น.ส.นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า
ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการสร้างแพลตฟอร์ม “SET Social Impact” ขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคม โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 59 ถึง 61 มีองค์กรพันธมิตรที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้วกว่า 205 องค์กร มีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมกว่า 68 บริษัท ซึ่งสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน 385 แห่ง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 63.28 ล้านบาท
น.ส. นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ
ทั้งนี้ ตลท. ได้วางนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของ SET Social Impact ประจำปี 62 ในการขยายผลลัพธ์ทางสังคมระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับธุรกิจเพื่อสังคมผ่านการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งในปีนี้ ตลท. จะเน้นการสร้างการรับรู้มากขึ้น ผ่านช่องทาง www.setsocialimpact.com และ Facebook โดยจะมีการนำเสนอเนื้อหาที่กระตุ้นให้สามารถดึงเอาภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมให้มากขึ้น
รวมไปถึงมีแผนการพัฒนาและส่งเสริมด้านความรู้ในการเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคมผ่านคอร์สต่างๆ อาทิ SET SE101 ที่จะนำเข้าไปเป็นรายวิชาเพื่อสอนในมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับพื้นฐานในการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมและการคำนึงถึงความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ
สำหรับวันนี้ ตลท. ได้มีการจัด “SET Social Impact Roundtable 2019” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดในประเด็นปัญหาสังคมต่างๆ ได้แก่ ปัญหาการศึกษา, ปัญหาการพัฒนาชุมชน, ปัญหาสุขอนามัย, ปัญหาการแก้โกง, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาเกษตร และปัญหาความไม่เท่าเทียม ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมและองค์กรพันธมิตร
น.ส.นพเก้า กล่าวอีกว่า ตลท. จะมีการจัดโครงการ “SET Social Impact GYM” อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาความรู้ของธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านการดูแลและแลกเปลี่ยนจุดมุ่งหมายร่วมกันระหว่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อช่วยสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ในด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนในระยะยาวได้
ทั้งนี้ ตลท. ตั้งเป้าในการขยายการจัดกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้นในต่างจังหวัด ผ่านโครงการ N-E-S GYM ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใน 1 วัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในต่างจังหวัด โดยตั้งเป้าหมายในการมีผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมสนใจเข้าร่วมมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลท. ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อต่อยอดให้สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้มากขึ้น โดยในปี 62 มีแผนการจัดโครงการ “A-to-B Project (Agriculture-to-Business)” ซึ่งเป็นโครงการที่ ตลท. และบริษัทจดทะเบียนมีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการใช้พื้นที่ว่างเปล่า หรือพื้นที่รอบสถานประกอบการ นำมาออกแบบเพื่อการเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้พนักงานร่วมเป็นเจ้าของและเรียนรู้ และเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างรายได้จากผลิตผลจากพื้นที่
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์