สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา ปีงบประมาณ 2566 พร้อมมอบทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบให้เปล่า (grant) มูลค่าสูงสุด 1,500,000 บาทต่อโครงการ เพื่อพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น
รับสมัครโครงการ 9 หัวข้อ ดังนี้
- ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม: การจัดการของเสียทั้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร โดยสร้างมูลค่าเพิ่มและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล
- ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน: การส่งเสริมความเชื่อมโยงการผลิตพลังงานจากวัตถุดิบพลังงานทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้เต็มตามศักยภาพ การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม และการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและน้ำ หรือการผลิตอาหารที่มีการอนุรักษ์น้ำและพลังงาน ตลอดจนการจัดการน้ำที่ส่งเสริมการผลิตอาหารหรือพลังงาน
- ด้านการศึกษา: การใช้นวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการศึกษาให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
- ด้านการเงิน: การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม: การสร้างรูปแบบนวัตกรรมการจัดการที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินและสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง หรือการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เช่น การจ้างงานในชุมชน การจ้างงานสำหรับผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส การจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
- ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน: การสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรรายย่อยภายในประเทศมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถตอบสนองการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์อินทรีย์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับระบบการเกษตรของประเทศ
- ด้านภาครัฐและความเป็นเมือง: การใช้นวัตกรรมปรับปรุงกระบวนการในการเข้าถึงการบริการภาครัฐ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วยกัน รวมถึงการส่งเสริมการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง ที่มีบริบทเกี่ยวข้องต่อสภาพความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง เช่น ปัญหาด้านการขนส่งมวลชน ปัญหามลพิษ ปัญหายาเสพติด ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นต้น
- ด้านสุขภาพ: การส่งเสริมการดูแลสุขภาพในระยะยาว การพัฒนากระบวนการเข้าถึงการรักษาของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล การลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ทดแทนการนำเข้า ราคาถูก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม: การนำผลผลิตสร้างสรรค์จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบของสินค้าหรือบริการ กระบวนการผลิต การบริหารจัดการในองค์กร การเปิดตลาดใหม่ และการสื่อสารทางการตลาด ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการมีส่วนร่วมจากชุมชน
- ด้านการจัดการภัยพิบัติ: การแก้ปัญหาและป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วมหรือการขาดแคลนน้ำ ปัญหาไฟป่า ปัญหาภัยพิบัติจากทะเลและชายฝั่ง ปัญหาแผ่นดินไหว เป็นต้น โดยนำนวัตกรรมการจัดการ กระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์เข้ามามีส่วนร่วม
ขั้นตอนและระยะเวลา
- เปิดรับโครงการถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
- พิจารณาข้อเสนอ concept idea – ตุลาคม 2565
- ยื่นข้อเสนอโครงการ (เฉพาะโครงการที่ผ่านการพิจารณา concept idea) – พฤศจิกายน 2565
- โครงการจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป หรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมที่ สนช. พิจารณา
สมัครเข้าร่วมโครงการที่ http://mis.nia.or.th/
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
- นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย (บริษัท หจก. มูลนิธิ สมาคม วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์) ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่ร้อยละ 51 ของนิติบุคคลนั้น ถือโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย
- ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น เว้นแต่ทุนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ซ้ำซ้อนจากที่ขอรับการสนับสนุน
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหรือผู้ต้องโทษในคดีอาญา
รูปแบบเงินสนับสนุน
- ผู้ผ่านเกณฑ์การสนับสนุนจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อดำเนินโครงการมูลค่าไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนโครงการที่สำนักงานฯ
- การจ่ายเงินเพื่อให้การสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการจะเป็นลักษณะการเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลัง (reimbursement) ซึ่งผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องออกค่าใช้จ่ายในโครงการแต่ละงวดไปก่อนตามแผนงาน แล้ว สนช. จะเบิกจ่ายให้เป็นรายงวด
- กรณีผู้ขอรับทุนเป็นภาคเอกชน จะต้องแสดงค่าใช้จ่าย (In-Cash) ที่เกิดขึ้นหลังจากลงนามสัญญาส่วนของผู้ขอรับทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าโครงการ
- สนช. ไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ข้อมูลเพิ่มเติม
ขอบคุณที่มา: สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency – NIA)