลงผลการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) ครั้งแรกของนอนนอนและอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย

อธิวัตร จิรจริยาเวช นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้นำโครงการ การศึกษารูปแบบธุรกิจ ‘การบริการในรูปแบบสินค้า’ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA): กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์ที่นอนที่ใช้ในธุรกิจโรงแรม ที่นอนนอนได้ริเริ่มขึ้นเพื่อประเมินขีดความสามารถของนอนนอนในการช่วยลดการเกิดขยะ ก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะจากการผลิต ใช้ และทิ้งที่นอน ได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาดังกล่าว ใน การประชุมเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมเชิงระบบสำหรับขยะฟองน้ำโพลียูรีเทน” ปี 2566 (Circular Systems Innovation for Flexible Polyurethane Foam Waste Workshop 2023: CSI-PW 2023) ณ โรงแรม The Peninsula Bangkok กรุงเทพฯ

โดย LCA เป็นวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณที่พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การขุดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้เป็นวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่การใช้งาน การใช้งานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทิ้งหรือกำจัดซากของผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน โดยในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการจำแนกวัฏจักรชีวิตของที่นอนที่ใช้ในอุตสาหกรรมโรงแรมออกเป็น 5 สถานการณ์ด้วยกัน ภายใต้สมมติฐานการใช้งานที่นอนเป็นระยะเวลา 10 ปี

สถานการณ์ที่ 1: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

สถานการณ์ที่ 2: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจโรงแรม จำนวน 354 แห่ง และหน่วยงานจัดการขยะทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 50 แห่ง ใน 8 พื้นที่เป้าหมาย ซึ่งได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย เมืองพัทยา จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น)

สถานการณ์ที่ 3: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกนำไปรีไซเคิลตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอน

สถานการณ์ที่ 4: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

สถานการณ์ที่ 5: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจฯ)

โดยที่นอนคุณภาพสูงที่ใช้เป็นหน่วยศึกษา (functional unit) คือ ที่นอน ยี่ห้อ สปริงเมท รุ่น Pocket Coil Heritage PT ขนาด 107 x 198 ซม. ส่วนที่นอนคุณภาพต่ำเป็นขนาดเดียวกัน แบบที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป

จากผลสำรวจฯ พบว่า หลังพ้นการใช้งานแล้ว ประมาณ 50% ของที่นอน (โดยน้ำหนัก) จะถูกโรงแรมส่งไปฝังกลบ 30% ถูกจำหน่าย บริจาค หรือส่งต่อเพื่อนำไปใช้งานซ้ำ 17% ถูกนำไปรีไซเคิล และ 3% ถูกนำไปเผา (เทียบกับการจัดการซากที่นอนตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอนที่อย่างน้อย 62% ของที่นอน (ลวดสปริง ฟองน้ำ ฯลฯ) จะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล ซึ่งเท่ากับเป็นการลดการนำที่นอนไปฝังกลบและเผาทำลาย)

จากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใน 5 สถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการ ReCiPe Midpoint และ ReCiPe Endpoint อันเป็นวิธี LCA ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 17 ด้าน พบว่ามีผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่หนักที่สุด 3 ด้านในทั้ง 5 สถานการณ์ ได้แก่ ผลกระทบด้านภาวะโลกร้อน การก่อตัวของอนุภาคขนาดเล็ก (fine particulate matter formation) หรือมลภาวะทางอากาศ (PM2.5) และการก่อตัวของสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ (human non-carcinogenic toxicity)

นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังได้มีการประเมินค่าการหมุนเวียนของวัสดุ (Material Circularity Indicator) ซึ่งเป็นการประเมินสัดส่วนการถูกนำกลับมาใช้ใหม่ของวัสดุต่างๆ ในผลิตภัณฑ์ (แทนที่การถูกทิ้งเป็นขยะ) ตามหลักการของมูลนิธิเอเลน แมคอาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation) ผู้นำด้านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก โดยค่าดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 โดยค่า 0 หมายถึงการที่วัสดุต่างๆ สุดท้ายกลายเป็นขยะและไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด และค่า 1 หมายถึงการที่วัสดุทั้งหมดได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าในสถานการณ์ที่ 1, 2 และ 3 ค่าดังกล่าวอยู่ที่ 0.10, 0.32 และ 0.41 ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่านอนนอนจะมีส่วนในการช่วยให้วัสดุต่างๆ ในที่นอนถูกนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 28%

การศึกษาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตที่นอนสปริงเมท และได้ถูกดำเนินการโดย สทสย. ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2566 โดยถือเป็นการจัดทำ LCA ครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย


ขอบคุณที่มา : nornnorn

Share