3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของเด็กที่เป็นโรคอ้วนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า และปัจจุบัน 1 ใน 3 ของเด็กทั่วประเทศประสบปัญหา “น้ำหนักเกิน” ที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจ เบาหวาน ปัญหาทางเดินหายใจ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และมีแนวโน้มสูงที่เด็กอ้วนเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคต
สหรัฐอเมริกาจึงพยายามต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวอย่างมาก ดังเช่นโครงการรณรงค์ Let’s Move ของคุณแม่หมายเลขหนึ่ง มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) และรายการโทรทัศน์ Jamie Oliver’s Food Revolution ของเชฟชื่อดังจากประเทศอังกฤษ เจมี่ โอลิเวอร์ (Jamie Olivers) ที่พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารของเด็กอเมริกัน โดยปฏิรูปอาหารกลางวันในโรงเรียนด้วยการคิดค้นสูตรอาหารใหม่ ๆ
แต่ความพยายามดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอ จากการวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 นำโดย ดร.คิม เอ อีเกิล (Dr. Kim A. Eagle) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า นักเรียนที่กินอาหารกลางวันที่โรงเรียนมีโอกาสที่จะอ้วนมากกว่านักเรียนที่นำอาหารกลางวันมาจากบ้านถึงร้อยละ 29 เพราะอาหารที่โรงเรียนจัดให้ไม่มีส่วนประกอบของผักผลไม้มากเท่าที่ควร และหลายโรงเรียนก็มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะจัดซื้ออาหารกลางวันคุณภาพสูงให้กับนักเรียน
แม้รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ จะยกระดับมาตรฐานของอาหารภายในโรงเรียนพร้อมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณ แต่อาหารที่เสิร์ฟให้กับเด็ก ๆ ก็ยังมีหน้าตาไม่ต่างจากอาหารกล่องบนเครื่องบิน ซึ่งมาจากศูนย์การผลิตอาหารขนาดใหญ่ บางส่วนถูกนำไปแช่แข็งแล้วจึงกระจายไปทั่วประเทศ หลังจากอาหารถึงที่หมายก็จะถูกนำมาอุ่นก่อนเสิร์ฟ ขั้นตอนทั้งหมดการันตีว่าอาหารจะราคาถูก แต่แน่นอนว่าการผลิตแบบนี้ย่อมส่งผลถึงรสชาติ ความสดใหม่ ที่สำคัญคือสารอาหารที่อาจหายไประหว่างกระบวนการ
เมื่อปัญหาอยู่ที่อาหาร สองหญิงสาวที่ทำงานใกล้ชิดกับนักเรียนก็มองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง จึงตั้งกิจการเพื่อสังคม Revolutions Food เมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยมีพันธกิจเพื่อปฏิวัติอาหารในรั้วโรงเรียนให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเธอเชื่อว่าเด็กทุกคนควรได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
คริสติน ริชมอนด์ (Kristin Richmond) และ เคิร์สทิน โทบี (Kirsten Tobey) เริ่มต้นการปฏิวัติอาหารด้วยเงินลงทุนตั้งต้นราว 15 ล้านบาท โดยเริ่มส่งอาหารไปยังโรงเรียนภายในรัฐแคลิฟอร์เนียราว 1,000 ชุดต่อวันในปีแรก ก่อนจะก้าวกระโดดเป็นส่งอาหาร 1,000,000 ชุดต่อสัปดาห์ ให้ 1,000 โรงเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ Revolutions Food ให้บริการเป็นโรงเรียนรัฐ นั่นหมายความว่า Revolutions Food ต้องเผชิญความท้าทายในการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่า 3 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อชุด ตามกรอบนโยบาย National School Lunch Program โดยยังต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงและดีต่อสุขภาพ
Revolutions Food มีพันธกิจเพื่อปฏิวัติอาหารในรั้วโรงเรียนให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเธอเชื่อว่าเด็กทุกคนควรได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญ อาหารของ Revolutions Food ต้องอร่อย!
จากสถิติ แทบทุกโรงเรียนที่ใช้บริการ Revolutions Food มีสัดส่วนนักเรียนที่กินอาหารกลางวันฟรีมากขึ้น เช่นใน Democracy Prep Charter School ย่าน Harlem ทางตอนเหนือของกรุงนิวยอร์ก ที่มีสัดส่วนนักเรียนกินอาหารกลางวันจากเดิมไม่ถึงครึ่ง เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 โดยเคล็ดลับในการมัดใจเด็ก ๆ ก็คือ การให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบอาหาร ทดลองชิม ติชม ให้คำแนะนำ ที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นว่าอาหารของบริษัท “อร่อย” และ “น่ากิน” ซึ่งความมั่นใจในแบรนด์นี่เองที่ทำให้เด็ก ๆ กล้ากินอาหารแปลกใหม่อย่างถั่วลิมา อย่างไรก็ดี Revolutions Food ยังได้รับรายงานเรื่องอาหารที่เด็ก ๆ เหลือทิ้งทุกวัน ทำให้ต้องส่งพนักงานไปทำการแนะนำอาหารชนิดนั้น ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการรับประทาน และเพิ่มความรู้ด้านโภชนาการ
นอกจากโจทย์ในการมัดใจเด็กๆ ความท้าทายในพันธกิจของ Revolutions Food ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัทได้ตั้งเงื่อนไข “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ไว้ค่อนข้างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารสดใหม่ทุกวัน รวมถึงมีส่วนประกอบของผักและผลไม้สด โดยต่อต้านอาหาร “ปลอม” อย่างเนื้อและนมที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโตหรือยาปฏิชีวนะ อาหารที่แต่งสี แต่งกลิ่น แต่งรส ใส่สารกันบูด มีส่วนผสมของไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือน้ำตาลข้าวโพด ซึ่งมีฟรักโตสสูง
ผู้บริหารของ Revolutions Food ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ในการพยายามใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงภายใต้กรอบงบประมาณที่จำกัดคือ 3 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อชุด แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ Revolutions Food พยายามลดต้นทุนโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และตั้งศูนย์การผลิตประจำภูมิภาคเพื่อสร้างการประหยัดต่อขนาด จนทำให้ยอดขายในปี พ.ศ. 2555 สูงถึง 2,000 ล้านบาท แต่บริษัทฯก็ยังไม่มี
เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทจึงออกสินค้า Revolution Foods Meal Kits เพื่อวางขายในร้านสะดวกซื้อ เป็นอาหารคุณภาพเพื่อสุขภาพแบบพกง่ายและทำง่ายสำหรับเด็ก และเป็นความหวังว่าจะทำกำไรให้ Revolutions Food
Real Food for All คือสโลแกนของบริษัท ที่ตั้งมั่นจะเปลี่ยนแปลงมื้ออาหารกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียน ให้ดีต่อสุขภาพและถูกต้องตามหลักโภชนาการอย่างน้อยร้อยละ 80 ทั่วสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งเสริมสร้างพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสร้างอนาคตที่สุขภาพดี
ความมุ่งมั่นของสองสาวใน Revolution Foods นอกจากจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังดึงดูดนักลงทุนอย่างกองทุน Revolution Growth ที่ก่อตั้งโดย สตีฟ เคส (Steve Case) ซึ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่าในระยะยาว และบริษัท Revolution Foods เองก็ได้รับเครื่องหมาย certified B ของ B Corporation เพื่อยืนยันว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีคุณภาพทั้งในด้านแรงงาน ธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Revolution Foods จะไปถึงเป้าหมายในการส่งเสริมให้เยาวชนอเมริกันบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ ในสังคมสหรัฐฯที่อาหารขยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
ขอบคุณที่มา: Sal Forest – ป่าสาละ