สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดกลไกการเงิน 300 ล้านบาทที่ปรับเพื่อซัพพอร์ต เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน

NIA ปรับโฉมกลไกการเงิน 300 ล้าน เปิดทางเอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ – วิสาหกิจเพื่อสังคม – วิสาหกิจชุมชน เข้าถึงแหล่งทุน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปรับโฉมการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และวิสาหกิจชุมชน ผ่านกลไกการเงินภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท โดยมุ่งต่อยอดพัฒนาด้านการตลาด การนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน และสามารถดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

โดยกลไกการเงิน 300 ล้าน ที่จะเปิดทางให้ทั้ง เอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ – วิสาหกิจเพื่อสังคม – วิสาหกิจชุมชน เร่งสร้างบริษัทนวัตกรรมทั้งในกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเร่งผลักดันให้โครงสร้างธุรกิจมีความแข็งแกร่ง โดยมี แหล่งเงินทุน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชน เข้าถึงได้ง่ายและได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึง ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากนวัตกรรมแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศก้าวไปสู่ 30 อันดับแรกของประเทศชั้นนำที่มีนวัตกรรมที่ดีที่สุดในโลกภายในปี 2570 อีกด้วย

NIA ปรับแผนเดิม เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนด้วย 7 กลไก ดังนี้

  1. กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation)
    ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์และฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
  2. กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation)
    ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายมากขึ้น การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุน
  3. กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Managing Innovation Development: MIND)
    ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ
  4. กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (Standard Testing)
    ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร การวิเคราะห์ทดสอบ การทวนสอบและประเมินผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือขอรับรองมาตรฐานที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ
  5. กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion)
    เพื่อทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 100 ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานภาครัฐ และสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานเอกชน หรือไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับขยายธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์ของธุรกิจฐานนวัตกรรมในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายพร้อมกับการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ
  6. กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest)
    ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับเพิ่มสภาพคล่องเพื่อการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรม
  7. กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding)
    การสนับสนุนในรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สัดส่วนร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อโครงการ ร่วมกับแหล่งทุนภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการรับรอง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเพิ่มกำลังการผลิต การขยายทีม และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

ขอบคุณที่มา : Techsauce

Share