“Cheewid” เพื่อนคู่คิดด้านเทคโนโลยีสำหรับทุกองค์กรเพื่อสังคม | SE Stories ตอนที่ 6

“การสร้างองค์กรเพื่อสังคมเป็นเส้นทางที่ท้าทาย ซับซ้อน แล้วก็ค่อนข้างเดียวดายมาก ผมอยากให้คิดว่า Cheewid เป็นพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีคนหนึ่ง เมื่อคุณมาอยู่บนแพลตฟอร์มของเราแล้ว เราจะช่วยให้คุณสร้างองค์กรที่ยั่งยืน และสร้างผลกระทบได้จริง ๆ ทำให้เส้นทางของคุณง่ายขึ้น” คุณคริษฐ์ ศุภวัฒนกุล ผู้ก่อตั้ง Cheewid แพลตฟอร์มที่มีวิสัยทัศน์ในการช่วยเหลือองค์กรเพื่อสังคมในด้านเทคโนโลยีอย่างครบวงจร ปัจจุบันให้บริการด้านการระดมเงินสนับสนุน และการจัดการทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการรับอาสาสมัคร ให้กับองค์กรเพื่อสังคม ทั้งธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือโครงการเพื่อสังคมที่ริเริ่มโดยบุคคลทั่วไป

นอกจากจะได้รู้จัก Cheewid มากขึ้นแล้ว การพูดคุยกับคุณคริษฐ์ในบทสัมภาษณ์นี้ยังจะทำให้เพื่อน ๆ ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมได้ความรู้เกี่ยวกับนักลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งสั่งสมมาจากประสบการณ์การคลุกคลีกับกลุ่มนักลงทุนของคุณคริษฐ์ ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา


Q: Cheewid เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับอะไร

A: Cheewid เป็น digital infrastructure for social and public good (โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อประโยชน์ทางสังคมและสาธารณะ) เราเป็น partner ที่ช่วยให้องค์กรภาคสังคมเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในการให้บริการเป็นหลัก เราเป็นธุรกิจที่ให้บริการกับองค์กรอื่น ๆ เป็นรูปแบบ B2B ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางสังคมในการช่วยเหลือองค์กรเพื่อสังคมต่าง ๆ ได้แก่ มูลนิธิ ธุรกิจเพื่อสังคม โครงการเพื่อสังคม โรงเรียน และโรงพยาบาล ในการค้นหาเครื่องมือการระดมทุน และวิธีแก้ปัญหางานบริหารบุคคลใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาองค์กรเพื่อสังคมเหล่านี้ให้ก้าวกระโดดไปสู่โลกดิจิทัล

 

แรงบันดาลใจของการสร้าง Cheewid เริ่มต้นตั้งแต่ผมอยู่บริษัทให้คำปรึกษา ที่ชื่อว่า Accenture ซึ่งเป็นงานแรกที่ผมทำตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นผมได้มีโอกาสพัฒนากลยุทธ์การกระจายความช่วยเหลือและสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจด้านนี้ และต้องการที่จะพัฒนาระบบกระจายความช่วยเหลือ ให้สามารถสร้าง impact ต่อผู้รับได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

Cheewid เป็น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อประโยชน์ทางสังคมและสาธารณะ (แพลตฟอร์มให้บริการองค์กรผ่านการระดมการสนับสนุนจากประชาชน) โดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในการให้บริการเป็นหลัก เพื่อช่วยองค์กรภาคสังคมในการค้นหาเครื่องมือการระดมทุน และวิธีแก้ปัญหางานบริหารบุคคลใหม่ ๆ


Q: ชื่อ “Cheewid” มีที่มาอย่างไร

A: ชื่อของ Cheewid เริ่มต้นมาจากการที่ผมอยากทำงานด้านการสร้าง social impact (ผลกระทบทางสังคม) แล้วคำว่า Cheewid เป็นอะไรที่สะท้อนการสร้างผลกระทบทางสังคมในทุกมิติเลย ผู้รับผลประโยชน์ของเราเป็นสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ผู้ด้อยโอกาส สิ่งที่เหมือนกันก็คือเขาเป็นสิ่งมีชีวิต เราก็เลยคิดว่ามันเป็น branding ที่ดีด้วยเหมือนกัน ว่าเราสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่จัดการปัญหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ถึงแม้เราเป็นองค์กรที่เป็น B2B ให้บริการกับกิจการอื่น ๆ ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วตลอด value chain (ห่วงโซ่แห่งคุณค่า) ผู้รับผลประโยชน์สุดท้ายที่เราได้สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นก็คือ คนและสิ่งมีชีวิต 

ชื่อของ Cheewid เริ่มต้นมาจากการที่ผมอยากทำงานด้านการสร้าง social impact (ผลกระทบทางสังคม) แล้วคำว่า Cheewid เป็นอะไรที่สะท้อนการสร้างผลกระทบทางสังคมในทุกมิติเลย ผู้รับผลประโยชน์ของเราเป็นสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ผู้ด้อยโอกาส สิ่งที่เหมือนกันก็คือเขาเป็นสิ่งมีชีวิต


Q: Business model เป็นอย่างไร และมีสินค้าหรือบริการอะไรบ้าง 

A: เราเพิ่งปล่อย MVP ใหม่ (Minimal Viable Product หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติอย่างน้อยที่สุดที่ทำให้ใช้งานได้จริง) ซึ่งเรากำลังทดสอบ Product-Market Fit (เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่มากพอรองรับ) ว่าเราจะสามารถ ให้บริการที่ตอบโจทย์องค์กรได้จริงหรือเปล่า เรายังอยู่ในระยะทดลองผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งโมเดลธุรกิจยังไม่จำเป็นเท่าไหร่ แม้กระทั่งในมุมมองของนักลงทุนประเภท VC (Venture Capital) หรือ angel investor เอง ตราบเท่าที่เรามี traction ที่ดี สามารถดึงลูกค้าให้หันมาใช้สินค้าและบริการของเราได้ ผมยังสามารถเก็บเรื่องการสร้างโมเดลธุรกิจในปัจจุบันเพื่อที่จะทดสอบตลาดก่อน

สำหรับคอนเซปต์ s Enterprise digital infrastructure มันเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างกว้าง วัตถุประสงค์หลักคือเราอยากที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กรภาคสังคม ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน ธุรกิจเพื่อสังคม หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ว่า module ที่เราสร้างขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ เพื่อทดสอบตลาด เป็นเรื่องอย่างเช่น fundraising (การระดมทุน) และ HR Solution (การแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล) โดยมุ่งเน้นไปที่การรับสมัครบุคลากรให้กับองค์กรเพื่อสังคมต่าง ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทดสอบตลาดอยู่ปัจจุบันนี้ แต่ภาพใน 10 ปีข้างหน้าแพลตฟอร์มนี้จะครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย เราต้องการสร้าง Cheewid เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งตอบโจทย์ในทุกด้านขององค์กรภาคสังคม มันก็จะมี module อย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การวิเคราะห์สถานะของกิจการ ไปจนถึงการบริหารจัดการงานบุคคล ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการรับสมัครบุคลากรเท่านั้น แต่สามารถพัฒนาทักษะผ่านการอบรมออนไลน์ในแพลตฟอร์มนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น แผนสำหรับ 10 ปี ก็คือ พัฒนา 2 module ในขณะนี้ และสร้างเส้นทางไปสู่ชุดเทคโนโลยีที่เต็มรูปแบบในการให้บริการองค์กรภาคสังคมใน 10 ปีข้างหน้า


Q: มีองค์กรภาคสังคมประเภทใดบ้างที่มาอยู่บนแพลตฟอร์มของ Cheewid แล้ว 

A: ตอนนี้ เราทยอยรวบรวม social enterprise (ธุรกิจเพื่อสังคม) ก่อน ตอนนี้มี active user (ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่) ประมาณ 50 องค์กรด้วยกัน หลังจากที่เปิดตัวได้ 3 เดือน ซึ่งยังอยู่ในระยะทดลอง ประมาณปลายปีเราตั้งเป้าไว้ว่าจะติดต่อไปอีก 100 – 200 องค์กรที่อยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อและใน ecosystem ของเรา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมี social enterprise เข้าร่วมประมาณ 100 องค์กร สำหรับโรงเรียนกับโรงพยาบาล ตอนนี้กำลังทำงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ส่วนมูลนิธิเราเริ่มมีผู้ใช้งานบางองค์กรเข้ามาแล้ว ก็เริ่มทยอยนำขึ้นระบบ

สำหรับองค์กรภาคสังคมที่สนใจอยู่บนแพลตฟอร์มของ Cheewid สามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน


Q: Social enterprise ที่มาอยู่บนแพลตฟอร์ม 50 องค์กร สิ่งที่เขาต้องทำคือต้องไปสร้างโครงการที่เขาต้องการระดมทุนด้วยหรือเปล่า

A: สามารถทำได้ องค์กรที่เข้ามาจะให้ข้อมูลองค์กรของตัวเอง แล้วก็ให้ข้อมูลของโครงการที่อยากระดมทุนโดยเฉพาะด้วยก็ได้ แต่ลักษณะของ Cheewid จะพิเศษตรงที่ว่า เราให้องค์กรสามารถสร้างได้หลายแคมเปญ และองค์กรไม่มีภาระผูกพันใด ๆ ที่จะต้องสร้างแคมเปญ ดังนั้น หากองค์กรอยากรับเงินเข้าองค์กรโดยตรงสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แม้จะไม่มีโครงการพิเศษ ก็สามารถทำได้


Q: ธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่บนแพลตฟอร์มว่าตอนนี้ 50 องค์กรนี้ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่แก้ไขประเด็นปัญหาสังคมอะไรบ้าง

A: กว้างมากครับ อุตสาหกรรมที่เราแตะ มีตั้งแต่การศึกษา สิ่งแวดล้อม อย่างการลดการใช้พลาสติก ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตร เราไม่ได้ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่ความสนใจส่วนตัวของผมคือ เรื่องการศึกษาครับ


Q: Cheewid มีวิธีการเลือกโครงการที่จะไปปรากฎอยู่บนระบบอย่างไร มีเกณฑ์อะไรบ้าง 

A: ในปัจจุบัน เกณฑ์และคุณสมบัติของการได้รับคัดเลือกให้อยู่บนแพลตฟอร์มของ Cheewid คือ 

  1. ต้องมี Social impact mission (พันธกิจในการสร้างผลกระทบทางสังคม) สื่อให้เรารู้ว่าอยากช่วยใคร ทำอย่างไร เป็นองค์กรที่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า หรือว่าช่วยสัตว์ ซึ่งสามารถทำได้หมดเลย เราไม่ได้ดูจากเอกสารการจดทะเบียนเท่าไหร่ จะเป็นคนธรรมดาที่อยากทำก็ได้ เช่น เป็นคุณหมอที่อยากทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ ไปจนถึงมูลนิธิ เรายินดีต้อนรับทุกคนและทุกองค์กร ตราบเท่าที่คุณมีภารกิจที่ต้องการทำเพื่อสังคม และสามารถบอกผลกระทบที่คุณสร้างได้
  2. หากผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นองค์กรที่มีทะเบียน เราก็จะขอเอกสารต่าง ๆ มาตรวจสอบ เพราะว่ามันจะได้เพิ่มความโปร่งใสให้กับคนที่เข้ามาอ่านเกี่ยวกับองค์กรนี้ ว่าองค์กรนี้มีตัวตนจริงหรือเปล่า เขามีกรรมการชื่ออะไรบ้าง กรณีที่อยากสอบถามเพิ่มเติมเรื่องการจดทะเบียนว่า หมายเลขจดทะเบียนบริษัทของเขาคืออะไร ก็จะได้ไม่ยุ่งยากภายหลัง ดังนั้น เอกสารพวกนี้มันควรที่จะพร้อมใช้อยู่เสมอ ให้กับคนที่เป็นผู้สนับสนุนเข้ามาอ่าน 

สรุปว่า ต้องมี 1) social mission 2) ถ้าเป็นองค์กรอยากให้มีเอกสาร และมีหลักฐานว่า social mission อันนี้เป็นจริง แล้วก็มีเอกสารประกอบต่าง ๆ เพื่อทำให้นักลงทุนของเรา หรือผู้บริจาคสบายใจ


Q: บุคคลทั่วไปที่สนใจสนับสนุนองค์กรภาคสังคม สามารถทำงานกับ Cheewid อย่างไรได้บ้าง

A: ถ้าสมมติผมเป็นคนทั่วไป ผมเข้ามาที่ Cheewid.com ส่วนที่หนึ่ง ผมสามารถสามารถสมัครเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ได้ครับ ให้เวลา ให้ความรู้ แชร์ความรู้ให้แก่องค์กรได้ หรือถ้าสนใจทำงานเต็มเวลาก็สามารถสมัครมาได้ด้วยเหมือนกัน ใบสมัครจะถูกส่งตรงไปยังองค์กรเลย ส่วนที่สอง ถ้าสมมติอยากที่จะช่วยเหลือองค์กร เราก็สามารถบริจาคได้ด้วย เป็นรูปแบบของ payment เงินที่สนับสนุนจะโอนไปที่องค์กรผู้รับทันที 


Q: ฝั่งบริษัทเอกชน เขาสามารถมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์ม Cheewid อย่างไรบ้าง

A: ลักษณะเดียวกับคนทั่วไปครับ คือสามารถเข้ามาทำแบบเดียวกันในเว็บไซต์ แต่จะมีโครงการพิเศษที่ผมจะทำงานกับพาร์ทเนอร์บริษัทเอกชนด้วย อย่างเช่น เขาต้องการคนที่จะเข้าโครงการบ่มเพาะด้านสิ่งแวดล้อม แล้วต้องการให้คนมาช่วยออกแบบกลยุทธ์ รวมถึงระบุว่าคนไหนน่าจะเหมาะสมกับโครงการของเขา ผมก็จะเข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนตรงนี้ด้วย อย่างล่าสุดมาก็มีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง มีทุนที่เขาอยากให้องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยากให้เราช่วยระบุชื่อกิจการเพื่อสังคมที่มีสิทธิได้รับเลือกตามเกณฑ์ของเงินทุนก้อนนี้


Q: เทียบสัดส่วนได้ไหมว่า การทำงานของ Cheewid ระหว่างเรื่อง fundraising กับงานด้านทรัพยากรบุคคล อันไหนมากน้อยกว่ากันในปัจจุบัน

A: ช่วงแรกผู้เข้ามาใช้บริการของเราจะเป็นเรื่อง fundraising ล้วน ๆ เลย แต่พอมาเรื่อย ๆ มันเริ่มขยับมาเป็นเรื่องการรับสมัครและจัดการอาสาสมัครในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากกว่า ซึ่งพูดได้ว่าสัดส่วนตอนนี้คือ 50/50 ครับ

ในช่วงระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะสร้างแพลตฟอร์ม Cheewid ขึ้นมา ผมก็ช่วยธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำด้านการศึกษาหลายองค์กรอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นคือช่วยให้คำแนะนำ แล้วก็ช่วยระดมเงินบริจาค ได้ถึงประมาณ 8 ล้านบาทให้กับธุรกิจการศึกษา 4 – 5 องค์กรด้วยกัน 

หนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจเพื่อสังคมที่ชื่อว่า “a-chieve” ผมไปช่วยระดมทุนเพื่อจัดงาน ฟูมฟักฝันเฟส ซึ่งเป็นงานที่ทำให้นักเรียนรู้จักอาชีพต่าง ๆ หลากหลายมากขึ้น ในงานเขาจะทำตั้งแต่เชิญดารามา พาผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาคุยกับนักเรียนมัธยมปลาย ให้เขารู้จักอาชีพที่กว้างมากขึ้นในบริบทชีวิตของเขา งานนี้ก็ช่วยทำให้เขาเข้าถึงเงินบริจาคประมาณ 3 ล้านบาท ก็ช่วยเป็นผู้ประสานงานระหว่างธุรกิจเพื่อสังคม กับกลุ่มผู้บริจาค เช่น มูลนิธิเพื่อคนไทย ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งช่วยไปเป็นที่ปรึกษาด้วยเช่นกัน


ผมไปช่วยระดมทุนเพื่อจัดงาน ฟูมฟักฝันเฟส ซึ่งเป็นงานที่ทำให้นักเรียนรู้จักอาชีพต่าง ๆ หลากหลายมากขึ้น…งานนี้ก็ช่วยทำให้เขาเข้าถึงเงินบริจาคประมาณ 3 ล้านบาท ผมช่วยเป็นผู้ประสานงานระหว่างธุรกิจเพื่อสังคม กับกลุ่มผู้บริจาค…ก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้สร้างแพลตฟอร์ม Cheewid ขึ้นมา เพราะแทนที่ผมจะต้องลงไปประสานทุกอย่าง เราจะได้ทำให้มันขยายได้ง่ายขึ้นเยอะผ่านแพลตฟอร์ม

สรุปแล้วในงานด้านการศึกษาที่ผมช่วยทั้งให้คำปรึกษา และระดมทุนได้ร่วม 8 ล้านบาทแล้ว เกิดเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้สร้างแพลตฟอร์ม Cheewid ขึ้นมา เพราะแทนที่ผมจะต้องลงไปประสานทุกอย่าง เราจะได้ทำให้มันขยายได้ง่ายขึ้นเยอะผ่านแพลตฟอร์ม เงิน 8 ล้านบาทนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องจ่ายผ่านเช็คอะไรทั้งสิ้น สามารถผ่านช่องทางเทคโนโลยีได้เลย ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์ไปจนถึงทางโทรศัพท์มือถือ

ถ้าพูดถึงในมุมของผู้บริจาค เขาก็จะกระตือรือร้นในการให้เงินมากกว่าการที่จะอาสามาให้เวลาหรือความรู้ (ในภาพรวม) เรามีเงินทุนเยอะ แต่เป็นลักษณะของ dormant capital หรือเงินที่ยังไม่ได้แจกจ่ายออกไป เพราะฉะนั้นเรายังสามารถที่จะขยายในเรื่องของเงินบริจาคได้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แม้ว่าสถานการณ์ในตอนนี้จะนิ่ง ๆ หน่อย

สำหรับจำนวนผู้ใช้งานในเรื่องทรัพยากรบุคคล ก็มีคนมาสมัครเป็นอาสาสมัครประมาณ 400 – 500 คนแล้ว ในงานประมาณ 10 – 20 ตำแหน่ง แล้วก็ได้จัดสรรอาสาสมัครให้องค์กรภาคสังคมไปค่อนข้างเยอะ โดยยังไม่ได้คิดค่าบริการในการจัดหาบุคลกร หรือแม้แต่ค่าบริการสำหรับการจัดสรรบุคลากรที่ประสบความสำเร็จด้วย


Q: นอกจากเรื่องราวของ Cheewid เองแล้ว คิดว่าประสบการณ์ในการทำงานของคุณคริษฐ์น่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ ด้วย จึงขอถามคำถามที่อาจจะไม่เกี่ยวกับ Cheewid โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่เพื่อน ๆ ชาวธุรกิจเพื่อสังคมน่าจะอยากรู้กัน เรื่องแรกเลยคือนักลงทุนประเภท angel investor (นักลงทุนประเภทบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ลงทุนในกิจการช่วงแรก ๆ) หากจะลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว จะมองหาอะไร

A: ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมขอพูดถึงแพลตฟอร์ม Cheewid ก่อน ปัจจุบันผมช่วยเชื่อมธุรกิจเพื่อสังคมกับ angel investor ผ่านการแนะนำแบบตัวต่อตัว แพลตฟอร์มยังไม่รองรับตรงนี้ เพราะลักษณะของเงินทุนที่มาจาก angel investor เป็นการลงทุนด้วยการซื้อหุ้นของกิจการ ซึ่งหากจะให้อยู่บนแพลตฟอร์มจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อน เริ่มตั้งแต่การ ทำ due diligence (การประเมินสถานะของกิจการ) ไปจนถึงการทำข้อมูลเชิงลึกหลายอย่าง ตอนนี้ Cheewid ยังไม่รับรองการเชื่อมการลงทุนจาก angel investor ไปยังองค์กรภาคสังคม แต่เป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนประเภทเงินสนับสนุนหรือเงินบริจาคเท่านั้น

คราวนี้มาตอบคำถาม สิ่งที่ angel investor มองหา อันดับหนึ่ง คือเรื่องทีม ทีมมีผู้ก่อตั้งที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นหรือไม่ อย่างน้อย 5 ปี อย่างมาก 10 ปีขึ้นไป รู้เรื่องที่ตนเองกำลังจะทำหรือเปล่า และทีมมีเคมีที่เข้ากันได้จริงไหม (team chemistry) เคมีภายในทีมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มตั้งต้น สาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวของธุรกิจเพื่อสังคมคือ เคมีระหว่างผู้ก่อตั้งเข้ากันไม่ได้ และไม่ได้มีความรู้ในเรื่องที่ตัวเองทำ

สองคือ scalability (ความสามารถในการขยายกิจการ) ถ้าสมมติว่าเขาต้องขยายกิจการ เขาจะขยายด้วยรูปแบบไหน จะเป็นทางความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือผ่านเทคโนโลยี หากเป็นเทคโนโลยีก็จะเป็นสิ่งที่ angel investor ยุคปัจจุบันให้ความสนใจ ตัวอย่างเช่น ขยายกิจการผ่านแพลตฟอร์ม หรือ ผ่าน API (Application Programming Interface) หรือ Blockchain ซึ่งจะทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาจะลงทุนไป มันสามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ แล้วก็มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นในอนาคต

สามคือ การเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ธุรกิจเพื่อสังคมส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้การสำรวจตลาดอย่างละเอียดและครอบคลุม ว่าสิ่งที่ตัวเองเข้าไปช่วยนั้นตอบโจทย์ และสร้าง social impact (ผลกระทบทางสังคม) จริงหรือเปล่า ในขณะที่นักลงทุนต้องการจะเห็นกิจการจะเข้าถึงลูกค้าและสร้างผลกระทบทางสังคมได้อย่างไร ซึ่งมาจากการศึกษา ไม่ใช่ประสบการณ์ส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นแนวทางที่จะให้ได้ทางแก้ปัญหามาต้องเป็นแนวทางจากความต้องการของตลาด ไม่ใช่แนวทางตามความต้องการของผู้ก่อตั้ง 


Q: วัตถุประสงค์ที่เขามาลงทุน นักลงทุนกลุ่มนี้ต้องการได้อะไรกลับไป

A: เขาจะดูทั้งผลตอบแทนทางการเงิน และผลตอบแทนทางสังคม ในด้านการเงิน เขาก็จะดูว่าเขาสามารถ exit (ขายหุ้นเพื่อทำกำไร) ได้หรือเปล่า ซึ่งก็คือ แบบแรกเป็นการขายบริษัท คือมีคนมาซื้อบริษัทระหว่างที่เราก็สร้างธุรกิจนี้ไปอยู่ หรือสองคือควบรวมกับบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อมีบริษัทใหญ่มาซื้อ นักลงทุนก็ขายสัดส่วนของเขาออกไป 

และสาม ซึ่งเป็นเส้นทางที่นักลงทุนและผู้ประกอบการฝันถึงเลย คือ IPO (Initial Public Offering) ก็คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเพื่อสังคมนั้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมันสามารถที่จะซื้อขายได้อย่างกว้างขวาง และนักลงทุนก็สามารถขายหุ้นของเขาได้ถ้าเขาอยากทำ

ผลตอบแทนอย่างที่สองคือ ผลตอบแทนด้านสังคม เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละองค์กรว่าคืออะไร แต่สิ่งที่นักลงทุนอยากจะเห็น ก็คือเราได้ดำเนินการได้ตรงตามความต้องการของผู้รับผลประโยชน์ไหม มีกี่คนที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ หรืออาจจะเป็นสิ่งแวดล้อม เช่น ลดพลาสติกได้เท่าไหร่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ เขาอยากเห็นผลจากตัวชี้วัดด้านผลกระทบทางสังคมเหล่านี้ทันที 

เพราะฉะนั้น ในมุมของนักลงทุนเพื่อสังคม เขามีแผนในใจแล้วว่าอยากจะสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนทั้งสองประเภทนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะค่อนข้างยอมต่อรองผลตอบแทนด้านการเงินบ้าง ตราบเท่าที่คุณสามารถแสดงให้เห็นว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมอยู่

สิ่งนี้ทำให้การทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นอะไรที่ท้าทายมากนะครับ เพราะว่าถ้าเราเป็นสตาร์ทอัพ Startup หรือว่าเราเป็นนวัตกรรมในช่วงตั้งต้น (early-stage innovation) สิ่งที่เราต้องใส่ใจมีเพียงเรื่องการดำเนินงาน ศักยภาพในการขยายตลาด และผลตอบแทนทางการเงินให้กับนักลงทุนเท่านั้น แต่สำหรับธุรกิจเพื่อสังคม มันต้องมีมิติด้านผลกระทบทางสังคมเข้ามาด้วย ทำให้ซับซ้อนมากขึ้น ทีนี้เรารู้อยู่แล้วทุกวันนี้ว่าการสร้างองค์กรภาคสังคมหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรก็ยากมากที่จะทำให้ขยายผลได้ พอมาเติมความคาดหวังว่าต้องสร้างผลกระทบทางสังคมให้ได้ชัดเจนด้วย มันยิ่งตึงเครียดเข้าไปใหญ่ ทั้งเรื่องการสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมที่จับต้องได้ แล้วต้องคำนึงถึงการดำเนินกิจการของเราต้องสร้างความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดด้วย ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีก การสร้างธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ยากมาก นักลงทุนที่ลงทุนเพื่อสังคมเขารู้เรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะชื่นชมนักธุรกิจเพื่อสังคมนะครับ 

ณ ตอนนี้อาจจะไม่ได้มีการลงทุนลักษณะนี้เท่าไหร่ ยังค่อนข้างเงียบในประเทศไทย


Q: นอกจากงานแพลตฟอร์มแล้ว ยังเห็น Cheewid ออกรายงานหลาย ๆ ฉบับที่น่าสนใจ เช่น รายงานผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รายงานสภาพการณ์ CSR

A: ใช่ครับ เราอยากทำรายงาน เพื่อสร้าง open knowledge management (การจัดการองค์ความรู้) ให้กับทางองค์กรในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น subscriber ของเรา เป็นผู้ใช้แพลตฟอร์มของเรา หรือคนที่ติดตาม Cheewid ได้ทราบข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับวงการเพื่อสังคม เราจะไม่อ้างว่าข้อมูลของเราถูกต้องแม่นยำ แต่เราพยายามอย่างที่สุดที่จะไปค้นหาข้อมูลปฐมภูมิ แล้วนำมารวบรวมและเรียบเรียงเป็นรายงาน

“รายงานที่เพิ่งออกมาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เราอยากที่จะแนะนำให้คนทั่วไปรู้จักธุรกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการทางสังคมมากขึ้น เป็นการแนะนำคนกลุ่มนี้ให้กับคนที่ไม่รู้จักเลยได้รู้จักมากขึ้น”

วัตถุประสงค์หลักก็คือ เพื่อที่จะสร้างการจัดการองค์ความรู้ด้านงานเพื่อสังคมนี้ กระจายความรู้ให้กับสังคมทั่วไป สำหรับรายงานที่เพิ่งออกมาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เราอยากที่จะแนะนำให้คนทั่วไปรู้จักธุรกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการทางสังคมมากขึ้น เป็นการแนะนำคนกลุ่มนี้ให้กับคนที่ไม่รู้จักเลยได้รู้จักมากขึ้น ก็เป็นการสร้างให้เกิดการประสานระหว่างคนสองกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกันก่อนผ่านรายงานของเราครับ


Q: คิดว่าสิ่งที่ Cheewid ทำจะช่วยเพิ่มโอกาสอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง แล้วถ้าหากว่าไม่มีแพลตฟอร์มที่ชื่อ Cheewid ใครจะขาดโอกาส และจะนำไปสู่ปัญหาอะไร

A: โอกาสที่เรากำลังสร้างตอนนี้ก็คือ digital inclusion (การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล) ให้กับวงการภาคสังคม Cheewid สร้างขึ้นมาก็เพื่อให้องค์กรภาคสังคมได้เอาชนะปัญหาของการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้องค์กรเหล่านี้มี  digital presence (ตัวตนทางดิจิทัล) และเมื่อมีแล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้

ถ้าไม่มีตัวตนทางดิจิทัลแล้ว สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ community (ชุมชน) อย่างเดียวใช่ไหมครับ แต่ว่าไม่ได้กระจายบน Facebook บน LINE หรือถ้าไม่ได้ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มอย่าง Cheewid ความสัมพันธ์ขององค์กรภาคสังคมเหล่านี้ก็จะค่อนข้างจำกัดอยู่แต่ในชุมชนนอกระบบออนไลน์ การทำงานร่วมกับ Cheewid จะทำให้องค์กรได้ขยายวง ของชุมชนให้กว้างขึ้นอีกเยอะ ผมอยากให้ทุกองค์กรใช้ประโยชน์จาก Cheewid  ในการเชื่อมต่อไปสู่ภาคีซึ่งเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ นักลงทุน หรือคนที่สนใจจะสนับสนุนองค์กรภาคสังคม

โอกาสที่เรากำลังสร้างตอนนี้ก็คือ digital inclusion (การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล) ให้กับวงการภาคสังคม Cheewid สร้างขึ้นมาก็เพื่อให้องค์กรภาคสังคมได้เอาชนะปัญหาของการไม่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้องค์กรเหล่านี้มี มี digital presence (ตัวตนทางดิจิทัล) และเมื่อมีแล้ว ก็ทำให้ตัวตนทางดิจิทัลนี้แข็งแกร่งขึ้น

การขยายวงนี้เป็นการขยายโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่เงินที่เข้ามาได้ในบริษัท และเงินที่สามารถมาสนับสนุนการเติบโตของโครงการ ไปจนถึงการทำให้เราอยู่ในสายตาของคนที่อยากช่วยเหลือองค์กรจริง ๆ ซึ่งตอนแรกเขาอาจจะไม่รับรู้ เพราะว่าเราไม่ได้มีตัวตนทางดิจิทัล แต่เมื่อทำงานกับ Cheewid แล้ว เราสามารถที่จะกระจายโอกาสตรงนี้ให้กับคุณได้


Q: ในระหว่างการดำเนินธุรกิจ พบปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วก้าวข้ามไปได้อย่างไร

A: ตัวอย่างอุปสรรคที่เผชิญอยู่ตอนนี้คือ การขยายฐานลูกค้าหรือผู้ใช้งานขององค์กร ว่าทำไมเราไปไม่ถึง 100 องค์กรสักที ทำไมตอนนี้เราติดอยู่แค่ 50 ก็เป็นคำถามที่มีในปัจจุบันค่อนข้างเยอะ โควิด-19 มันทำให้เราเดินทางไม่ได้ เราก็เลยต้องทำความรู้จักทุกคนผ่านทางออนไลน์ ผ่าน Facebook อีเมล แต่ก็โชคดีมากที่คนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่เฟรนด์ลี่มาก เขาก็ตอบเกือบทุกอีเมล ตอบเกือบทุกช่องทางที่เราติดต่อไป เราก็แฮปปี้กับการพูดคุยกับองค์กรเหล่านี้ จนล่าสุดมีเกือบ 50 องค์กรที่จะเพิ่มมาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา การสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้อาศัยเวลามาก เพื่อที่จะสร้างตั้งแต่ความเชื่อถือไปจนถึงความมั่นใจ ว่า Cheewid จะเป็นพาร์ทเนอร์ได้จริง ๆ เป็นเพื่อนในเส้นทางด้านการทำเพื่อสังคมของเขา ปัจจุบันเราก็ยังต้องพยายามเอาชนะอุปสรรคนี้อยู่ เวลาที่ผมจะบอกว่าในเรื่องนี้เราประสบความสำเร็จหรือยัง ก็จะดูว่าเมื่อเราติดต่อไปแล้ว เขาตอบกลับมาว่ายินดีจะมาทำความรู้จักกัน แล้วนำไปสู่การเป็นผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของเรา

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ของเรา คือเทคโนโลยี คนที่ทำงานในสายเทคโนโลยี โดยเฉพาะ senior developer (นักพัฒนาเทคโนโลยีอาวุโส) อยากจะทำงานที่จะนำไปสู่ next blockchain, next internet of things หรืออะไรที่มันล้ำสมัยมาก การทำงานประจำหรือเป็นอาสาสมัครในองค์กรเพื่อสังคมมันไม่ค่อย appealing  เส้นทางสายอาชีพด้านเทคโนโลยีในฝั่งภาคสังคมก็ไม่ค่อยดึงดูดเท่าไหร่ เรายังโชคดีที่สามารถหา senior full stack developer (นักพัฒนาเทคโนโลยีทั้งส่วนหน้าบ้านและหลังบ้าน) มาร่วมงานกับเราได้ แต่ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าการหาคนมาทำงานเทคโนโลยีในสายงานเพื่อสังคมนี้เป็นข้อจำกัดมาก เพราะฉะนั้นการสร้างเทคโนโลยีในระดับที่เราเห็นในวงการสตาร์ทอัพในสายสังคมนี่ก็ยาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรนี้


Q: พูดถึงความท้าทายหนึ่งคือ การสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กร จัดการกับความท้าทายนี้อย่างไร

A:  ผมมองว่าการที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กรนั้น เราต้องเป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีมาตรฐานการประเมินองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ (Global standard) ผมเลยตัดสินใจเข้าร่วม incubation programs (โครงการบ่มเพาะธุรกิจ) ต่าง ๆ  เช่นโครงการของ  Sasin Startup Incubator (SSI) : Impact Ventures ซึ่งเป็นโครงการระยะ 4 เดือน เป็นโปรแกรมแรกในช่วงตั้งไข่ของผม พอทำได้ค่อนข้างดี ทาง Sasin ก็แนะนำให้เราเข้าโครงการ SCG Bangkok Business Challenge และด้วยความตั้งใจบวกกับความโชคดี เราเข้าไปถึงเวทีระดับโลก และได้เป็น Thailand champion การเข้าไปร่วมในการแข่งขันลักษณะนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กร และเหมือนเป็นการ cross-check ของทีมเราด้วย ให้เรามั่นใจว่า business model นี้ มันเวิร์คในสายตาของภาคธุรกิจ เป็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับเรามากครับ

หลังจากนั้น Cheewidก็ไปเข้าร่วมโปรแกรมชื่อ “Bridge for Billions” ที่เป็นโครงการบ่มเพาะธุรกิจแบบออนไลน์ โครงการนี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงเครือข่ายพาร์ทเนอร์ในทวีปยุโรป เพราะโครงการเป็นของประเทศสเปน พาร์ทเนอร์ของเขาส่วนมากจะเป็นองค์กรภายใต้ UN ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เราโชคดีมากที่ได้รางวัล Community Champion จากโครงการนี้ ทำให้เราสามารถสร้างชื่อเสียงในฝั่งยุโรปด้วย

หลังจากนั้นก็ไปเข้าร่วมการแข่งขันอีกหลายอัน เช่น Chivas Venture ก็โชคดีที่ได้เข้าสู่รอบสุดท้ายพร้อมกับธุรกิจเพื่อสังคมอีก 2 แห่งในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ทำให้เรามีชื่อเสียงที่ดี และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ Cheewid

อีกส่วนคือเป็นวิชาชีพของทางผู้ก่อตั้ง ผมเองทำงานอยู่ที่ SCB 10X ผู้ก่อตั้งอีกสองคน คนหนึ่งอยู่ Accenture ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง อีกคนหนึ่งอยู่ Mastercard ซึ่งก็เป็นบริษัทระดับโลกในด้านบริการทางการเงิน  การรวมตัวของทีมที่หลากหลาย แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน  ทั้งด้านการบริหารธุรกิจ การเงินและการลงทุน รวมถึงด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ ทำให้ผู้ที่ร่วมงานกับเรา สนใจและอยากที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในอนาคตต่อไป

“การเข้าไปร่วมใน (โครงการบ่มเพาะธุรกิจ) และการแข่งขันลักษณะนี้ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับผู้ที่สนใจใน Cheewid และให้กับทีมงาน ”

Q: ภาพฝันของ Cheewid คืออะไร

A: เราอยากเป็น Technology Enabler (ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยี) ให้กับองค์กรภาคสังคมทุกองค์กรในประเทศไทย 

ภาพระยะแรก สมมติคุณนึกถึง Cheewid ในฝั่งของด้านการเงิน Cheewid ก็จะช่วยคุณตั้งแต่การจัดซื้อ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การทำธุรกรรมทางการเงิน เหมือนว่าเราเป็นพาร์ทเนอร์ด้านการธนาคารให้กับองค์กรภาคสังคม 

มันยากมากเลยที่จะอธิบายสิ่งที่เราอยากเป็นโดยไม่ทำผ่านพาวเวอร์พอยต์ (หัวเราะ)

ในระยะต่อ ๆ ไป เราเห็น Cheewid เป็น ERP (Enterprise Resource Planning หรือการบริหารทรัพยากรขององค์กรแบบครบวงจร) ขององค์กรภาคสังคม เราอยากสร้างตัวเองให้เป็น Salesforce หรือ SAP ในภาคสังคม 

เราอยากเป็น Technology Enabler (ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยี) ให้กับองค์กรภาคสังคมทุกองค์กรในประเทศไทย


Q: อะไรที่เป็นความสุขของคุณคริษฐ์ และยังทำให้มีแรงที่จะฟันฝ่าให้ Cheewid ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

A: ทุกครั้งที่เราเห็นองค์กรภาคสังคมที่เราเชื่อมั่น เขาสมัครเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา มันทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้กำลังตอบโจทย์อยู่นะ และทุกครั้งที่ angel investor หรือพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บอกเราว่า องค์กรภาคสังคมที่เราทำงานอยู่ด้วยทุกวันนี้น่าสนใจ ดึงดูดใจเขา มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำช่วยตอบโจทย์ฝั่งผู้สนับสนุนองค์กรภาคสังคมด้วยเหมือนกัน

ความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผลตอบรับเชิงบวกจากฝั่งผู้สนับสนุนองค์กรภาคสังคม หรือจากฝั่งองค์กรภาคสังคมเอง มันทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ทั้งทีม


เรียบเรียงโดย สุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์