เครื่องมือการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนหรือ Social Return on Investment (SROI) เป็นเครื่องมือสำหรับองค์กรที่ทำงานด้านสังคมและดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ใช้วิเคราะห์ความคุ้มค่าของการสนับสนุนงบประมาณ (ต้นทุน) ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเชิงผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) หรือไม่
SROl นำมาใช้เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จของโครงการเพื่อสังคม โครงการรัฐ และกลายเป็นเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรมในหลายบริบท อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดความคุ้มค่าด้านการดำเนินโครงการขององค์การมหาชน เกณฑ์รางวัลแห่งเกียรติยศอุตสาหกรรมไทย (The Prime Minister’s Industry Awards) ใช้ชี้วัดการสร้างแนวคิดต้นแบบเชิงสร้างสรรค์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เป็นต้น
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำคู่มือฉบับนี้ขึ้นเพื่อศึกษาผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของแผนปฏิบัติการจำนวน 4 แผน ได้แก่
- แผนบูรณาการ โคก หนอง นา วิถีใหม่ (7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า และชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน)
- โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City)
- แผนพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนโรงไฟฟ้า
- แผนโรงไฟฟ้าชุมชน (แม่แจ่ม)
รวมถึงจัดทำคู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ของโครงการเพื่อสังคม
คู่มือนี้ถอดบทเรียนจากองค์ความรู้และประสบการณ์จริง โดยคาดหวังให้ผู้ปฏิบัติงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงผู้ที่สนใจงานด้าน SROI ทำความเข้าใจหลักการและปฏิบัติงานได้ง่าย เนื้อหาประกอบด้วย เครื่องมือวัดผลกระทบทางสังคม, การทบทวนรายละเอียดโครงการที่ต้องการประเมิน, แนวทางการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การสร้างเส้นทางสู่ผลกระทบทางสังคม Social Impact Pathway (SIA), การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุน (SROI) และแนวทางการเขียนรายงานผลกระทบทางสังคม (SROI Report)