ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล จับทิศ SE ไทยจะปรับตัวอย่างไรให้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน

ในอดีต ก่อนที่จะมีคำจำกัดความของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise (SE) สิ่งที่เราสามารถสืบเสาะไปถึงกลุ่มคนทำงานที่มีเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งก็คือ DNA ขององค์กรเหล่านั้น ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้มองหาผลกำไรมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่คือเป้าหมายเพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจดังกล่าวถูกนิยามขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อม ๆ กับการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของคุณค่าในการใช้ชีวิตและต้องการนำเอาองค์ความรู้ที่ตัวเองมีมาสร้างธุรกิจโดยไม่ได้ต้องการให้สิ่งที่พวกเขาปลุกปั้นขึ้นมีตัวเลขเป็นสิ่งวัดค่าความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ดอกผลที่เกิดขึ้นมีประโยชน์ในวงกว้างด้วย

ธุรกิจเพื่อสังคมกลุ่มใหม่ ๆ ที่เราเริ่มเห็นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะพวกเขาทำให้ภาพขององค์กรรูปแบบดังกล่าวเปลี่ยนจากสิ่งที่สังคมเคยตีค่าว่าเป็นกลุ่มคนดีกินแกลบไปสู่ธุรกิจที่สามารถเติบโตและมีมูลค่าได้ ขณะที่ยังคงบทบาทในการตอบแทนสังคมได้ไม่น้อยไปกว่าอดีตที่ผ่านมา นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand) มาแบ่งปันเราในการพูดคุยครั้งนี้ แน่นอนว่ายังมีอีกหลาย ๆ แง่มุมที่เราอาจไม่เคยรู้อยู่ในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้ด้วย

ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล
ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม
เพราะอยากสร้างบ้านที่ทุกคนเข้ามาอยู่กันได้

หากมองไปยังสถานการณ์ของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่าแวดวงดังกล่าวเป็นเซ็กเตอร์ที่ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย ทว่าน้ำหนักของความสนใจและการส่งเสริมนั้นเทไปที่คนนอกวง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานสนับสนุน โดยที่ยังไม่มีองค์กรสนับสนุนใดที่เกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการกันเอง

“จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของ SE Thailand มาจากรายละเอียดในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งวัดกันละเอียดยิบ แบบที่ผู้ประกอบการหลุดเข้าไปได้ยากมาก ก็เลยมีการตั้งคำถามว่า แล้วกลุ่มที่เข้าไปไม่ได้ล่ะจะไปอยู่ตรงไหน ใครจะช่วยพวกเขา แล้วผู้ประกอบการอยากได้ในสิ่งที่ พ.ร.บ. เสนอมาไหม จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งตัว พ.ร.บ เอง รวมถึงการประเมินความต้องการโดยร่วมกับผู้ประกอบการว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร ความท้าทายที่เจอ ไปจนถึงว่าจะมีวิธีการบริหารแบบไหน ว่ากันง่าย ๆ SE Thailand เกิดขึ้นจากว่า พ.ร.บ. เป็นบ้านที่คนทุกคนยังไม่สามารถเข้าไปได้ เราเลยอยากจะสร้างบ้านสักหลังเพื่อให้ทุกคนเข้ามาอยู่กันได้ก่อน เป็นบ้านที่ไม่ได้โฟกัสว่าคุณเป็นใคร แต่ให้ความสำคัญว่าคุณทำอะไร เน้นเรื่องผลกระทบที่ดีที่จะเกิดขึ้นจริง”

What-is-SE1

งานของ SE Thailand ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

Connect: การสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมด้วยกันเอง รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกในการขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม

Communicate: การสื่อสารและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในบริบทของประเทศไทยเพื่อให้เกิดทั้งความเข้าใจ ประโยชน์ ตลอดจนการรับรู้ในวงกว้างกับทั้งคนที่อยู่ในวงของ SE เองและคนวงนอกที่สนใจและต้องการสนับสนุน

Catalyze: การผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคมผ่านกิจกรรม การเรียนรู้ การแบ่งปันข้อมูล และการรวมกลุ่มที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน แก้ไขปัญหา และพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการ และมีความยั่งยืน

Workshop SE1

“80/20” หลักการแบบ Pareto ที่ทำน้อยแต่ได้มาก

“อย่างที่บอก เมื่อมีการพูดคุยกัน เราก็เริ่มประเมินความต้องการและลำดับความสำคัญว่าผู้ประกอบการเขามองหาอะไร และพยายามที่จะทำให้เป็น 80/20 rule โดยหาวิธีว่าเราจะลงมือทำ 20% แล้วครอบคลุมปัญหา 80% ของกลุ่ม SE ได้อย่างไร จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดเป็นโปรแกรมให้ความรู้ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างแบบจำลองธุรกิจ, เทรนด์ของผู้บริโภค, สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อเข้าไปจับตลาดต่าง ๆ, เทรนด์ในอนาคตว่าธุรกิจของพวกเขาจะต้องไปจับตลาดไหนจึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปได้ ซึ่งเราต้องการขยายขีดความสามารถให้พวกเขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งสนับสนุนพวกเขาในทุก ๆ ทางด้วย

หนึ่งในโปรเจ็กต์ไฮไลท์คือโปรเจ็กต์ที่เราทำร่วมกับทางธนาคารออมสินในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราพบว่าธุรกิจ SE หลาย ๆ แห่งมีปัญหาในเรื่องของการเงิน ซึ่งเวลาที่จะไปกู้เงิน เขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงเงินทุนได้ เพราะว่ากฎของการปล่อยกู้ในทุกธนาคาร เราต้องเอาสินทรัพย์มาเป็นตัวค้ำประกัน ซึ่งไม่ใช่ว่า SE ทุกแห่งจะมีสินทรัพย์มาค้ำ หรือต่อให้มีสินทรัพย์ ก็คงไม่มีใครเอาสินทรัพย์ส่วนตัวมาค้ำเพื่อที่จะมารันธุรกิจ เพราะชีวิตตัวเองในเวลานี้ก็มีความเสี่ยงมากพอแล้ว เราเลยไปตั้งโต๊ะบูรณาการกับธนาคารออมสิน ซึ่งเขาให้ความช่วยเหลือมาด้วยการเปิดวงเงินให้ประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อปล่อยเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และใช้สินทรัพย์ค้ำประกันในเกณฑ์ที่ลดหย่อนขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสามารถทำให้ได้และเป็นความเสี่ยงที่เขารับได้ หลังจากนั้นเราก็ส่งต่อข้อมูลไปให้กลุ่มธุรกิจในเครือข่าย โดยใครก็ตามที่สามารถยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเงื่อนไขที่ดีในสถานการณ์นี้ ก็สามารถกู้เงินจากที่นี่ได้ แล้วก็มีธุรกิจหลาย ๆ เจ้าที่เข้ารับเงื่อนไขนี้ โดยเขาปล่อยกู้ไปทั้งสิ้นประมาณ 20 กว่าล้าน ซึ่งเราก็กำลังทำงานต่อเนื่องกับธนาคารออมสินอยู่ครับ”

Workshop SE2

เรียนรู้จุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน

ในขณะที่จุดแข็งของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยคือความหลากหลาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการบ้านเราแทรกตัวอยู่แทบจะทุก ๆ อุตสาหกรรม ตั้งแต่การเงิน เกษตรกรรม สุขภาพ เทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งยังมีคุณสมบัติเด่นอย่างความคล่องแคล่วและยืดหยุ่นในการทำงาน พ่วงท้ายมาด้วยศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลานี้ เรายังไม่เจอผู้ประกอบการที่เป็น unicorn นะ ที่เห็นว่าไปได้ไกลที่สุดก็คือ Local Alike ซึ่งโตแบบพรวดพราดมาก ๆ แล้วถ้าไม่เกิดโควิดขึ้นเสียก่อนจนเศรษฐกิจซบเซา ผมเชื่อว่าที่นี่จะเติบโตไปได้แบบก้าวกระโดดเลย เพราะเขาสามารถเอาตัวเองเข้าไปแทรกอยู่ในภาคธุรกิจ แล้วยังมีชุมชนที่จะโปรโมตในสิ่งที่เขามีได้อีก แต่ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในไม่รู้กี่ร้อยแห่ง เพราะฉะนั้นเราต้องมานั่งดูปัญหาว่าทำไมผู้ประกอบการไทยถึงไประดับนั้นไม่ได้”

นอกเหนือไปจากเรื่องการขยายธุรกิจ (Scalability) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศที่หากวิธีการในการทำโมเดลธุรกิจไม่คมพอ ปัญหาที่ต้องการแก้ไขไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับองค์กรอื่น ๆ จนไม่มีความ niche อันจะทำให้ธุรกิจเติบโตลำบากแล้ว จุดอ่อนที่สองในนิเวศของ SE เองที่แม้ว่าจะมีความคึกคักอยู่มาก แต่ในภาพใหญ่ของโลกธุรกิจก็เรียกว่ายังไม่แพร่หลายมากพอ

Workshop SE3

“ถ้าลองวาดวงกลมของธุรกิจทั้งหมดที่มีในประเทศไทย เมื่อเทียบ SE กับวงธุรกิจใหญ่แล้ว ไซส์ของธุรกิจเพื่อสังคมยังเป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่อยู่ในวงกลมวงใหญ่นั้นอยู่ ซึ่งถือว่าเล็กมากนะ แล้วนั่นก็ไม่เพียงแต่จะทำให้การรับรู้ต่อ SE ไม่มากพอ แต่ยังส่งผลให้การสนับสนุนน้อยตามไปด้วย นี่เป็นหนึ่งในมิชชั่นใหญ่ที่ SE Thailand ต้องพยายามทำ เพราะเมื่อคนรับรู้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ซัพพอร์ต SE ในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

อีกปัญหาสำคัญที่ผมเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของเซคเตอร์นี้คือผู้เล่นที่เป็นธุรกิจรายใหญ่กระะโดดมาเล่นเอง นี่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ SE ไทยเติบโตยากเลยนะ เพราะถ้าธุรกิจที่มีเงินทุนมากกว่า มีบุคลากรที่ดีกว่า ต้องการที่จะมาตั้งตัวทำเอง ก็เหมือนกับไม่ได้พยายามที่จะพาธุรกิจเหล่านี้เข้ามาให้อยู่ในกระบวนการด้วย สิ่งที่ผมอยากจะขอภาคธุรกิจคือการใช้ความกว้างของการทำธุรกิจของเขาเป็นฐานในการที่จะดึง SE ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่ของธุรกิจของเขา แล้วมันจะกลายเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเติบโตขึ้นได้ และเป็นการปรับระบบนิเวศของ SE ในภาพรวมได้เลย”

Workshop SE4

ตีกรรเชียงอย่างไรให้พ้นวิกฤต

“วิกฤตหลัก ๆ ที่ผมคิดว่าเป็นที่สุดแล้วก็คือ การหดตัวของตลาด (Market Shrinkage) เพราะเมื่อระบบเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก ผลกระทบส่งไปเป็นโดมิโน่เลย เริ่มจากฐานล่างก่อนแล้วค่อย ๆ สะเทือนขึ้นมาถึงข้างบน ซึ่งถ้าปัญหาลากยาวไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้สายป่านขององค์กรที่เดิมอาจจะพอจะสู้ไหวอยู่ที่ 5 เดือน 8 เดือน พอข้ามปีก็เริ่มส่งผลกับเขาด้วย และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของ SE หลาย ๆ แห่งที่เป็น service-based และ interaction-based เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมา เขาก็ไม่รู้จะรันธุรกิจอย่างไรต่อ แม้รัฐบาลจะส่งเสริมก็ตาม

เอาจริง ๆ ปัญหาของการสเกล SE เพื่อให้เกิดอิมแพ็คที่กว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเวลานี้หรือเวลาไหนก็ตาม เราต้องย้อนไปที่แผนธุรกิจนี่แหละ ถ้าแผนธุรกิจของคุณยังไม่คม คุณต้องไปแก้ตรงนี้ให้ชัดเจนก่อนว่าธุรกิจที่คุณกำลังจะทำคืออะไร ทำเพื่ออะไร เพื่อใคร อยากแก้ปัญหาอะไรในลักษณะไหน สิ่งที่เราจะไปนำเสนอให้กับลูกค้าคืออะไร มีความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำกันอย่างไร ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่ชัดเจน เมื่อถึงเวลาที่ไปแข่งกับเขา เราจะไม่มีจุดเด่นที่จะแยกเราออกมาจากคู่แข่งคนอื่น ๆ ได้เลย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็จะกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ขายอยู่บนชั้น แล้วก็ต้องแข่งขันบนพื้นฐานของสินค้าชนิดเดียวกัน ทั้งเรื่องราคา รสชาติ โปรโมชั่น แต่ในแง่ของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราโฟกัสจะไม่ถูกบวกเข้าไปด้วย

Workshop SE5

ส่วนเรื่อง market segmentation หรือการแบ่งส่วนตลาดก็สำคัญมากเช่นกัน เราจะเห็นว่าคนแต่ละรุ่นสนใจในเรื่องที่ต่างกัน เช่น เด็กรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญในมิติของสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ ขณะที่คนรุ่นเก่าก็อาจจะให้ความสำคัญกับมิติของสังคมมากกว่า ดังนั้น เราต้องมองว่าโปรดักท์ที่เราทำนั้นตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายไหนและเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือเปล่า

ในมุมมองผม สำหรับ SE ที่รันธุรกิจของตัวเองมาแล้ว เราเริ่มเห็นเทรนด์ที่เป็นดิจิทัลหรือออนไลน์เดลิเวอรี่ที่การซื้อไม่จำเป็นต้องเห็นของหรือจับของอีกต่อไปแล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่เราต้องพยายามคือการปรับตัวไปใช้ช่องทางทางดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดจะทำให้ตัวเองตีกรรเชียงให้พ้นวิกฤตนี้ไปก่อน ส่วนน้องใหม่ที่ต้องการจะทำและมีความตั้งใจดี แต่แผนธุรกิจเราไม่แม่น ก็อย่าเพิ่งเริ่ม ผมคิดว่า go back to the drawing board ด้วยการคุยกับคนเยอะ ๆ ใช้เวลาในการคุย ในการเหลา สะท้อนมุมมอง แล้วก็เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ก็น่าจะทำให้เวลาที่เราเริ่มต้นสามารถที่จะไปได้ชัดเจนมากขึ้นนะครับ ในเวลานี้เป็นเวลาที่ธุรกิจทั่วไปยังยากเลย แล้วถ้าจะมาทำ SE ก็จะยิ่งยากมากขึ้นเลยนะ และต้องดูจังหวะให้ดีด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเราทำอะไรเสร็จเรียบร้อย เปิดบริษัทขึ้นมาแล้วต้องไปแข่งกับคนอื่น สายป่านของเรายาวพอที่จะสู้กับเขาไหม จุดนี้ต้องพิจารณาให้มาก ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจกันครับ”

Open SE Thailand

ตัวช่วยที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยอยู่บนแผนที่โลก

“สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ธุรกิจเพื่อสังคมอยู่ในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเลยล่ะ คู่แข่งของเราน่าจะเป็นอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ที่มี SE ที่ดี ๆ ดัง ๆ อยู่หลายแห่งเหมือนกัน พอพูดถึงระดับโลก ผมมองว่าเราอาจยังไม่ได้ไปอยู่ในบริบทโลกเบอร์นั้น เราอาจมีน้อง ๆ หลายคนที่อยู่ในเครือข่าย World Economic Forum แต่ถามว่ามีอยู่ในเวทีโลกจนเป็นปกติเลยไหม ก็ไม่

ผมหวังอยู่มากเหมือนกันว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สถานการณ์ของ SE บ้านเรามีพัฒนาการในทางที่ดีมากขึ้น สำหรับสิ่งที่ผมมองไกลไปกว่านั้นอีกก็คือ การสนับสนุนจากฝั่งรัฐบาลที่ควรจะเล่นบทเป็น facilitator ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและบูรณาการให้เกิดอิมแพ็คมากขึ้น เช่น การเร่งกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดกฎหมายลูกต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจนี้อย่างแท้จริง”

เมื่อได้รับโอกาสก็จะทำให้ดีที่สุด

“ส่วนตัว ผมไม่ได้มองว่าจะได้อะไร คิดแค่ว่าเมื่อได้มาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วก็ถือเป็นโอกาสที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาให้เกิดนิเวศของธุรกิจนี้ให้ดีขึ้น แต่จะบอกว่าไม่ได้อะไรเลยก็ไม่ใช่เสียทีเดียว แน่นอนว่าผมได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้ ได้เจอและรู้จักผู้คนในหลายแวดวงที่อยากทำสิ่งดี ๆ ในประเทศนี้ นอกเหนือจากนั้นก็คือ

ความสนุกสนาน ความท้าทาย และเมื่อเขาให้โอกาสเข้ามาทำ ก็ต้องพยายามทำให้ดีเพื่อให้ออกมาอย่างดีที่สุดในเวลาและความสามารถของผมและทีมงานจะทำได้”

SE Event

ปั้น SE Thailand ให้เป็นสตรองยิม

“สำหรับความคาดหวังที่ว่า SE Thailand จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผมมองว่าจริง ๆ โลกนี้กำลังมองหาธุรกิจแบบใหม่ๆ อย่างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเกื้อกูลสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อตอบแทนสังคม ธุรกิจที่ทำแล้วไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง ไม่ทำให้รายได้กระจุก แต่ทำแล้วเกิดการกระจายรายได้ ผมคิดว่านี่จะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ SE Thailand สามารถที่จะเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจอื่น ๆ สามารถมาดูและนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของเขาได้

สำหรับ SE Thailand เอง เราพยายามจัดลำดับความสำคัญของมิชชั่นเราเสียใหม่ ยิ่งในเวลานี้ที่กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมเดือดร้อนกันอยู่ ถ้าเรายังไม่สามารถทำเทรนนิ่งโปรแกรมต่าง ๆ ที่จะตอบโจทย์พวกเขาในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าได้ เราต้องหันหัวเรือไปช่วยตอบโจทย์เขาในระยะสั้นก่อน ฉะนั้น สิ่งที่เราทำเยอะมากก็คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการจับคู่ธุรกิจเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเขา ช่วย engage กับพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพเพื่อที่จะดูว่าภาคธุรกิจจะสามารถเข้ามาช่วยหรือเข้ามาซัพพอร์ตตัว SE ได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ เรายังอยากเห็น SE Thailand เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์รวมของสมาชิกจริง ๆ ผมพูดเสมอว่าอยากให้ที่นี่เสมือนกับยิมที่มีเครื่องมือให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเทรนนิ่งโปรแกรม, การจับคู่ธุรกิจ, การสื่อสาร ถ้าถามว่าความสำเร็จของเราคืออะไร มันก็ต้องเป็นยิมที่คนเข้ามาใช้เครื่องมือที่เราเตรียมไว้ ไม่ใช่ยิมที่มีคนเข้าวันละ 2 คน ไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นยิมที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ถ้าเราเป็นยิมที่คนเข้าอย่างต่อเนื่อง engage ต่อเนื่อง แล้วสามารถที่จะไปสร้างเน็ตเวิร์กกันต่อได้ นี่ก็น่าจะเป็นภาพที่ทีม SE Thailand อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต เราอยากให้ที่นี่เป็นบ้านของเหล่าผู้ประกอบการทางสังคม เป็นที่ที่ถ้าตั้งธุรกิจขึ้นมาแล้ว พวกเขาอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายครับ”

ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล 2

Open SE Thailand 2


ขอบคุณที่มา: Creativecitizen