Buddy HomeCare คู่บั๊ดดี้ระหว่างเด็กที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา และ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องคนดูแล | SE Stories ตอนที่ 4

เยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา คือหนึ่งในปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่เยาวชนเหล่านั้น คือ ผู้ที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต แต่มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ยื่นโอกาสให้พวกเขาพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระยะเวลาอันใกล้ เป็นปัญหาใหม่ที่เรารู้ล่วงหน้า แต่ดูเหมือนไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเช่นกัน Buddy HomeCare เห็นแนวทางว่าสามารถแก้ปัญหา 2 อย่างนี้ไปพร้อม ๆ กันได้ ไม่เพียงแต่พยายามพัฒนาโมเดลธุรกิจให้มีศักยภาพเท่าทันปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เท่านั้น แต่มีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะส่งต่อแนวคิดนี้สู่เพื่อนร่วมสังคม ช่วยกันสร้างสังคมใหม่ให้ดีกว่าเดิมไปด้วยกัน


ชวนคุณเจน – เจนวิทย์ วิโสจสงคราม และคุณยุ้ย – นราธิป เทพมงคล Co-Founder ของบริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ควบคู่กับการเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (Foundation For Older Persons’ Development: FOPDEV) สนทนากันถึงการเกิดขึ้นและมีอยู่ของ Buudy Home Care อีกท่านที่ไม่ได้มาให้สัมภาษณ์ แต่มีบทบาทอย่างมาก คือคุณเอ๋ อรพรรณ์ มงคลพนาสถิต ชาติพันธุ์กาเกอะญอ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ Buddy HomeCare อยากสร้างโอกาสด้านการศึกษาเพื่อดึงเยาวชนกลุ่มเปราะบางออกมาจากวงจรเดิม ๆ 

Health Check


 

Q: Buddy HomeCare ทำงานเกี่ยวกับอะไร

A: Buddy HomeCare เป็นกิจการที่ส่งพนักงาน ไปดูแลผู้สูงอายุถึงที่บ้าน ดูแลทั้งด้านสุขภาพ และการไปอยู่เป็นเพื่อน จุดเด่น คือ พนักงานผู้ดูแล (CG หรือ Caregivers) ที่ว่านั้น มาจากการฝึกอบรมน้อง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ให้มีโอกาสศึกษาต่อเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยตรง รายได้ของเรามาจากการให้บริการผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่าย และปันกำไรนั้นไปดูแลผู้สูงอายุยากไร้ ผ่านการร่วมมือกับชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่


 

Q: ประเด็นปัญหาอะไรที่ Buddy HomeCare มองเห็นและตัดสินใจเข้าไปแก้ไข เห็นโอกาสทางธุรกิจจากปัญหานี้อย่างไร

A: คุณเจน –  พี่เจนกับพี่ยุ้ย เดิมเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว พี่ยุ้ยเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พี่เจนเรียนคอมพิวเตอร์ และอีกคนคือพี่เอ๋ หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้วยความที่พี่เอ๋เป็นชาติพันธุ์จึงรู้ดีว่า เมื่อเด็กในชุมชนขาดโอกาสด้านการศึกษา ก็ส่งผลให้ขาดโอกาสที่จะไปสู่หน้าที่การงานที่ดี เมื่อมีครอบครัว ก็จะตกอยู่ในสภาวะยากจน การไม่มีความรู้ ทำให้ขาดภูมิคุ้มกันในตนเอง กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงไปอยู่ในวงจรของยาเสพติด และการค้ามนุษย์ วนเป็นวงจรอยู่แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้น การเปลี่ยนวงจรที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนอนาคต เพื่อให้มีแนวทางการเดินไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน 

คุณเจนวิทย์ วิโสจสงคราม (เจน) และ คุณนราธิป เทพมงคล (ยุ้ย)
คุณเจนวิทย์ วิโสจสงคราม (เจน) และ คุณนราธิป เทพมงคล (ยุ้ย) Co – Founder บริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

แนวทางและเป้าหมายนั้นของเรา คือ ส่งน้อง ๆ ไปฝึกอบรมกับคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพนักงานดูแลผู้สูงอายุ

คุณยุ้ย – ในขณะเดียวกัน สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และทั้งพี่เจน พี่ยุ้ย และพี่เอ๋ ต่างก็เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่เดิมมูลนิธิฯ มีโครงการ “อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน” ที่เราต้องลงพื้นที่ไปดูแลผู้สูงอายุยากไร้ เมื่อโครงการจบ เงินสนับสนุนต่าง ๆ ที่จำเป็นก็จบไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้สูงอายุยังต้องการการดูแลในเรื่องปัจจัย 4 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แรก ๆ เราใช้วิธีแก้ปัญหาแบบคิดเอาเองว่า เราช่วยกันดูแลได้ โดยลงเงินส่วนตัวไปซ่อมบ้านพัก ซื้ออาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้ผู้สูงอายุ แต่แล้วก็ค้นพบว่าไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนเลย จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าจะให้ยั่งยืน ต้องทำเป็นธุรกิจ 

คุณเจน – การตัดสินใจครั้งนั้น รู้สึกถึงความตื่นเต้น ท้าทาย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะต้องแก้ปัญหาให้ได้พร้อมกัน 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และฝั่งของเด็กที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศไทยมานาน เราอยากปรับเปลี่ยนสังคม ให้คนที่ถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มเปราะบาง มีศักยภาพในตัวเองและสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้            


 

Q: แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร ออกมาเป็น Business Model ใด ใครบ้างที่ได้รับประโยชน์

A:  แรกเริ่ม เราใช้วิธีเขียนโครงการแล้วไปนำเสนอ แต่เมื่อโครงการหมดอายุก็ต้องเขียนใหม่ มองว่าการหาเงินด้วยวิธีนี้ไม่ยั่งยืน รวมทั้งแหล่งทุนอาจนำปัญหาขึ้นมาเป็นข้อกำหนดให้เราเขียนโครงการ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์บางอย่างของเขา จึงมองว่า ถ้าเช่นนั้นก็ต้องมีปัญหาอยู่เสมอไม่รู้จบ เมื่อพบว่ากิจการเพื่อสังคม คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายและตอบโจทย์ จึงใช้ทักษะที่สามารถจัดบริการไปดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งขาดคนดูแลถึงบ้านได้ จึงออกมาเป็น Care Package Services 2 รูปแบบ 

แบบแรก คือ ให้บริการแบบรายวัน วันละ 8 ชั่วโมง ให้บริการทั้งการดูแลสุขภาพ และการอยู่เป็นเพื่อน
แบบที่ 2 คือ ให้บริการแบบรายเดือน ดูแลอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง

อัตราค่าบริการของทั้งสองแบบ ค่อนข้างแตกต่างกันเล็กน้อย แบบแรกอยู่ที่วันละ 800 บาท แบบที่ 2 เริ่มต้นที่ 15,000 บาท และจะปรับเปลี่ยนไปตามภาวะความต้องการการดูแล รายได้อีกส่วนมาจากการบริจาค ซึ่งทำมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ยังเป็นมูลนิธิ ผู้บริจาคนำหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงการเขียนโครงการระดมทุนในเวทีต่าง ๆ ก็ยังคงทำควบคู่ไปกับการทำธุรกิจเพื่อสังคม นับเป็นรายได้ฝั่งขาเข้าทั้งหมด

ฝั่งขาออก สิ่งที่เราต้องลงทุนคือ พนักงานผู้ดูแล หรือ Caregivers แต่เดิมตั้งใจว่าจะพัฒนาอาสาสมัครมูลนิธิฯ ให้เป็น Caregivers แต่ปรากฏว่า เขาไม่ได้ต้องการที่จะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ เป็นจิตสาธารณะที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ดังนั้น การผลิต Caregivers จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการแก้ปัญหาในฝั่งของเยาวชนที่ขาดโอกาสพอดี โดยให้ทุนศึกษาต่อในหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ กับคณะพยาบาลศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อผ่านกระบวนการฝึกอบรม จะได้รับการรับรองคุณภาพจากสภาการพยาบาล มูลค่าของทุน รวมทุกอย่างแล้วอยู่ที่คนละ 50,000 บาท ต่อการอบรม 3 เดือน เมื่อผ่านการอบรม ก็คัดเลือกเข้าทำงานกับ Buddy HomeCare ลงสนามเป็น Caregivers เต็มตัว เงินเดือนเริ่มต้นที่ 10,450 บาท มีประกันสังคม มีการส่งเสริมทักษะการออม และปัจจุบันมีประกันโควิดให้ด้วย

อยากปรับเปลี่ยนสังคม ให้คนที่ถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มเปราะบาง มีศักยภาพในตัวเองและสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้

 

บริการ Care service โดยมีพนักงานผู้ดูแล (Caregivers) ไปดูแลผู้สูงอายุถึงที่บ้าน

 

Q: เจ้าหน้าที่ Caregivers มาจากไหน

A: เราทำงานร่วมกับองค์กรที่ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์หรือเด็กชนเผ่า เช่น มูลนิธิพัฒนานานาเผ่าไร้พรมแดน (Ethnic Peoples Development Foundation: EPDF) ทำให้เราเห็นข้อมูลเชิงลึกว่าน้อง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนหลายคน มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกล่อลวง หรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี ดังนั้น พันธกิจที่เรามีร่วมกับองค์กรส่งเสริมศักยภาพฯ คือการดึงพวกเขาเหล่านี้ออกมาจากวงจรเดิม โดยสร้างโอกาสด้านการศึกษานั่นเอง แต่ในส่วนของแม่ฮ่องสอน การมาเรียนที่เชียงใหม่นั้น ต้นทุนอาจสูงเกินไป เยาวชนที่เราพาเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อให้ทุนศึกษาต่อในหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregivers) ส่วนใหญ่จึงเป็นน้อง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่


 

Q: มีวิธีคัดกรองเยาวชนชาติพันธุ์ ที่ในอนาคตจะมาเป็น Caregivers อย่างไร 

A: อย่างที่เล่าในตอนต้นว่า เราคัดจากเยาวชนกลุ่มเปราะบาง สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต แต่ในการคัดกรองว่าใครจะได้ทุนมาเรียนนั้น เราพิจารณาจากความสนใจ อยากทราบว่าเขาเคยมีประสบการณ์การดูแลญาติพี่น้องของตนเองไหม มีจิตสาธารณะไหม จากนั้นคัดเลือกและสัมภาษณ์เชิงลึกโดยหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตวิทยาศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์ พยาบาล เป็นต้น 

หลังจากนั้น ก็ส่งไปยังคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อคัดกรองอีกขั้นหนึ่ง คุณสมบัติที่ต้องมี ได้แก่ มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จบการศึกษาขั้นต่ำอยู่ที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะสิ่งแวดล้อมในการเรียน เหมือนกับมหาวิทยาลัย ดังนั้น ถ้าไม่มีทักษะการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก่อน การเรียนรู้แง่วิชาการ เช่น ใช้ศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนก็จะยาก รวมถึงต้องสอบสัมภาษณ์ เพื่อดูจิตพิสัยที่เหมาะแก่การดูแลผู้อื่นได้ เป็นต้น เมื่อผ่านการอบรมแล้ว จึงจะคัดเลือกให้ทำงานร่วมกับ Buddy HomeCare เพื่อฝึกการเป็น Caregivers ต่อไป


 

Q: ทุนส่วนนี้เป็นทุนให้เปล่าไหม ผู้ที่ได้รับทุนมีประมาณกี่คน

A: การฝึกอบรมแต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก หากหนึ่งห้องมีผู้อบรมต่ำกว่า 20 คน จะไม่คุ้มค่าคอร์สที่เราต้องจ่าย ดังนั้น มูลค่าของทุนคนละ 50,000 บาท จำนวนที่เหมาะสมจึงอยู่ที่ 20 คน จะได้ 1 ล้านบาทพอดี 

ในปีแรก องค์กรยังไม่ได้เป็นกิจการเพื่อสังคม จึงใช้วิธีเขียนแผนธุรกิจว่าเราจะเอาทุนดังกล่าวไปลงทุนกับอะไรบ้าง ผู้เรียนจะได้อะไรจากการฝึกอบรม เมื่อน้อง ๆ มีเงินเก็บ หรือหากธุรกิจมีกำไร จะนำไปต่อยอดได้อย่างไร เช่น สามารถเรียนต่อเป็นผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตร 1 ปีได้ แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับไปเป็นพยาบาลที่ต้องเรียนหลักสูตร 4 ปี เพื่อจบออกมาช่วยขยายพื้นที่ในการทำงานขององค์กรให้กว้างขวางขึ้นในอนาคต พอเราวาง Career path (เส้นทางอาชีพ) แล้ว จากนั้นก็ปรึกษากับผู้เรียน องค์กรที่ทำงานด้านเด็ก รวมถึงครอบครัวของเด็ก จนได้ความเห็นร่วมกันว่า สิ่งนี้อาจจะเป็นเส้นทางหนึ่งที่ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากวงจรเดิม ๆ ได้จริง และมีโอกาสเติบโตในอนาคต จึงพัฒนาเป็นแผนธุรกิจเพื่อนำไปประกวด 

ในปี 2015 เข้าประกวดโครงการ Change Awards ของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) เข้ารอบ 6 ทีมสุดท้าย แต่ไม่ชนะการประกวด อย่างไรก็ตาม สกส. เกิดความสนใจ เมื่อเห็นโมเดลธุรกิจ เนื่องจากเป็นธุรกิจเดียวที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุและเด็กด้อยโอกาสไปพร้อม ๆ กัน จึงเลือกโครงการของเรามาพัฒนาเป็นโครงการพิเศษ ได้เงินสนับสนุนมา 1 ล้านบาท นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเรื่องการศึกษาเป็นหลัก และส่วนที่เหลือใช้ในการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact) และเนื่องจากเป็นเงินจากการประกวด ทาง สกส. จึงไม่ต้องการเงินส่วนนี้คืน เราจึงคิดกันต่อว่า จะทำอย่างไรให้เงินส่วนที่เหลือนี้ สามารถหมุนเวียนกลับมาเป็นต้นทุนให้แก่น้อง ๆ รุ่นต่อไปได้ จึงเกิดข้อตกลงร่วมกันว่า ไม่ต้องทำสัญญาในการรับทุน เพียงระลึกอยู่เสมอว่า เราเคยขาดโอกาสมาก่อน แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้รับโอกาส เมื่อมีรายได้จากการทำงานแล้ว จะเจียดส่วนหนึ่งคืนกลับให้แก่องค์กร จึงเกิดเป็น “กลไกการคืนทุนโดยไม่มีสัญญาบังคับ” สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยพลการ แต่เราปรึกษากับทุกฝ่ายและมองด้วยสายตาแบบเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย การรู้จักส่งต่อโอกาสเป็นสิ่งที่ควรทำ

แต่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า สิ่งใดที่ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับ สามารถนำมาซึ่งช่องโหว่ได้เสมอ “การคืนทุนโดยไม่มีสัญญาบังคับ” ก็เช่นเดียวกัน มีบางคนที่เรียนไม่จบตามกำหนด สาเหตุจากอุบัติเหตุทำให้ชั่วโมงเรียนไม่ครบบ้าง หรือปัญหาที่คลาสสิกมากอย่าง น้อง ๆ กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น อยากมีครอบครัวอย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน สัดส่วนของกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 20% จากทั้งหมด

เกิดข้อตกลงร่วมกันว่า ไม่ต้องทำสัญญาในการรับทุน เพียงระลึกอยู่เสมอว่าเราเคยขาดโอกาสมาก่อน แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้รับโอกาส เมื่อมีรายได้จากการทำงานแล้ว จะเจียดส่วนหนึ่งคืนกลับให้แก่องค์กร


 

Q: มีวิธีคัดเลือกคนที่ผ่านการฝึกอบรม 3 เดือนแล้ว เพื่อมาเป็นพนักงาน Caregivers ของ Buddy HomeCare เต็มตัว อย่างไร

A: เราพิจารณาจากทัศนคติการดูแลผู้สูงอายุเป็นหลัก จากประสบการณ์ 19 ปี ที่ทำงานกับมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ทำให้เราพอจะรู้วิธีการเข้าหา การพูดคุย รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุ จึงเป็นประโยชน์ในการช่วยคัดกรองว่าน้อง ๆ มีทัศนคติเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรกันบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถให้คำแนะนำพวกเขาได้ในเรื่องที่ควรและไม่ควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ด้วยความที่ผู้ดูแลและผู้ที่ถูกดูแลเป็นคนละช่วงวัย และลูกค้าไว้วางใจฝากคนในครอบครัวให้เราช่วยดูแล ความสามารถที่ผ่านการฝึกอบรม 3 เดือนจึงยังไม่พอ ต้องมีทัศนคติที่ดีควบคู่กันไปด้วย

 

นอกจากความสามารถที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เจ้าหน้าที่ Caregivers ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลผู้สูงอายุด้วย
นอกจากความสามารถที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เจ้าหน้าที่ Caregivers ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลผู้สูงอายุด้วย

 

Q: จนถึงปัจจุบัน มีน้อง ๆ เรียนจบเป็น Caregivers ได้แล้วกี่คน ปกติใช้เวลาเรียนกี่ปี

A: หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุระยะเวลา 3 เดือน ที่เราพัฒนาขึ้นมาเองเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ ตลอดระยะเวลา 3 ปี เราส่งให้ศึกษาต่อได้ 3 รุ่น รวม 65 คน และกลับมาทำงานกับเรา 45 คน

 

 เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เราพบว่า Pain Point (จุดเจ็บปวด) ของลูกค้าส่วนใหญ่ ก่อนหน้าที่จะมาใช้บริการของเรา คือ ไม่สามารถหาคนดูแลผู้สูงอายุที่เขาไว้ใจหรือเข้ากับเขาได้ ดังนั้น เมื่อ Buddy HomeCare ผลิต Caregivers ออกมา จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างล้นหลาม

ตอนเพิ่งเริ่มประชาสัมพันธ์ใหม่ ๆ เราทำ Marketing Survey (การสำรวจตลาด) เพื่อสำรวจข้อมูลคนที่ต้องการรับบริการ ปรากฏว่ามีคนติดต่อเข้ามา 5,000 คน ในขณะที่เรามีพนักงานอยู่เพียง 20 คน และที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ จากข้อมูลบอกว่า เฉพาะในตัวเมืองเชียงใหม่ มีผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลถึง 50,000 คน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้พนักงานจะเพิ่มเป็น 45 คนแล้ว สัดส่วนก็ยังไม่สมดุลกันระหว่างผู้ดูแลและผู้ถูกดูแลอยู่ดี สาเหตุเนื่องจาก การเพิ่มจำนวนพนักงานให้มากตามนั้น ไม่ใช่พันธกิจตั้งแต่แรก เพราะต้องการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนอย่างเข้มข้น ให้ได้ผลลัพธ์เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ด้วยความเฉพาะเจาะจง จึงไม่สามารถหาพนักงานให้รวดเร็วแบบธุรกิจอื่นได้

บวกกับสิ่งที่พนักงานสามารถขจัด Pain point เดิมออกไปจากใจของลูกค้าได้ ด้วยความที่เด็กชนเผ่า มีพื้นฐานจิตใจที่ค่อนข้างผูกพันกับครอบครัว ให้ความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ และมีจิตวิญญาณแห่งการดูแล ลูกค้าอาจรู้สึกได้ถึงอะไรบางอย่างในตัวพวกเขา ที่วางใจได้ว่า “ไว้ใจให้ดูแลได้” จึงอาจเป็นเอกลักษณ์และจุดขายอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่คนทุกคนสามารถทำได้ ดังนั้น สิ่งที่น่าจะตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้ในอนาคต คือ การมีคนหันมาทำแบบเรากันมากขึ้น เราจึงพยายามเผยแพร่รูปแบบธุรกิจและสื่อสารแนวคิดนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด ให้เห็นว่าตัวธุรกิจสามารถอยู่ได้จริง และน่าจะทำให้เกิด Ecosystem (ระบบนิเวศ) ที่สามารถดูแลทั้งลูกค้า พนักงาน ครอบครัวของพนักงาน และองค์กรให้จุนเจือเกื้อกูลกันได้

 

สิ่งที่น่าจะตอบโจทย์ทุกฝ่ายในอนาคตได้ คือ การมีคนหันมาทำแบบเรากันมากขึ้น และน่าจะทำให้เกิด Ecosystem ที่สามารถดูแลทั้งลูกค้า พนักงาน ครอบครัวของพนักงาน และองค์กรให้จุนเจือเกื้อกูลกันได้


 

Q: ผู้สูงอายุแต่ละรายที่เข้าไปดูแล ได้รับการดูแลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

A: ด้วยความที่เราขยับจากมูลนิธิ มาเป็นกิจการเพื่อสังคม ดังนั้น ไม่ได้ทำเพียงสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างเดียว แต่จะสร้างข้อตกลงร่วมกันว่า การมีคนดูแลเป็นความจำเป็นของลูกค้าจริง ๆ หรือไม่ หรือเมื่อมีคนมาดูแล ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะหลายครั้งที่ลูกค้านิยามคำว่า “คนดูแล” เสมือนคนรับใช้ที่ทำทุกสิ่งอย่าง เราทำให้ด้วยความยินดีก็จริง แต่กลับส่งผลเสียต่อผู้สูงอายุมากกว่าเดิม เพราะนั่นทำให้เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาการแย่ลง จึงเป็นที่มาของการสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยให้พยาบาลวิชาชีพ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ และพนักงาน เข้าไปประเมินภาพรวมของผู้สูงอายุแต่ละรายร่วมกันก่อน โดยสำรวจบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ ไปทำความรู้จักกับครอบครัว ลูกหลาน ของผู้สูงอายุว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร และจะสอบถามเชิงลึกในเรื่องของอาการต่าง ๆ ว่าการได้รับการดูแลในมุมมองของเขานั้น ต้องการปลายทางแบบไหน

ผู้สูงอายุที่เราดูแลมี 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 

  • กลุ่มแรก คือ ผู้ที่ต้องการจะพักฟื้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการสโตรก (โรคหลอดเลือดสมอง) คนที่ต้องพักฟื้นหลังการผ่าตัด หรือเจ็บป่วยชั่วคราว เหล่านี้ ถ้าเราดูแลถูกวิธี ทำกายภาพฟื้นฟูถูกต้อง เขาจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ก็จะออกแบบร่วมกันว่า เขาอยากหายเมื่อไหร่ เพราะไม่ได้ดูแลไปตลอด 
  • กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เราจะค่อย ๆ รักษาอาการเจ็บป่วย โดยตกลงร่วมกันว่ามันอาจจะไม่หาย แต่จะประคับประคองดูแลสุขภาพให้อยู่ได้ยาวนานที่สุด เช่น กลุ่มลูกค้าที่มีภาวะสมองเสื่อมรักษาไม่หาย แต่ลูกค้าสามารถเป็นคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เราจะดูแลทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ จิตใจ อย่างไรที่จะให้เขาได้ใช้ชีวิตแบบอิสระได้มากที่สุด และนานที่สุด จนถึงวาระที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว
  • กลุ่มสุดท้าย ด้วยตัวแผนธุรกิจ อาจจะไม่ได้มีศักยภาพพอที่จะรองรับกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต หรือที่เรียกว่า “กลุ่มระยะประคับประคองให้ไม่เจ็บปวด ไม่ลำบากก่อนที่จะถึงอายุขัย” เราจะบอกกับลูกค้ากลุ่มนี้ว่าจำเป็นต้องมีพยาบาลเข้าไปดูแล พนักงานของเราอาจจะไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะดูแลได้ เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่สภาพร่ายกายจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้ตลอดเวลา 

 

Q: มีการดูแลคุณภาพของเจ้าหน้าที่อย่างไรบ้าง

A:  เราใช้ระบบ Care Plan ที่ออกแบบโดยพยาบาล เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้สูงอายุและครอบครัว สามารถ Access (เข้าถึง) เพื่อติดตามการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุได้ เมื่อพนักงานเข้าไปดูแลผู้สูงอายุแล้ว ก็จะบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลลงในแอปฯ แพทย์ พยาบาล จะเห็นข้อมูลแบบ Real time (การประมวลผลแบบทันที) สามารถให้คำปรึกษา หรือวินิจฉัยอาการได้ทันที ถือเป็นวิธีควบคุมคุณภาพในขั้นตอนของการดูแล แต่หลังจากนั้นทุก ๆ สัปดาห์ หรือทุก ๆ 15 วัน พยาบาลและทีมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ จะเข้าไปติดตามการเปลี่ยนแปลงที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง ว่าเป็นไปตามแผนการดูแลไหม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ดีขึ้นแล้ว หายแล้ว และกลุ่มที่ Maintain (ประคับประคอง) ไว้ให้นานที่สุด 

 

แอปพลิเคชัน Care Plan
แอปพลิเคชัน Care Plan

ในแง่ของกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล แต่เนื่องจากน้อง ๆ ไม่ได้จบจากโรงเรียนบริบาลทั่วไป (หลักสูตรที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการ) จึงไม่ได้รับการรับรองข้างต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเพื่อที่จะให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุเข้าไปขึ้นทะเบียน ขณะนี้ Buddy HomeCare จึงอยู่ระหว่างการรับรองคุณภาพในทางกฎหมาย


 

Q: มีการวัดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง

A: ยอมรับว่าในอดีต เราไม่เข้าใจเรื่องการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม คิดเพียงว่ากำลังทำในเรื่องที่ดี คนอื่นก็ต้องรับรู้ได้ด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นรูปธรรม ไม่ชัดเจน เรียนรู้ว่าเราต้องชัดเจนกับตัวเองก่อน คนอื่นจึงจะเข้าใจในสิ่งที่เราทำ จึงศึกษาและใช้เครื่องมือ Theory of Change วางกับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 เยาวชนชาติพันธุ์ เราตั้งใจว่า หากน้อง ๆ มีโอกาสได้ศึกษาต่อหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ และทำงานกับ Buddy HomeCare พวกเขาต้องมีความมั่นคงทางการเงิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุยากไร้ ถ้าผู้สูงอายุที่ยากไร้ได้รับการดูแลสุขภาพโดยพนักงานของเรา พวกเขาจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้ง 3 มิติ ได้แก่ สุขภาพกายที่ต้องวัดผลได้ สภาพจิตใจต้องดีขึ้นด้วย และสิ่งแวดล้อมรอบข้างต้องดีขึ้น
  • กลุ่มที่ 3 ลูกค้า ถ้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากพนักงานของเราที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วนั้น เขาสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่า อยู่กับครอบครัวในบริบทเดิม ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกัน ก็ลดผลกระทบเรื่องภาระงานของครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ เพราะวางใจเราให้ดูแลแทนได้

ผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) เชิงตัวเลขที่เกิดขึ้น ในฝั่งของเยาวชนชาติพันธุ์ คือ น้อง ๆ ได้รับทุนทั้งหมด 65 คน คนที่ศึกษาจบหลักสูตร ได้ทำงานกับ Buddy HomeCare มี 45 คน พบว่าใน 45 คนนี้ มีรายได้เพิ่มขึ้น หากวัดจากอาชีพเดิม เช่น เคยประกอบอาชีพรับจ้างหักข้าวโพด หรือเป็นกรรมกรรายวัน รายได้สูงสุดอยู่ที่ 200 บาท ต่อวัน คิดเป็น 6,000 บาท ต่อเดือน เมื่อได้มาเป็นพนักงาน Caregivers เงินเดือนเริ่มต้นที่ 10,450 บาท แปลว่า Buddy HomeCare ทำให้น้อง ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละกว่า 4,000 บาท 

ฝั่งลูกค้า เราลองนับเวลาสะสมที่พนักงาน Caregivers เข้าไปดูแลผู้สูงอายุแทนครอบครัว (คิดจากตัวพนักงานที่ไปให้บริการลูกค้าทุกคนใน 1 ปี) ได้เป็น 90,000 ชั่วโมง ต่อปี หมายความว่า ครอบครัวของผู้สูงอายุในที่ต่าง ๆ มีเวลาเพิ่มขึ้นรวมกัน ถึง 90,000 ชั่วโมง เพื่อทำงานอื่นได้อย่างอิสระ วางใจได้

ส่วนฝั่งชุมชน เป็นผลกระทบทางสังคม ในแง่ของการให้ความรู้แก่คนในชุมชน ทำให้ Caretaker (ผู้ดูแลอย่างไม่เป็นทางการ หรือผู้ใกล้ชิด) สามารถดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเองได้ดีขึ้น แบ่งเป็นพนักงาน Caregivers  20 คน ทำงานร่วมกับอาสาสมัครในชุมชน 111 คน แรกเริ่ม เราตั้งต้นจำนวนที่จะเข้าไปดูแลไว้เพียง 200 คน แต่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้เกือบ 1,800 คนต่อปี ซึ่งเกินเป้าหมายมาก

นอกจากนั้น พี่ยุ้ยได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI (Social Return on Investment) ขณะนั้นเราได้งบจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพื่อทำ SROI Report โดยมีผู้ให้คำปรึกษาจากบริษัทป่าสาละ และจากภายนอกเข้ามาช่วยเรียบเรียงรายงาน ปรากฏว่าผลลัพธ์จากการลงทุนของเรา 1 บาท สามารถสร้าง Impact คิดเป็นมูลค่า 5.10 บาท หมายความว่า ลงทุน 1 บาท ได้ผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็น 5.10 บาท เป็นต้น


 

Q: มีวิธีการอย่างไร ที่ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการดูแลของเรา

A: “ความมั่นใจเกิดจากกระบวนการที่เราทำ” อย่างเช่น เราบอกว่าผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลในทางที่ถูกต้องและดีขึ้น ก็จะยกตัวกรณีตัวอย่างให้ลูกค้าเห็นภาพ เช่น ภาวะสโตรก เป็นอาการที่สามารถหายเป็นปกติได้ แต่หากเราไปทำทุกอย่างให้ ผู้ป่วยก็อาจจะเป็นโรคนี้ถาวร เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น 

ส่วนความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของผู้สูงอายุ เรามีประวัติของพนักงานทุกคนว่าเป็นใคร มาจากไหน และให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเพิ่มเติมว่า ในขณะที่เราดูแลคุณอยู่ อีกด้านหนึ่ง ก็กำลังดูแลผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชนด้วย เมื่อลูกค้าเห็นความเชื่อมโยงว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป ก็ย่อมทำให้เขามั่นใจในการบริการโดยปริยาย แต่มีหลายกรณีเช่นกันที่ลูกค้าและพนักงานไม่เข้ากัน สิ่งที่ทำได้คือ สร้างความเข้าใจกับลูกค้าใหม่อีกครั้ง และปรับพนักงาน หากยังไม่สามารถปรับเข้าหากันได้ ก็เปลี่ยนให้คนที่มีนิสัยใจคอที่สอดคล้องกับผู้สูงอายุ ไปทำหน้าที่แทน

 

พนักงาน Caregivers และอาสาสมัคร เยี่ยมบ้านและช่วยเหลือผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชน

เราไม่ปฏิเสธภาพลักษณ์ของคณะพยาบาล ภูมิหลังการเป็นมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ หรือองค์กรได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่คิดว่าความชัดเจนในเป้าหมายการดูแล การวางแนวทางร่วมกันทุกครั้ง และสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ตรงจุดต่างหาก ที่สำคัญกว่าการได้รับการันตีจากใบรับรองใด ๆ 


 

Q: มองจากภายนอกคิดว่า Buddy HomeCare ประสบความสำเร็จมากระดับหนึ่ง แล้วในองค์กรเองคิดว่าอย่างไร ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานใดเพิ่มเติมบ้าง

A: คุณยุ้ย- อยากให้มองเรื่องนี้เป็นภาพใหญ่ กว่า 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ สัดส่วนของวัยแรงงานมีน้อย เนื่องจากเยาวชนที่ก้าวเข้าสู่วัยแรงงานก็ออกนอกระบบไป ไม่ใช่แรงงานคุณภาพ ขณะที่รัฐต้องการขับเคลื่อนประเทศ ต้องการภาษี เพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งล้วนมาจากคนวัยแรงงานทั้งสิ้น เราจึงต้องแก้ปัญหาแบบภาพรวม ต้องแก้ปัญหาด้านเด็กซึ่งในอีกไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุตอนต้นด้วย ไม่ใช่แก้เฉพาะเรื่องผู้สูงอายุด้านเดียว ซึ่งเราพยายามแสดงให้เห็นว่าสามารถแก้ 2 ปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กันได้ แต่เราไม่สามารถทำคนเดียวได้

คุณเจน – การดูแลผู้สูงอายุเป็นปลายทาง แต่กลไกการดูแลสุขภาพจำเป็นต้องมีหน่วยงาน หรือเราทุกคนมาดูแลรับผิดชอบ ก่อนที่จะไปถึงปลายทางที่ควรได้รับการดูแลอีกครั้งหนึ่ง 

โมเดลที่ใช้อยู่ปัจจุบัน อาจจะรู้สึกว่าสำเร็จเพียงบางส่วน แต่แน่นอนว่า มันจะถูกทดลอง ปรับ เปลี่ยน พัฒนา ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปจนถึงระดับที่โมเดลนี้ ถูกขยายไปใช้ที่ไหนก็ได้ เรากำลังไปประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ในภาคต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น เพื่อเรียนรู้เพิ่ม และค่อย ๆ สร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้ประจักษ์ว่า ธุรกิจเพื่อสังคม สามารถช่วยแต่ละบริบทของสังคมที่ประสบปัญหาแตกต่างกันออกไปได้จริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา เราพยายามดิ้นรนหาทางรอดด้วยตัวเองมาโดยตลอด แต่มองว่าจะดีกว่า หากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเด็นที่เรากำลังขับเคลื่อนแล้วเห็นว่าโมเดลธุรกิจดี เข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คนอื่น ๆ ที่คิดและเชื่อเหมือนกัน เชื่อว่าสามารถนำไปขยายต่อทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคเอเชีย หรือระดับโลกได้ในอนาคต 

เราไม่ปฏิเสธภาพลักษณ์ของคณะพยาบาล ภูมิหลังการเป็นมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ หรือองค์กรได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่คิดว่าความใส่ใจในกระบวนการทำงานทุก ๆ ขั้นตอนต่างหาก ที่สำคัญกว่าการได้รับการันตีจากใบรับรองใด ๆ  

 

ทีมงาน บริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
ทีมงาน บริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

 

Q: ในสถานการณ์โควิด-19 องค์กรประสบปัญหาอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน 

A: ถึงแม้จะไม่มีโควิด แต่เชื่อว่าทุกธุรกิจก็ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลง เพียงแต่โควิดทำให้การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โชคดีที่บุคลากรในทีม มีบุคลิกที่เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุด

แรก ๆ เราปรับเปลี่ยนโดยการดูแลทางไกลด้วยแอปพลิเคชัน และใช้กลไกอาสาสมัครในชุมชนช่วย ทำให้สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถมาทดแทนแรงงานคนได้ ยิ่งในแง่ของงานบริการ จึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าไปในชุมชนแบบปลอดภัยกันทุกฝ่ายให้มากที่สุด ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดจากโควิด อย่างชัดเจน คือ เราทำงานยากขึ้น แต่มองว่ามันเป็นความท้าทายมากกว่าปัญหา 

และเหมือนการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โอกาสที่องค์กรจะแสดงออกต่อทีมงานที่ผ่านปัญหาอุปสรรคมาด้วยกันว่า เราอยากสร้างกำลังใจให้กันและกันในสิ่งที่พอทำได้ โดยทำประกันโควิดเพิ่มให้เป็นสวัสดิการ อย่างน้อยก็ทำให้เขารู้สึกถึงความอุ่นใจ ที่องค์กรปฏิบัติต่อเขาในยามวิกฤต มองว่าสำคัญมากในการนำพาทีมให้ไปต่อได้ตลอดรอดฝั่ง 

ในขณะที่ลูกค้าบางรายตัดสินใจพักการดูแลออกไป เมื่อผ่านไประยะหนึ่งที่ลูกค้ารู้สึกว่าดูแลไม่ไหว ก็เรียกเรากลับไปช่วยดูแลต่อเหมือนเดิม หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์นี้ แต่ของเราเป็นเรื่องสุขภาพที่ขาดไม่ได้ จึงอาจเป็นข้อได้เปรียบ ผลกระทบทางอ้อม คือ ครอบครัวของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง อาจจะขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย จึงตัดสินใจยุติการให้บริการไป


 

Q: ความสุขจากการทำสิ่งนี้คืออะไร อยากให้แต่ละคนช่วยเล่าให้ฟัง

A: คุณยุ้ย – การได้มอบโอกาสให้ผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้สูงอายุที่ยากไร้ อย่างน้อยที่สุด งานที่เราทำทำให้เยาวชนมีอาชีพ ชีวิตประจำวันของเขามีปัญหาน้อยลง ส่วนเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ พนักงานเราดูแลดีมากจนเขาสามารถกลับมาเป็นปกติได้ เช่น บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง พนักงานของเราใช้ความพยายาม จนเขาสามารถกลับมายืนได้ เดินได้ เรื่องที่ประสบกับตัวเองคือ คุณแม่หกล้ม เสี่ยงที่จะเดินไม่ได้ เลยใช้บริการของเรา ใหม่ ๆ รู้สึกเคว้ง เพราะต้องจัดการดูแลเองไม่ให้แผลติดเชื้อ ปัจจุบัน น้อง ๆ สามารถดูแลในสิ่งที่เราเคยเป็นกังวลได้ทุกอย่าง 

คุณเจน – ในอดีต ทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับสังคม เราจึงกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำมันสร้างอะไรให้สังคมไหม จึงเกิดองค์กรนี้ขึ้นมา เพื่อดูแลคนที่ยังต้องการการดูแล เช่น น้องบีบอกว่า ไม่ต้องกู้เงินจากธนาคารไปทำเกษตรอีกต่อไปแล้ว เมื่อมีโอกาสเรียนต่อ ก็มีเงินส่งให้ที่บ้านไปลงทุนทำเกษตร ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 

น้องธิกา ขอลางาน 10 วัน เราเกิดความสงสัยว่าทำไมลานานขนาดนั้น จึงได้คำตอบว่า น้องจะไปสร้างบ้านให้พ่อแม่ 

หรือการที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีสัญชาติไทยมาก่อน แต่รักเรียน เมื่อเราสนับสนุน เขาก็มีงานทำเป็นหลักแหล่ง สามารถทำบัตรประชาชนเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ได้ 

ส่วนผู้สูงอายุ จะรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าหายดีและเลิกใช้บริการ ไม่สามารถบอกได้ว่าความสุขจากงานนี้คืออะไร แต่เล่าได้จากความประทับใจต่าง ๆ ที่ให้ดอกออกผลจากสิ่งที่ลงแรงทำ และวันนี้ก็สุขหัวใจมากที่เรื่องราวของเรามีคนฟัง และยิ่งสุขเมื่อรู้ว่าคนฟังจะเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าต่อ มันทำให้เรายิ้มได้ ไม่ได้ยิ้มเพียงมุมปาก แต่ส่งไปถึงดวงตา และหัวใจ 

 

IMG_4291

 

การได้มอบโอกาสให้ผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้สูงอายุที่ยากไร้ คือ ความสุข

ไม่สามารถบอกได้ว่าความสุขจากงานนี้คืออะไร แต่เล่าได้จากความประทับใจต่าง ๆ ที่ให้ดอกออกผลจากสิ่งที่ลงแรงทำ


เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ เอียดปุ่ม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์