Rubicon Bakery อบโอกาสแก่คนชายขอบ

Rubicon-Bakery1

หากคุณเป็นฝ่ายบุคคลที่ต้องเฟ้นหาพนักงานใหม่จากเอกสารสมัครงานกองโต แล้วพบมีใบสมัครใบหนึ่งระบุว่า เขาหรือเธอเคยเป็นนักโทษ แต่ปัจจุบันอยากทำงานเพื่อเริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง คุณคงนำใบสมัครใบนั้นไปไว้ในลำดับท้าย ๆ หรือไม่ก็คัดทิ้ง เพราะมีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า

การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเรา (รวมถึงตัวผู้เขียนเอง) คงรู้สึกไม่สบายใจหากทราบว่า ใครในที่ทำงานเดียวกันเป็นอดีตอาชญากรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวหลังตะรางเหล็กมาหลายปี เผลอ ๆ บางทีอาจซ้อนภาพเขาหรือเธอกับฆาตกรต่อเนื่อง หรือพวกติดยาเสพติดอย่างหนัก และคาดเดาว่าพวกเขาย่อมไร้การศึกษา

ไม่ใช่อดีตนักโทษทุกคนที่ต้องการเปลี่ยนชีวิตตัวเอง แต่หลายคนก็อยากจะเริ่มชีวิตใหม่ โดยต้องการเพียงโอกาสที่เขาจะได้มีอาชีพสุจริต และหาเลี้ยงชีพเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป ทั้งนี้สถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่า อดีตนักโทษที่ก่อความผิดและถูกจับเข้าคุกอีกครั้ง กว่าร้อยละ 95 ไม่มีงานทำ

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2536 องค์กรไม่แสวงหากำไร Rubicon Bakery ถูกตั้งขึ้นภายใต้ Rubicon Program ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Richmond รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาอดีตนักโทษกลับมาทำความผิดอีกครั้ง โดยจัดอบรมด้านอาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน และผู้มีปัญหาทางจิตใจ

Rubicon-Bakery2
แอนดรูว์ สโตลอฟ ผู้บริหาร Rubicon Bakery

แต่ความล้มเหลวทางธุรกิจของ Rubicon Bakery ที่ขณะนั้นมีพนักงานแบบชั่วคราว 14 คน และอุปกรณ์อบขนมปังที่มีอายุราว 20 ถึง 30 ปี Rubicon Program จึงตัดสินใจขายธุรกิจนี้ โดยมีแอนดรูว์ สโตลอฟ (Andrew Stoloff) นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในกิจการร้านอาหาร เป็นผู้ประเมินราคา และหาคนรับช่วงธุรกิจต่อ ในปี พ.ศ.2551

ในขณะที่ศึกษาโครงสร้างธุรกิจการทำเบเกอรี่ และพยายามขายธุรกิจที่มีเงื่อนไขเพียงหนึ่งเดียวคือต้องยึดมั่นในพันธกิจการสร้างงานแก่คนชายขอบ หลังจากพยายามขายอยู่หลายเดือนโดยไม่มีใครสนใจ แอนดรูว์ ก็ตัดสินใจซื้อกิจการ Rubicon Bakery เอาไว้เอง เนื่องจากตกหลุมรักพันธกิจในการยกระดับชีวิตของพนักงานที่เป็นอดีตนักโทษและเหล่าคนชายขอบขององค์กร ท่ามกลางเสียงห้ามปรามของเพื่อนนักธุรกิจและครอบครัว

เมื่อครั้งที่ Rubicon Bakery ยังเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่นี่ไม่เคยลงทุนในเครื่องจักรสำหรับธุรกิจเกิน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ เพราะมองว่าตัวเองเป็นเพียงศูนย์ฝึกอบรม และจะมีลูกจ้างเข้ามาฝึกฝนความชำนาญเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะลาออกไปสู่ตลาดแรงงาน

แอนดรูว์มองว่านี่คือจุดอ่อนในทางธุรกิจ และลงทุนเป็นเงินราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อเครื่องจักรใหม่ จับมือเป็นคู่ค้ากับ Whole Foods บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะรับสินค้าจาก Rubicon Bakery ปัจจุบัน Rubicon Bakery มีลูกจ้างเต็มเวลามากถึง 105 คน และมีรายได้ชั่วโมงละ 8.5 – 24 เหรียญ รวมถึงได้รับประกันสุขภาพ มีวันหยุดตามกฎหมาย และสามารถเข้าถึงเงินกู้พนักงานที่ไม่มีดอกเบี้ย ส่วน Rubicon Bakery มียอดขายปีละกว่า 8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายใต้พันธกิจว่า “จะรับใครก็ตามที่มีความตั้งใจทำงาน โดยพร้อมที่จะฝึกฝนพวกเขาทำงานให้กับเราได้”

การดำเนินธุรกิจที่หยิบยื่น “โอกาสครั้งใหม่” ให้กับคนชายขอบ แอนดรูว์อธิบายว่า Rubicon Bakery มีอัตราการเปลี่ยนแรงงานใหม่ราวร้อยละ 15 ต่อปี นับว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับบางอุตสาหกรรมที่อาจจะมีการเปลี่ยนแรงงานสูงถึงร้อยละ 100 ต่อปี “ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่มาทำงานกับเราแล้วไปกันได้” แอนดรูว์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CS Monitor “แต่หากตั้งใจจริง พวกเขาจะกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่ามากขององค์กร”

แน่นอนว่า การจ้างอดีตนักโทษเข้ามาเป็นพนักงานย่อมสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ในแง่การลดการทำผิดซ้ำซ้อนของอดีตนักโทษ แต่ในแง่ธุรกิจ หลายคนอาจสงสัยถึงคุณค่าที่พนักงานเหล่านั้นสร้างให้กับองค์กร แต่นิตยสารหลายเล่มระบุว่าพวกเขาสามารถทำเช่นนั้นได้ โดยนิตยสาร Business Insider ได้สรุปประโยชน์ทางธุรกิจจากการจ้างอดีตนักโทษเป็นพนักงานไว้ 4 ข้อ ดังนี้

1. พวกเขาจะมองหาคุณก่อนที่คุณจะมองหาเขา เนื่องจากอดีตนักโทษมักจะประสบปัญหาในการหางานใหม่หลังจากพ้นโทษ พวกเขาจะยินดีมากหากมีใครหยิบยื่นโอกาสให้กับเขา

2. ขณะที่อยู่ในคุก นักโทษส่วนใหญ่จะได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพ การเรียนเพื่อรับใบรับรองหรือใบปริญญา ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างมูลค่าในกับบริษัทแล้ว ยังเป็นการยืนยันถึงระเบียบวินัยและการทำงานหนัก

3. พวกเขาจะอยู่กับคุณนานกว่าคนทั่วไป เพราะเขาจะมองว่านี่คือโอกาสในการเริ่มชีวิตใหม่

4. คุณจะได้ผลประโยชน์ทางภาษี หากคุณจ้างอดีตนักโทษที่เพิ่งออกจากคุกไม่เกิน 1 ปี ตามนโยบายเครดิตภาษีจากการสร้างโอกาสทางการงาน (Work Opportunity Tax Credit) โดยจะให้เครดิตภาษีแก่บริษัทสูงสุดถึง 2,400 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี

สิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นรับพนักงานที่เป็นอดีตคนชายขอบคือ “เปิดใจ” โดยลบล้างทัศนคติเดิม ๆ ว่าพวกเขายังเป็นคนเดิมกับในอดีตที่เคยทำผิดพลาด และเปิดโอกาสโดยเชื่อมั่นในศักยภาพการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะสามารถตอบโจทย์ทั้งทางด้านธุรกิจ และเปลี่ยนชีวิตคนเหล่านั้นให้กลับมายืนหยัดอย่างสง่างามได้ โดยมีฐานะที่ทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม


ขอบคุณที่มา: Sal Forest – ป่าสาละ