นวัตกรรมชาวบ้าน ธุรกิจที่แสวงหาความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนชนบท | SE STORIES ตอนที่ 16

จากความตั้งใจของ “คุณแจ็ค” นาวี นาควัชระ กรรมการผู้จัดการบริษัท ที่มีเป้าหมายสูงสุด คือ อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับส่วนประกอบอื่น ๆ ในสังคม ความตั้งใจอยากให้เกษตรกรมีทักษะในด้านการทำเกษตร ด้านการประกอบการทำให้เขาอยู่รอดได้ บริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด ตั้งต้นจากการส่งเสริมให้ชุมชนสร้างนวัตกรรมเพื่อทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร จนในปัจจุบันผันจากการร่วมดำเนินการกับชาวบ้านมาเป็นที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ชาวบ้านพัฒนาเป็นกิจการ “นวัตกรรมชาวบ้าน” จึงเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างธุรกิจเพื่อสังคมในระดับฐานรากนั่นเอง

นวัตกรรมชาวบ้าน 1
คุณนาวี นาควัชระ (แจ็ค) กรรมการผู้จัดการบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด
จุดเริ่มต้นและความสนใจใน Social Enterprise

ที่มาของบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ช่วงแรก ๆ เราได้เป็นอาสาสมัครพัฒนาชนบท ทำงานคล้าย ๆ งานภาคสังคมอยู่ 4 ปี เป็นงานเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี การทำเว็บไซต์ ฐานข้อมูล ทำวิดีโอความรู้ถอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงาน จึงเริ่มก่อตั้งเครือข่ายชุมชนที่ชื่อว่า “นวัตกรรมชาวบ้าน” ทำกิจกรรมในลักษณะของการค้นหาวิธีคิด แนวคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตของคนชนบท ซึ่งเป็นที่มาที่ไปของชื่อบริษัท

ปี พ.ศ. 2552 ได้ไอเดียเรื่อง Social Enterprise มาจากต่างประเทศ และเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่มาช่วยแก้ปัญหาทางสังคมซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ เราจึงได้ทำการทดลองด้วยการตั้งบริษัทนวัตกรรมชาวบ้านขึ้นมาเพื่อทำงานในเชิงรูปแบบ Social Enterprise โดยกิจกรรมของบริษัทนวัตกรรมชาวบ้านนั้นจะเน้นไปที่การแก้ปัญหาปากท้องของคนในชนบท เรามีคำนิยามของบริษัทเราว่าเป็น “บริการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร สำหรับเกษตรรายย่อยในชนบท” โดยทำการเกษตรแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งผลผลิตหลักจะเป็นข้าวพื้นเมือง ข้าวชื่อแปลก ๆ เช่น ข้าวปากมึน ข้าวเนียงกวง ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยชีวภาพกำจัดศัตรูพืช บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจำหน่ายแบบโฮมเซลล์ คือ การขนส่งที่ไม่มีแบรนด์ เป็นของตนเอง เน้นการขายล็อตใหญ่ จ้างแรงงานเกษตรในพื้นที่ชนบทเป็นหลัก ทำการผลิตสินค้าเรียบร้อยแล้วนำไปวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า โดยพื้นที่ทำงานอยู่ในโซนอีสานใต้ ได้แก่จังหวัด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ

นวัตกรรมชาวบ้าน 2

ในช่วง 2 ปีหลังจากปรับตัวเพื่อการอยู่รอดจากสถานการณ์โควิด 19 งานช่วงหลังจึงเน้นเป็นงานให้คำปรึกษาเรื่องเกษตรเยอะมากขึ้น เนื่องจากอยู่ในวงการ Social Enterprise มานานถึง 13 ปี ทั้งเป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ได้รับรองการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน งานช่วงหลังจึงเป็นงานที่ไปช่วยพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ให้ธุรกิจชุมชน ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ช่างชุมชน เป็นต้น


รูปแบบการทำงานจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เดิมทีบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด มีรายได้หลักจากการบริการ ทำตั้งแต่ต้นทางคือการส่งเสริมการผลิต การส่งเสริมรับรองมาตรฐาน จนกระทั่งการหาตลาด แต่ในปัจจุบันได้ปรับรูปแบบเป็นงานที่ปรึกษา การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในชนบท ในเรื่องของ การวัดผลกระทบทางสังคม การวัดผลตอบแทนจากการลงทุน การวางแผนธุรกิจด้วยเครื่องมือ เทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการประกอบการ รวมถึงการหาคอนเนคชั่นหรือความร่วมมือที่จำเป็น หากนึกถึงที่มาของรูปแบบการทำงานจากอดีตสู่ปัจจุบัน ยุคเริ่มแรกที่ทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจรนั้นเดิมทีมีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นจากทางภาครัฐเพียงบางแง่มุม เช่น ส่งเสริมเรื่องการปลูก แต่หากเกิดเหตุการณ์สินค้าล้นตลาด ก็ไม่ได้มีการส่งเสริมอย่างครบวงจรไปจนถึงการแปรรูป และการตลาด เฉพาะส่วนของภาครัฐ จึงเกิดไอเดียเกษตรอินทรีย์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการร่วมด้วย อีกทั้งเรามองว่า

ความสำเร็จของเรา คือ วันหนึ่งพวกเขารวมกลุ่มกันตั้งเป็นธุรกิจ หรือ กิจการสามารถเลี้ยงชีพเขาได้ แก้ปัญหาปากท้องของเขาได้ นั่นคือ “จุดมุ่งหมายสูงสูด” ของบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด

ซึ่งบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด แตกต่างจากองค์กรภาคการเกษตรทั่วไป ถ้าเทียบกับหน่วยงานภาครัฐ นวัตกรรมชาวบ้านค่อนข้างมีความคล่องตัว มีวิธีการที่ชัดเจนว่าต้องการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม หรือ ธุรกิจท้องถิ่นที่ตอบสนองการแก้ปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้ทำเพียงแค่ส่วนเดียว อย่างหน่วยงานราชการทำข้าว ทำพืชผัก แยกส่วนกันไปหมด แต่นวัตกรรมชาวบ้านมองทุกอย่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน อย่างตอนที่เราทำข้าวพื้นเมือง ก็สามารถนำผลิตภัณฑ์จากข้าวไปให้อาหารไก่ได้ด้วย นำมูลไก่ไปใส่ปุ๋ยให้ข้าวได้ กระบวนการเน้นที่เกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมเกษตรครบวงจรไม่ต้องใหญ่ รวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อการส่งรายใหญ่ ๆ ได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

นวัตกรรมชาวบ้าน 3


โอกาส คือ การเติบโต

นวัตกรรมชาวบ้านแสวงหาทุกวิถีทางที่จะสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีได้ให้กับคนในชนบท ประเด็นแรกเรามองว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งนวัตกรรมนั้นต้องต้นทุนต่ำ ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย ในส่วนนี้ถือเป็น “แกนหลักในการทำธุรกิจ” แล้วยึดตามแกนหลักนั้น จากนั้นค่อย ๆ พัฒนากระบวนการของการประกอบการของคนในท้องถิ่นให้คิดถึงการสร้างอะไรใหม่ ๆ บนพื้นฐานทรัพยากรของตนเอง พบว่าการพยายามคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ก็จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ทำให้สามารถสร้างมูลค่ามีราคาเพิ่มมากขึ้น “ความสำเร็จที่แท้จริง คือ การที่คิดอะไรใหม่ ๆ ปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม หรือ ปัญหาที่เข้ามา คิดค้นแสวงหาความร่วมมือที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้ดี” นี่คือจุดมุ่งหมายสูงสุด เราพยายามคิด ค้นคว้า ถ่ายทอด และส่งต่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงทักษะที่จำเป็นเหล่านี้

คิดว่าโอกาส คือ การเติบโต เราอยากเติบโตไปในแง่การทำงานที่ได้แก้ปัญหาประเด็นใหม่ ๆ ในชุมชน เราหวังว่าเราจะเป็นองค์กรที่ปรับตัวอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาถือเป็นการทดสอบใหญ่ และ เราสามารถผ่านมาได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หลัก ๆ เราคาดหวังว่าเราจะทำงานเคลื่อนไหวในเชิงระนาบในเรื่องของขอบเขตการทำงานเพิ่มขึ้นกับท้องถิ่น นั่นคือ สิ่งที่เราจะพัฒนาต่อไป โดยไม่ได้คิดว่าองค์กรต้องใหญ่หรือเล็ก เพียงแต่สามารถให้ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์เป็นพอ


โมเดลธุรกิจจากแนวคิด ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนชนบท

โมเดลธุรกิจของนวัตกรรมชาวบ้านเราได้แนวคิดมาจาก One Acre Fund ของเคนยา เป็นการทำเกษตรแบบครบวงจร แต่ของเขาไม่ได้ทำประเด็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เขาพยายามแก้ไขด้านห่วงโซ่ และอีกโมเดลได้มากจากแนวคิดของ Proximity Designs ที่พม่า จะเน้นเรื่องการพยายามใช้ Design Thinking (กาคิดเชิงออกแบบ) ในการออกแบบเครื่องจักรหรือนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในชนบท ของเกษตรกรรายย่อยในพม่า เราพยายามใช้แนวคิดจากทั้ง 2 ที่ มาประยุกต์ใช้กับบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด

เมื่อนำ 2 แนวคิดนี้มาใช้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ทำให้เราได้นวัตกรรม หรือ ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชนบท โดยไม่ใช่แค่เห็นวิธีการของที่นั่นที่นี่แล้วหยิบมาใส่ในโมเดลเราและจบ แต่เราได้เห็นว่าแต่ละที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิมแบบใด และจะนำภูมิปัญญานั้นมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแบบของเราได้อย่างไร ยกตัวอย่าง ข้าวที่เรานำมาทำก็ไม่ได้ใช้ข้าวจากพื้นถิ่นดั้งเดิม เพราะข้าวพื้นถิ่นดั้งเดิมจะให้ผลผลิตต่ำ ถึงแม้จะทนแล้ง ทนโรค แต่ผลผลิตน้อยมาก เราพยายามทำร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่พัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวลูกผสมพื้นเมืองที่ให้ผลผลิตที่สูง สามารถทนแล้งได้ ต้านทานต่อโรคและ แมลงได้ดีในระดับคุ้มที่จะปลูกและคุ้มต่อการลงทุน หรือการเลี้ยงไก่ไข่ก็จะเป็นไก่ไข่ลูกผสมพื้นเมือง คำว่าไก่ไข่ลูกผสมก็คือ เราใช้ไก่ไข่ในเชิงพาณิชย์ผสมกับไก่ไข่พื้นเมือง มีข้อดีของทั้งสองสายพันธุ์อยู่ในตัวเดียวกัน เพราะไก่พื้นเมืองแข็งแรงทนโรค แม้ว่าข้อเสียของมันคือ ไข่ฟองเล็กและออกไข่น้อยก็ตาม ในขณะที่ไก่เชิงอุตสาหกรรมให้ไข่ดก ออกไข่ทุกวัน แต่ไก่อุตสาหกรรมจะเคยชินกับการเลี้ยงในห้องแอร์ อย่างโรงเรือนของ CP ฟาร์มขนาดใหญ่มีเครื่องปรับอากาศ เครื่องควบคุมความชื้น และ อุณหภูมิเราจึงผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ ที่มีคุณลักษณะที่ดีต่างกันให้มาอยู่ที่เดียวกันทั้งออกไข่ดกและทนโรค เราพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถเลี้ยง และ ดูแลรักษาได้ง่าย

นวัตกรรมชาวบ้าน 4

นวัตกรรมชาวบ้าน 5


จากปัญหาการขาดแคลนเงินทุน สู่…การสร้างผลลัพธ์ทางสังคม

ในเรื่องของการขาดแคลนเงินทุนหลัก ๆ เราจะเข้าไปช่วยเรื่องการจัดการเงินทุนหมุนเวียนในช่วงสั้น ๆ เช่น ชาวบ้านเอาผลิตภัณฑ์มาขาย เราสามารถจ่ายเงินไปได้เร็วโดยไม่ต้องรอห้างสรรพสินค้า หรือ ตัวแทนจำหน่าย ในบางทีต้องรอเครดิต 60 วัน บางทีชาวบ้านไม่สะดวกที่จะรอ เพราะมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่รออยู่ ซึ่งชาวบ้านมาขายผลิตภัณฑ์ เราสามารถทำให้ตัวเครดิตสั้นลง จากปกติที่ต้องรอ 50 – 60 วัน แต่ภายใน 15 วันเราสามรถจ่ายเงินให้ได้แล้ว นั่นคือการทำให้สั้นลงแต่ไม่เชิงเป็นเงินหมุนเวียน

ในส่วนหนึ่งเราก็จะพยายามให้เขารวมกลุ่มกันสำหรับการพัฒนานวัตกรรม หรือประเด็นเฉพาะ ที่สามารถอาศัยแหล่งเงินจากภาครัฐ กองทุน หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ของภาคเอกชนได้ ให้เขาสามารถพัฒนาบางอย่างที่เขาขาดแคลนเรื่องของเงินทุน คือ ทำให้เขาเชื่อมกับสิ่งที่จำเป็น
โดยนวัตกรรมชาวบ้านมีวิธีการวัดผลลัพธ์ทางสังคม ทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่

  1. รายได้ รายจ่าย หนี้สิน พยายามเช็คว่าก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมของเรา ระดับรายได้ของเขาประมาณเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ หนี้สินระหว่างทำนั้นลดหรือไม่ หรือ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น
  2. สุขภาพดีขึ้น เพราะ ลดการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อให้เห็นได้ว่า ส่งผลต่อเรื่องสุขภาพให้ดีขึ้นได้ รวมถึงเรื่องการบริโภคที่ถูกสุขลักษณะ บริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน
  3. สภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำกิน พื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรมีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะการเพาะปลูกที่มีความหลากหลายทำให้เขามีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายมากขึ้นด้วย เพราะช่วยประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง นี่คือข้อดีข้อหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ
  4. ความพึงพอใจ และความสุขของการดำเนินชีวิตในชนบท เพราะถึงแม้บางคนมีรายได้มากขึ้น แต่อาจจะมีความทุกข์มากขึ้นก็ได้ เรามองว่าที่ทำมาทั้งหมดนี้มันจะต้องส่งผลให้เขารู้สึกพึงพอใจกับการดำรงชีวิตของเขาด้วย เพราะชีวิตของแต่ละคนมีมิติที่แตกต่างกันไม่ใช่ว่าการมีเงินมากขึ้นมีสุขภาพดีขึ้น จะเป็นจุดมุ่งหมายหรือความสุขของทุกคน แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นที่เราไม่รู้หรือยังไม่ได้ทำ ตัวอย่างเช่น ทุกอย่างดีหมดแต่ทำไมชาวบ้านถึงยังรู้สึกทุกข์ใจ เพราะชุมชนอาจมีปัญหาเรื่องยาเสพติด อาชญากรรมในชุมชน เป็นต้นกรณีลักษณะนี้เราก็ต้องดูต่อว่าเราสามารถแก้ไขในประเด็นอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้น Indicator (ตัวชี้วัด) ตัวสุดท้ายจะเป็นตัวที่เช็คว่างานที่เราทำมันช่วย Support การแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ทั้งหมดแล้วหรือยัง โดยใช้เกณฑ์ 4 อย่างนี้ในการสร้าง Impact

นวัตกรรมชาวบ้าน 6นวัตกรรมชาวบ้าน 7

จากที่กล่าวไปข้างต้น เรามีการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ เช่น เกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มเรา เขานำผลผลิตมาส่งจำนวนเท่าไหร่ และรับซื้อไปเท่าไหร่ ซึ่งสามารถรู้ได้โดยการทำโมบายเว็บ หรือระบบบริหารจัดการสำหรับเกษตรกรรายย่อยอยู่ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งโมบายเว็บ มีไว้สำหรับบันทึกข้อมูลว่าเกษตรกรในเครือข่ายได้รายได้จากการทำข้าวออร์แกนิค หรือ ทำไข่ไก่ออร์แกนิคไปจำนวนเท่าไหร่ และ รายได้ที่ได้ส่งผลอะไรในเชิงคุณภาพชีวิตของเขาบ้าง ซึ่งตัวระบบก็จะเก็บข้อมูลทั้ง 4 Indicator ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเลย ว่าเรื่องสุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง มีการลดสารเคมีอะไรบ้าง เดิมใช้อะไร ถ้าลดแล้วใช้อะไรแทนการใช้สารเคมี เช่น เดิมใช้ยาฆ่าแมลง ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้สะเดากำจัดศัตรูพืชในนาข้าวแทน เราก็จะทำการบันทึกไว้ การเช็ค และ บันทึกจำนวน เรียกว่าใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดผลลัพธ์ทางสังคมในปัจจุบัน

ตลอดจนการดูแลผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อองค์กร ในกลุ่มลูกค้าหลัก ๆ เราจะสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลที่สำคัญ ๆ เช่น ตอนนี้ชุมชนได้รับผลกระทบอะไร จะกระทบต่อรายได้มากน้อยเพียงใด ในชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะ ข้อมูลจะทำให้ลูกค้าหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกับเราเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชน เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการสนับสนุนชุมชนตามภารกิจที่ตั้งใจ ก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งตัวชุมชนเองและผู้ที่สนับสนุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพยายามสื่อสารกันอยู่ตลอด ส่วนเกษตรกร

เราจะเน้นย้ำเสมอว่างานของเรา ไม่ใช่การดูแลเขาไปทั้งชีวิตนะ เราช่วยดูแลได้ในระยะเวลาหนึ่ง ช่วยให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินการ เข้มแข็งทางความคิด เข้มแข็งในการเป็นผู้ประกอบการ “เราหวังให้เขาอยู่กันได้ด้วยตนเอง”

ทำให้ชุมชนเขาอยู่รอด ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหานี้ได้ก็คือการมี Connection และ นั่นก็เป็นหนึ่งสิ่งที่เรา “นวัตกรรมชาวบ้าน” ช่วยดูแลด้วย

นวัตกรรมชาวบ้าน 8


เราจะไม่ยอมผลักภาระให้เกษตรกร

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาซึ่งอุปสรรคที่เราพบเจอนั้น เราได้ใช้ประโยชน์นโยบายการชะลอการจ่ายเงินกู้จากภาครัฐ ในเรื่องการปรับตัวเกิดจากการที่เราพยายามหาวิธีของเราเองเนื่องจากออกไปทำงานในชุมชนไม่ได้ ก็เลยต้องปรับตัวเพื่อหาทางรอดให้องค์กรโดยปรับวิธีการทำงานมาเป็นการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งอุปสรรคตอนปรับตัว ตอนที่เปลี่ยนจากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาเป็นบริษัทที่ปรึกษา ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราไม่มั่นใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่ามันจะทำให้เราอยู่รอดได้หรือเปล่า เพราะด้วยความที่เราทำงานนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ทำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาตลอด ตอนช่วงท้ายมันมีปัญหาช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ เราจะมีปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน ต้องเอาที่ดินเข้าธนาคาร พวกห้างสรรพสินค้าก็ยืดเครดิตไปเรื่อย ๆ จาก 30 วัน เป็น 60 – 90 วัน ผลัดไปเรื่อย ๆ เราหมุนเงินไม่ทัน เลยคิดว่ามันใช่ทางที่ถูกไหม เพราะยิ่งทำก็ยิ่งมีหนี้เพิ่มขึ้น ทุกคนผลักภาระให้คนอื่นกันหมด และแน่นอนว่า “เราไม่ยอมผลักภาระให้เกษตรกร” ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดแล้ว ผมมองว่าสำหรับ Social Enterprise อาจต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ สิ่งที่เราทำมาหลายปี เราต้องสามารถปรับตัวได้ เพื่อความอยู่รอด เพราะท้ายที่สุด Social Enterprise ก็เป็นธุรกิจประเภทนึง มันอาจจะต้องมีจุดที่เราต้องหยุดคิด และ ปรับตัวอย่างจริงจัง แม้แต่ต้องข้ามสาย ข้ามสิ่งที่เราไม่เคยทำนั่นเอง

ในส่วนของการทำงานร่วมกับเกษตรกรไม่ใช่นึกจะพูดก็พูดขึ้นมาลอย ๆ ได้ว่า ทำแบบนั้นสิดี ทำแบบนี้สิดีแล้วใครเขาจะเชื่อทันทีทันใด วิธีการของเรา คือ พยายามหาคนที่สนใจจริง ๆ อยากทดลองให้มาเป็นตัวแทนชุมชน 1-2 ราย มาทดลองแล้วมีข้อพิสูจน์ที่เห็นได้เชิงประจักษ์ จึงทำให้เขาเชื่อมั่นในรูปแบบการทำงานแบบเรา อย่างการสร้างผู้ประกอบการ หรือการสร้าง Social Enterprise มีคำถามเยอะแยะมากมาย ว่ามันต่างกับวิสาหกิจชุมชนอย่างไร หรือ บางรายเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็มองว่าการหันมา เป็น Social Enterprise จะทำให้เขาได้ประโยชน์อะไร ไม่เห็นต่างกับธุรกิจปกติเลย กรณีเหล่านี้ต้องทำให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนและสิ่งที่พิสูจน์ได้ เพื่อมาปรับมุมมองของเขาที่มีต่อ Social Enterprise ใหม่

นวัตกรรมชาวบ้าน 9


เป้าหมายการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมของบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด

เราหวังว่าจะได้เห็น Social Enterprise รุ่นใหม่ ๆ ในระดับท้องถิ่นที่คล้ายกับบริษัทนวัตกรรมชาวบ้านกระจายไปในแต่ละรูปแบบตามแต่ทรัพยากร ตามแต่ทักษะ ตามแต่สภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่นั้น ผมเองมองว่า กระบวนของการเป็น Social Enterprise มันเป็นกระบวนการที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ในระดับที่ดีพอสมควร และอยากเห็นองค์กรลักษณะนี้มีในชุมชนท้องถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ การที่เรามาทำงานลักษณะของบริษัทที่ปรึกษาที่ไปส่งเสริมผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย จากที่บางกลุ่มเป็นผู้ประกอบการธรรมดา บางกลุ่มเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน วันหนึ่งหัวขบวนรถสายนี้ที่เราเข้าไปช่วยตั้งแต่ต้น คงจะทำให้เขาเป็น Social Enterprise ขึ้นมาได้ คิดว่ารูปแบบการทำงานนี้ จะช่วยตอบโจทย์ที่ทำให้สามารถเกิด Social Enterprise เพิ่มมากขึ้นได้

นวัตกรรมชาวบ้าน 10


เป้าหมายสูงสุดในการทำงาน

เราอยากเห็นชุมชนท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของสังคมประเทศเรา

อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นมีการสร้างความสัมพันธ์กับส่วนประกอบอื่น ๆ ในสังคมที่ดี อยากเห็นองค์ท้องถิ่นมีความเชื่อมโยง และเป็นส่วนประกอบที่ดีในสังคม อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นเป็นที่ที่คนเลือกที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำงานในเมือง เป็นที่ที่ทุกคนเลือกอยู่ได้โดยมีความสุข ไม่อยากให้ชุมชนชนบทไม่มีใครอยากอยู่ อยู่ไปก็ไม่มีอะไรกินจึงพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้ว่าจริง ๆ ชนบทก็มีความสุขเหมาะกับการที่เราจะอยู่สร้างครอบครัวอยู่ได้ดีไม่แพ้ที่อื่น ๆ


ฝากถึงผู้อ่าน…

ท้ายที่สุดอยากฝากสำหรับคนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ Social Enterprise มองว่า ชุมชนท้องถิ่นชนบทยังเป็นพื้นที่เปิดกว้าง สำหรับคนที่อยากจะสร้างธุรกิจที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เหล่านี้ หากมีกิจการเข้าไปร่วมด้วยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนในชนบทดีขึ้นและจะส่งผลกระทบปัญหาสังคมอีกหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ อีกประการหนึ่ง คือ นวัตกรรมชาวบ้านมีหลายงานที่ทำร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโปรเจคช่างชุมชน พัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น พัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเข้ามาร่วมสนับสนุนหรือเรียนรู้กับเราได้


Credit SWU (1)