จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แอดมินเฟซบุ๊คเพจ SPACE by Chulalongkorn Business School ได้สัมภาษณ์ อ.ดร.อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยง และอาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในช่วงนี้ และขอคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ในการเตรียมการรับมือซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนที่กำลังทำธุรกิจ…
Q: อาจารย์คิดว่าปัจจุบัน มีปัจจัยใดส่งผลกระทบกับธุรกิจบ้างครับ?
A: แต่ละธุรกิจก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน
อาจารย์ขอพูดเป็นภาพรวมใหญ่ๆโดยจัดเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว แล้วกันนะครับ
ผลกระทบระยะสั้น (1 ปี)
เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนครับหนีไม่พ้น Coronavirus และ สงครามน้ำมัน สหรัฐ รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกหมดเลยครับ อย่างที่เห็นกัน บ้านเรา หลายสถานที่เริ่มปิดงาน บ้างมีการปลดพนักงาน รายได้หดตามๆ กันครับ เป็นแบบนี้กันทั่วโลกเลย สำหรับบริษัทที่พึ่งพาวัตถุดิบจากจีน นอกจากลูกค้าจะลดลงอาจจะขาดแคลนวัตถุดิบไปด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินบาทแข็งค่า ที่เกิดขึ้นสักระยะแล้ว ทำให้สินค้าส่งออกของเรามีราคาแพงและแข่งขันกับต่างชาติได้ยาก ยังดีครับช่วงนี้ปัญหาเรื่องน้ำมัน ทำให้เราได้ใช้น้ำมันถูกกัน แต่สำหรับธุรกิจบ้างประเภทน้ำมันร่วงหนักแบบนี้ถือเป็นหายนะเลยล่ะครับ
ผลกระทบระยะกลาง (1-3 ปี)
ผลกระทบของเหตุการณ์สองอย่างก่อนหน้ายังต้องติดตามต่อไปนะครับ ในระยะกลาง ที่ผมมองว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน คือเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐ ปลายปี 2563 ใครจะได้รับเลือก? นโยบายเป็นอย่างไร? กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและธุรกิจอย่างไรบ้าง? นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การลดดอกเบี้ย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ครับ คาดว่าสำหรับธุรกิจ จะทำให้แบงก์ปล่อยกู้มากขึ้น และ มีอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลดลงด้วยครับ
ผลกระทบระยะยาว (3-5 ปี)
ในระยะยาวปัญหาเดิมยังคงอยู่ครับ โลกร้อนและสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ผมมองว่าแนวโน้มการเมืองโลก อาจจะมีการแบ่งขั้วจากเรื่องสงครามการค้าและสงครามน้ำมัน เรื่อง Global supply chain ก็อาจจะมีการจัดใหม่ครับ โรงงานผลิตอาจกระจายความเสี่ยงไปประเทศอื่นๆ มากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่ในจีน และไทยเองก็อาจจะเป็นประเทศ target ก็ได้ครับ ภัยพิบัติจากเงื้อมมือมนุษย์ก็อาจจะมีให้เห็นมากขึ้นเหมือนกัน จากเหตุการณ์ กราดยิงโคราช ที่ผ่านมา
Q: อาจารย์มีข้อแนะนำสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยในอนาคตอย่างไรบ้างครับ?
A: อันที่จริงเรามีศัพท์ใช้เรียกกระบวนการวางแผนเพื่อรับมือความเสี่ยงและการจัดการในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝันอยู่ครับ เราเรียกว่า “Risk management” และ “Business Continuity Plan” ผมขอสรุปเป็นอย่างนี้แล้วกันครับ
ก่อนที่อะไรๆ จะเกิดขึ้น ผมอยากให้ธุรกิจคอยถามตัวเองเสมอครับ ว่า
- หนึ่ง – What อะไรกำลังจะเข้ามากระทบกับธุรกิจของเราได้บ้าง?
- สอง – When เมื่อไหร่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น และมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน?
- สาม – How สิ่งเหล่านี้จะกระทบกับธุรกิจอย่างไร แล้วรุนแรงแค่ไหน?
เมื่อเข้าใจความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว เราต้องเตรียมรับมือครับ
- หนึ่ง – ผู้บริหาร ต้องจริงจังและใส่ใจในการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ครับ ต้องมีการวางแผนและมอบหมายหน้าที่เอาไว้ล่วงหน้า ถือว่าเป็น Plan B ให้ธุรกิจเลยครับ
- สอง – ทีมที่รับผิดชอบ ต้องมีแต่งตั้งเอาไว้ชัดเจน จะได้ไม่เกิดความสับสน และสามารถรับมือกับสถาณการณ์ได้อย่างทันท่วงทีครับ
- สาม – พนักงาน ต้องได้รับความเอาใจใส่ เพราะเป็นบุคคลที่เผชิญหน้ากับสถาณการณ์จริงที่สุด บริษัทต้องทำให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนเข้าใจ และรู้ว่าต้องทำอะไรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
Q: สำหรับเหตุการณ์ตอนนี้ ธุรกิจควรทำอย่างไรบ้างครับ?
A: ผมยอมรับครับว่า ณ เวลานี้ เป็นช่วงเวลาลำบากของทุกคน เราจำเป็นต้องปรับตัว และเฝ้ารอให้สถาณการณ์ปัจจุบันคลี่คลายลงก่อน ผมอยากให้ยึดหลักง่ายๆ ตามนี้ครับ
- หนึ่ง “เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”
- สอง “มองการณ์ไกล”
- สาม “ไขว่คว้าโอกาส”
อันดับแรกเลยต้องถามว่า “บริษัทมีเงินสำรองเพียงพอมั้ย?” “ยอดขายที่ตกลงทำให้ขาดทุนรึเปล่า?” ถ้าใช่ ต้องดู “ค่าใช้จ่ายคงที่” ก่อนเลยครับ เราพอลดค่าใช้จ่ายใดลงได้บ้าง เราพอจะเจรจากับคู่ค้าและผู้ปล่อยเช่าเพื่อพยุงได้บ้างมั้ย ขณะเดียวกัน ลองคิดครับว่า เครื่องจักร คน หรือสินทรัพย์อื่นๆ สามารถนำไปสร้างรายได้รูปแบบอื่น เพื่อสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ พยุงธุรกิจได้รึเปล่า?
เมื่อไม่ต้องกังวลภาระหนี้แล้ว ผมแนะนำให้ธุรกิจมองภาพในระยะยาวครับ ในเมื่อทำอะไรได้ไม่มาก ผมแนะนำว่า เราใช้โอกาสนี้ หยุดคิด วางแผน ศึกษาตลาด ทดลองการทำงานใหม่ๆ พัฒนาทักษะให้กับบุคลากร และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ดีกว่าครับ ผมเห็นช่วงนี้มี องค์กรที่น่าเชื่อหลายองค์กร มอบคอร์สเรียนออนไลน์ให้เรียนฟรีด้วย ถือว่าเป็นโอกาสได้สร้างจุดแข็งให้ธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อม กับการ เติบโตในอนาคตครับ
Q: อาจารย์มีอะไรอยากฝากถึงสมาชิก SPACE ของเราบ้างมั้ยครับ?
A: ผมเข้าใจความเครียดและความกดดันที่ทุกคนแบกรับอยู่นะครับ ตัวผมเองเป็นอาจารย์ก็ได้รับผลกระทบ ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ คุยกับทีมให้ดี ทำความเข้าใจกัน ช่วยกันแก้ปัญหามองหาโอกาสอยู่เสมอ และวางแผนล่วงหน้า ผมเชื่อว่า พวกเราจะผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ครับ
ขอบคุณที่มา: #แอดมินเปรี้ยงปร้าง เฟซบุ๊คเพจ SPACE by Chulalongkorn Business School