Dairy Home ธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะวิถีการทำโคนมให้เป็นอินทรีย์ แต่ปลุกให้มนุษย์ทุกคนลุกขึ้นมารับผิดชอบตัวเอง ไม่หมดหวังที่จะช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีเช่นเดิม | SE STORIES ตอนที่ 10

เมื่อได้ฟังมุมมองของคุณพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่มีต่อโคนมอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับโลกนั่นก็คือสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ได้ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลของแดรี่โฮมเท่านั้น แต่ยังได้มุมมองในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการสอดแทรกอารมณ์ขัน ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนการพูดคุยกับญาติผู้ใหญ่ระหว่างมื้ออาหาร ประโยคสุดท้ายที่ว่า “หลังจากที่มนุษย์สูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากเราทำตัวเอง โลกของเราจะยังอยู่นะครับ เพียงแต่ผู้อยู่อาศัยรุ่นต่อไปอาจจะไม่ใช่มนุษย์ เพราะเราทำตัวเองให้สูญพันธุ์ด้วยความโง่ของเรา” สรุปใจความสำคัญของบทสัมภาษณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

1. คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

Q: Dairy Home เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับอะไร

A: เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโคนม เป็นโรงงานผลิตนม แต่เราพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตนมของเกษตรกรให้เป็นโคนมอินทรีย์ เป็นน้ำนมออร์แกนิค นั่นคือเป้าหมายเบื้องต้น เพราะเห็นว่าการผลิตน้ำนมในประเทศไทยมีปัญหาหลักที่จะต้องแก้ไข 3-4 เรื่องครับ 

เรื่องแรก คือ ความปลอดภัยของน้ำนม ในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยมากมายบอกว่านมที่ผลิตในบ้านเรามีสารปนเปื้อน เช่น สารจำพวกยาปฏิชีวนะ อะฟลาทอกซิน* ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐก็กำลังพยายามแก้ไข ถึงแม้ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้จะลดลงแล้ว แต่ถ้าถามว่ามันยังมีอยู่ไหม สำหรับผม ถือว่ายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะในแง่ของการผลิตอาหารปลอดภัย ไม่ใช่แค่เราใช้สารต้องห้ามหรือสารเคมีด้วยความเคร่งครัดเท่านั้น หรือมีการควบคุมแล้วก็เพียงพอ จริง ๆ แล้วยังมีวิธีที่ดีกว่านั้นอีก ก็คือวิธีการทำให้มันเป็นออร์แกนิค หรือเป็นเกษตรอินทรีย์ไปเลย นั่นเป็นสิ่งที่เรามองเห็นและคิดว่าเป็นทางแก้ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารต้องห้าม หรือสารที่ไม่พึงประสงค์ในน้ำนม ก็คือทำน้ำนมให้เป็นนมอินทรีย์นั่นเอง

 * อะฟลาทอกซิน เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ในถั่วแห้ง ธัญพืช และเมล็ดพืชน้ำมันต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะพร้าว สมุนไพร และเครื่องเทศต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้ในภาชนะ หรือสภาพแวดล้อมที่ชื้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง และพืชที่อยู่ในดิน รวมไปถึงพืชที่ถูกนำไปแปรรูปทุกชนิด

เรื่องที่ 2 คือ ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม หลายคนอาจจะมองว่าผู้เลี้ยงโคนมรายได้ดี แต่ในความเป็นจริงเขาก็มีปัญหาของเขาเช่นกัน รายได้ดีจริง แต่ต้นทุนสูงมาก เราจึงหาวิธีที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุน ในขณะเดียวกันก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วย จึงจะเกิดความมั่นคงและยั่งยืน เพราะทุกวันนี้แต่ละคนหาทางลดต้นทุนอย่างเดียว ถ้าลดต้นทุนแล้วยังต้องพึ่งพาคนอื่นไม่รู้จบ ก็ไม่มีทางยั่งยืน เพราะฉะนั้น แนวทางเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นแนวทางการลดต้นทุนของฟาร์มที่เราเห็นว่ายั่งยืนที่สุด

เรื่องที่ 3 คือ ประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ ในกระบวนการทำน้ำนมให้เป็นนมออร์แกนิค ผู้ที่จะได้ประโยชน์ทางตรง คือ ผู้บริโภค เพราะน้ำนมที่ถูกผลิตในกระบวนการที่ถูกต้อง ถูกต้องหมายความว่า กระบวนการที่เป็นธรรมชาติ โดยธรรมชาติของวัว จะผลิตน้ำนมออกมาจากสารอาหารที่เป็นธรรมชาติของเขา เช่น ผลิตจากหญ้า อาหารที่เป็นธรรมชาติ ดังนั้น คุณประโยชน์ที่ได้จากนมออร์แกนิคก็จะมีโปรตีนที่ดี มีกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับ

เรื่องที่ 4 คือ สิ่งแวดล้อม ทุกฟาร์มที่เปลี่ยนไปเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเป็นออร์แกนิค จะช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ต่าง ๆ ได้ทันที เช่น หมดปัญหาเรื่องสารตกค้างจากปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ที่เคยปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ในดิน ในอากาศ เพราะว่าเราห้ามไม่ให้ใช้ สารเคมีเหล่านี้เป็นของต้องห้ามในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ครบถ้วน ระบบนิเวศในป่าก็จะกลับคืนสู่สภาพที่สมดุล ผมไม่ได้ใช้คำว่าดีขึ้นหรือเลวลง แค่มันกลับมาอยู่ในสภาพที่สมดุล แล้วสมดุลแบบไหน ก็สมดุลในแบบที่มันควรจะเป็นในพื้นที่เหล่านั้น ในแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป นี่คือแนวทางที่ Dairy Home พยายามทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้นครับ 


Q: ตอนเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิค ในยุคนั้นมีคนรู้จักคำนี้มากน้อยแค่ไหน และต้องพบกับความท้าทายอย่างไรบ้าง 

A: เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คำว่า “ออร์แกนิค” หรือ “เกษตรอินทรีย์” ยังรู้จักกันในวงแคบมากในประเทศไทย จะเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในองค์กรภาคเอกชนที่ผลักดันหรือส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ ภาครัฐเองก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจจริงจังมากนัก ยิ่งถ้าเป็นปศุสัตว์อินทรีย์ เราเพิ่งมีระเบียบกันเมื่อปี 2555 นี้เอง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่ของเราคือ ผู้ผลิตหรือเกษตรกรก็ไม่เข้าใจด้วยว่ามันคืออะไร ส่วนผู้บริโภคเองก็ไม่เข้าใจความแตกต่างของคำว่าเกษตรอินทรีย์ กับเกษตรทั่วไป หรือวิธีการผลิตแบบทั่ว ๆ ไป

ปัญหาที่ว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเมื่อเราเริ่มผลิตน้ำนมอินทรีย์ออกมา ความท้าทายแรก คือ ไม่มีใครรับรอง ก็ต้องอาศัยมาตรฐาน กรอ. หรือ กูรับรองเอง (หัวเราะ) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Self Claimed” ตอนนั้นก็เลือกใช้วิธีนั้นไปก่อน พอมีหน่วยงานมารับรอง เราก็ถอดตรา Self Claimed ของเราออก และใช้ตรารับรองที่ถูกต้อง แต่ในยุคนั้นต้องทำแบบนั้นจริง ๆ คือ แปะตราออร์แกนิคไปก่อนให้เป็นความแตกต่าง เพราะไม่มีใครรับรองให้

ความท้าทายถัดมา คือ ผู้บริโภคก็ไม่รู้จักออร์แกนิคว่าคืออะไร ต้องอธิบายทุกคนที่เป็นลูกค้าว่านมออร์แกนิคคืออะไร มันต่างกับนมทั่วไปอย่างไร ในยุคนั้นถ้าลองเดินไปถามคนทั่วไปตามที่ต่าง ๆ สักร้อยคนว่ารู้จักออร์แกนิคไหม อาจจะพบคนที่รู้จักสักประมาณ 5 คน แล้วใน 5 คนนั้นก็เข้าใจออร์แกนิคไม่เหมือนกันเลย แต่ปัจจุบันผมเชื่อว่าคนเมืองอย่างน้อยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์น่าจะรู้แล้วว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร และน่าจะเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ที่อธิบายได้ชัดว่ามันคืออะไร


Q: นมออร์แกนิค หรือ นมอินทรีย์ มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากนมทั่วไปอย่างไร คุณพฤฒิช่วยเล่าให้เห็นวิธีการ ขั้นตอน ว่ากว่าที่ผู้บริโภคจะได้ดื่มนมออร์แกนิค ผู้ผลิตต้องใส่ใจเรื่องใดบ้าง 

A: กลับมาที่คำจำกัดความของคำว่าเกษตรอินทรีย์ก่อน เกษตรอินทรีย์ไม่ได้หมายความว่าเป็นเกษตรปลอดสารเพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงระบบการผลิตอาหารทางการเกษตร ที่เน้นเรื่องความสมดุลระหว่างดิน น้ำ พืช และสัตว์ พูดง่าย ๆ คือ ต้องดูองค์รวมทั้งหมดของระบบนิเวศ เราไม่สามารถบังคับเอาผลผลิตออกมามากกว่าที่ควรจะเป็นได้ ต้องเคารพน้ำ ดิน พืช สัตว์ เพราะทั้งหมดทั้งสิ้นประกอบขึ้นมาเป็นระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเราเข้าใจแบบนี้แล้ว เวลาเลี้ยงวัวนมเราจะไม่สนใจเพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะได้น้ำนมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่จะสนใจว่า ทำอย่างไรให้เขาได้ใช้ชีวิตแบบวัว ๆ มากที่สุด มีโอกาสได้แทะเล็มหญ้า ได้เอาหลังถูต้นไม้บ้าง เดินตีแปลงบ้าง ได้ตากแดด ออกกำลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกละเลยไปในระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม เช่น ถ้าวัวป่วยก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการฉีดยาให้มัน ทั้ง ๆ ที่โดยหลักการแล้ว ถ้าวัวมันได้ใช้ชีวิตตามสบาย อาการป่วยไข้ก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

ปล่อยให้วัวได้ใช้ชีวิตแบบวัว ๆ มีโอกาสได้แทะเล็มหญ้า ได้เอาหลังถูต้นไม้บ้าง เดินตีแปลงบ้าง ได้ตากแดด ออกกำลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกละเลยไปในระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม
ปล่อยให้วัวได้ใช้ชีวิตแบบวัว ๆ มีโอกาสได้แทะเล็มหญ้า ได้เอาหลังถูต้นไม้บ้าง เดินตีแปลงบ้าง ได้ตากแดด ออกกำลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกละเลยไปในระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม

ต่อมา แม้เราจะให้เขาใช้ชีวิตแบบสะดวกสบายแล้ว ก็ไม่สามารถนำวัวปริมาณมาก ใส่ลงไปในพื้นที่น้อย ๆ ได้ ในพื้นที่จำนวนหนึ่ง สามารถที่จะเลี้ยงวัวได้ในปริมาณที่เหมาะสมประมาณหนึ่ง ไม่มากเกินกว่าที่ระบบนิเวศของเราจะรองรับได้ บางคนบอกว่า มีคอกวัวก็เอาวัวใส่เข้าไปให้เต็ม ๆ คิดแบบนั้นไม่ได้นะครับ ไม่เช่นนั้นระบบนิเวศฟื้นตัวไม่ทัน มูลวัวจำนวนมากแทนที่จะกลายเป็นปุ๋ยก็กลับกลายเป็นมลพิษ อย่างในประเทศฮอลแลนด์ มีอยู่ยุคหนึ่งที่ของเสียที่วัวขับถ่ายออกมากลายเป็นมลพิษต่อน้ำในคลอง น้ำใต้ดิน ซึ่งเต็มไปด้วยสารไนเตรทตกค้าง เนื่องจากมีปริมาณวัวอยู่ในพื้นที่นั้นมากเกินไป และกฎหมายใหม่ในประเทศของเขายังกำหนดไว้ว่า พื้นที่เท่านี้เอเคอร์ (1 เอเคอร์ ประมาณ 2.53 ไร่) ห้ามเลี้ยงวัวเกินเท่านี้ตัว ถ้ายืนยันจะเลี้ยงเกินที่กฎหมายกำหนด คุณต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่บ้านเรายังไม่มีการออกกฎหมายลักษณะนี้ เพราะคิดว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลา 

เรื่องสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึง คือ การผลิตอาหารให้วัวกิน เราไม่ควรเลี้ยงวัวมากเกินกว่าอาหารสัตว์ที่เราผลิตได้ ไม่เช่นนั้นต้อง import (นำเข้า) อาหารเข้ามา import ในความหมายของผมคือ import จากนอกรั้วฟาร์มของเรา ถามว่าทำได้ไหม จริง ๆ แล้วทำได้ แต่เราต้องขยายระบบนิเวศของเราตามไปด้วย เช่น สมมติคุณผลิตหญ้าในฟาร์มของตัวเองไม่พอ เพราะมีวัวจำนวนมาก ต้องซื้อหญ้าจากฟาร์มข้าง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเรามักมองด้านเดียว คือ แค่ซื้อหญ้าเข้ามา แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ ถ้าซื้อหญ้าจากที่นั่นมาแล้ว คุณต้องเอาระบบนิเวศของแปลงปลูกหญ้าเข้ามารวมอยู่ด้วย แปลว่า พอคุณซื้อหญ้าจากฟาร์มข้าง ๆ มาให้วัวของคุณกินแล้ว คุณต้องเป็นผู้ส่งออกของเสียหรือมูลวัวที่เกิดขึ้นในฟาร์มคุณ กลับไปยังแปลงหญ้านั้นด้วย เพื่อทำให้ระบบการหมุนเวียนธาตุอาหารมันครบวงจร ไม่อย่างนั้น แร่ธาตุอาหารของฟาร์มที่ปลูกหญ้าเพื่อนำมาส่งขายให้เราก็จะหมุนเวียนไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้เหมือนเดิม เกิดความไม่สมดุลในระบบอีกเช่นเดิม 

เกษตรอินทรีย์ หมายรวมถึงระบบการผลิตอาหารทางการเกษตร ที่เน้นเรื่องความสมดุลระหว่างดิน น้ำ พืช และสัตว์ พูดง่าย ๆ คือ ต้องดูองค์รวมทั้งหมดของระบบนิเวศ เราไม่สามารถบังคับเอาผลผลิตออกมามากกว่าที่ควรจะเป็นได้ ต้องเคารพน้ำ ดิน พืช สัตว์ เพราะทั้งหมดทั้งสิ้นประกอบขึ้นมาเป็นระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่องกัน

นี่เป็นแนวปฏิบัติของเกษตรอินทรีย์ที่เราใช้ จะตั้งหน้าตั้งตาผลิตโดยไม่สนใจอะไรเลยไม่ได้ ต้องมองภาพรวมเพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบ ทำให้ระบบการผลิตเกิดความยั่งยืน หากทำแบบนี้ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ต้นทุนการผลิตจะถูกลงโดยทันที


Q: กว่าจะมีกลุ่มเกษตรกรหันมาเลี้ยงโคนมแบบอินทรีย์ มีความยากง่ายในการชักชวนอย่างไร แล้วทำอย่างไรเกษตรกรจึงยอมเปลี่ยนจากการทำแบบเดิม มาเป็นแบบอินทรีย์

A: แรก ๆ ยากมาก เพราะอย่างที่บอกว่าเขายังไม่เข้าใจ กว่าที่เราจะชวนให้เขามาทำเกษตรอินทรีย์หรือโคนมอินทรีย์ได้ ใช้เวลาอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งผมไปเจอเกษตรกรที่กล้าจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เราทั้งชักชวน คะยั้นคะยอ ใช้ทุกวิถีทาง จนกระทั่งเขาตอบตกลงว่าจะลอง แต่ต้องให้เราเป็นคนรับประกันว่าถ้าทำแล้วจะไม่เดือดร้อน ผมจึงบอกไปว่าถ้าทำแล้วขาดทุน ผมจะชดเชยให้เอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กันและกันเล็กน้อย (หัวเราะ) นี่เป็นความเสี่ยงแรกที่เราต้องแบกรับ แต่ลึก ๆ แล้วเชื่อมั่นในตัวโมเดลว่ามีความเป็นไปได้ 

อันที่จริงเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนที่จะนำมาใช้กับเมืองไทย ทางฝั่งยุโรปเริ่มทดลองใช้สักระยะแล้ว พบว่าได้ผลดีและมีการขยายตัวค่อนข้างดี ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรรุ่นเก่า ๆ ที่สำคัญ เมื่อ 60 ปีก่อนหน้านี้ คนไทยเราก็ทำเกษตรอินทรีย์กันอยู่แล้ว ทั้งพืชผักอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ เพียงแต่เราไม่ได้เรียกมันว่าเกษตรอินทรีย์เท่านั้นเอง เราเรียกว่าเป็นการเกษตรแบบที่ปู่ย่าตายายทำกันมา แล้วมันก็ยืนยงต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปีเลยทีเดียว โดยไม่ได้ทำให้พื้นที่การเกษตรของไทยเสื่อมสภาพลง แต่เกษตรเชิงเดี่ยว หรือการเกษตรอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ต่างหาก ที่เป็นตัวการให้พื้นที่เกษตรเสื่อมสภาพลง เพราะฉะนั้น ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย การที่น้อง ๆ เกษตรกรถามเราว่าให้ช่วยรับความเสี่ยงแทนได้ไหม ผมจึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล

ฟาร์มที่ผมไปลองมีขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ มีรายได้จากการผลิตนมเดือนละประมาณ 200,000 บาท สำหรับบ้านเราแล้ว รายนี้ไม่ใช่เกษตรกรรายเล็กเลย แต่กำไรที่ได้ไม่มากมาย อยู่ที่เดือนละ 12,000 – 20,000 บาท ถ้าบางเดือนมีวัวป่วย หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว กำไรก็ลดลงเหลือ 10,000 กว่าบาทเท่านั้น 

พอเริ่มเปลี่ยนเป็นระบบโคนมอินทรีย์ ในเดือนแรก รายได้ลดลงจาก 200,000 เหลือ 100,000 บาท เขาก็เริ่มใจไม่ดีและทักท้วงเราว่ามันหายไปตั้งครึ่งหนึ่งเลยนะ จะเอาอย่างไร (หัวเราะ) ผมบอกแค่ว่าให้ลองสู้ต่ออีกสักเดือนแล้วกัน

เดือนต่อมา รายได้ยังคงทรงตัว อยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต้น ๆ พอเข้าเดือนที่สาม รายได้จากน้ำนมก็ยังไม่ได้มากขึ้นกว่าการทำเกษตรแบบเดิม จากเดิม 200,000 ลดลงเหลือประมาณเดือนละ 120,000 บาท แต่เขาบอกว่า ที่จะให้ผมชดเชยให้นั้นไม่ต้องแล้ว เพราะรายได้ 120,000 ของเขามีกำไรถึง 40,000 บาท ได้ยินอย่างนั้นเราก็พลอยดีใจ เพราะไม่ต้องเสียเงินชดเชย (หัวเราะ) 

Cows & Hens

ส่วนอีกด้านหนึ่งก็บ่งบอกว่าทฤษฎีที่ใช้มันถูกต้อง เมื่อต้นทุนลด ไม่ได้ลดเฉพาะค่าอาหารสัตว์อย่างเดียว เมื่อใดที่เราเริ่มปลูกหญ้าให้วัวกิน ให้วัวกินหญ้าอย่างเต็มที่เลย ในทางเดียวกันก็เป็นการลดอาหารข้นที่มาจากอุตสาหกรรมลงด้วย จะได้น้ำนมปริมาณน้อยลงจริง แต่ขณะเดียวกัน วัวจะมีสุขภาพดีขึ้น นั่นทำให้ค่ายาลดลง ค่าสารเคมีที่เคยใช้ในฟาร์มก็ลดลง พูดง่าย ๆ ว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลง เมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ถึงแม้รายได้จะลดลงด้วย แต่ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ มันลดลงมากกว่า ก็จะเหลือกำไรมากขึ้น ทุกอย่างที่ต้องใช้ในฟาร์ม เจ้าของฟาร์มสามารถผลิตเองได้เกือบหมด ไม่ว่าสถานการณ์ตลาดอาหารสัตว์จะเป็นอย่างไร ฟาร์มโคนมอินทรีย์จะไม่มีทางเดือดร้อน ยิ่งถ้าเป็นฟาร์มที่วางแผนดีและตั้งใจทำอย่างครบวงจร แทบไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอกเลย จากที่เคยพึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะลดลงเหลือ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อตลาดอาหารสัตว์ขึ้นราคา เขาสามารถปฏิเสธที่จะไม่ซื้อเลยก็ยังได้ เพราะมีอาหารที่ผลิตเองอยู่แล้ว ฟาร์มโคนมก็จะเกิดความยั่งยืนตามมา นี่คือสิ่งที่เป็นคุณูปการของเกษตรอินทรีย์ และเป็นหลักการของระบบเกษตรอินทรีย์ในแบบที่เราต้องการ 

ประโยชน์ประการต่อมา คือ ความยั่งยืนในชีวิตความเป็นเกษตรกร เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อคนเราพึ่งพาตัวเองได้ ก็จะมีอำนาจต่อรอง เมื่อมีอำนาจต่อรองก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะน้ำนมที่ผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น รายได้ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นด้วย สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นความภูมิใจพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

เรารู้กันอยู่แล้วว่าปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า สังคมเกษตรกรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว อายุโดยเฉลี่ยของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมปัจจุบันเท่ากับ 65 ปี เพราะฉะนั้น การที่เกษตรกรเริ่มเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ผลลัพธ์และภาพลักษณ์ต่าง ๆ ที่ดีขึ้น จะช่วยดึงดูดเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สนใจวิถีโคนมอินทรีย์กันมากขึ้นด้วย ลดปัญหาขาดคนสืบทอดอาชีพนี้ลงได้


Q: ลูกค้ากลุ่มแรก ๆ ของ Dairy Home เป็นใคร สร้างการรับรู้แก่กลุ่มลูกค้าอย่างไรบ้าง

A: เราใช้หลักการที่ว่า เจาะลูกค้าใกล้ตัวก่อน เริ่มจากสร้างหน้าร้านของตัวเองขึ้นมา เราสร้างร้าน Dairy Home ขึ้นมาพร้อม ๆ กันกับนมที่เราผลิต เมื่อได้ผลผลิต จึงไม่ต้องนำไปขายที่อื่น 

เราใช้วิธีทำความเข้าใจกับลูกค้าใกล้ตัวก่อน กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มาซื้อสินค้าหน้าร้าน สามารถสื่อสารกันได้สะดวก เพราะว่าเรามีโอกาสได้พบลูกค้าที่มาซื้อนมทุกคน บางคนแค่แวะมาเข้าห้องน้ำ มานั่งคุย มาจิบกาแฟ แต่เรามีนมอยู่ในตู้ มีนมเสิร์ฟพร้อมกาแฟ มีนมบรรจุขวดขาย ดังนั้น บทสนทนาระหว่างเรากับลูกค้า สามารถแทรกเรื่องนม Dairy Home เข้าไปได้ด้วย อธิบายให้ลูกค้าฟังว่านมของเราเป็นนมออร์แกนิค ดื่มแล้วดีอย่างไร ดีต่อใครบ้าง เช่น ดีต่อสุขภาพของเราอย่างไร ต่อเกษตรกรอย่างไร ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ฐานลูกค้าประจำจึงมาจากการทำความเข้าใจกับลูกค้ากลุ่มแรกได้สำเร็จ 

Grass fed Milk2

ลูกค้าเหล่านี้ เป็นคนที่แวะเวียนมาเขาใหญ่บ่อย ๆ ใครอยู่ไกลหน่อยก็แวะมาซื้อเดือนละครั้ง หรือ 2 อาทิตย์ครั้งบ้าง ใกล้เข้ามาหน่อยก็แวะมาทุกสัปดาห์ ส่วนคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็อยากให้เราไปส่งให้ถึงที่ เพราะไม่สะดวกแวะมาบ่อย ๆ แต่อยากมีนมดื่มทุกวัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ Dairy Home มีระบบ Delivery ตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งนมพาสเจอไรซ์ตรงถึงบ้านให้ลูกค้าทุกสัปดาห์ ลูกค้ากลุ่มแรก จากที่เป็นลูกค้า เป็นคนรู้จัก ก็กลายเป็นเพื่อน คบค้าสมาคมกันจนถึงปัจจุบันก็มี กลายเป็นฐานสำคัญที่ทำให้นม Dairy Home กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง 

ทั้งฐานลูกค้าประจำ รวมถึงระบบ Delivery ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ Lemon Farm ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกมองเห็นเรา ตั้งแต่ยังไม่มีมาตรฐานรับรองจากทางการ Lemon Farm ช่วยสนับสนุน ผลักดัน จนเห็นว่านมของเราได้มาตรฐานแล้ว จึงรับไปวางขาย หลังจากที่เข้า Lemon Farm ได้ ห้างร้านอื่น ๆ ก็ทยอยตามกันมาเรื่อย ๆ 

เมื่อคนเราพึ่งพาตัวเองได้ ก็จะมีอำนาจต่อรอง เมื่อมีอำนาจต่อรองก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะน้ำนมที่ผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น รายได้ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นด้วย สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นความภูมิใจพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

เนื่องจากในการทำงาน เราต้องดูทั้งระบบ การบริหารจัดการนมที่มีอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เราต้องการขายจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น ถ้าวันนี้เรามีฟาร์มอยู่ 1 ฟาร์ม ผลิตนมได้วันละ 200 ลิตร ต้องคิดต่อว่า ควรหาลูกค้าให้ได้กี่ราย พอฟาร์มขยายใหญ่ขึ้น ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็นวันละตัน ก็ต้องเริ่มมองหาตลาดที่กว้างขึ้น พอมีเกษตรกรมาร่วมในเครือข่ายมากขึ้น ได้นมเพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 2 ตัน ถึงจุดนี้เราไม่สามารถอยู่เฉย ๆ ได้แล้ว ต้องมองเรื่องเครือข่ายที่เป็น Modern Trade (ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่) มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืม Traditional Trade (การค้าแบบดั้งเดิม) เช่น ร้านค้าตามมุมเมือง หัวเมือง หมู่บ้านต่าง ๆ ด้วย กลุ่มลูกค้าของ Dairy Home จึงมีตั้งแต่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงคุณแม่บ้านที่ต้องการหานมให้ลูกดื่ม และจนถึงปัจจุบัน แม้เรายังคงมองว่าลูกค้าไม่ได้มีมากมาย แต่คิดว่าเพียงพอแล้วสำหรับรองรับผลผลิตที่มีอยู่ 

เราคิดว่าจะทำการตลาดรูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะนมออร์แกนิคมันรีบไม่ได้จริง ๆ ต่อให้ทำการตลาดเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าฝ่ายผลิตตามไม่ทันก็ไม่มีประโยชน์อะไร 


Q: ในตลาดทั่วไปก็มีนมหลากหลายยี่ห้อ จำเป็นไหมที่เราจะต้องไปต่อสู้กับแบรนด์เหล่านั้น ถ้าจำเป็น มีวิธีการอย่างไรที่จะขยายฐานลูกค้าให้มาซื้อ Dairy Home แทนที่จะไปซื้อแบรนด์อื่น

A: บอกตรง ๆ ว่าตลาดนมในบ้านเรามีการแข่งขันกันสูงมาก เนื่องจากเป็นตลาดเดียวกันทั้งประเทศ ผู้ผลิตรายเดียวสามารถครอบคลุมพื้นที่ขายได้ทั้งประเทศ เพราะประเทศเราค่อนข้างเล็ก ดังนั้น ไม่ว่าจะเอานมไปวางขายที่ไหน ก็จะเจอคู่แข่งรายเดิม ๆ 

สิ่งที่ทำให้ Dairy Home มีที่ยืนในตลาดนี้ก็คือ เราเป็นนมออร์แกนิครายแรกที่ไปอยู่ในตลาด ซึ่งทำให้เราเหนื่อยน้อยลงหน่อย คิดว่าถ้าเราเป็นรายที่สองอาจจะเหนื่อยมากกว่านี้ แต่ก็ไม่แน่ ถ้าเป็นรายที่สองอาจจะเหนื่อยน้อยกว่านี้ก็ได้ (หัวเราะ) เพราะการที่เรามาก่อนก็เหนื่อยมากเหมือนกัน ไหนจะต้องต่อสู้กับคนที่มีชื่ออยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามทำให้ลูกค้ารู้จักเราด้วย ขณะที่งบประมาณก็มีไม่มาก ต้องใช้วิธีที่เหนื่อยกว่าคนอื่นหน่อย อาจจะต้องพูดมากหน่อย หาช่องทางให้ได้พูดเยอะ ๆ อย่างวันนี้ก็เช่นกัน เมื่อมีโอกาส ผมก็พยายามที่จะพูดเยอะ ๆ เพื่อให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร ผมพูดถึงเป้าหมายของ Dairy Home ในทุกที่ที่ มีโอกาส ว่าเราไม่ได้ต้องการเป็นนมออร์แกนิครายเดียวในประเทศไทย แต่เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตนมของประเทศไทยให้เป็นออร์แกนิค หมายความว่า ถ้าเกษตรกรเห็นดีด้วยกับการทำนมออร์แกนิค ก็สามารถเปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องรอผม ไม่ต้องรอใครต่อใคร ไม่ต้องรอภาครัฐมาเปลี่ยนให้ เพราะทันทีที่เปลี่ยน ประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ผลิตเองโดยตรง

“เมื่อมีโอกาส ผมก็พยายามที่จะพูดเยอะ ๆ เพื่อให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร” คุณพฤฒิ ใช้โอกาสที่มีผู้เดินทางไปศึกษาดูงาน สื่อสารถึงสิ่งที่ Dairy Home กำลังทำ
“เมื่อมีโอกาส ผมก็พยายามที่จะพูดเยอะ ๆ เพื่อให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร”
คุณพฤฒิ ใช้โอกาสที่มีผู้เดินทางไปศึกษาดูงาน สื่อสารถึงสิ่งที่ Dairy Home กำลังทำ

เมื่อได้นมออร์แกนิคมาแล้ว คำถามต่อมา คือ ใครจะเป็นคนแปรรูป เรื่องนี้ผมไม่หวงเลย เพราะเราก็เปิดโอกาสให้เกษตรกรแปรรูปนมเองด้วย เราต้องการให้เขายกระดับตัวเองขึ้นมาจากฟาร์ม ไปเป็นผู้ประกอบการด้วยเหมือนกัน แปลว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เกษตรกรของเรานี่แหละที่จะมาแข่งขันในตลาดเดียวกับเราด้วย เมื่อเกษตรกรของเราค่อย ๆ เข้มแข็งขึ้น สามารถบินเดี่ยวเองได้ ผมเองก็จะได้มีเวลาไปทำงานกับเกษตรกรรายเล็ก ๆ ต่อไป

เราไม่ได้ต้องการให้ Dairy Home ใหญ่มากนะครับ เพราะถ้าใหญ่มากเกินไป การบริหารจัดการเมื่อมีนมเยอะ ๆ มาจ่อคอหอยอยู่ จะมัวนั่งคิดแบบนี้ไม่ได้ กลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่โมเดลคนละเรื่องกัน จะต้องต่อสู้และวุ่นวายเรื่องการตลาดอีกเยอะแยะมากมาย ซึ่ง Dairy Home ไม่ได้ต้องการจะไปถึงจุดนั้น ต้องการแค่สามารถยืนอยู่ได้ในตลาดที่มีลูกค้าตอบรับเราประมาณหนึ่ง มีรายได้เพียงพอที่จะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์สองสามอย่างได้ ได้แก่ 

  1. ใช้ในการปรับเปลี่ยนเกษตรกรรายใหม่ ให้เป็นออร์แกนิคเพิ่มขึ้น 
  2. นำมาลงทุนด้านการพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ ให้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้น
  3. ใช้ในการพัฒนาวิจัยเรื่องกระบวนการผลิต ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

เรียกว่าเราให้เวลากับการทำ 3 เรื่องนี้ มากกว่าพยายามหาตลาดเพื่อขายตัวผลิตภัณฑ์ 


Q: มีสินค้าอะไรอีกบ้าง นอกจากนมพร้อมดื่ม 

A: ทำทุกอย่างที่เขาทำกัน อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางชีส เนย หรือนมหลาย ๆ แบบ แต่เรามีสินค้าทุกอย่างที่สามารถแปรรูปมาจากนมได้ ตัวนมพร้อมดื่ม เราก็พยายามพัฒนาให้มันมีความหลากหลายมากที่สุด มีรสชาติแปลก ๆ ใหม่ ๆ แต่อย่างไรก็ดี หลักการของเราชัดเจนว่า ถึงจะแปลก จะใหม่ แต่ต้องมีคุณประโยชน์ในตัวเองด้วย ไม่ใช่แปลกอย่างเดียว 

ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์จาก Dairy Home - โยเกิร์ตรสชาติต่าง ๆ และ เนยสดออร์แกนิครสเค็ม รสจืด
ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์จาก Dairy Home – โยเกิร์ตรสชาติต่าง ๆ และ เนยสดออร์แกนิครสเค็ม รสจืด

นอกจากนมพาสเจอร์ไรซ์แล้วก็มีโยเกิร์ต พยายามทำโยเกิร์ตที่เป็นธรรมชาติที่สุด หรืออย่างเนย ก็จะทำใช้เองเป็นส่วนใหญ่ เพราะเราทำเบเกอรี่ด้วย แล้วก็มีไอศกรีม 40 กว่ารสชาติ นอกจากนั้นก็ทำชีสด้วย เป็นชีสที่ทำออกมาแล้วสามารถไปแปรรูปให้เป็นส่วนประกอบของอาหารไทยได้ เพื่อที่จะให้เข้าสู่ตลาดอาหารไทยได้ด้วย คิดว่าถ้าทำชีสเพื่อแข่งกับชีสต่างประเทศ ผมคงเหนื่อยอย่างแน่นอน เพราะชีสเป็นสินค้าที่มีความเฉพาะ คงคล้ายกับน้ำปลาร้าบ้านเราปัจจุบัน น้ำปลาร้าของใครก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนนั้น เวลาที่เชฟเลือกชีสมาใช้ประกอบมื้ออาหารในโรงแรม ก็จะเลือกซื้อจากแบรนด์ดัง ๆ ที่เขาเชื่อถือหรือเคยใช้มาก่อน ชีสแบรนด์ Dairy Home ก็เช่นกัน คนไทยยังไม่นิยมทานชีสกันมากนัก เราเห็นว่านี่เป็นวิธีหนึ่งในการแทรกมันเข้าไปในมื้ออาหารไทย ชีสของเราใช้ผัดกะเพราได้ ทำฉู่ฉี่ได้ ผัดถั่วงอกได้ เพราะจริง ๆ ชีสก็คือเนื้อโปรตีนดี ๆ นั่นเอง เป็นโปรตีนของนม

ทั้งนม โยเกิร์ต เนย ไอศกรีม และชีส เป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าให้ไปไกลมากที่สุดเท่าที่จะไปได้


Q: ผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ที่ใช้นวัตกรรมจากงานวิจัยมาผลิต 

A: นี่เป็นอีกความภูมิใจหนึ่งของเรา แม้เราจะเป็นบริษัทที่เล็กมาก แต่เรากลับมีโอกาสได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เยอะมาก และเนื่องจากเราเล็กนั่นแหละ เราจึงต้องทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีนักวิชาการเก่ง ๆ ในบริษัท แต่ในประเทศไทย เรามีนักวิชาการเก่ง ๆ จำนวนมาก ต้องการทำเรื่องอะไรสามารถหาผู้เชี่ยวชาญได้หมดทุกอย่าง 

งานวิจัยแรกที่ทำเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว คือ Bed Time Milk หรือ นมก่อนนอน ผมค้นคว้างานวิจัยในช่วงแรกด้วยตัวเอง พบว่าในน้ำนมมีเมลาโทนิน แต่มีมากน้อยไม่เท่ากัน วิธีที่จะทำให้ได้นมที่มีเมลาโทนินในระดับที่เพียงพอต่อการทำให้คนนอนหลับได้ เราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร จึงทำโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลปรากฏว่าเราได้อาจารย์ที่เก่งมาก 2 ท่านมาช่วยวิจัยจนกระทั่งรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เมื่อได้เป็นงานวิจัยฉบับสมบูรณ์แล้ว มหาวิทยาลัยฯ ก็จดเป็นสิทธิบัตรร่วมระหว่างแดรี่โฮม กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทุกวันนี้ Bed Time Milk ช่วยคนให้นอนหลับสบาย ไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ ถือเป็นงานวิจัยแรกสุดที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ 

Bed Time Milk หรือ นมก่อนนอน นมที่อุดมไปด้วยเมลาโทนินจากธรรมชาติสูง ช่วยให้นอนหลับสนิทและพักผ่อนได้เพียงพอ - งานวิจัยที่ Dairy Home ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
Bed Time Milk หรือ นมก่อนนอน นมที่อุดมไปด้วยเมลาโทนินจากธรรมชาติสูง ช่วยให้นอนหลับสนิทและพักผ่อนได้เพียงพอ – งานวิจัยที่ Dairy Home ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

เมื่องานวิจัยแรกประสบความสำเร็จ จึงมองว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ในแต่ละปีเราจะจัดสรรงบประมาณสำหรับการทำวิจัยโดยเฉพาะ ใช้งบประมาณมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับแต่ละงานวิจัยที่คิดขึ้นมา บางปีก็ได้งาน บางปีก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เราถือว่างานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำทุกปี ส่วนโจทย์วิจัยก็มาจากทั้งผม อาจารย์ และทีมงาน สลับกันไป

 

นมออร์แกนิครสน้ำตาลมะพร้าว หรือ Coco Blossom หนึ่งเดียวของความหวานที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นนมรสหวานทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถทานได้ด้วย
นมออร์แกนิครสน้ำตาลมะพร้าว หนึ่งเดียวของความหวานที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นนมรสหวานทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ

มีสินค้าตัวหนึ่งซึ่งขายดีมาก โดยที่ไม่ต้องเสียงบประมาณวิจัยเลย ก็คือนมน้ำตาลมะพร้าว เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา คนปฏิเสธน้ำตาลกันมากขึ้น แม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ยังต้องการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะฉะนั้น หลักการก็คือ บริโภคน้ำตาลในปริมาณมากเกินไปไม่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน แต่น้ำตาลชนิดไหนหละที่ดี เราก็มาพบว่าน้ำตาลมะพร้าวเป็นที่ยอมรับกันว่าดี เพราะดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับคนที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน และยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากด้วย เราตั้งชื่อนมชนิดนี้ว่า “นมรสน้ำตาลมะพร้าว” หรือ “Coco Blossom” 

หลังจากวางขายได้ 2 ปีกว่า ๆ คนเริ่มรู้จัก ยอดขายเริ่มดีขึ้น ก็กลายเป็นเรื่องดีมากสองต่อ คือ นมอินทรีย์ของเกษตรกรโคนมก็ขายดี น้ำตาลมะพร้าวอินทรีย์ของกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวอัมพวา ก็ยอดขายดีตามด้วย กลายเป็นว่าช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน

 

“นมอัดเม็ดป้องกันฟันผุ” ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้จากงานวิจัยของ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล นักวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำร่วมกับ Dairy Home เป็นนมอัดเม็ดที่สามารถยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดฟันผุได้
นมอัดเม็ดที่สามารถยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดฟันผุได้

เมื่อไม่นานนี้ เรามีงานวิจัยระดับไฮเทค ได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ชื่อ “นมป้องกันฟันผุ”
โดยเริ่มต้นทำเป็นนมเปรี้ยวป้องกันฟันผุ โพรไบโอติกส์ชนิดที่เราใช้ ได้มาจากการวิจัยของ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล นักวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ งานวิจัยของท่านเป็นงานวิจัย World Class ได้รับการตีพิมพ์ในระดับโลก พบว่ามีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสสายพันธุ์หนึ่ง สามารถยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดฟันผุได้ จึงนำงานวิจัยของท่าน มาลองปรับเข้ากับผลิตภัณฑ์ของเรา โดยทำเป็นนมเปรี้ยวให้เด็กลองดื่ม ปรากฏว่ามันช่วยลดจำนวนเชื้อฟันผุในปากของเด็กได้จริง ขณะเดียวกัน เนื่องจากโพรไบโอติกส์ชนิดนี้ เป็นเชื้อที่สามารถอยู่ในสภาพแห้งได้โดยไม่ตาย จึงลองนำเชื้อมาผสมกับนมผงแล้วอัดเป็นเม็ด ได้เป็น “นมอัดเม็ดป้องกันฟันผุ” ซึ่งขายดีมากในปัจจุบัน

นอกจากนั้นแล้วยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับ Upcycling Waste (กระบวนที่นำขยะหรือวัสดุเหลือใช้มาชุบชีวิตใหม่) ด้วย


Q: Dairy Home ถือเป็นต้นแบบของโรงงานที่ดี อยากทราบว่ามีกระบวนการจัดการภายในโรงงานอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

A: เราผลิตนมออร์แกนิค เพราะฉะนั้น ก็ควรจัดการฟาร์มให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ถ้าเราทำตัวเละเทะ ก็ไม่คู่ควรกับการชวนคนอื่นมาทำออร์แกนิค โรงงานของเราจึงมี Certified Eco Factory (รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ) และ Certified Green Factory (รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมโรงงานสีเขียว) เป็นโรงงานระดับ SME ไม่กี่โรงที่ได้รับการรับรองสองมาตรฐานนี้

นอกจากนั้นแล้ว เราทำเรื่องมาตรฐานการจัดการพลังงานด้วย เราได้ Certified ISO 50001 เรามีการใช้พลังงานทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ ในโรงงาน เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำความร้อน เพื่อนำความร้อนมาพาสเจอร์ไรซ์นม มีการใช้พลังงานลม เพื่อเอาลมมาใช้ในระบบไฮโดรนิวเมติกส์*  ในโรงงาน ลักษณะก็คือ ที่โรงงานมีกังหันลมตัวหนึ่งซึ่งหมุนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดลม จากนั้นอัดลมเข้ามาเก็บไว้ในถัง เพื่อให้เครื่องจักรทำงานอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้ 

(* ระบบนิวเมติกส์ คือ ระบบที่ใช้การอัดอากาศส่งไปตามท่อที่ประกอบเข้ากับชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร เพื่อทำให้เกิดพลังงานกลในการทำงานสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ระบบนิวเมติกส์ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่ระบบกระบอกสูบลม มอเตอร์ลมอย่างง่าย ไปจนถึงการทำงานในเครื่องจักรขนาดใหญ่ ประกอบกับระบบ Automation เพื่อการทำงานแบบอัตโนมัติ)

นอกจากนั้นแล้ว ความร้อนเหลือทิ้งเราก็เก็บมาใช้ด้วย เวลาที่โรงงานเปิดเครื่องทำความเย็นในห้องเย็น ให้นึกถึงภาพแอร์บ้าน เมื่อเปิดแอร์ ในห้องจะเย็น เพราะความร้อนถูกนำไปคายทิ้งข้างนอกผ่านตัวคอมเพรสเซอร์ เมื่อเดินผ่านคอมเพรสเซอร์ รู้สึกได้ว่าลมที่พัดออกมาจะอุ่น เพราะมันคือการถ่ายเทความร้อนจากในห้องออกไปไว้ข้างนอก 

โดยระบบการทำงานเรื่องความร้อนเหลือทิ้งของ Dairy Home ก็คือว่า ตัวคอยล์ร้อน* ที่ออกไป แทนที่จะใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน เรานำคอยล์ร้อนไปจุ่มไว้ในถังน้ำใบใหญ่แทน เมื่อคอยล์ผ่านน้ำ สิ่งที่ได้ก็คือ เราจะได้น้ำอุ่นมาแบบฟรี ๆ แต่แอร์ของ Dairy Home ไม่ใช่แอร์บ้าน มันเป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ที่เราใช้เก็บนม เพราะฉะนั้น ก็จะได้น้ำอุ่นวันละเป็น 10 ตัน ซึ่งน้ำอุ่นที่ได้นี้ก็เก็บไว้ใช้อุ่นนม เพราะการเก็บนม ต้องเก็บในที่เย็นเพื่อไม่ให้บูด แต่ในกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ต้องทำให้มันร้อน เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเข้าเครื่องพาสเจอร์ไรซ์ เราจะเอานมออกมาอุ่นด้วยน้ำอุ่น เป็นการเพิ่มอุณหภูมิให้นมโดยที่ไม่ต้องใช้เงิน ทำให้ระบบการพาสเจอร์ไรซ์ของเราประหยัดพลังงานมากกว่าคนอื่น ด้วยระบบต่าง ๆ ข้างต้น Dairy Home จึงน่าจะประหยัดค่าไฟกว่าโรงงานอื่นอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สามารถพูดได้ว่าเราเป็น Green Factory หรือ Eco Factory 

(*คอยล์ร้อน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำให้สารทำความเย็นเปลี่ยนสถานะจากไอเป็นของเหลว โดยการใช้พัดลมดูดอากาศมาระบายความร้อนให้กับสารทำความเย็น โดยคอยล์ร้อนจะทำงานร่วมกับคอมเพรสเซอร์ และจะติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร)

นอกจากนั้นแล้ว ภาชนะบรรจุซึ่งเป็นขวดแก้ว เราก็นำกลับมาใช้ใหม่ ขวดแก้วของเราไม่ใช่ขวด single used (ใช้แล้วทิ้ง) แต่เป็นขวดที่เราเรียกกลับคืนจากลูกค้า เราต้องการให้ลูกค้าส่งคืนขวดให้เรา เพราะทุกขวดมีราคา ถ้าลูกค้าเก็บมาคืน เราก็มีเงินคืนให้ ขวดใหญ่ให้ใบละ 5 บาท ขวดเล็กให้ 1 บาท แต่ก่อนคืน ต้องล้างให้สะอาดก่อน วิธีการล้างก็เหมือนกับการล้างจาน หลังจากนั้น Dairy Home จะล้างอีกครั้งหนึ่งแล้วฆ่าเชื้อใหม่ อายุการใช้งานของขวดแก้วสามารถใช้หมุนวนซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง ก่อนทิ้งก็ถือว่าได้ใช้จนคุ้มแล้ว และวิธีนี้ช่วยลดขยะพลาสติกได้จำนวนมากอีกด้วย

Dairy Home โรงงานต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้มากกว่าโรงงานปกติ นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการจัดการน้ำเสียให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ในวงจรการผลิตนมอินทรีย์ได้ใหม่โดยไม่ปล่อยทิ้งให้เสียเปล่า รวมถึงการหมุนวนใช้ขวดบรรจุนมจนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน เป็นวิธีจัดการขยะซึ่งอยู่บนแนวคิดที่สามารถช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี
Dairy Home โรงงานต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้มากกว่าโรงงานปกติ นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการจัดการน้ำเสียให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ในวงจรการผลิตนมอินทรีย์ได้ใหม่โดยไม่ปล่อยทิ้งให้เสียเปล่า รวมถึงการหมุนวนใช้ขวดบรรจุนมจนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน เป็นวิธีจัดการขยะซึ่งอยู่บนแนวคิดที่สามารถช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี

สุดท้าย คือ เรื่องการบำบัดน้ำเสีย เราเป็นโรงงานที่ไม่มีน้ำเสียทิ้งเลย ทุกวันนี้เมื่อถึงเวลาต้องรายงานว่ามีน้ำทิ้งไหม ไม่รู้จะตอบอะไร เพราะว่าไม่มีน้ำจะทิ้ง (หัวเราะ) เราแยกน้ำเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ น้ำที่ปนเปื้อนนมในปริมาณมาก เราจะแยกไว้ อีกส่วน คือ น้ำที่ปนเปื้อนนมน้อย ๆ ก็คือน้ำทิ้งเหมือนโรงงานใหญ่ ๆ เป็นน้ำที่เราล้างอุปกรณ์ ภาชนะ เครื่องจักร น้ำที่ปนเปื้อนนมไม่มาก เป็นน้ำสีขุ่นขาวจาง ๆ น้ำส่วนนี้เราทำระบบส่งไปสเปรย์แปลงหญ้าเลย หญ้าเขียวชอุ่มมาก เพราะรดด้วยนมสด (หัวเราะ) หญ้าพวกนี้เมื่อโตขึ้นก็สามารถนำกลับมาเลี้ยงวัวได้ใหม่ เพราะไม่มีสารพิษอะไรเลย และอุดมสมบูรณ์มาก 

ส่วนน้ำที่ปนเปื้อนนมในปริมาณมาก เราใช้เลี้ยงสาหร่าย กับ Photosynthesis bacteria (แบคทีเรียสังเคราะห์ด้วยแสง) เมื่อเลี้ยงจนมันเพิ่มปริมาณมากขึ้นก็นำ 2 ตัวนี้ไปเลี้ยงแพลงก์ตอนที่ชื่อว่าอาร์ทีเมีย (ไรทะเล) พออาร์ทีเมียโตเยอะ ๆ ก็เอาอาร์ทีเมียไปเลี้ยงกุ้ง พอกุ้งมันโตเยอะ ๆ ทีนี้เราก็มาเลี้ยงตัวเราเอง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าจากน้ำเสียสามารถแปรรูปไปเป็นนมใหม่ก็ได้ ผ่านกระบวนการทำให้เป็นหญ้า แล้วก็นำหญ้าไปเลี้ยงวัวนั่นเอง 

ส่วนเรื่องขยะยิ่งไม่ต้องพูดถึง ขยะที่นี่เป็นเงินเป็นทอง เพราะเรายกให้พนักงานเป็นคนดูแล เก็บ คัดแยก แล้วก็ขาย ขายแล้วนำรายได้เข้ากองทุนสวัสดิการ ไว้ใช้สอยในเรื่องที่เขาอยากจะทำ นำไปทำบุญบ้าง ทำ CSR บ้าง หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ตามต้องการ


Q: อะไรเป็นความท้าทายของ Dairy Home ที่พบเจอตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจบ้าง 

A: ผมว่าแม้แต่องค์กรที่อยู่มานานก็ประสบปัญหา Dairy Home เองก็ประสบปัญหาอยู่เป็นระยะ ๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราประสบปัญหายอดขายหยุดชะงักบ้าง ผมว่าสินค้าก็เหมือนกันทุกชนิด ถ้าเราหยุดนิ่งไม่ทำอะไรกับเขาเลย คนก็จะลืม ๆ ไป 

ที่ผ่านมาเรารีแบรนด์ 2-3 ครั้ง แต่ปีนี้เรารีแบรนด์ครั้งใหญ่ สังเกตว่าผู้บริโภคของเราอายุค่อนข้างเยอะ เป็นลูกค้าประจำกันมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ยังมีน้อยมาก จึงเห็นควรว่าน่าจะถึงเวลาต้องรีแบรนด์ คือ เป็นการทำให้แบรนด์ดูหนุ่มสาวขึ้น เราโชคดีมากที่ได้สตูดิโอระดับโลกของเดนมาร์ก อยู่ที่พระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อ Jacob Jensen ที่ทำ Design Studio ให้กับแบรนด์ดัง ๆ มาหลายแบรนด์ คิดว่าต่อให้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ก็จำเป็น เพื่อให้แบรนด์ Dairy Home ต้องตาถูกใจคนรุ่นใหม่บ้าง จึงตัดสินใจทำการ Rebranding (การปรับภาพลักษณ์องค์กร) ซึ่งดีมาก เพราะกระบวนการ Rebranding ไม่ใช่แค่เปลี่ยนโลโก้ แต่รีแบรนด์ถึงรากเหง้าขององค์กร คือ ทำให้คนในองค์กรตระหนักว่าคุณค่าของเราคืออะไร เราต้องการส่งมอบคุณค่าอะไรออกไปสู่สังคม ทีมงานที่มาทำการรีแบรนด์ ทำตั้งแต่สำรวจ ไปจนถึงสัมภาษณ์พนักงานเราเกือบทุกคน ที่ร้ายกว่านั้นคือสัมภาษณ์ลูกค้าด้วย และยังสัมภาษณ์คู่ค้า สัมภาษณ์เกษตรกร เรียกว่าสำรวจให้ลึกถึงจิตวิญญาณที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Dairy Home ก็ว่าได้ เมื่อเขาสรุปผลสำรวจออกมา ทำให้ผม รวมถึงพนักงาน เข้าใจแบรนด์ของตัวเองดีขึ้น ผลสะท้อนจากการรีแบรนด์ครั้งนี้ปรากฏผ่านทีมงานที่ดูใหม่ขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น ตอบโจทย์สิ่งที่แบรนด์ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลโก้ใหม่ รูปลักษณ์ใหม่ที่ Jacob Jensen ออกแบบให้ ก็รู้สึกว่าจะโดนใจคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ไม่ได้กระทบยอดขายมากนัก มีแต่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยด้วยซ้ำไป


Q: ในมุมมองคุณพฤฒิ คิดว่าอะไรเป็น Social Impact หรือผลกระทบทางสังคมที่ Dairy Home ทำให้เกิดขึ้นบ้าง 

A: อันดับแรกเลยก็คือ ความเป็นอยู่ของเกษตรกร เกษตรกรของ Dairy Home เลยขีดที่เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลางมาแล้ว คือ ไม่ใช่คนที่มีรายได้ปานกลาง แต่เป็นคนที่มีรายได้สูง ต่อปีเขาจะมีรายได้เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 330,000 บาท) หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เขาจะมีรายได้เดือนละ 30,000 บาทเป็นอย่างน้อย สิ่งนี้เป็นความภูมิใจของเราอย่างหนึ่งว่า เกษตรกรของเราทุกคน ไม่ใช่บางคน มีรายได้เกินจุดนั้นไปแล้ว บางคนที่โชคดีมากกว่าคนอื่น หมายความว่า อาจจะมีพื้นที่มากกว่าคนอื่น รายได้ก็จะมากขึ้นตาม ส่วนคนที่มีฟาร์มเล็ก ๆ อย่างน้อยที่สุดเขาก็สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องอายเพื่อนฝูง สิ่งนี้เป็น Impact แรกที่จะช่วยดึงดูดเกษตรกรรุ่นใหม่ให้หันมาทำโคนมอินทรีย์กันมากขึ้น 

คนไทยควรทำอะไรที่มันมีมูลค่าเพิ่มมาก ๆ สมน้ำสมเนื้อกับคุณค่าของพื้นดินที่มี ให้คนซื้อ ซื้อไปอย่างรู้คุณค่า ต้องสร้างการรับรู้ใหม่ว่าสินค้าในเมืองไทยราคาไม่ได้ถูกเลย แต่จะทำให้ผู้บริโภครับรู้อย่างนั้นได้ก็ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ หนึ่งใน Social Impact ที่ Dairy Home พยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้างเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องโคนมนะครับ ในมุมอื่น ๆ ของประเทศที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็มีเกษตรกรรุ่นใหม่หันมาทำมากขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะผลที่ได้เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เราถึงเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เกษตรทางเลือก แต่เป็นเกษตรทางรอด คือ ถ้าเป็นแค่ทางเลือก อาจจะไม่ต้องเลือกก็ได้ แต่สำหรับผม ผมเชื่อว่าถ้าไม่เลือกทางนี้ ก็จะไม่รอด ถ้าอยากรอด ต้องมาเลือกเกษตรอินทรีย์ 

โดยเฉพาะประเทศไทย เรามีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ ๆ หรือประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า แค่เทียบกับพม่าเราก็มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยกว่าเขาแล้ว เพราะฉะนั้น เราจะไปแข่งกับใครได้ แข่งกับจีนก็ไม่มีทางรอด แข่งกับอเมริกา หรือออสเตรเลียก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้น เราอยู่ในพื้นที่ ๆ ดีมากของโลก เราสามารถปลูกพืชได้ทั้งปี เลี้ยงวัวก็เลี้ยงได้ทั้งปี พื้นที่เราก็ไม่ได้มีเยอะ เพราะฉะนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำในลักษณะอุตสาหกรรม เป็นเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปลูกเยอะ ๆ สินค้าราคาถูก ๆ เราไม่ควรทำ เราควรทำอะไรที่มันมีมูลค่าเพิ่มมาก ๆ สมน้ำสมเนื้อกับมูลค่าที่ดินที่เรามี หรือคุณค่าของพื้นดินที่เรามีอยู่ ให้คนที่ซื้อสินค้าของเรา ซื้อไปอย่างรู้คุณค่า เมื่อสิ่งนั้นเป็นของดี ก็ต้องจ่ายในราคาที่มันสมเหตุสมผล ต้องสร้างการรับรู้ใหม่ว่าสินค้าในเมืองไทยราคาไม่ได้ถูกเลย แต่จะทำให้ผู้บริโภครับรู้อย่างนั้นได้ก็ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ นี่คือผลกระทบทางสังคมที่สำคัญที่ Dairy Home พยายามทำให้เกิด และเกิดขึ้นไปบ้างแล้ว

คนไทยควรทำอะไรที่มันมีมูลค่าเพิ่มมาก ๆ สมน้ำสมเนื้อกับคุณค่าของพื้นดินที่มี ให้คนซื้อ ซื้อไปอย่างรู้คุณค่า ต้องสร้างการรับรู้ใหม่ว่าสินค้าในเมืองไทยราคาไม่ได้ถูกเลย แต่จะทำให้ผู้บริโภครับรู้อย่างนั้นได้ก็ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ หนึ่งใน Social Impact ที่ Dairy Home พยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง

ส่วนอีก 2 เรื่องคือ เรื่องสุขภาพของผู้บริโภค และเรื่องสิ่งแวดล้อม คนที่เลือกบริโภคนม Dairy Home จะได้เรื่องนี้ทันที เพราะได้ดื่มนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ได้วิตามิน โปรตีน และไขมันที่ดีต่อร่างกาย ได้โอเมก้า 3 วิตามินเอ ดี อี สิ่งนี้เป็น Impact ที่เกิดขึ้นทันทีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เราเขียนในรายงานผลกระทบทางสังคมว่า เรามีผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง วันละ 20,000 คน โดยประเมินจากปริมาณนมที่เราผลิต อย่างน้อยคน 20,000 คนก็ได้ทานของพวกนี้ทุกวัน 

ส่วน Impact ด้านสิ่งแวดล้อม คำนวณได้ว่า ต่อปีมีพื้นดินหรือพื้นที่ ที่ร่วมกันทำเกษตรอินทรีย์กับเราสามารถลดปุ๋ยเคมีลงได้หลายพันตัน ลดยาฆ่าแมลงลงได้หลายร้อยลิตร ลดสารเคมีที่ฉีดพ่นลงไปทั้งในตัวสัตว์ ในพื้นดินได้หลายร้อยลิตร สารเคมีพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก่อนจะใช้อย่างมาก เพราะเมื่อฉีดพ่นลงไปแล้ว หรือหว่านลงไปแล้ว มันไม่ได้หายไปไหน จะวนเวียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ สุดท้ายแล้ว ผลกระทบก็จะวนกลับมาหาตัวเราจนได้


Q: ก้าวต่อไปของ Dairy Home จะเป็นอย่างไร 

A: ผมมองว่าทุกวันนี้เรายังไม่ได้มาถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จนะครับ แต่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางอันถูกต้อง คือ เข้ามาถูกทางแล้ว ดังนั้น เมื่อเดินมาตามทางที่ถูกต้องแล้ว ก็ก้าวเดินต่อไปครับ เชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้าง Impact นี้ในแวดวงโคนมได้สัก 5 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะแรงเคลื่อนนี้จะส่งผลต่อเกษตรกรจำนวนมาก ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเกษตรอินทรีย์ และเมื่อถึงวันนั้น เราจะมีน้ำนมอินทรีย์จากหลาย ๆ บริษัท หลาย ๆ ผู้ประกอบการออกมาให้ดื่มอีกมากมายเลย เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เห็นในช่วงเวลาอันใกล้นี้

ก้าวต่อไปของ Dairy Home ตั้งใจจะทำงานวิจัยต่อไป เพราะทุกปีจะมีงานวิจัยที่รอเราทำอยู่ หรือแม้กระทั่งคิดขึ้นใหม่ หรือเจอประเด็นใหม่ ๆ ที่ควรจะทำ เพราะปัจจุบันนี้ เทรนด์อาหารของโลกไม่ใช่แค่กินอิ่มอย่างเดียว ต้องเป็นทั้ง Functional Food (อาหารที่มีประโยชน์) และเป็นทั้ง Medical Food (อาหารที่เป็นยา) ได้ด้วย ซึ่งเราก็เดินมาในแนวทางนี้ อย่างนม Bed Time Milk เรียกว่าเป็น Medical Food ก็ยังได้ หรือเป็น Functional Food ก็ได้ เพราะทานแล้วทำให้เกิดผลบางอย่างที่ดีต่อร่างกาย และผมก็เชื่อว่าในน้ำนมยังมีอะไรบางอย่างรอให้เราทำงานวิจัยได้อีกเยอะเลย เพียงแต่บางประเด็นเรายังไม่ได้วิจัย หรือค้นคว้า และยังไม่เจอเท่านั้นเอง


Q: คุณพฤฒิ มองว่า Dairy Home ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่อยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง แล้วถ้าให้มองถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นอย่างไร

A: จุดที่จะเรียกว่าประสบความสำเร็จของเราก็คือ เกษตรกรไทย จะต้องหันมาทำเกษตรอินทรีย์ครับ ซึ่งจะได้เห็นหรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งมันจะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดความหวังที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ คือ ได้เห็นเกษตรกรไทยเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เกินครึ่ง อะไรที่เกินครึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่แล้ว 

เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ เรายังต้องไปขออนุญาตทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องตลกมาก สมมติว่าผมมีที่อยู่ 5 ไร่ ถ้าผมอยากปลูกกล้วยหอมอินทรีย์ ผมต้องกันแนวพื้นที่ของตัวเองออกไปไม่ให้ติดกับคนอื่น กันเป็นแนว ที่เราเรียกว่าแนวกันชน 5 เมตร 6 เมตร ซึ่งแนว 6 เมตร จากพื้นที่บ้านข้าง ๆ เข้ามาหาเรา เราจะไม่สามารถปลูกพืชที่เรียกว่าเป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อจำหน่ายได้ ในขณะที่คนทำเกษตรเคมี ไม่ต้องขออนุญาต สามารถทำได้เต็มพื้นที่ มันไม่ค่อยยุติธรรมใช่ไหม โดยหลักการแล้วคนที่ใช้สารเคมีต้องมีแนวกันชน เพื่อไม่ให้ยาฆ่าแมลงปลิวมาโดนเรา แต่กลับสลับกัน เพราะอะไร เพราะเรายังเป็นเสียงส่วนน้อย จึงมีความหวังอยู่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เกษตรอินทรีย์มีเกินครึ่ง เราคงจะพูดได้เต็มปากเต็มคำมากกว่านี้ 


Q: ถ้าเกษตรกรไทยหันมาทำเกษตรอินทรีย์สักครึ่งประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากการที่จะมี ecosystem ที่เอื้อต่อการทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น จากกลับหัวกลับหาง ให้มันมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วมีประเด็นอื่นอีกไหม ส่งผลอย่างไร Dairy Home จะไปอยู่ตรงไหนถ้ามีเกษตรกรทำได้ครึ่งประเทศจริง

A: ในทางเกษตรอินทรีย์แล้ว ผมมองว่าประเทศไทยก็จะมีความมั่นคงขึ้น เพราะทุกวันนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุน เกษตรกร เงินจำนวนมาก ไม่ว่าจำนำข้าว รับซื้ออ้อย ชดเชยราคามัน อุดหนุนราคายาง เรียกว่าไม่มีอะไรเลยที่รัฐบาลไม่ต้องชดเชย แต่ถ้าเกษตรกรไทยลุกขึ้นมาทำเกษตรอินทรีย์ได้จริง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้น คือ รัฐบาลไม่เสียงบประมาณอุดหนุนเกษตรกร เพราะว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์มันมีมูลค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว

เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เกษตรทางเลือก แต่เป็นเกษตรทางรอด คือ ถ้าเป็นแค่ทางเลือก อาจจะไม่ต้องเลือกก็ได้ แต่สำหรับผม ผมเชื่อว่าถ้าไม่เลือกทางนี้ ก็จะไม่รอด ถ้าอยากรอด ต้องมาเลือกเกษตรอินทรีย์

สอง คือ เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องง้อรัฐบาล ก็หมายความว่าไม่ต้องง้อใคร เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง คนเราพอมีรายได้พอใช้ ไม่ต้องเป็นหนี้ใคร ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร ไม่ต้องไปกราบกรานใคร จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และไม่ต้องไปตกเป็นเบี้ยล่างของใคร เพราะฉะนั้น แนวคิดก็จะเปลี่ยน ทัศนคติต่อสังคม ต่อการเมือง ก็จะเปลี่ยนตาม จะเปลี่ยนไปในแนวทางไหนผมไม่รู้นะ แต่มันจะดีขึ้นแน่นอน

ร้าน Dairy Home ส่วนหนึ่งของสินค้าออร์แกนิคที่วางจำหน่ายในงานตลาดนัดกรุงศรีฯ ณ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่
ร้าน Dairy Home นำสินค้าออร์แกนิคไปวางจำหน่ายในงานตลาดนัดกรุงศรีฯ ณ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่

สาม คือ ประเทศไทยจะเป็นสวรรค์ของคนชอบทานอาหารทั่วโลก เพราะอาหารไทยเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วโลกว่าอร่อย แต่เสียอย่างเดียว ทานแล้วไม่ค่อยปลอดภัย แล้วถ้าอาหารไทยเป็นออร์แกนิคได้ครึ่งหนึ่ง พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราไปเดินตลาดนัด Street Food มีครึ่งหนึ่งเป็นออร์แกนิค คิดว่าประเทศไทยจะเท่ขนาดไหน ประเทศ เกษตรกร สุขภาพ จะดีขึ้นแน่นอน เพราะว่าคนจะมีน้ำสะอาด จะมีผักที่ปลอดสารเคมี มีข้าวสะอาดปลอดภัย มีนมที่สะอาดดื่ม มีไข่ที่คุณภาพดีทาน แม้กระทั่งมีปลาในห้วยหนองที่ปลอดภัยกิน ถ้าระบบนิเวศกลับมาดีอย่างนี้แล้ว ผู้คนก็จะมีความสุขมากขึ้น ถามว่าพอถึงจุดนั้นแล้ว Dairy Home จะอยู่ตรงไหน ผมว่ามันไม่สำคัญแล้วถ้าถึงจุดนั้นจริง ๆ เพราะถ้าสังคมดีขึ้นแล้ว เราก็คงหาที่อยู่ของเราได้


Q: อะไรเป็นความสุขในการทำงานหนักของคุณพฤฒิ อะไรที่ทำให้รู้สึกมีความสุข มีพลัง อยากตื่นมาทำงานทุกวัน

A: ผมทำงานเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือเป็นภารกิจของชีวิตที่ต้องทำ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำมันมีประโยชน์ มันจะส่งผลอะไรบางอย่างในทางที่ดี ทำให้ยังมีแรงลุกขึ้นมาทำงานทุกวัน

จริง ๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากครับ เชื่อว่าถ้าอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว ก็แค่เดินต่อไปเรื่อย ๆ ผมชอบใช้คำว่า ชีวิตเรายังมีเวลาอีกเยอะแยะ หลายคนอาจจะบอกว่า ชีวิตมันสั้นนะ จริง ๆ แล้วมันไม่สั้นหรอกครับ มันมีเวลาอีกตั้งหลายวัน อย่าเพิ่งหมดหวัง มนุษย์เราอยู่ด้วยความหวัง ถ้าหมดหวังก็ไม่สามารถทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้เลย

“ทำงานเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือเป็นภารกิจของชีวิตที่ต้องทำ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำมันมีประโยชน์ มันจะส่งผลอะไรบางอย่างในทางที่ดี” แนวคิดและความสุขในการทำงานของคุณพฤฒิ
“ทำงานเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือเป็นภารกิจของชีวิตที่ต้องทำ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำมันมีประโยชน์ มันจะส่งผลอะไรบางอย่างในทางที่ดี” แนวคิดและความสุขในการทำงานของคุณพฤฒิ

เรื่องสิ่งแวดล้อม มีนักวิชาการบางท่าน นักวิทยาศาสตร์บางคนในโลกตะวันตก พูดไว้เมื่อหลายปีมาแล้วว่าจริง ๆ โลกเรามันเลยจุดที่เรียกว่า Point of no return (จุดที่หันหลังกลับไม่ได้) มาแล้ว หมายความว่าตอนนี้มัน Downturn แล้ว มันกำลังลงเหวแล้ว กำลังวิ่งลงเขาแล้ว ถามว่าจริงไหม ถ้าเราเชื่อว่าจริง ก็ไม่เป็นอันต้องทำอะไร หรือเชื่อว่าจริง แล้วไม่ทำอะไร งอมืองอเท้าก็จบเหมือนกัน แต่ก็ยังมีงานวิจัยของหลาย ๆ คนเหมือนกันที่บอกว่า เรายังมีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่

ผมเพิ่งอ่านงานวิจัยหนึ่งมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาบอกว่า วิธีการที่เร็วที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงโลกหรือการจะจำกัดปริมาณ คาร์บอนที่มันกำลังทะลุทะลวงโลก ก็คือปลูกต้นไม้ หรือแค่ปลูกหญ้าก็สามารถจำกัดได้แล้ว ความรู้สึกผมตอนแรกคิดว่ามันดูยากมากที่จะทำ แต่มีคนบอกว่ามันสามารถทำได้ เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งหลาย ถ้าถูกสร้างให้เป็นทุ่งหญ้าก็น่าจะดี 

ต้นหญ้าแต่ละต้นมันเก็บกักคาร์บอนในโครงสร้างของมัน ถ้ามันโตขึ้นมาแล้วถูกกินโดยสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว แพะ แกะ มันก็เป็นประโยชน์กลายเป็นเนื้อให้เรากินต่อ แต่พอมันถูกขับถ่ายออกมาเป็นมูลสัตว์ มูลของมันยังคงเป็นคาร์บอนที่อยู่ในโครงสร้าง แล้วเมื่อกระจายลงไปบนดิน เท่ากับคาร์บอนมันถูกจำกัดไว้แล้ว อันนี้คือหนึ่งส่วนที่อยู่เหนือดินเท่านั้น แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งเรามองไม่เห็น คือรากและลำต้น หรือโคนของมัน ที่ไม่ถูกกินไปด้วย สิ่งนี้คือ คาร์บอนซิงค์ที่ใหญ่มาก คือเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน เพราะในโครงสร้างของพืช ประกอบไปด้วยคาร์บอนเป็นหลัก ในตัวเราก็เหมือนกัน แต่ถ้าอยู่ในตัวเรามากเกินไปมันไม่ค่อยดี มันเปลือง มีมนุษย์มากเกินไปมันเปลือง (หัวเราะ) แต่ถ้าอยู่ในต้นไม้มันจะกักเก็บคาร์บอนแน่ ๆ ยิ่งมีต้นไม้ มีต้นหญ้าจำนวนมาก ๆ ยิ่งดี ฉะนั้น ถ้าคิดไม่ออกว่าจะปลูกอะไรก็ให้ปลูกหญ้า ปลูกหญ้าแล้วก็ตัด ๆ ให้มันลงมาเป็นหน้าดิน สุดท้ายแล้วมันจะเป็นการกักเก็บคาร์บอนไว้ยังพื้นดินบนโลก ถ้าไม่ได้เป็นป่า ก็ปลูกเป็นทุ่งหญ้าขึ้นมา นักวิจัยบอกว่าไม่เกิน 50 ปี ระดับคาร์บอนจะลดลงไปสู่ยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถดึงระดับคาร์บอนในอากาศ กลับไปสู่ยุคก่อนอุตสาหกรรมได้ ก็แปลว่าเรายังมีหวัง อันนี้ขอฝากไว้สำหรับคนที่หมดหวัง


Q: อยากฝากอะไรถึงคนที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม คนรุ่นใหม่ หรือว่าคนทั่วไป อยากให้เขา Take action อะไร

A: แต่ละคนต้องมานั่งคำนึงถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ส่วนตัวกันนะครับว่า ทุกวันที่เราใช้ชีวิต เราคายคาร์บอนออกมาในรูปแบบของการใช้พลาสติก การใช้เสื้อผ้า กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เราเคยชินกันมากมายแค่ไหน เพราะปัจจุบันนี้โภคทรัพย์ หรือสินค้าที่เราซื้อได้ มันมีราคาไม่แพง ทำให้เราซื้อได้บ่อย การที่เราซื้อของบ่อย แปลว่าการผลิตก็จะมากขึ้น บ่อยขึ้น แทนที่เราจะซื้อบ่อย ๆ เปลี่ยนมาซื้อสินค้าคุณภาพดี ๆ ได้ไหม เช่น กางเกงหนึ่งตัวใช้สัก 10 ปีได้ไหม น่าจะดีกว่าซื้อกางเกงราคาถูก ใช้ 2 เดือนแล้วโยนทิ้ง เพราะตัวขยะยังไม่น่าห่วงเท่ากับกระบวนการที่ต้องผลิตมันขึ้นมา นี่คือในแง่ของบุคคลที่ต้องการฝาก

ในแง่ของอุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือกิจการต่าง ๆ ผู้ประกอบการน่าจะต้องกลับมาคิดแล้วว่า กิจกรรมการผลิตของตัวเองมันมี Impact ต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ไม่ต้องรอไปดาวอังคารนะครับ เพราะมันไม่ทัน อยู่บนโลกนี้ให้รอดก่อนดีกว่า ทำโลกของเราให้มันน่าอยู่ สร้างผลกระทบในทางบวก ซึ่งแนวทางการสร้างผลกระทบในทางบวก ปัจจุบันก็มีวิธีคิดแล้ว มีแหล่งให้ศึกษาได้เยอะแยะมากมาย สามารถคำนวณออกมาเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก็ได้  

และปัจจุบันนี้มีศัพท์ใหม่ที่อยากให้ทุกคนสนใจก็คือ เรื่องการเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ถ้าทุกธุรกิจสามารถทำตัวเองเป็น Carbon Neutral ได้ นั่นเท่ากับว่าเราสามารถจรรโลงโลกใบนี้ไปได้อีกนาน หรือจรรโลงระบบนิเวศที่คอยหนุน ชีวิตเราไปได้อีกนานทีเดียว เพราะหลังจากที่มนุษย์สูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากเราทำตัวเอง โลกของเราจะยังอยู่นะครับ เพียงแต่ผู้อยู่อาศัยรุ่นต่อไปอาจจะไม่ใช่มนุษย์ เพราะเราทำตัวเองให้สูญพันธุ์ด้วยความโง่ของเรา (หัวเราะ) 


เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ เอียดปุ่ม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์