วันที่ 16 กันยายน 2562 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) ร่วมกันจัดงานเสวนา “โครงการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ
นอกจากการกล่าวเปิดงานโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้ข้อคิดดี ๆ และโจทย์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (สามารถดูรายละเอียดที่ https://www.naewna.com/local/440801) และปาฐกถาพิเศษโดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในงานยังมีการเสวนาที่น่าสนใจอีกสองช่วงจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ที่สนใจจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอีกด้วย
ทางสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมได้รวบรวมประเด็นจากการเสวนา และเรียบเรียงให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ด้วยความขอบคุณวิทยากรทั้งหกท่านจากการเสวนาทั้งสองช่วง ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม” และ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเพื่อสังคม” ได้แก่
- นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
- นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม
- นางจินตนา จันทร์บำรุง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
- นายอัครราชย์ บุญญาศิริ นักวิชาการภาษีชำนาญการพิเศษ กองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร
- นายกิตติศักดิ์ โชติพนิชเศรษฐ์ ผู้อำนวยการส่วนพิจารณาข้อพิพาทและแก้ไขข้อโต้แย้ง กองทะเบียนธุรกิจกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มีการประกาศใช้แล้วหรือยัง?
พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ใน พ.ร.บ. มีคำว่า “ตามคณะกรรมการประกาศกำหนด” หรือ “ตามสำนักงานประกาศกำหนด” อยู่หลายแห่ง ซึ่งแปลว่าตัว พ.ร.บ. เองเป็นกรอบกฎหมายในภาพกว้าง และการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. หลายประการต้องมีกฎหมายลำดับรองอีก 26 ฉบับมารองรับ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 และมีประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม การแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ขั้นตอนหลักในการร่างกฎหมายลำดับรองมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ร่างกฎหมายลำดับรอง สวส. 2) เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และ 3) คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาร่าง ก่อนนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมพิจารณา ปัจจุบันได้มีการร่างกฎหมายลำดับรองแล้ว 11 ฉบับ โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปบางส่วน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง
วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วต้องทำอย่างไร?
หลายคนอาจสงสัยว่า พ.ร.บ. ก็เพิ่งจะบังคับใช้ไปไม่นาน และตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ซึ่งระบุการยื่นคำขอจดทะเบียน ก็ยังมีเกณฑ์ข้อ (8) ที่ระบุว่านอกจากเอกสารและข้อมูลตามข้อ (1) – (7) แล้ว ยังอาจมีรายการอื่นที่คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดได้อีก แต่ประกาศก็ยังไม่ออกมา แปลว่าน่ายังไม่มีกิจการใดที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม แล้วทำไมถึงมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วหละ?
ประโยคที่ว่า “ยังไม่มีกิจการใดที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม” จะถูกต้องเมื่อเติมท้ายว่า “หลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน (เดือนกันยายน 2562)” เพราะก่อนหน้านี้มีกิจการจำนวน 103 แห่งได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ใกล้เคียงกับ พ.ร.บ.
ส่วนที่ต่างกันหลัก ๆ คือ
- ตาม พ.ร.บ. กิจการที่จะขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องเลือกด้วยว่าจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทใด ระหว่างประเภทไม่ประสงค์ หรือประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ไม่มีการแบ่งประเภทดังกล่าว การแบ่งประเภทมีผลคือ
- เกณฑ์ในการพิจารณาที่มาของรายได้ต่างกัน ประเภทประสงค์จะแบ่งปันกำไรต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 50% มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการ แต่ประเภทไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรอาจมีรายได้น้อยกว่า 50% มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการได้
- เกณฑ์ในการพิจารณาการบริหารจัดการผลกำไร ประเภทประสงค์จะแบ่งปันกำไรจะแบ่งปันกำไรให้ผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 30% ของผลกำไรทั้งหมด ส่วนประเภทไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรก็ไม่ต้องพิจารณาประเด็นนี้อยู่แล้ว
(มาตรา 5 และ 6)
- อาจมีการระบุหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ระบุวัตถุประสงค์ทางสังคม ประเภทคืนประโยชน์ให้แก่สังคม (มาตรา 5 (1))
- ในการยื่นคำขอจดทะเบียน นอกจากรายการต่าง ๆ ที่ปรากฎตามมาตรา 7 (1)-(7) แล้ว ยังอาจมีรายการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ตามมาตรา 7 (8)
ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายลำดับรองเกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นออกมาแล้ว วิสาหกิจเพื่อสังคม 103 กิจการจะต้องแสดงความจำนงว่าจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทใด และส่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เพราะฉะนั้นรอฟังข่าวเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องไว้ จะได้รีบดำเนินการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
กิจการที่มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในชื่อกิจการจะต้องทำอย่างไร?
นอกจากวิสาหกิจเพื่อสังคม 103 กิจการที่ได้รับการจดทะเบียนก่อน ยังมีกิจการอีก 133 แห่งที่ปัจจุบันใช้คำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในชื่อที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่ง พ.ร.บ. กำหนดให้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เช่นกัน หากการจดทะเบียนไม่ผ่านจะต้องถอดคำว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมออกจากชื่อกิจการ
ดังนั้น ในกลุ่มกิจการที่มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในชื่อกิจการ ขอให้ติดตามการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกณฑ์การยื่นจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจากการสอบถาม สวส. คาดว่ากฎหมายลำดับรองในประเด็นดังกล่าวน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จปลายเดือนตุลาคม และทาง สวส. จะได้แจ้งกิจการทั้ง 133 แห่งให้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป ระหว่างนี้ กิจการทั้ง 133 แห่งสามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้จากข้อมูลในคำถามต่อไป
จะจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมรายใหม่ต้องทำอย่างไร?
ปัจจุบันทาง สวส. ยังไม่ได้เปิดให้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมรายใหม่ โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้จากสำนักงาน สวส. ระหว่างนี้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นด้านล่าง ประกอบกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 – 7
- ผู้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งก่อน เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ เป็นต้น
- ในหนังสือรับรองนิติบุคคลต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ทางสังคมให้ชัดเจน สำหรับผู้ที่จดจัดตั้งนิติบุคคลไว้แล้ว สามารถขอจดวัตถุประสงค์ทางสังคมเพิ่มเติมกับนายทะเบียน
- จัดเตรียมเอกสารตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7
- ติดตามข่าวเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรอง และปรับปรุงแบบคำขอและเอกสารให้สอดคล้องกัน
การห้ามใช้คำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในชื่อกิจการ จะทำให้การจดทะเบียนนิติบุคคลยุ่งยากหรือไม่?
มีข้อสงสัยว่าในเมื่อการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม กิจการนั้น ๆ จะต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก่อน ยกตัวอย่างเช่น กรณีจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากที่จะต้องจดชื่อกิจการโดยไม่มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในชื่อ แล้วจึงไปขอขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมกับ สวส. เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจึงไปขอแก้ไขชื่อกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” อยู่ด้วย
ในประเด็นนี้ มีคำอธิบายคือการขอขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม มีเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งคือต้องมีการกำกับกิจการที่ดี ซึ่งหนึ่งในตัวชี้วัดคือการมีงบการเงิน แปลว่ากิจการนั้น ๆ ต้องมีการดำเนินกิจการมาอย่างน้อยหนึ่งรอบปีบัญชีจึงจะสามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ ด้วยเหตุนี้
- กิจการที่เคยจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและมีการดำเนินกิจการมาอย่างน้อยหนึ่งรอบปีบัญชี สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก่อน เมื่อได้รับการจดทะเบียนแล้วจึงขอแก้ไขชื่อกิจการกับนายทะเบียนที่รับจดทะเบียนนิติบุคคล
- กิจการใหม่ควรจดทะเบียนนิติบุคคลโดยไม่มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในชื่อ และให้มีการดำเนินกิจการอย่างน้อยหนึ่งรอบปีบัญชี แล้วจึงขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และขอแก้ไขชื่อต่อไป
มีข่าวว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมจะระดมทุนได้ จริงไหม ทำอย่างไร?
ทาง กลต. ประกาศว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมเมื่อจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 แล้ว จะสามารถระดมทุนขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปได้ โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ กลต. ซึ่งมีผลดีคือทำให้สามารถระดมทุนจากประชาชนเป็นวงกว้าง และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการระดมทุนต่ำ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในกรณีที่ กลต. ยกเว้นการยื่นคำขออนุญาตระดมทุนเป็นการเฉพาะให้กับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำนวน 77 แห่ง
การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจึงอยู่ที่การกำกับดูแลวิสาหกิจเพื่อสังคม โดย สวส. ซึ่งสามารถเพิกถอนวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ กลต. เสนอให้มีเกณฑ์กำกับวิสาหกิจเพื่อสังคม คือต้องมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของกิจการให้ผู้ลงทุนทราบ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และรายงานผลการระดมทุนต่อ สวส. เป็นรายปี สำหรับการกำกับดูแลกิจการที่ดีสามารถประยุกต์จากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในกรณีบริษัทจดทะเบียน 8 ข้อ โดย กลต. เสนอให้นำมาใช้กับในกรณีวิสาหกิจเพื่อสังคม 4 ข้อ ได้แก่
- คณะกรรมการเข้าใจบทบาทหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต
- การเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนต้องครบถ้วน ตามความเป็นจริง
- งบการเงินของวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องน่าเชื่อถือและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี
- ระบบบริหารความเสี่ยงหรือระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ
สำหรับกิจการที่สนใจจะระดมทุน จึงต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก่อน และต้องดำเนินกิจการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะมีการประกาศเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดีในโอกาสต่อไป รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุน และรายงานผลการระดมทุนต่อ สวส. ทุกปี
สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีความชัดเจนหรือยัง?
ปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรที่รองรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมอยู่แล้ว โดยนอกเหนือจากการได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ยังต้องดำเนินกิจการตามหลักเกณฑ์ เช่น ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน ยกเว้นการโอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคม สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือองค์การสาธารณกุศล โดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นกิจการอื่นก่อนครอบ 10 รอบระยะเวลาบัญชี เป็นต้น โดยวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมรายงานประจำปี ผ่านระบบออนไลน์
เมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 แล้ว จะไม่กระทบต่อกิจการที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีข้างต้น สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมรายใหม่ที่จะจดทะเบียน เฉพาะกิจการที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรเท่านั้นที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยทางกรมสรรพากรได้ให้แนวทางว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะไม่น้อยกว่าเดิม และการขอรับสิทธิประโยชน์จะสะดวก ไม่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ก็ตาม ต่างก็ยังมีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากร เพราะเป็นประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี
อย่างไรก็ตาม การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโยงกับการกำกับดูแลวิสาหกิจเพื่อสังคมของ สวส. อย่างใกล้ชิด หากวิสาหกิจเพื่อสังคมถูกเพิกถอนออกจากทะเบียน ก็จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับกรมสรรพากรย้อนหลังเช่นกัน นอกจากนี้การเปลี่ยนประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคมจากประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร มาเป็นประเภทประสงค์แบ่งปันกำไร ไม่กระทบต่อการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีก่อนหน้า เว้นแต่มีการเก็บกำไรไว้ไม่ปันผลในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี แล้วมาแบ่งปันผลกำไรในปีที่เปลี่ยนประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคม กรณีนี้ย่อมต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง