ปัญหาเด็กในชุมชนแออัดไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้ ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล และความปลอดภัยในชีวิต ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เนื่องจากเราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง การบริจาคเป็นครั้งคราวช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตได้เพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาก็กลับมาใหญ่เท่าเดิม และครอบครัวของเด็กเหล่านี้ ในบางกรณียังถูกซ้ำเติมจากความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงต้องเจอ วันนี้ ตัวแทนทีมงานมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก และบริษัท ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ จำกัด นำโดยคุณวีระพงษ์ เพียรสุภาพ กรรมการผู้จัดการ คุณณัฐชญา ปาละนันทน์ อดีต Partnership Officer และคุณจิตสุดา จินาติ Dao Program Manager มาชวนเรามองเรื่องเด็ก สตรี และครอบครัว ในมิติที่ลึกขึ้น ผ่านการทำงานขององค์กรที่ต้องการแก้ปัญหาที่กล่าวในข้างต้นจากต้นเหตุ เพราะทีมงานเชื่อว่าถ้าเด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตามสภาพที่ควรได้ เด็กจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต และเชื่อว่าถ้าผู้หญิงได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นอาชีพ จะนำมาซึ่งความสามารถในการหารายได้ พวกเขาก็จะเป็นกำลังสำคัญของลูกและสามี ช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นกัน
Q: เล่าให้ฟังสั้น ๆ ว่ามูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก และบริษัท ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ จำกัด เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับอะไร
A: คุณณัฐชญา: มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก หรือ “มูลนิธิบ้านเด็ก” ก่อตั้งมามากกว่า 19 ปี เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรือในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้ รับรู้สิทธิของตัวเองว่า ในชีวิตของเขามีสิทธิที่จะได้รับบริการอะไรบ้าง เช่น บริการด้านการศึกษา สุขภาพ และความปลอดภัยในชีวิต เป็นต้น
ส่วนบริษัท ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ พัฒนามาจากโครงการ “ดาวเสริมพลังหญิง” ของมูลนิธิบ้านเด็ก งานหลักของดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ คือ บริการผลิตของขวัญองค์กร ซึ่งเป็นงานแฮนด์เมดจากกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
Q: ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก และ ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์
A: คุณณัฐชญา: อย่างที่เกริ่นไปว่า บริษัท ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ ต่อยอดมาจากมูลนิธิบ้านเด็ก ด้วยความที่มูลนิธิบ้านเด็กทำงานลงพื้นที่ชุมชนอยู่บ่อยครั้ง ก็เล็งเห็นว่าในชุมชนแต่ละชุมชนมีกลุ่มผู้หญิงที่ยังขาดโอกาสในชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ บางกลุ่มก็ตกอยู่ในภาวะความรุนแรงในครอบครัว หรือกลุ่มที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวบางคนต้องดูแลลูกหลายคน กลุ่มผู้หญิงที่เป็นคนชายขอบที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบาก บางส่วนสื่อสารภาษาไทยได้น้อย หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล จากที่มาดังกล่าว มูลนิธิบ้านเด็กจึงพัฒนาโครงการที่ชื่อว่า “ดาวเสริมพลังหญิง” เพื่อจัดอบรมเป็นทักษะอาชีพให้กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
A: คุณวีระพงษ์: ถามว่าทำไมถึงเป็นมูลนิธิบ้านเด็ก เพราะเราทำงานกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือเด็กกำพร้ามาก่อน ทำงานได้สักระยะก็พบว่าจริง ๆ แล้ว มันควรแก้ที่สาเหตุของปัญหา มากกว่าการให้ความช่วยเหลือโดยตรง ซึ่งไม่เกิดความยั่งยืนในแง่ที่ว่าปัญหานั้นจะไม่มีวันหมดไป มูลนิธิฯ จึงพัฒนาโครงการที่ช่วยรองรับปัญหานั้น ให้เขาสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ พัฒนาตัวเองได้ มีอาชีพติดตัว เพื่อไม่ให้เขาทอดทิ้งลูก และเอาลูกมาอยู่กับตัวเองได้
อย่างที่บอกว่าในเชียงใหม่มีชุมชนต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนของพี่น้องชนเผ่า หรือชุมชนแออัดต่าง ๆ แต่บางชุมชนก็มี NGOs หรือมูลนิธิต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลืออยู่แล้ว อันนี้ผมพูดถึงเมื่อประมาณ 8-10 ปีที่แล้ว แล้วมันก็มีชุมชนที่ไม่มีใครเข้าไปดูแลเลย ก็คือชุมชนของไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งในนั้นมีเด็กอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผมยังจำครั้งแรกที่ลงพื้นที่ได้ดีเลย ไซต์งานก่อสร้างที่แรกมีเด็กอยู่ทั้งหมด 25 คน และไม่มีเด็กคนไหนเลยที่ได้เข้าโรงเรียน
จนมาถึงไซต์ที่สอง เป็นที่พักเด็กกำพร้า ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเด็กอยู่ประมาณ 50 คน มีแค่เด็กที่เป็นลูกของโฟร์แมน (คนที่ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง) ซึ่งเป็นคนไทยเท่านั้นที่ได้เข้าเรียน เพราะฉะนั้น เราจึงเปลี่ยนวิถีการทำงาน โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็กกับชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน และสร้างความตระหนักให้กับบริษัทรู้ด้วยว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ ก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา หรือทำให้บริษัทเหล่านั้นรับรู้ว่า คุณต้องบริหารจัดการบริษัท โดยให้บริษัทมีส่วนมาดูแลเรื่องเหล่านี้ด้วย
ในส่วนของดาวฯ ที่เป็นโครงการก็คือ เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งต้องพูดถึงความยั่งยืน เพราะฉะนั้น บางครอบครัวที่มีพ่อ แต่พ่อทำงานคนเดียว เราคิดว่าน่าจะดีกว่าถ้าแม่สามารถหารายได้ได้ด้วย เพื่อจุนเจือครอบครัวได้อีกทาง
เคสของแม่ ๆ ที่ประสบปัญหามีหลายกรณี เช่น เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เพิ่งประสบปัญหา ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เพราะไม่มีทักษะอาชีพ หรือผู้หญิงบางคนจำใจต้องอยู่กับสามี เพราะตัวเองมีลูก ซึ่งอาจจะเสี่ยงเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว หนีไปไหนไม่ได้ อีกทั้งกลุ่มนี้มักคิดว่า ชีวิตตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า ฉะนั้น โครงการดาวฯ เกิดขึ้นมาเพื่อจุดประกายให้แม่ ๆ เหล่านี้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาก็มีคุณค่านะ มีความสามารถนะ ถ้าถูกกระทำความรุนแรงหนัก ๆ เราสามารถช่วยเขาให้พ้นจากสภาพนั้นได้ แล้วมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของดาวฯ ครับ
A: คุณณัฐชญา: เราฝึกอบรมตั้งแต่เรื่องการเงิน ว่าควรทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างไร เพื่อสามารถหมุนเงินที่มีอยู่ใช้จ่ายภายในครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน หรือเรื่องทักษะชีวิต เช่น ควรเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เด็กควรได้รับมีอะไรบ้าง ไปจนถึงทักษะอาชีพ เช่น ควรเตรียมตัวเพื่อสมัคร และสัมภาษณ์งานอย่างไร หรือมีการสอนทักษะการเย็บผ้า และงานฝีมือด้วยเช่นกัน เพื่อเสริมให้เป็นทักษะอาชีพหนึ่งของกลุ่มแม่ ๆ เป็นต้น
หลังจากที่มีโครงการ “ดาวเสริมพลังหญิง” นั้น เราเล็งเห็นว่าโครงการนี้สามารถพัฒนามาเป็นบริษัท ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ จำกัด ได้ ซึ่งเป็น Social Enterprise Model (โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม) ของมูลนิธิบ้านเด็ก เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับกลุ่มผู้หญิงกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท ดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์
Q: ช่วยขยายประเด็นปัญหาสังคมและรูปแบบการแก้ปัญหา ที่มูลนิธิบ้านเด็ก และดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ กำลังทำอยู่
A: คุณณัฐชญา: มูลนิธิบ้านเด็ก เราโฟกัสกลุ่มเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด และชุมชนแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง เด็กในชุมชนที่เราเข้าไปทำงานด้วยจะมีทั้งเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเด็กที่มาจากต่างถิ่น เขาไม่สามารถพาตัวเองไปอยู่ร่วมกับสังคมทั่วไปในประเทศไทยได้ หรือไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิเข้าเรียนโรงเรียนในไทยได้หรือเปล่า มีสิทธิได้รับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐหรือไม่ หรือบางกลุ่ม ก็มีปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การลงพื้นที่ทำให้เราเห็นปัญหาพวกนี้ชัดเจน และเห็นว่ายังไม่มีใครช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเด็กในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง จึงทำโครงการโดยแบ่งเป็น 3 โปรแกรมใหญ่ ๆ ได้แก่
โปรแกรมแรก เป็นการให้ความช่วยเหลือรายบุคคล โดยเจ้าหน้าที่ด้านสังคมของมูลนิธิบ้านเด็ก จะลงพื้นที่สำรวจแต่ละครอบครัวว่า เด็กแต่ละคนมีประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วเราจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อสนับสนุนได้อย่างตรงจุดที่สุด ส่วนนี้เป็นเรื่องของ Child Protection หรือ การคุ้มครองเด็ก
โปรแกรมที่สอง เรื่อง Child Development หรือ พัฒนาการเด็ก เราเน้นเรื่องการศึกษานอกระบบให้เด็ก เช่น ลงไปจัดกิจกรรม ให้ความรู้ เสริมทักษะชีวิตให้เขา และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าโรงเรียนในไทย
โปรแกรมที่สาม เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาชุมชน เราต้องการให้ขนาดของการส่งเสริมและการพัฒนา ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ละครอบครัว หรือเด็กแต่ละคน แต่ต้องการ empower ให้ทั้งชุมชนตระหนักถึงสิทธิของเด็กและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้วย
A: คุณจิตสุดา: ส่วนของดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ ทันทีที่เราเห็นปัญหา เช่น คุณแม่ไม่มีรายได้ ยังต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ เราจะจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพให้ โครงการ “ดาวเสริมพลังหญิง” เน้นตั้งเป้าหมาย ทำ action plan (แผนปฏิบัติ) ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ให้รู้จักการออมเงิน และการให้ทักษะอาชีพ ซึ่งทักษะเด่น ๆ ที่เราฝึกให้เป็นการเย็บผ้า เพื่อให้แม่ ๆ สามารถผลิตสินค้าให้กับมูลนิธิฯ ได้ รวมทั้งผลิตสินค้าเพื่อเสนอขายไปยังบริษัทเอกชนต่าง ๆ ด้วย
Q: จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจประเด็นปัญหาเรื่องเด็ก มาจากผู้ก่อตั้ง หรือมาจากใครในองค์กร
A: คุณวีระพงษ์: เริ่มจากผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ท่านครับ ได้แก่ คุณ Magali du Parc ท่านเป็น Executive Director (กรรมการบริหาร) คุณ Magali เคยเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานในองค์กรนานาชาติในฝรั่งเศสมาก่อน แล้วก็มีคุณ Nicola Costa ซึ่งเป็นสามี และอีกท่านคือ คุณ Acha Sripaurya เป็นคณะกรรมการของมูลนิธิหลายมูลนิธิ มีธุรกิจส่วนตัวด้วย ด้วยความที่คุณ Magali กับคุณ Nicola ชอบเมืองไทย เพราะเดินทางท่องเที่ยวมาเมืองไทยบ่อย บวกกับความเป็นนักสังคมสงเคราะห์อยู่แล้ว เขาก็พบว่าเด็กในเมืองไทยส่วนใหญ่ขาดโอกาส หรือไม่ได้รับสิทธิตามที่ควรจะได้รับอย่างทั่วถึง อีกทั้งคุณ Magali กับคุณ Nicola มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ พม.จังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งด้วย จึงนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาเรื่องเด็ก
Q: มูลนิธิบ้านเด็ก สร้าง impact (ผลกระทบเชิงบวก) โดยตรงต่อเด็ก ครอบครัว และชุมชนอยู่แล้ว แล้วมีแนวคิดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยไหม มีวิธีการอย่างไรที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น
A: คุณวีระพงษ์: มูลนิธิฯ ต้องการสร้าง impact ใน 2 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบแรก ผลกระทบโดยตรง คือ การที่มูลนิธิฯ ทำโครงการต่าง ๆ และเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวโดยตรง
รูปแบบที่สอง การสร้างผลกระทบเชิงระบบ คือ เราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับครอบครัวของพี่น้องที่อยู่ในชุมชนแคมป์ก่อสร้างของบริษัทต่าง ๆ ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมองเป็นภาพใหญ่ว่า ในอนาคต หากเป็นไปได้ เราอยากให้ภาครัฐสร้างข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้นมาว่า บริษัทใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งทำธุรกิจก่อสร้าง ควรมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน โดยเพิ่มส่วนของการปกป้องคุ้มครองเด็ก ที่อาศัยอยู่ในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง เข้าไปในระเบียบนั้นด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้เด็กได้รับสิทธิ เมื่อต้องอยู่ในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นคนไทย พี่น้องชนเผ่าที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย หรือพี่น้องแรงงานข้ามชาติ อันนี้เป็นภาพใหญ่ที่มองนะครับ
เราต้องการสร้างความตระหนักให้ชุมชน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ไม่ถูกละเลย ไม่ถูกมองข้าม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แม้การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมและในระดับนโยบาย อาจจะใช้เวลายาวนาน แต่ในส่วนที่พวกเรากำลังทำอยู่ เราเชื่อว่า บริษัทก่อสร้าง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ จะเกิดความตระหนักมากกว่าการที่ไม่มีใครทำอะไรเลย หรือจะเรียกว่ากำลังขับเคลื่อนให้บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนหรือมีทัศนคติที่ดีขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เด็กที่อยู่ในชุมชนก่อสร้างให้มากขึ้นก็ได้
Q: คำว่า “กลุ่มคนชายขอบ” ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ หมายถึงคนกลุ่มใด และถ้าพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ มีกลุ่มใดบ้างที่อยู่ในความดูแล
A: คุณวีระพงษ์: กลุ่มคนชายขอบ ในความหมายของมูลนิธิฯ ก็คือ คนที่เข้าไม่ถึงสิทธิที่เขาควรจะได้รับ จริง ๆ แล้วก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า เราควรใช้คำไหนที่มันเหมาะสม และเป็นนิยามที่เราต้องการสื่อสารมัน มีทั้งคำว่า คนด้อยโอกาส คนขาดโอกาส คนยากจน เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่า “คนชายขอบ” ก็มีความหมายไม่ได้ต่างกัน แต่ฟังดูครอบคลุมความหมายของความ “ด้อย” ต่าง ๆ ได้ชัดเจนกว่า นั่นก็คือ คนที่ขาดโอกาส คนยากจน ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้ รวมถึงเด็ก และคนที่ถูกกระทำความรุนแรงต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
มูลนิธิฯ ทำงานกับชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 40 ชุมชน ในกรุงเทพฯ 5 ชุมชน ซึ่งชุมชนเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงชุมชนของคนไทย แต่มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องที่เป็นชาวม้ง ชาวลาหู่ หรือ ชาวมูเซอ ซึ่งมีทั้งที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยเราเอง และที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยในส่วนของแรงงานข้ามชาติ และพี่น้องชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เราเห็นกันอยู่แล้วว่า เขายังไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง เขาจะไม่เข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิอย่างไรบ้างในประเทศไทย แม้แต่พี่น้องชาวม้งบางคนของไทยเราเอง ก็ยังไม่เข้าใจว่า ถ้าเจ็บป่วย จะสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้หรือไม่ บางคนก็ยังไม่มีบัตรอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย บางคนไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ ส่วนพี่น้องต่างด้าว คนที่มีบัตรก็ดีไป ส่วนคนที่ยังไม่มี ก็ยิ่งทำให้การเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของเขายากขึ้นไปอีก
เราต้องการสร้างความตระหนักให้ชุมชน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ไม่ถูกละเลย ไม่ถูกมองข้าม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แม้การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมและในระดับนโยบาย อาจจะใช้เวลายาวนาน แต่ในส่วนที่พวกเรากำลังทำอยู่ เราเชื่อว่า บริษัทก่อสร้าง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ จะเกิดความตระหนักมากกว่าการที่ไม่มีใครทำอะไรเลย
Q: วิธีคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าเด็ก ครอบครัว กลุ่มชาติพันธุ์ หรือชุมชน มูลนิธิฯ ใช้เกณฑ์ใดในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ แล้วมีวิธีการสื่อสารอย่างไรให้สามารถเข้าไปทำงานกับเขาได้
A: คุณวีระพงษ์: จริง ๆ แล้วเราดูที่ความจำเป็นมากกว่า เนื่องจากมูลนิธิฯ มีโครงการหลายโครงการ ดังนั้น ในแต่ละโครงการ ก็จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของแต่ละชุมชน หรือแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่เราไปทำงานด้วยอยู่แล้ว เช่น โครงการให้ความช่วยเหลือส่วนบุคคลและการคุ้มครองเด็ก โครงการนี้ เราไม่เลือกปฏิบัติกับคนที่เราจะทำงานด้วย เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเกี่ยวข้องกับเด็ก เพราะเราทำงานด้านเด็ก เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กและครอบครัวที่มีปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิ ในที่นี้คือ ไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐได้ มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น โครงการนี้ ก็เป็นโครงการสำหรับรองรับทุกเคสที่อยู่ในขอบเขตที่ว่ามา แต่มีข้อบังคับเพียงข้อเดียว คือ เขาต้องยินยอมทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ
บางโครงการ เน้นทำงานร่วมกับชุมชน ก็จะเลือกชุมชนที่ค่อนข้างมีศักยภาพ คือมีจำนวนประชากรค่อนข้างเยอะหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าชุมชนนั้นมี 5-6 คน เราไม่รับเข้าโครงการนะครับ สามารถเข้าได้ แต่เป็นกิจกรรมในเชิงของ ISP (Individual Support Project) หรือ การช่วยเหลือส่วนบุคคลมากกว่า โดยเข้าไปสำรวจความต้องการว่า มีครอบครัวใดที่ประสบปัญหาเป็นพิเศษหรือเปล่า นั่นสำหรับชุมชนเล็ก ๆ แต่ถ้าเป็นชุมชนใหญ่ กิจกรรมก็จะอยู่ในรูปแบบของการสร้างความตระหนัก กิจกรรมเสริมทักษะของเด็ก ๆ กิจกรรมสร้างศักยภาพให้กับชุมชน เป็นต้น
ส่วนโครงการดาวฯ จะเน้นผู้ร่วมโครงการซึ่งเป็นผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ดังนั้น รูปแบบของกลุ่มเป้าหมายก็แตกต่างกันไปตามแต่ละปัญหา แต่โดยทั่วไปแล้ว เราจะไม่เลือกปฏิบัติ หากเขาต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ
Q: เด็กที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง หมายถึงความเปราะบางในแง่ใดบ้าง
A: คุณวีระพงษ์: ถ้าพูดถึงเด็กที่เปราะบาง ค่อนข้างจะมีหลายมิติมาก เช่น ถ้าด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นเด็กที่ยากจน หรือเด็กที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิตัวเอง เช่น ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล ถ้าระดับที่ย่ำแย่กว่านั้น ก็เป็นเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เด็กที่ถูกทอดทิ้ง สรุปก็คือ เด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิเด็ก เราไม่อยากใช้คำว่าเด็กด้อยโอกาส เพราะการใช้คำว่าเปราะบาง ชายขอบ จะฟังดูครอบคลุมมากกว่า
Q: “Blue Fork” เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร เกิด impact อย่างไรต่อเด็กที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง
A: คุณณัฐชญา: เป็นความคิดริเริ่มใหม่ ที่มูลนิธิบ้านเด็ก เราเพิ่งเริ่มโครงการไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี้ เริ่มมาจากว่า เราอยากคิดโครงการระดมทุนใหม่ ๆ ให้กับมูลนิธิฯ ทีนี้ทาง Founder เองไปได้ไอเดียมาว่า อยากจะพาร์ทเนอร์กับกลุ่มร้านอาหารที่เป็นภาคเอกชน ว่าถ้าร้านใดสนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับเรา ให้นำสัญลักษณ์ Blue Folk ไปติดไว้ที่เมนูใดเมนูหนึ่ง ถ้าเมนูนั้นมีสัญลักษณ์ Blue Fork ก็คือ มีสัญลักษณ์ของช้อนส้อมสีฟ้า (เพราะว่าสีฟ้าเป็นสีของมูลนิธิบ้านเด็ก และช้อนส้อมก็สื่อถึงการกินอาหาร) ก็หมายความว่า ลูกค้าที่เลือกซื้อเมนูซึ่งมีสัญลักษณ์นั้น ได้มีส่วนในการช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในสภาวะเปราะบางด้วย รายได้ส่วนหนึ่งจากการขาย จะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิบ้านเด็ก นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ Blue Fork ค่ะ
ที่ผ่านมา เราพาร์ทเนอร์กับร้านอาหารประมาณ 12 ร้าน เพื่อทำโครงการในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2020 และเหตุที่เป็นช่วงเดือนธันวาคม เพราะร้านอาหารที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่ เป็นร้านอาหารต่างประเทศ เดือนธันวาคมเป็นช่วงของ Christmas และ New Year ซึ่งคิดเห็นว่ามันเป็นช่วงที่คนอยากมอบของขวัญให้กันและกัน เป็นช่วงที่ผู้คนจะตื่นตัวในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เหมือนเป็นโครงการตามช่วงเวลาหรือฤดูกาล ซึ่ง impact ที่เกิดขึ้น คือ แม้ว่าเป็นช่วงสถานการณ์โควิด เราก็ยังเห็นว่า มีภาคเอกชนที่เขายังอยากช่วยเหลือสังคมอยู่ จากโครงการนี้ ทำให้สามารถระดมทุนเพื่อสนับสนุนกลุ่มเด็กได้กว่า 700 คน โดยนำไปใช้ในโครงการพัฒนาเด็ก เช่น การเตรียมความพร้อมของเด็กทั้ง 700 คนเพื่อเข้าโรงเรียน และอื่น ๆ
Q: โครงการ “Smile Holiday” ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ใด มีกิจกรรมอะไรบ้าง
A: คุณวีระพงษ์: เป็นโครงการที่เราจัดขึ้นในช่วงวันหยุดที่เชียงใหม่ โดยจัดที่มูลนิธิฯ ลักษณะคล้าย ๆ Summer Camp (ค่ายฤดูร้อน) เพื่อให้คนที่เราดูแลอยู่ประมาณ 40 ชุมชน มาทำกิจกรรมร่วมกันที่มูลนิธิฯ
ถามว่าทำไมเราถึงเลือกจัดกิจกรรมที่มูลนิธิฯ เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ของเราไม่เพียงพอ เพราะในช่วงวันหยุดส่วนใหญ่เด็กจะพักอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้าง ผมสามารถพูดได้เลยว่า ถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาว แล้วเขาอยู่ในไซต์งานก่อสร้าง มีความเสี่ยงที่เขาจะถูกใช้แรงงานสูงมาก เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างแรกเลยก็คือ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานเด็กในหลายรูปแบบ และเป็นการใช้เวลาว่างได้อย่างมีคุณค่า
โดยส่วนใหญ่เราจัดเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ แล้วแต่ช่วงเวลา ถ้าในช่วงปิดเทอมใหญ่ก็ประมาณ 3 สัปดาห์ ปิดเทอมย่อยก็ 2 สัปดาห์ กิจกรรมมีทั้งที่เสริมพัฒนาการด้านศิลปะ กีฬา การให้ความรู้ด้านสุขภาพ และอื่น ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอารมณ์และสังคมของเด็ก โดยขอความร่วมมือจากอาสาสมัคร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาช่วยจัดกิจกรรมที่มูลนิธิฯ แต่ปีที่แล้วกับปีนี้ยกเลิก เนื่องจากโควิด
ส่วน impact ที่ผมคิดว่าสำคัญมากกว่าแค่ได้จัดกิจกรรมสันทนาการก็คือ เวลาที่เด็กมาอยู่กับเรา เจ้าหน้าที่สามารถสังเกตเห็นปัญหาของเด็กบางคน ผ่านแต่ละกิจกรรมได้เลยว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไรที่เราไม่รู้มาก่อนบ้าง เช่น ส่วนหนึ่งของกิจกรรมถามว่า ปีหน้าหนูจะเข้าโรงเรียนไหม เด็กบางคนก็ตอบว่า ไม่ได้เข้าโรงเรียน จากคำตอบของเด็ก เจ้าหน้าที่ก็สามารถลงไปพูดคุยต่อได้ว่าทำไมเด็กตอบแบบนี้ และตามหาสาเหตุได้ต่อไป
Q: หลักสูตร “Women’s Empowerment Program” เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับอะไร นำไปสู่อาชีพใดบ้าง
A: คุณจิตสุดา: เป็นหลักสูตรที่ให้แม่ ๆ ได้มีโอกาสพูดถึงความฝัน หรือเป้าหมายชีวิตของเขา เกี่ยวกับอาชีพที่สนใจ โดยจัดฝึกอบรมติดต่อกัน 2 วัน ร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ หรือเจ้าหน้าที่โครงการดาว
Women’s Empowerment Program ประกอบด้วยหลายกิจกรรม ดังนี้
- กิจกรรม “ต้นไม้แห่งชีวิต” เป็นกิจกรรมที่ให้แม่ ๆ ระลึกถึงการเติบโตของตนเองตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ลองนึกดูว่าตอนเด็กชอบทำอะไร แล้วทักษะของตัวเองในเวลานี้สามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ทำกับข้าวเป็น เย็บผ้าได้ ขับมอเตอร์ไซค์ได้ ทำความสะอาดบ้านเก่ง ฯลฯ แล้วให้นึกถึงความฝันของตัวเองด้วยว่า ตัวเองฝันอยากเป็นอะไร จริง ๆ แล้วอยากทำงานอะไร
- กิจกรรม “สะพานแห่งอนาคต” โดยให้แม่ ๆ โฟกัสไปที่ความฝัน ว่าในอีก 1 ปี 3 ปี และ 5 ปีข้างหน้า เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว อยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไร ให้วาดมันออกมาเป็นภาพ คนที่วาดไม่เก่งก็ให้เขียน คนที่เขียนไม่เป็นเราก็มี magazine ให้ตัดแปะภาพได้
- กิจกรรม “รากเหง้าแห่งปัญหา” ให้เขาลองนึกดูว่า ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอะไรอยู่บ้าง ที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการไปถึงเป้าหมาย
- กิจกรรม “Financial Management Training” หรือ “7 กระปุก” กิจกรรมนี้สอนให้รู้จักแบ่งสรรปันส่วนรายได้ที่มี เช่น ถ้าได้เงินเดือนมา 9,000 บาท จะจัดสรรปันส่วนอย่างไรในการใช้จ่ายหนึ่งเดือน ความหมายของ 7 กระปุก ก็คือ 7 ส่วน ถ้าสมมติมีเหตุฉุกเฉิน มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยขึ้นมา จะลดค่าใช้จ่ายส่วนไหน จะดึงจากส่วนไหนมาได้บ้าง โดยเน้นไม่ให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินนอกระบบ ทั้งความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และเรื่องดอกเบี้ย อีกทั้ง สนับสนุนให้ผู้หญิงมีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง เพราะยังมีคุณแม่บางกลุ่มที่มีความเชื่อว่า ใช้บัญชีธนาคารของสามีก็ดีอยู่แล้ว ไม่กล้าเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง กลัวสามีเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองมีแผนจะเก็บเงินแล้วหนีไปอยู่ที่อื่น เคสลักษณะนี้ ก็จะใช้วิธีแนะนำให้เขาเห็นถึงประโยชน์ของการมีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อเดิม ๆ
- สุดท้ายจะนั่งคุยกับผู้เข้าร่วมหลักสูตรว่า เราเห็นว่าคุณมีเป้าหมายแล้ว แล้วคุณอยากเรียนอะไรเพิ่มเติม เพื่อเสริมทักษะให้คุณไปถึงความฝันนั้นไหม เช่น ถ้าบอกว่าอยากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ให้สำรวจตัวเองว่า ตอนนี้ทำก๋วยเตี๋ยวเป็นหรือยัง มีสูตรก๋วยเตี๋ยวหรือยัง ถ้าเขาบอกว่า เขาสนใจที่จะพัฒนาฝีมือการทำก๋วยเตี๋ยว ทางดาวฯ ก็จะดำเนินการติดต่อองค์กรภายนอก ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นมาฝึกอบรมให้ หรือไม่ก็ส่งไปยังสถานฝึกอาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
ที่ผ่านมาพบว่า ความสนใจมีค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งงานเย็บที่ใช้จักรเย็บผ้า งานฝีมือ การทำอาหาร เรียนทำสบู่ หรือบางคนก็อยากเรียนเสริมสวย แต่ส่วนใหญ่แล้วสนใจเรื่องงานเย็บผ้าค่อนข้างเยอะ ซึ่งยิ่งสะดวกต่อการฝึกอบรม เพราะเจ้าหน้าที่ของเรามีทักษะการเย็บผ้าอยู่แล้ว ก็สามารถลงพื้นที่สอนถึงบ้านได้เลย หรือใครสะดวกมาเรียนที่มูลนิธิฯ ก็มาได้ ส่วนคุณแม่บางคนไม่มีเครื่องมืออย่างจักรเย็บผ้า ก็ยืมของเราไปฝึกทักษะการใช้งานเบื้องต้นได้ บางคนยืมไปเย็บเป็นที่นอน ปลอกหมอน เสื้อผ้า สำหรับใช้เองในครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายก็มี
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองสนใจอะไรก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ใน ISP Program จะมี Case Manager (ผู้จัดการเคส) ซึ่งดูแลเคสของลูก ๆ อยู่แล้ว การประสานกับนักสังคมสงเคราะห์เกี่ยวกับสิ่งที่แม่ ๆ ต้องการการ support จากเรา ก็จะทำได้ง่ายขึ้น
ผมคิดว่าสำคัญมากกว่าแค่ได้จัดกิจกรรมสันทนาการก็คือ เวลาที่เด็กมาอยู่กับเรา เจ้าหน้าที่สามารถสังเกตเห็นปัญหาของเด็กบางคน ผ่านแต่ละกิจกรรมได้เลยว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไรที่เราไม่รู้มาก่อนบ้าง
Q: คนที่อยู่ในเครือข่าย “Women’s Empowerment Program” เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวทั้งหมดไหม มีใครที่เข้าโปรแกรมอีก แล้วคุณภาพชีวิตของเขาเป็นอย่างไรบ้าง
A: คุณจิตสุดา: ในปี 2020 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสจัดกิจกรรมให้ผู้หญิงทั้งหมด 223 คน บางส่วน เป็นกลุ่มผู้หญิงในทัณฑสถานหญิง ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในแคมป์งานก่อสร้าง หรือชุมชนทั่วไปในเชียงใหม่ โดยเราสอนงานเย็บและหัตถกรรมให้เป็นหลัก เช่น ทำพวงกุญแจ สร้อยข้อมือ เย็บกระเป๋าใส่แล็ปท็อป กระเป๋าสะพาย ผ้ากันเปื้อน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ มีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเพียงบางส่วน ส่วนคนอื่น ๆ ก็มาจากเคสที่แตกต่างกันออกไป เช่น คุณแม่บางคนยังอยู่กับสามี แต่สามีรายได้ไม่เพียงพอ หรือคุณพ่อบางคนไม่รู้จักวิธีการบริหารเงิน ได้เงินมาก็เอาไปดื่มเหล้าหมด ความลำบากก็จะตกอยู่กับภรรยาและลูก หรือคุณแม่ที่ต้องทนอยู่กับสภาพความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากตัวเองไม่มีรายได้หลัก ไปไหนไม่ได้ เหล่านี้ เป็นเคสของผู้หญิงที่เราพบ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างเดียว
ในการรับผลิตสินค้าของดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ เราไม่ได้ต้องการให้อาชีพหรือรายได้ของเขามาขึ้นอยู่กับดาวฯ เราอยากเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในช่วงที่เขากำลังลำบาก ต้องเลี้ยงลูก ไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกทั้งวันได้ บางคนสามารถรับงานจากข้างนอกมาทำได้เพิ่มขึ้น มีรายได้จุนเจือครอบครัว เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการฝึกงานเย็บเป็นประจำทุกวัน ขอยกตัวอย่างเคสที่น่าสนใจเคสหนึ่ง คือ คุณแม่อาศัยอยู่กับสามีตามปกติ สามีทำงานคนเดียว แต่ไม่มีเงินเก็บหอมรอมริบเลย ทำให้ไม่มีเงินไปซื้อนมผงชงให้ลูกดื่ม ผู้เป็นแม่จึงเริ่มหันมาฝึกทักษะการเย็บกับดาวฯ ทำไปทำมาก็รู้สึกชอบ เห็นว่าสนุกดี หลังจากนั้นก็เรียนกับเราเรื่อยมา รายได้จากงานเย็บไม่ได้มากมายถึงขนาดสามารถตั้งตัวได้ แต่มันสามารถใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ นำมาซื้อนมผงให้ลูกได้ มีค่าเดินทางให้ลูกไปโรงเรียนได้ และมีเงินเก็บพอที่จะลงทุนเปิดร้านขายขนมจีนได้ จนกระทั่งตอนนี้ เธอไม่ต้องมาขอออร์เดอร์จากดาวฯ แล้ว นี่ก็เป็นตัวอย่างคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของผู้เข้าร่วมหลักสูตร “Women’s Empowerment Program”
Q: Women’s Empowerment Program กับโครงการที่พัฒนามาเป็นดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ มีความเกี่ยวข้องกันไหม
A: คุณวีระพงษ์: เมื่อก่อนโครงการนี้ชื่อว่า “Dao Women’s Empowerment” แต่ตอนนี้เราค่อย ๆ แยก Dao Women’s Empowerment มาเป็น Dao Ethical Gifts Enterprise ซึ่งกิจกรรมหลักของ Dao Ethical Gifts คือ การพยายามติดต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งออร์เดอร์สินค้าที่เป็นอาชีพเสริมให้กลุ่มแม่ ๆ ดาวฯ ในโครงการ Women’s Empowerment Program ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วจะค่อย ๆ ขยับทุกอย่างให้เบนไปสู่ Dao Ethical Gifts Company
Q: สินค้าที่ Dao Ethical Gifts ผลิตและจัดจำหน่ายให้แก่บริษัทเอกชน มีอะไรบ้าง จำหน่ายที่ช่องทางใด
A: คุณณัฐชญา: สินค้าหลัก ๆ เป็นงานที่เกี่ยวกับงานผ้า เช่น งานเย็บกระเป๋า ทำพวงกุญแจ กระเป๋าใส่บัตร หรือกำไลข้อมือ ฯลฯ
ในการกระจายการผลิต เราจะประเมินจากทักษะที่แต่ละคนมี ถ้าใครมีทักษะในการเย็บจักร เมื่อมีออร์เดอร์กระเป๋ามา ก็จะให้ออร์เดอร์นี้แก่คุณแม่คนนี้ ไปเย็บกระเป๋า หรืองานบางชิ้นต้องการเย็บเป็นลายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะมอบหมายหน้าที่นี้ให้กลุ่มที่ทำงานหัตถกรรมได้ เป็นคนทำ
ส่วนการสั่งซื้อสินค้า เป็นแบบ Made to Order หรือ ทำตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก หากสนใจสามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ www.daoethicalgifts.com เข้าไปที่ช่อง contact form และแจ้งผลิตภัณฑ์ที่สนใจแก่เจ้าหน้าที่ได้เลย สำหรับลูกค้าที่สั่งออร์เดอร์ตั้งแต่ 20 ชิ้นขึ้นไป เราก็สามารถปรับแต่งรูปแบบเพิ่มเติมเข้าไปในตัวสินค้าได้ เช่น อยากจะพิมพ์โลโก้ของตัวเองลงไปก็ได้ อยากใส่ข้อความให้ดูเป็น personalised (ลักษณะเฉพาะตัว) ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
Q: สัญลักษณ์ตัวนอตบนสินค้าต่าง ๆ ของมูลนิธิบ้านเด็ก สื่อถึงอะไร ทำไมต้องเป็นนอต
A: คุณณัฐชญา: อย่างที่เราเล่ามาว่า มูลนิธิบ้านเด็ก ทำงานกับเด็กในชุมชนแออัด และหลัก ๆ เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง สัญลักษณ์หัวนอต จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงกลุ่มเด็กและครอบครัว หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนข้อความที่เขียนว่า “One bolt One kid” ก็มาจากไอเดียของ Founder เพื่อต้องการสื่อความหมายว่า การที่คุณซื้อกำไลข้อมือที่เป็นสัญลักษณ์ตัวนอต 1 อัน หมายความว่า คุณได้สนับสนุนให้เราไปช่วยเหลือเด็กได้แล้ว 1 คน
Q: ในช่วงสถานการณ์โควิค ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ในเครือข่ายบ้างไหม และมีการจัดการอย่างไร
A: คุณจิตสุดา: ถ้าในส่วนของดาวฯ โดยปกติเมื่อมีออร์เดอร์เข้ามา เราต้องฝึกทักษะการผลิตสินค้าชิ้นนั้นให้แก่แม่ ๆ ก่อนล่วงหน้า เพราะบางออร์เดอร์ก็ไม่ได้ตรงกับความสามารถที่แม่ ๆ มีอยู่ก่อน เช่นว่า ครั้งก่อน ๆ เราเคยฝึกทำออร์เดอร์ลักษณะแบบนี้ แต่ครั้งนี้ลูกค้า customize สินค้ามาไม่เหมือนเดิม ก็ต้องฝึกเพิ่มเข้าไปใหม่ ก่อนที่ลูกค้าจะยืนยันการซื้อ แต่เมื่อมีโควิด มีการล็อกดาวน์ จึงเป็นอุปสรรคของการทำงานในแบบที่เคยทำ
แต่ก็ยังโชคดี ที่ผู้ผลิตบางส่วนของเรามีทักษะที่ดี จึงสามารถฝึกทักษะให้กับคนในชุมชนของตัวเองได้ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงเวลาที่มีอุปสรรค ให้งานยังดำเนินต่อไปได้
A: คุณวีระพงษ์: ได้รับผลกระทบแน่นอนครับ ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นพี่น้องในส่วนแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้าง จากการสำรวจครั้งล่าสุด บางบริษัทลดการทำงานให้น้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเลิกจ้างนะครับ เช่น จากที่เคยทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ตอนนี้อาจจะเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ หรือผู้หญิง อาจจะถูกลดเวลามากกว่านั้น เหลือ 2 วัน หรือ 1 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากปริมาณงานที่มีน้อยลง หรือถ้าบริษัทไหนมีคนติดโควิด จะมีการให้พักการก่อสร้าง คนในชุมชนก็ขาดรายได้ และมีหลายครอบครัวต้องถูกเลิกจ้าง เพราะมีคนในครอบครัวทำงานที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร เป็นต้น
Q: สถานรับเลี้ยงเด็กชินโช (Tchin Tcho Nursery) มีที่มาอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง การดูแลเหมือนหรือต่างจากสถานรับเลี้ยงเด็กอื่น ๆ ไหม
A: คุณวีระพงษ์: ในโครงการ ISP หรือ การช่วยเหลือส่วนบุคคล พบว่ามีหลายครอบครัวที่จำเป็นต้องจ่ายค่าสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วงพอสมควร สถานรับเลี้ยงเด็กชินโช (Tchin Tcho Nursery) จึงตั้งขึ้นมาด้วยสาเหตุดังกล่าว เรารับเลี้ยงเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบ 6 เดือน จนถึง 4 ขวบ ไม่มีค่าใช้จ่าย และได้จดทะเบียนถูกต้องกับทางสำนักงานพัฒนาสังคม จังหวัดเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว
แต่มีข้อจำกัดบางประการ คือ จะรับเฉพาะเคสที่มีปัญหาทางด้านสังคม เช่น เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หารายได้คนเดียว ไม่สามารถแบกรับภาระส่วนนี้ได้ หรือบางครอบครัวมีลูกทั้งหมด 5 คน ถ้าพ่อแม่ต้องมีค่าขนมให้ลูกอย่างน้อย 3 คนไปโรงเรียน ก็สามารถพาลูกอีก 2 คนที่เหลือมาฝากไว้กับเราได้ หรือแม้แต่เคสที่ผมเคยเจอ คือ ลูกคนโต อายุ 13 ปี แต่ยังไม่เคยได้เข้าเรียนเลย เพราะต้องดูแลน้องแทนพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ก็ต้องไปทำงาน ก็สามารถพาเด็กมาฝากที่ Tchin Tcho Nursery ของเราได้ โดยไปเช้าเย็นกลับ มีรถรับส่ง และมีเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย จากปกติที่คนเป็นพี่ต้องเสียโอกาสในการเรียนเพื่อดูแลน้อง ปัญหานั้นก็จะหมดไป
Q: มูลนิธิบ้านเด็ก สร้าง impact ทางสังคมในแง่ใดบ้าง
A: คุณวีระพงษ์: Impact หลัก ๆ ได้แก่
- การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก แต่ละปีเราทำงานกับเด็กประมาณ 1,000 – 2,000 คน เมื่อก่อนตัวเลขของเด็กที่ได้เข้าเรียนแทบจะเป็นศูนย์ แต่ตอนนี้เราพยายามทำงานร่วมกับเด็กและชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้เด็กที่อยู่ในความดูแลของเราได้เข้าเรียนมากที่สุด โดยปีที่แล้ว ตัวเลขของเด็กที่สามารถเข้าเรียนได้อยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปีก่อนหน้านั้นเกือบจะถึง 98 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยปัญหาโควิด ปีที่แล้วจึงมีรอยต่อที่อาจจะพลาดไป
- การช่วยให้เด็กได้เข้าถึงวัคซีน เราพยายามรณรงค์ให้พ่อแม่พาเด็กไปรับวัคซีนตามช่วงวัย โดยเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ได้รับวัคซีนถูกต้องตามมาตรฐาน มีจำนวนเกิน 80 เปอร์เซ็นต์
- การสร้างความตระหนักให้กับบริษัทก่อสร้าง หลายบริษัททำงานร่วมกับเราในการสร้างพื้นที่สำหรับให้เด็กได้เรียนรู้ในพื้นที่ของเขา เป็นพื้นที่สำหรับมาทำการบ้าน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งปลอดภัยมากกว่าเข้าไปอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง
- บริษัท Real Estate จะมี Property GURU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่รวบรวมหน่วยงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมูลนิธิบ้านเด็กได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในงาน Awards ด้วย โดยทำหน้าที่เป็น technical support (การสนับสนุนทางด้านเทคนิค) ว่าควรมีเกณฑ์การคัดเลือกภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทำเรื่อง sustainability (ความยั่งยืน) อย่างไร
- เราเคยได้รับรางวัลนวัตกรรมทางสังคมยอดเยี่ยม ของ MIT ในปี 2017
Q: อะไรที่เป็นอุปสรรคของทั้งมูลนิธิบ้านเด็ก และดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์
A: คุณวีระพงษ์: อุปสรรคหลัก ๆ ตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องโควิด ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นอุปสรรคของมูลนิธิฯ โดยตรง แต่มันกระทบในหลาย ๆ ด้าน อย่างเช่น มีผู้บริจาคบางรายต้องถอนทุน เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นกับเขา รวมทั้งด้วยตัวโรคโควิดเองที่ระบาด ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็ก ๆ และครอบครัวได้โดยตรง เนื่องจากเงื่อนไขข้อบังคับของรัฐ เช่น ของเชียงใหม่ ประกาศว่า ห้ามรวมกลุ่มเกิน 20 คน เพราะฉะนั้น แผนที่เราต้องไปแจกจ่ายข้าวของเครื่องใช้ ต้องกลับมาวางแผนใหม่ว่าจะแจกได้ไหม ทำอะไรได้บ้าง หรือแม้แต่จะเข้าไปสอนเด็กในชุมชน ก็ต้องคิดกันใหม่ว่าจะใช้วิธีไหนดี ซึ่งทุกอย่างมีผลกระทบต่อการทำงานของมูลนิธิฯ แต่ผมก็เชื่อว่ามันเป็นเพียงอุปสรรคระยะสั้น
ส่วนอุปสรรคที่เกิดจากทัศนคติของคนไทย หรือของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนต่อแรงงานข้ามชาติ ก็ยังมีทัศนคติในทางลบ โดยเฉพาะที่มีต่อเด็กที่เป็นแรงงานข้ามชาติ บางคนมองว่า ไม่จำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนหรอก เด็กพวกนี้ในอนาคตก็ต้องกลายเป็นแรงงานก่อสร้างอยู่ดี ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการตัดโอกาสของเด็ก ในอนาคตเขาอาจจะได้เป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศก็ได้ ใครจะไปรู้ ด้วยทัศนคติแบบนี้ จึงมองว่า อุปสรรคในการทำงานของเรา บางครั้งก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่เป็นคนในสังคมด้วยกันเอง รวมทั้งกฎหมายบางข้อ ซึ่งผมเข้าใจในความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงนะครับ แต่บางครั้งตัวกฎหมายมันปิดกั้นสิทธิบางอย่างที่เด็กบางกลุ่มควรจะได้
A: คุณจิตสุดา: งานหลักของดาวฯ คือ การจัดฝึกอบรม และการสนับสนุนกลุ่มแม่ ๆ ให้เดินทางไปดูงานในที่ต่าง ๆ ตามที่เขาต้องการ พอมีมาตรการความปลอดภัยของโควิดเข้ามา ทุกอย่างก็ถูกชะงัก การสอนทักษะงานเย็บ ก็ต้องสอนผ่านออนไลน์แทน นี่ก็เป็นอุปสรรคหลัก ๆ ของดาวฯ
Q: ภาพในอุดมคติของทั้งมูลนิธิบ้านเด็ก และดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ ที่มองไว้เป็นแบบไหน
A: คุณวีระพงษ์: เด็กทุกคนต้องสามารถเข้าถึงสิทธิ และได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ความปลอดภัย และได้รับความคุ้มครองสิทธิ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
A: คุณจิตสุดา: อยากเห็นสังคมที่ผู้หญิงทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่อยากทำ รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง สามารถทำตามความฝันของตัวเอง อยากให้ผู้หญิงที่อยู่ในชุมชนแออัด หรือแยกออกมาอยู่ห้องเช่า หรือเพิ่งหนีมาจากสามีที่ทำร้ายร่างกาย เหล่านี้ ให้เขาได้มีทักษะ มีงานทำ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี และสามารถปกป้องดูแลลูก ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการเห็นผู้ชายเคารพในสิทธิของผู้หญิง เคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เป็นสามีภรรยากันต้องเคารพซึ่งกันและกันในทุกเรื่อง ทั้งการวางตัว การพูดการจา พฤติกรรม และให้ตระหนักว่า ไม่ควรกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพราะความรุนแรง ส่งผลเสียต่อเด็กที่กำลังเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ซึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเคยเห็นแบบอย่างที่ไม่ดีมาจากครอบครัว
อุปสรรคที่เกิดจากทัศนคติของคนไทย หรือของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนต่อแรงงานข้ามชาติ ก็ยังมีทัศนคติในทางลบ โดยเฉพาะที่มีต่อเด็กที่เป็นแรงงานข้ามชาติ บางคนมองว่า ไม่จำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนหรอก เด็กพวกนี้ในอนาคตก็ต้องกลายเป็นแรงงานก่อสร้างอยู่ดี ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการตัดโอกาสของเด็ก ในอนาคตเขาอาจจะได้เป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศก็ได้ ใครจะไปรู้
Q: ถ้าจะให้สื่อสารไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนกลุ่มคนเปราะบาง อย่างที่มูลนิธิบ้านเด็ก และดาวเอธธิคอลกิ๊ฟส์ กำลังทำอยู่ ต้องการจะสื่อสารอะไร
A: คุณจิตสุดา: จริง ๆ แล้วรู้สึกขอบคุณหลาย ๆ องค์กรเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เข้ามาทำงานของโครงการดาวฯ ก็มีหลายองค์กรที่มาให้ความรู้ มาเป็นโค้ชให้ จัดฝึกอบรมให้กับแม่ ๆ รวมถึง SE Thailand ที่ช่วยสนับสนุนเราด้วยเช่นเดียวกัน
มองว่าการมีเครือข่ายในหลายภาคส่วน เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าเราอยู่ในชุมชน แล้วเป็นเครือข่ายกับสถานีอนามัย สถานีตำรวจ หรือกับสารพัดช่าง องค์กร หรือมูลนิธิอื่น ๆ ก็แล้วแต่ จะทำให้การทำงานเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบางในชุมชน มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้เยาวชนลองหันกลับมาดูที่บ้านเรา ว่ายังขาดตกบกพร่องในเรื่องใด ที่อาจจะเป็นปัญหาสังคมในอนาคตไหม ในชุมชนของเรามีการใช้ความรุนแรงอยู่ไหม มีกลุ่มผู้หญิงที่ยังต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองไหม อยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ลองหันมาพัฒนา หาวิธีแก้ปัญหาในชุมชนของตัวเอง หรือหาวิธีแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ให้เกิดปัญหานั้นขึ้นได้อีก และที่สำคัญ คือ ดูแลบ้านของตัวเองไม่ให้มีปัญหา มันจะช่วยส่งผลให้สังคมในวงกว้างดีขึ้นได้
Q: อะไรคือความสุขในการทำงานนี้
A: คุณวีระพงษ์: ผมเคยเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด อยู่ดี ๆ ก็มีเด็กคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหาแล้วเรียก “คุณครู คุณครู” เขาเข้ามากอดผม แล้วบอกว่า “คุณครู หนูได้เข้าโรงเรียนแล้วนะคะ” นี่แหละคือความสุขของผม มันเหมือนได้ปลดปล่อยความเครียด ความเหนื่อยทุกอย่างออกไป
ภูมิหลังของเด็กคนนี้คือ เมื่อก่อนเขาไม่ได้ไปโรงเรียน แล้วเราก็ทำงานหนักมากเพื่อครอบครัวของเด็กคนนี้ คือพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียน เพราะไม่เข้าใจความสำคัญของการศึกษา แต่เราก็ทำทุกวิถีทางจนสามารถพาเขาเข้าโรงเรียนได้ แต่แล้ววันหนึ่งครอบครัวก็ย้ายออกจากจังหวัดเชียงใหม่ไป จนกระทั่ง ผมได้เจอเขาอีกครั้งในอีกจังหวัด เขาบอกว่า “หนูยังเรียนอยู่นะคะ ขอบคุณคุณครูมากเลย”
รอยยิ้มของเด็ก ๆ รอยยิ้มของแม่ ๆ หรือแม้แต่คนที่เราเข้าไปในชุมชนแล้วเราเห็นเขายิ้มของพวกเขา ผมคิดว่ามันเป็นรอยยิ้มที่จริงใจ เป็นรอยยิ้มที่มีค่าสำหรับคนทำงานทางด้านนี้ นี่ก็เป็นความสุขหรือสิ่งที่ผลักดันให้เรายังคงทำงานตรงนี้อยู่
A: คุณจิตสุดา: เวลาที่เราเริ่มเข้าไปในชุมชนใหม่ ๆ เรายังรู้จักแม่ ๆ ไม่ค่อยดีนัก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้คนและนิสัยใจคอของแต่ละคน การทำงานในช่วงแรก ๆ จึงมีบ้างที่สื่อสารไม่ตรงกัน ไม่เข้าใจกัน จนบางทีรู้สึกว่า เรื่องแค่นี้ไม่น่าจะทำให้เป็นปัญหา แต่พอเวลาผ่านไป การที่เราได้เห็นแม่ ๆ เปิดใจให้เรามากขึ้น เขาเริ่มชวนเพื่อนมาทำกิจกรรมกับเรา จากเดิมมีแค่ 2-3 คน ก็เพิ่มเป็น 10-20 คน หรือรวมกลุ่มกันเข้ามา แล้วมาเสนอกับเราว่า อยากเรียนภาษาไทย ขอให้เปิดสอนภาษาไทยให้ได้ไหม วินาทีนั้นเราภูมิใจมาก เพราะเราไม่ได้เป็นคนไปยัดเยียดกิจกรรมให้ เขาอยากทำด้วยตัวเอง เราก็นำสิ่งนี้ไปเสนอหัวหน้า เพราะอยากทำให้มันเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ดีใจคือ เราได้เห็นศักยภาพของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความเป็นผู้นำ แค่ต้องใช้เวลาหน่อยกว่าจะได้เห็น เพราะปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์จะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสำคัญ นี่ก็เป็นความสุขที่เกิดจากการทุ่มเททำงาน คือได้เห็นกลุ่มผู้หญิงในชุมชนแสดงศักยภาพของตนเองออกมา
A: คุณณัฐชญา: เป็นความสุขที่ว่า เพราะเรารู้ ว่าสิ่งที่เราทำมันมีความหมายกับใคร แล้วมีความหมายอย่างไรกับเขาบ้าง ปกติโฟมเป็นคนที่นั่งอยู่ใน back office เป็นหลัก ไม่ได้ลงพื้นที่จริงบ่อยนัก บางครั้งก็มีความเครียดเรื่องงานเกิดขึ้นเป็นปกติ เกิดคำถามในใจว่าเราทำงานนี้ไปเพื่ออะไร จนวันที่โฟมได้มีโอกาสลงพื้นที่ ได้ไปเห็นเด็ก ๆ ได้ไปเจอแม่ ๆ มันก็ตอบคำถามนี้ว่า สิ่งที่เราทำไปทั้งหมด ก็เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กคนหนึ่งนั่นเอง หรือการที่บริษัทมีออร์เดอร์ใหม่ ๆ เข้ามา เรารู้ว่าสิ่งนี้มันช่วยต่อลมหายใจของแม่ ๆ ที่เขาไม่มีรายได้ ให้มีชีวิตได้ต่อไป