หลายคนอาจจะยังสับสนว่าธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไรกันแน่ หรือคนที่รู้จักแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมแล้วก็อาจจะสงสัยว่าธุรกิจที่แก้ไขปัญหาด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างรายได้หรือผลกำไรอย่างยั่งยืนจะเป็นไปได้จริงหรือ จึงอยากแนะนำให้รู้จัก Rags2Riches (RIIR) ธุรกิจเพื่อสังคมแบบแสวงหากำไร (for-profit social enterprise) ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนแออัดจากฟิลิปปินส์
ที่มาของธุรกิจ
RIIR เริ่มกิจการเมื่อ ค.ศ. 2007 โดยการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ 7 คนจากหลายสาขาอาชีพ เช่น บาทหลวง นักการตลาด นักการเงิน และนักศึกษา โดยต่างคนต่างเข้าไปทำงานอาสาสมัครในเขต Payatas ซึ่งเป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุดของกรุงมะนิลา Payatas มีขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอล 40 สนามและเป็นบ้านของประชากรยากจนกว่า 500,000 คน มีกองขยะสูงเท่าภูเขาเลากาเป็นแหล่งสร้างรายได้ของแม่บ้าน ซึ่งจะเก็บเศษผ้าถุงใหญ่ ๆ ที่โรงงานเสื้อยืดนำมาทิ้งมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอพรมเช็ดเท้า (บ้านเราก็สามารถหาพรมเช็ดเท้าที่ทำมาจากเศษผ้ายืดได้ตามตลาดนัดเช่นกัน) แต่เมื่อพรมเช็ดเท้าเหล่านี้สร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านประมาณ 10-15 เปโซต่อวัน (ประมาณ 8-12 บาท) พ่อค้าคนกลางก็เริ่มเข้ามา ทำให้เกิดการซื้อขายเศษผ้าหลาย ๆ ทอด จากเดิมที่มีการซื้อขายเพียงทอดเดียว ท้ายสุดแม่บ้านจึงต้องซื้อเศษผ้าในราคาแพง แต่ขายพรมได้ในราคาถูก เพราะไม่สามารถเข้าถึงตลาดที่มีกำลังซื้อ จึงไม่มีกำไร รายได้ก็ยิ่งน้อยลง
Reese Fernandez-Ruiz เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง RIIR และปัจจุบันเป็นซีอีโอของบริษัท เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาอายุเพียง 22 ปี Reese ได้เข้าไปสอนหนังสือให้เด็ก ๆ ในเขต Payatas และพบเห็นปัญหาจากพ่อค้าคนกลางและช่องว่างการนำสินค้าของแม่บ้านไปสู่ตลาด Reese และทีม RIIR จึงเริ่มทดลองเอาพรมเช็ดเท้าของแม่บ้านไปขายที่ใจกลางกรุงมะนิลา โดยไปซื้อเศษผ้าโดยตรงจากโรงงาน และขอให้แม่บ้านปรับลายจากการทำพรมหลายๆ สี เป็นแบบสีเดียว ทำให้พรมเช็ดเท้า 700 ชิ้นที่เป็นสินค้าชุดแรกของกิจการได้วางจำหน่ายที่บูธในห้างกลางใจเมืองมะนิลาและขายได้หมดอย่างรวดเร็ว
ในช่วงแรกมีแม่บ้านเพียง 3 คนที่ยอมเข้าร่วมงานกับ RIIR เนื่องจากแม่บ้านที่นั่นเคยชินกับการมีนักการเมือง บริษัท หรือสถานศึกษาเข้ามาสนอกสนใจชุมชน เข้ามาบริจาคของ มาถ่ายภาพร่วมกัน แล้วก็จากไปในระยะเวลาอันสั้นพวกเธอจึงขาดความไว้ใจเพราะไม่เชื่อว่า RIIR จะมาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างจริงจัง แต่ที่แม่บ้านชุดแรกยอมร่วมงานกับ RIIR ก็เพราะกลัวบาปที่เกิดจากการปฏิเสธคำเชิญชวนของบาทหลวง คือ Fr. Xavier Alpasa ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกิจการนี้
หลังจากขายพรมเช็ดเท้าชุดแรกได้สำเร็จ ทีมงานกลับมาคิดต่อว่าจะสร้างคุณค่าให้กับงานฝีมือของแม่บ้านมากขึ้นได้อย่างไร พวกเขาจึงติดต่อ Rajo Laurel ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เขาเปรียบเสมือน Giorgio Armani ของประเทศฟิลิปปินส์ เพราะสาวๆ ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะใส่เสื้อผ้าที่เขาออกแบบ เมื่อ Rajo ได้เห็นพรมเช็ดเท้า เขาก็ลองจับมันม้วนไปมา เขาบอกว่า “นี่ไม่ใช่พรมเช็ดเท้าแต่เป็นกระเป๋าหนีบ (Clutch) ม้วนแบบนี้ก็เป็นที่ใส่ขวดไวน์ และม้วนอีกทีก็เป็นที่ใส่แว่นตาได้” Rajo ร่วมงานออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นของ RIIR ตั้งแต่ชุดแรกจนถึงปัจจุบัน โดยมีแม่บ้านในสลัมเป็นผู้ผลิตผลงานเหล่านั้น ทำให้พรมเช็ดเท้าที่เคยขายปลีกได้เพียงชิ้นละ 30-40 เปโซ กลายเป็นกระเป๋าแฟชั่นชั้นสูงราคาอย่างน้อย 1,500 เปโซ ที่ขายดิบขายดีในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
ผลลัพธ์ทางสังคม
จากแม่บ้านเพียง 3 รายในช่วงแรก ปัจจุบัน RIIR ได้ทำงานร่วมกับแม่บ้านกว่า 900 ราย จากชุมชนแออัดหลายแห่งของประเทศ แม่บ้านที่เข้าร่วมโครงการด้วยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200% มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น หลายครอบครัวสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา สุขภาพก็ดีขึ้นเพราะมีเงินพอที่จะซื้ออาหารดี ๆ และไม่ต้องไปคุ้ยหาอาหารจากกองขยะใกล้บ้านอีกต่อไป
RIIR ไม่เพียงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน พวกเขาตระหนักดีว่าเมื่อชีวิตของแม่บ้านเปลี่ยนแปลง การปรับตัว การเตรียมพร้อมด้านการใช้และออมเงินก็เป็นทักษะที่จำเป็น RIIR จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงธุรกิจที่เชื่อมกลุ่มแม่บ้านเข้ากับตลาดหรือนักออกแบบ หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าเท่านั้น RIIR ได้ตั้ง Rags2Riches Artisan Academy ขึ้น เพื่ออบรมสร้างเสริมทักษะแก่กลุ่มแม่บ้านทั้งในด้านการทอ การเย็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงทักษะทางธุรกิจในลักษณะ “Mini MBA” ทั้งด้านการขาย การจัดการ และทักษะการใช้ชีวิตที่สำคัญที่สุดก็คือ ความรู้เรื่องการเงิน (financial literacy) และการดูแลสุขภาพ เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มแม่บ้านมีทักษะที่จะสามารถบริหารรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้
การเติบโตของธุรกิจ
รายได้ของ RIIR ในปัจจุบันเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปีแรกที่เริ่มกิจการโดยมีเงินทุนที่ได้รับจากการบริจาคก้อนแรกเพียง 200 เหรียญสหรัฐ ยอดขายปัจจุบันของ RIIR เติบโตมากกว่า 3 เท่าจากกิจการในปีแรก ใน ค.ศ. 2010 บริษัทที่ลงทุนเพื่อสังคม คือ LGT Venture Philanthropy ได้ร่วมเป็นพันธมิตรและลงทุนใน RIIR โดยเข้าซื้อหุ้น (equity) จำนวน 78,000 เหรียญสหรัฐและให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อีก 78,000 เหรียญสหรัฐเพื่อใช้ในการขยายกิจการ
กลุ่มลูกค้าของ RIIR มี 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำรายได้ให้ 60% กลุ่มนี้จะซื้อสินค้าไปขายต่อหรือนำไปเป็นของที่ระลึก อาทิ Metrobank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ หรือสายการบิน Air Asia ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มียอดสั่งซื้อทุกเดือน เพราะจำหน่ายกระเป๋าของ RIIR บนเที่ยวบินที่เข้าออกจากฟิลิปปินส์ทุกเที่ยว กลุ่มที่สองคือผู้บริโภคที่ซื้อปลีก ซึ่งทำรายได้ให้อีก 40% ที่เหลือ
ตลาดภายในประเทศคิดเป็นรายได้หลัก 80% ของ RIIR ซึ่ง Reese มักพูดเสมอว่าลูกค้าชาวฟิลิปปินส์มีความสำคัญมาก เพราะถ้าพึ่งพาแต่รายได้จากต่างประเทศ หากลูกค้าไกลบ้านเหล่านั้นประสบปัญหาทางการเงิน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว ตัวบริษัทก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Reese จึงเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลักตั้งแต่เริ่มกิจการ โดยใช้นักออกแบบชื่อดังในประเทศมาร่วมงานด้วย ทำให้ผู้คนหันมาสนใจสินค้า ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทำให้ลูกค้าเกิดความภูมิใจในสินค้าของชาติตนเอง และการได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนชาวฟิลิปปินส์ด้วยกันเอง ซึ่งทำให้ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากชาติอื่นอย่างเช่นในอดีต
อย่างไรก็ตาม Reese ไม่ละเลยโอกาสที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศ ปีที่ผ่านมา RIIR ได้รับเชิญจาก London Fashion Week หนึ่งในเวทีแสดงแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ให้ไปโชว์สินค้าในสาขาแบรนด์จากต่างประเทศ ทำให้ Reese มีโอกาสได้พบปะกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศอังกฤษหลายราย สินค้าของ RIIR จึงได้เริ่มวางขายในร้าน Antropologie ทั่วประเทศอังกฤษ และได้รับการกล่าวถึงในนิตยสาร Vogue อังกฤษ ปัจจุบันสินค้าของ RIIR ยังมีวางขายในประเทศญี่ปุ่น และกำลังจะวางจำหน่ายในร้าน Country Road ทั่วออสเตรเลีย
รางวัลในเวทีระดับโลก
RIIR ได้รับรางวัลด้านการประกอบการเพื่อสังคมจากเวทีระดับโลกมากมาย หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ บาทหลวง Xavier Alpasa ได้รับเลือกเป็น TED Fellow ใน ค.ศ. 2009 Reese ได้รับเลือกเป็น Rolex Young Laureates จากมูลนิธิ Rolex รวมถึงได้รับเลือกให้เป็น Young Entrepreneur for the World จาก World Entrepreneurship Forum ค.ศ.2011 และ Social Entrepreneur of the Year 2013 จาก The Schwab Foundation for Social Entrepreneurship ไม่นับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย รางวัลล่าสุดด้านกิจการเพื่อสังคมที่ RIIR ได้รับคือ Social Enterprise Award จากมูลนิธิ Air Asia ที่ให้ทุนจำนวน 13,275 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแก่แม่บ้านจำนวน 100 คน และ Air Asia ได้กลายเป็นพันธมิตรธุรกิจรายสำคัญ นับเป็นกิจการเพื่อสังคมเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กวาดรางวัลและได้รับการกล่าวถึงในระดับโลกเช่นนี้
ขอบคุณที่มา: Sal Forest – ป่าสาละ