รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Thailand Sustainable Development Report 2022

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

กิจกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของเวทีฯ วันนี้คือการเปิดตัว “รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอในฐานะกลไกสำคัญของการนำข้อมูลสู่การกำหนดวาระนโยบายและกลไกส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการ อันจะนำไปสู่การดําเนินงานเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2573 ผ่านข้อมูลเชิงลึกและความคิดเห็นที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบวงจรสุวัฏจักร (virtuous cycle) ระหว่างนักวิชาการ หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญทุกระดับ ตั้งแต่ตุลาคม ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา


สาระสำคัญของรายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565

รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของการนำแนวคิด Sustainability Transformation มาปรับเข้ากับบริบทของประเทศไทย และนำเสนอสถานการณ์รายประเด็นภายใต้ 5 ธีม ได้แก่

ธีมที่ 1 สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรและโอกาสที่เป็นธรรม เพื่อสร้างหลักประกันทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการมีสุขภาวะในประชากรแต่ละกลุ่มอย่างเสมอภาค (equity) โดยการจัดสรรทรัพยากรในระบบการศึกษาให้เพียงพอและเป็นธรรม จะสร้างโอกาสทางการศึกษา ลดผลกระทบจากภูมิหลังด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาวะของผู้เรียนไม่ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันการศึกษารูปแบบทางเลือกที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน

ความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การให้ความสําคัญกับการสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง การมุ่งเน้นการทำงานในระดับพื้นที่โดยให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนงาน และการสร้างสังคมที่นําข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างบูรณาการและเป็นระบบ

 

ธีมที่ 2 เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (Sustainable and Just Economies)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองทางสังคมสําหรับคนฐานราก เช่น แรงงาน ผู้พิการ และคนในชนบท ผ่านระบบและกฎหมายสวัสดิภาพแรงงาน การเข้าถึงกลไกความคุ้มครองทางสังคมของภาครัฐ ระบบสวัสดิการชุมชน และการเข้าถึงเทคโนโลยี แม้ปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคมของคนกลุ่มต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายดังกล่าวยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร เห็นได้จากปัญหาของการตกสํารวจ (exclusion error) ที่คนจนจริงมิได้รับสวัสดิการเป็นอาทิ ซึ่งกลไกการคุ้มครองทางสังคมนี้จะเกี่ยวพันกับสถานะทางเศรษฐกิจของชุมชนอันเป็นบ่อเกิดของการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนที่ดี

ความท้าทาย ได้แก่ ปัญหาเชิงระบบภายในภาครัฐ เช่น ความล่าช้าในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ การขาดการสรุปบทเรียนจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานกับพื้นที่ และปัญหาเชิงระบบภายนอกภาครัฐ เช่น การขาดปฏิสัมพันธ์ข้ามภาคส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนอื่น รวมทั้งการขาดทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่และงบประมาณในภาคส่วนอื่นนอกภาครัฐ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การปรับปรุงให้ข้อมูลและระบบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมและระบบการคุ้มครองทางสังคมมีความแม่นยํา ทันการณ์ เข้าถึงเข้าใจและใช้ประโยชน์ได้โดยคนทุกกลุ่ม การขับเคลื่อนความคุ้มครองทางสังคมสําหรับคนฐานรากโดยใช้กลไกข้ามกระทรวงและข้ามภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพ การให้ความสําคัญกับการเสริมพลังภาคส่วนอื่นนอกภาครัฐให้มีทรัพยากรเพียงพอ การเพิ่มการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในกลุ่มคนเปราะบาง และการจัดให้มีการทบทวนผลการดําเนินงาน กระบวนการทํางาน และการบังคับใช้กฎหมายแบบข้ามภาคส่วนอย่างสม่ำเสมอ

 

ธีมที่ 3 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization with Universal Access)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การนําประเทศไปสู่สังคมที่มีคาร์บอนเป็นกลาง การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ผ่านการทำให้พลังงานปลอดคาร์บอนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางภูมิอากาศ (การทําให้ผลสุทธิของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์) และผ่านมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสะอาดที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ใช้พลังงานสะอาด

ความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ นโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานควรมีความต่อเนื่อง มีกรอบเวลาที่ยืดหยุ่น และมีการเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน การทําวิจัยร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยให้ทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการใช้งบประมาณอย่างมีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและการนําข้อมูลไปใช้ร่วมกัน เพิ่มการมองการเข้าถึงพลังงานจากแง่มุมคุณภาพชีวิต อาทิ การขาดการเข้าถึงพลังงานของคนรายได้ต่ำ และให้ความสําคัญและพัฒนาเรื่องภาษีคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกําหนดนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

ธีมที่ 4 การพัฒนาของพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (Urban and Peri-urban Development)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความยากจน ที่ดิน ที่อยู่อาศัยและการมีสิทธิในที่ดิน การเชื่อมโยงข้อมูล พื้นที่สีเขียวและการสนับสนุนงบประมาณ โดยการลดความเหลื่อมล้ำและเปราะบางของประชากรในเมือง การส่งเสริมการเข้าถึงและสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวนั้น สามารถทำด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทําฐานข้อมูลกลางของแต่ละหน่วยงาน จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยง และเปิดเผย รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อนําข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและแก้ไขข้อจำกัดของเมืองอย่างยั่งยืน

ความท้าทาย ได้แก่ ปัญหาความกระจัดกระจายและขาดการบูรณาการของข้อมูล ปัญหาความต่อเนื่องของการเก็บข้อมูลเมือง และปัญหาการนําข้อมูลเมืองไปใช้ประโยชน์

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การพัฒนาระบบข้อมูลเปิด (open data) เพื่อให้เกิดการนําข้อมูลเมืองไปใช้ประโยชน์และต่อยอดทางนโยบาย การสนับสนุนการกระจายทรัพยากรสู่ท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในระดับเมืองเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชากรกลุ่มเปราะบางในเมือง และการบูรณาการความรู้และทรัพยากรการดําเนินงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงในเชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมในอนาคต

 

ธีมที่ 5 ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Water, Land and Oceans)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ระบบเกษตรและอาหารที่มีความสมดุล ยั่งยืน และปรับตัวได้ เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความเชื่อมโยงของมิติทั้งสามของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันระบบการเกษตรและการผลิตอาหารในประเทศไทยยังขาดความสมดุลและศักยภาพในการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ทั้งผู้อยู่ในภาคส่วนการเกษตรยังเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบเกษตร ระบบอาหาร ระบบจัดการและธรรมาภิบาลของสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับน้ํา ป่าไม้และการใช้ที่ดิน ระบบการจัดการที่ลดความสูญเสียอาหารและหมุนเวียนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรและให้ความสําคัญต่อสภาพแวดล้อมของชุมชน

ความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การขาดปัจจัยสําคัญที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล ระบบการจัดการ ข้อมูลและเครือข่าย การขาดความเชื่อมโยงสู่การดําเนินงาน การติดตามผล และเรียนรู้ระดับท้องถิ่น ระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติการ และความเข้าใจและคํานึงถึงบทบาทของชุมชนในฐานะแกนหลักร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา


ในภาพรวม รายงานฯ ยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้

1. การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
  • สร้างกลไกการสร้างและใช้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (integrated data systems)
  • ใช้ข้อมูลสถิติจากภาคส่วนอื่น มาเสริมข้อมูลภาครัฐ
  • พัฒนาคุณภาพและความทันการณ์ของข้อมูลไปสู่ระดับภายในประเทศ
  • จัดทํารายงานสถานการณ์รายปี เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลและประเมินผลของการดําเนินงาน
  • นําข้อมูลไปกําหนดนโยบาย/แผนงาน/มาตรการที่เกี่ยวข้อง
2. การขับเคลื่อนทุกภาคส่วนและทุกระดับสอดประสานกัน
  • ทํางานเป็นเครือข่าย และส่งเสริมให้ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ทํางานร่วมกับท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยมีนักวิชาการเป็นโซ่ข้อกลาง และใช้กลไกที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
  • หาวิธีการแก้ปัญหา/วิธีการทํางานร่วมกันที่มีความจําเพาะในแต่ละพื้นที่ และอาจนําไปขยายผลในพื้นที่อื่น
3. การขับเคลื่อนผ่านการวิจัย นวัตกรรม และกระบวนการเรียนรู้ในสังคม
  • ใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกรอบระบุความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติและท้องถิ่น ในการกําหนดเป้าหมายและวางแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมองประเด็นวิจัยอย่างบูรณาการและไม่ละเลยประเด็นเชิงระบบ
  • สร้างพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนกําหนดโจทย์วิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • สร้างพื้นที่เรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ผลิตความรู้และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • เป็นสติให้กับสังคมด้วยการใช้ข้อมูลและความรู้ในการทบทวนสถานการณ์ วิเคราะห์ วิพากษ์ และให้ข้อเสนอแนะ

ดาวน์โหลดรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 ฉบับเต็ม: https://bit.ly/TSDF2022REPORT

อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่

ดาวน์โหลดเอกสารเชิงหลักการ (concept note) และกำหนดการฉบับเต็มของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565: https://bit.ly/3Rejhwr

อ่าน highlight ที่นี่


ขอบคุณที่มา: ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)