เดอ คัวร์ ธุรกิจเพื่อสังคมที่นำทุนทางวัฒนธรรมมาเปลี่ยนเป็นสินค้าร่วมสมัย กระจายรายได้สู่ชุมชนชาติพันธุ์ให้ออกจากความยากจน | SE STORIES ตอนที่ 9

“เมื่อเจ้าของชุมชนได้อยู่ในชุมชนตัวเองแล้ว คน ๆ นั้นแหละที่จะช่วยกันรักษาทรัพยากรของชุมชนได้ดีที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมได้” คำตอบของคำถามที่คุณยุจเรศ สมนา หรือ คุณซิลเวอร์ Founder บริษัท เดอ คัวร์ จำกัด ได้จากการลองผิดลองถูก ในเส้นทางของการค้นหาคำตอบให้ตัวเองและคนรอบข้างออกจากความยากจน กระทั่งพบว่าคำตอบนั้นอยู่ใกล้ตัว นั่นคือ อาชีพหัตถกรรม อาชีพทางเลือกที่เป็นวิถีชีวิตของตัวเอง มันจะสร้างประโยชน์ได้แน่นอน หากเห็นคุณค่าและรู้จักใช้ประโยชน์ความเป็นคนรุ่นใหม่มาพัฒนาต่อยอด เพราะคนที่จะรักษาวิถีชีวิตให้คงอยู่และอยู่รอด ก็คือคนที่เป็นเจ้าของวิถีชีวิตนั้นเอง


Q: แนะนำ De Quarr ให้ผู้อ่านรู้จักสักหน่อย

A: บริษัท เดอ คัวร์ จำกัด หรือ De Quarr เป็นกิจการเพื่อสังคมเกี่ยวกับงานหัตถกรรม เริ่มต้นมาจากปัญหาที่ว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจงานหัตถกรรม มองว่ามันล้าสมัยสำหรับยุคนี้ ประเทศไทยเรามีวัตถุดิบค่อนข้างพร้อม แต่สิ่งนี้กลับไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ เพราะอาจจะเห็นว่างานหัตถกรรมต้องเป็นผ้าถุง ผ้าไหม ที่ใช้สวมใส่เฉพาะกิจ แต่ลืมนึกถึงไลฟ์สไตล์ หรือสินค้าที่เหมาะกับยุคปัจจุบัน อย่างกระเป๋า ของใช้ต่าง ๆ จึงอยากกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มองงานหัตถกรรมในแง่มุมอื่น ๆ บ้าง ว่ามันสามารถผลิตสิ่งที่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันได้อีกมากมาย และต้องการให้คนในชุมชนภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี และส่งต่อคุณค่านี้ให้แก่คนภายนอก ด้วยสองมือของเขาเอง

คุณยุจเรศ สมนา หรือ คุณซิลเวอร์ - Founder บริษัท เดอ คัวร์ จำกัด
คุณยุจเรศ สมนา หรือ คุณซิลเวอร์ – Founder บริษัท เดอ คัวร์ จำกัด

Q: ชื่อ “De Quarr (เดอ คัวร์)” มีที่มาอย่างไร 

A: “เดอ คัวร์” อาจจะฟังคล้าย ๆ ภาษาฝรั่งเศส แต่จริง ๆ แล้วเป็นภาษาเชียงใหม่ “คัว” แปลว่า ของ ก็คือ สินค้า 


Q: ประเด็นปัญหาสังคมอะไรที่มองเห็น และตัดสินใจเลือกแก้ปัญหานั้น

A: เริ่มแรกเกิดจากปัญหาความยากจน เพราะเราเกิดมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างจะยากจน และทำให้รู้สึกไม่ชอบความยากจน ตอนเด็กก็ไม่มีของเล่นอย่างเด็กคนอื่น หลังเลิกเรียนก็ต้องกลับมาช่วยแม่เย็บผ้า และคิดเสมอว่าสาเหตุที่แม่จนเพราะแม่มีอาชีพเย็บผ้า นี่คือสิ่งที่ทำให้กลับมาคิดว่า ทำไมสินค้าที่เราผลิต มีราคาไม่สมเหตุสมผลกับค่าแรง จะเป็นไปได้ไหมถ้าอาชีพนี้ทำให้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

จึงเลือกเรียนศิลปะในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เหตุผลเพราะคิดว่าการเรียนศิลปะมันทำให้เราดูดี ดูมีรสนิยม ไม่เหมือนเด็กบ้านนอก เรียนจบแล้วก็หางานทำที่กรุงเทพฯ เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ เพราะดูเหมือนจะทำให้ออกห่างจากคำว่า “จน” ได้ เมื่อนั่งคิดทบทวนก็พบว่าสุดท้ายแล้วสิ่งนี้ไม่ใช่คำตอบ ตัวเองได้ดีอยู่คนเดียว แต่พ่อแม่ก็ยังจนเหมือนเดิม เราไม่ได้มีเงินมากมายที่จะส่งเสียดูแลพ่อแม่และคนรอบข้างได้เลย จึงกลับไปตั้งหลัก แล้วเปิดร้านขายเบียร์ที่เชียงใหม่ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพื่อนที่ทำงานอยู่เชียงราย พี่ไผ สมศักดิ์ บุญคำ จึงมาขอเช่าร้านต่อ เกิดเป็น Local Alike จากนั้นจึงได้มีโอกาสคุยกับพี่ไผ ว่าเราน่าจะมีศักยภาพมากพอที่จะทำงานร่วมกันได้ จึงกลายมาเป็น De Quarr ในปัจจุบัน

จากที่คิดแค่ว่าอยากพ้นจากความยากจนอย่างเดียว ทำให้ต้องคิดต่อ ว่าจะทำอย่างไรให้คนทำงานหัตถกรรมมีรายได้ที่เป็นธรรม และสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สืบต่องานด้านนี้ได้ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้อยากแก้อีกสองปัญหาที่ว่ามา และผลจากการช่วยพ่อแม่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก ได้กลายมาเป็นความสามารถด้านงานหัตถกรรม ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าทักษะนี้ในอดีต จะกลายมาเป็นต้นทุนชีวิตของเราในวันนี้ 


Q: อะไรเป็นจุดเปลี่ยน หรือแรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาทำธุรกิจเพื่อสังคม

A: จุดเปลี่ยนเริ่มตั้งแต่ตอนเปิดร้านขายเบียร์ที่เชียงใหม่ สถานที่ตั้งของร้านถือเป็นทำเลทองของเมืองเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาไม่ขาดสาย จึงมีทักษะภาษาอังกฤษเป็นผลพลอยได้มาตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มเข้าใจว่าฝรั่งหรือชาวต่างชาติเขามาทำอะไร และสนใจอะไรที่บ้านเรา พบว่าสิ่งที่เขาสนใจ คือ สินค้า และวัฒนธรรมของชาวเขา ชาวต่างชาติตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้มาก ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ใกล้ตัวเรา เป็นชีวิตเรา แต่เรากลับไม่เคยสนใจและไม่เคยมองเห็นความสำคัญเลย และที่สำคัญ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวเขา มักเลือกทำเลขายของอยู่ที่หน้าร้านขายเบียร์ของเรา จึงได้ไอเดียว่า เราน่าจะสามารถต่อยอดอะไรบางอย่างกับกลุ่มชาวเขาได้ โดยการเป็นช่องทางให้ชาวบ้านได้ขายสินค้าที่มีเอกลักษณ์อยู่แล้ว แต่สินค้าต้องมีคุณภาพ และผ่านการออกแบบถึงจะขายได้ และมีผลตอบรับที่ดี 

หลังจากนั้น ได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ และสร้างหน้าร้านขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้า ช่วงที่เปิดใหม่ ๆ เศรษฐกิจกำลังไปได้ดี เสียงตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดีมาก นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศให้ความสนใจ เมื่อเห็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเป็นอัตลักษณ์ ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ด้วยความที่กลุ่มชาวเขาในเชียงใหม่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงจุดประกายเราว่า ความหลากหลายแตกต่างนี้เอง ที่เป็นจุดเด่นเรื่องเอกลักษณ์และดึงดูดใจคนได้ และการท่องเที่ยวคงเป็นช่องทางและเครื่องมือที่ดี ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับภูมิปัญญา และคุณค่าของงานหัตถกรรม เพื่อนำมาซึ่งรายได้ให้คนในชุมชนออกจากความยากจนอย่างที่เคยฝันไว้

ผลจากการช่วยพ่อแม่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก ได้กลายมาเป็นความสามารถด้านงานหัตถกรรม ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าทักษะนี้ในอดีต จะกลายมาเป็นต้นทุนชีวิตของเราในวันนี้


Q: ใช้โมเดลธุรกิจแบบไหน และอยากให้ช่วยเล่ากระบวนการทำงานระหว่างกลุ่มชาวเขาผู้ผลิตสินค้ากับร้านค้า ว่าทำงานร่วมกันอย่างไร

A: ก่อนสถานการณ์โควิด เรากระจายรายได้ให้กับกลุ่มชาวเขา 2 รูปแบบ ได้แก่ 

แบบแรก ตั้งโจทย์ว่า เราจะเป็นคนออกแบบสินค้า สั่งผลิต และคัดคุณภาพเอง แล้วให้ชุมชนนำกลับมาที่เรา เพื่อรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากสินค้าที่วางขายอยู่ทั่วไปตามตลาดในเมืองเชียงใหม่ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และเล่าเรื่องราวจากต้นทุนวัฒนธรรมล้านนา วิถีชีวิตของชาวบ้านผ่านตัวสินค้า เพราะชาวต่างชาติค่อนข้างให้ความสำคัญ 

โดยให้เป็นค่าแรง ค่าอุปกรณ์ และค่าทักษะ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่เราตกลงกันแล้ว ส่วนจะจ้างแบบรายวันหรือรายเดือน ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เรานำอุปกรณ์ทุกอย่างไปให้เขา หักค่าบริหารจัดการ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็ให้ชุมชนได้เต็มที่ตามที่ขอ เช่น สินค้าราคา 100 บาท เราได้ 30 บาท ชาวบ้านได้ 70 บาท ส่วนต้นทุนที่เราลงทุนให้ก็ประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ที่เขาจะได้ เช่น ครึ่งหนึ่งของ 70 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 35 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นค่าแรงของเขาทั้งหมด  

แบบที่สอง ชุมชนมีสินค้าที่เขาออกแบบเอง ผลิตเองอยู่แล้ว เราทำหน้าที่เลือกมาวางขายที่หน้าร้าน แบบนี้ชุมชนก็จะได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม


Q: กลุ่มชาวเขาชาติพันธุ์ที่เป็นเครือข่ายของ De Quarr มีชนเผ่าใดบ้าง 

A: มีทั้งหมด 90 ชุมชน ส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ทางภาคเหนือ เพราะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุด เช่น ชาวอาข่า ชาวกะเหรี่ยง ชาวญวน ชาวยอง หรือชาวเมืองยอง ชาวไทเขิน หรือไทขึน เป็นต้น และแบ่งคนที่ทำงานด้วยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ คนที่อยู่ต้นน้ำของทรัพยากร ทำหน้าที่ผลิต หรือทอผ้า เย็บผ้า อย่างเดียว

กลุ่มที่สอง คือ คนที่สามารถออกแบบแปรรูปได้ ไม่สามารถทอผ้า เย็บผ้าได้

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด เช่น เราไปงานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่งานแฟร์ต่าง ๆ ก็จะพบกลุ่มที่เป็นแม่ค้า กลุ่มนี้ขายเก่ง ติดต่อเก่ง ทำธุรกิจได้ แต่ไม่ได้ผลิตหรือออกแบบเอง มีความสามารถในการขายอย่างเดียว 

เมื่อเจ้าของชุมชนได้อยู่ในชุมชนตัวเองแล้ว คน ๆ นั้นแหละที่จะช่วยกันรักษาทรัพยากรของชุมชนได้ดีที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมได้


Q: แล้วทำงานกับกลุ่มใดมากที่สุด

A: เรามองว่ากลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในตัวเองมากพอแล้ว สามารถเอาตัวรอดได้ รวมไปถึงกลุ่มที่สอง ที่ออกแบบแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งบางครั้งผ้าที่นำมาแปรรูปไม่ได้เป็นผ้าทอมือ แต่เป็นผ้าม้วนที่ซื้อจากโรงงาน ส่วนกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เป็นเจ้าของทรัพยากร แต่กลับได้ค่าแรงต่ำที่สุด และแทบไม่มีโอกาสพบปะผู้คนภายนอกเลย ซึ่งหมายถึงไม่มีโอกาสที่จะบอกเล่าวิถีชีวิตของตัวเองผ่านสินค้าด้วยเช่นกัน เราจึงเลือกทำงานกับกลุ่มแรก ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์กระจายอยู่ทั่วไปตามหุบเขา ตามดอยต่าง ๆ ในภาคเหนือ ส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์อยู่ทางภาคกลาง แต่ส่วนที่อยู่ทางภาคกลางมีจุดเด่นเรื่องอาหารและแพ็กเกจ จึงได้บริษัท Find Folk, Find Food และ Local Alike มาเป็นพาร์ทเนอร์ในการช่วยจำหน่ายสินค้าชุมชนด้วย โดยมี De Quarr เป็นผู้ผลิตและออกแบบให้ 

มองว่าถ้ากลุ่มแรกทำได้ดี สินค้าคุณภาพดี ก็ส่งผลให้กลุ่มที่สองกลับมาสนับสนุนกลุ่มแรกด้วย รายได้ของกลุ่มแรกก็จะดีตาม และอาจเป็นวิธีดึงดูดให้ลูกหลานในชุมชนหันมาสนใจก็เป็นได้ เพราะเห็นคุณค่าและรายได้ที่สามารถเลี้ยงปากท้องได้ด้วย

กลุ่มที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ทำหน้าที่ผลิตผ้าทอ ถ้ากลุ่มแรกทำได้ดี ก็ส่งผลให้กลุ่มที่สองกลับมาสนับสนุนกลุ่มแรกด้วย รายได้ก็จะดีตาม
กลุ่มที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ทำหน้าที่ผลิตผ้าทอ ถ้ากลุ่มแรกทำได้ดี ก็ส่งผลให้กลุ่มที่สองกลับมาสนับสนุนกลุ่มแรกด้วย รายได้ก็จะดีตาม

Q: มีวิธีสื่อสาร และทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร ให้เขาสนใจมาร่วมด้วยกับเรา

A: อย่างแรกที่สื่อสารทันที คือ เรื่องค่าแรง ต้องชัดเจนตั้งแต่แรก เพราะหากทำแล้วไม่มีรายได้ เขาก็อยู่ไม่ได้ ไม่รู้จะทำให้เราไปเพื่ออะไร สิ่งที่เขาต้องการชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่เราขึ้นไปคุย ก็คือเรื่องรายได้ ว่าเราจะรับซื้อราคาเท่าไหร่ แล้วการันตีไหมว่าเราจะซื้อแน่นอน เพราะเคยมีบทเรียนว่าคนในเมืองสั่งแล้วไม่ไปรับซื้อ อ้างว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจริง ๆ แล้วกรณีนี้มองว่าต้องรับผิดชอบกันคนละครึ่งทาง มองว่าแรงดึงดูดที่อยากให้คนภายนอกรู้จักก็ส่วนหนึ่ง แต่ชาวเขาชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เป็นกลุ่มที่อพยพลงมาจากดอยแล้วไปทำงานในเมืองใหญ่มากที่สุด ทั้งก่อสร้าง หาบเร่ แผงลอย ถึงแม้บนนั้นจะมีอาหารการกินครบถ้วน แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับการรักษาพยาบาล และการศึกษาของลูกหลาน 

อย่างที่สอง เราไม่ได้คิดแค่ว่า ขึ้นไปบอกให้เขาผลิต เราจะไปรับซื้อ แล้วก็จบ แต่ต้องการพัฒนาแบบระยะยาว ต้องการพัฒนาไปให้ถึงจุดที่เด็กรุ่นใหม่กลับมาสานต่อภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่ ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น นี่คือเป้าหมายและประโยชน์ทางอ้อมที่เราสื่อสารกับชาวบ้าน


Q: กลุ่มที่ไปทำงานด้วยส่วนใหญ่เป็นในช่วงวัยใด และกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความสนใจสืบสานงานหัตถกรรมมากน้อยแค่ไหน มีวิธีการอย่างไรต่อไปที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาสืบสาน

A: ผู้ผลิตเราเป็นวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 50 จนถึง 80 ปี (หัวเราะ) คนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีมีน้อยมาก และส่วนใหญ่จะอยู่ที่อำเภออมก๋อย เพราะเขาไม่ได้ออกไปทำงานที่อื่น ส่วนใหญ่จะทำงานในหมู่บ้าน ก็สามารถที่จะสืบสานงานจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้ 

สิ่งที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจ คิดว่าเป็นค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่น ปกติผ้าทอหนึ่งเมตรราคา 50-60 บาท แต่เราจะรับซื้อราคามาตรฐานเท่ากับในเมือง โดยให้ราคา 200 บาท ชาวบ้านบางคนไม่เชื่อว่าจะมีคนใช้สินค้าที่มาจากฝีมือของเขาจริง ๆ เพราะคิดว่าผ้าที่ตัวเองสวมใส่อาจจะเชย ลูกค้าคงไม่ได้ใส่แบบเขา พอเราเอารูปให้ดูและอ่านคอมเมนต์ให้ฟัง เขาจะรู้สึกภูมิใจและพร้อมที่จะบอกกับลูกหลานว่า สิ่งนี้เป็นอาชีพที่พ่อแม่ภูมิใจ เรามองว่าเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะโน้มน้าว แต่เมื่อมีเรื่องความรู้สึกเข้ามาร่วมด้วย คิดว่าความสนใจ ความอยากทำ มันยิ่งทวีคูณ 

สินค้าที่ผลิตจากผ้าทอฝีมือของชาวบ้าน ความภูมิใจที่สามารถบอกต่อกับลูกหลานถึงคุณค่าของอาชีพหัตถกรรมได้
สินค้าที่ผลิตจากผ้าทอฝีมือของชาวบ้าน ความภูมิใจที่สามารถบอกต่อกับลูกหลานถึงคุณค่าของอาชีพหัตถกรรมได้

ปัจจุบัน บางโรงเรียนมีชั่วโมงที่ให้เด็กผู้หญิงไปเรียนทอผ้า ส่วนผู้ชายไปทำยางรัก (จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับยางรักในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์) ถือว่าเป็นอีกขั้นของความภูมิใจที่ช่วยทำให้เกิด Impact (ผลกระทบทางบวกต่อสังคม) ขึ้น มันไม่ได้เกิดแค่ 1-2 ครอบครัว แต่มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งหมู่บ้านต่อไป อย่างน้อยก็ช่วยปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดของเด็กว่า สิ่งนี้สามารถสร้างรายได้และเป็นอาชีพในอนาคตได้ต่อไป


Q: ระยะเวลาในการผลิตสินค้า อาจจะไม่ทันตามที่ลูกค้าต้องการ De Quarr เคยประสบปัญหานี้ไหม มีวิธีการจัดการอย่างไร

A: เจอตลอดค่ะ แต่ไม่ได้ถือเป็นปัญหาหลัก มันอยู่ที่วิธีการจัดการของเรา เช่น มีออร์เดอร์เดือนหน้า เดือนนี้ก็ต้องจัดการให้จบ ต้องบอกล่วงหน้าผู้ผลิตอย่างน้อย 1 เดือน หรือใช้วิธีจ่ายเงินมัดจำไปก่อน ถ้าไม่กำหนดระยะเวลาให้เขา และไม่สร้างความมั่นใจว่าต้องการสินค้าจริงหรือไม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ส่งงานให้ลูกค้าไม่มีทางทันเลย การบริหารงานของส่วนกลาง หรือที่ De Quarr เป็นอยู่ทุกวันนี้จึงสำคัญมาก ถ้าเราบริหารจัดการดี รวมถึงการควบคุมคุณภาพ โอกาสที่ชาวบ้านจะส่งงานได้ทันตามกำหนดเวลาก็มีมากขึ้นด้วย 

เขาจะรู้สึกภูมิใจและพร้อมที่จะบอกกับลูกหลานว่า สิ่งนี้เป็นอาชีพที่พ่อแม่ภูมิใจ เรามองว่าเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะโน้มน้าว แต่เมื่อมีเรื่องความรู้สึกเข้ามาร่วมด้วย คิดว่าความสนใจ ความอยากทำ มันยิ่งทวีคูณ 


Q: มีแนวทางพัฒนารูปแบบของสินค้าอย่างไร แล้วรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าแบบไหนเป็นที่นิยมหรือไม่เป็นที่นิยม

A: เรารับความคิดเห็นจากลูกค้าที่หน้าร้านเป็นส่วนใหญ่ ว่าใครต้องการสินค้าแบบไหน ชอบลักษณะแบบไหน แล้วนำสิ่งที่ลูกค้าบอกมาพัฒนาต่อ เรามีหน้าร้านอยู่ที่ประตูท่าแพฝั่งใน ในเชียงใหม่ อยู่ที่นี่มาประมาณ 10 ปี ตั้งแต่เป็นร้านเบียร์ จนกระทั่งเป็น Local Alike และมาเป็น De Quarr ในปัจจุบัน

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด เราไม่มีลูกค้าหน้าร้านเลย ขายเฉพาะแบบ B2B และ B2C ออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการวัดใจมากทีเดียว เพราะไม่มีโอกาสรู้เลยว่าใครเป็นลูกค้าเรา แล้วเขาชอบสินค้าแบบไหน และมากกว่าการไม่ได้พูดคุยกัน คือ เราไม่เห็นสีหน้าท่าทาง แววตา ของแต่ละคนผ่านการขายแบบออนไลน์ นั่นทำให้การพัฒนารูปแบบสินค้ายากขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งท้าทายเรามากพอสมควร    

ตอนมีหน้าร้าน เราแทบไม่รู้จักลูกค้าแบบ B2B เลย แต่ยังดีที่เราได้ Local Alike และ Find Folk มาช่วย ช่วยตั้งแต่ทำหน้ากากอนามัย กระเป๋า แพ็กเกจผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้เรารู้เลยว่าการทำ B2B ต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก ต้องเล่าเรื่องราวของสินค้าให้ลูกค้าเห็นภาพ ในขณะที่แบบ B2C จำนวนอาจจะไม่มาก แต่ต้นทุนก็ไม่ได้สูงจนเกินไป ซึ่งในที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องปรับตลาดไปตามแต่ละสภาวะของปัจจุบันเพื่อความอยู่รอด

ในช่วงที่เกิดโควิดใหม่ ๆ เราได้ลูกค้าใหม่เป็นแบบ B2G หรือรัฐบาลด้วย เมื่อเขาเห็นศักยภาพจากการที่เราเคยลงพื้นที่ชุมชน ก็ยินดีพัฒนางานร่วมกัน โดยให้เราลงพื้นที่พัฒนาหรือช่วยชุมชนตามศักยภาพที่ชุมชนมี ซึ่งมองว่าค่อนข้างดีมากทีเดียว เพราะผลดีทั้งหมดก็จะเกิดกับชุมชนจริง ๆ


Q: ลูกค้าเคยเกิดความสงสัยในตัวสินค้าไหมว่ามาจากไหน เป็นงานฝีมือของชาวบ้านจริงหรือเปล่า ผลิตจากโรงงานไหม แล้วรับมือกับคำถามเหล่านี้อย่างไรบ้าง

A: สำหรับลูกค้า B2C ส่วนใหญ่ไม่เจอคำถามเหล่านี้เลย ถ้าสนใจก็จะสั่งซื้อ และอยากลงไปเรียนรู้วิถีงานหัตถกรรมร่วมกับเราด้วย เช่น เคยมีลูกค้าชาวฝรั่งเศสรายหนึ่งซื้อสินค้าไปค่อนข้างเยอะ และอยากจะไปเรียนรู้วิธีการทอผ้า เราจึงพาไปที่ชุมชนกะเหรี่ยงชุมชนหนึ่ง ที่จังหวัดลำพูน จึงได้ไอเดียว่า ในอนาคตอาจจะเปิดเวิร์กชอปเป็นชื่อ “Class de Quarr” ให้ผู้ที่สนใจได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิถีงานหัตถกรรมของไทยได้

เราไม่ได้คิดแค่ว่า ขึ้นไปบอกให้เขาผลิต เราจะไปรับซื้อ แล้วก็จบ แต่ต้องการพัฒนาแบบระยะยาว ต้องการพัฒนาไปให้ถึงจุดที่เด็กรุ่นใหม่กลับมาสานต่อภูมิปัญญาของรุ่นพ่อแม่ ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น นี่คือเป้าหมายและประโยชน์ทางอ้อมที่เราสื่อสารกับชาวบ้าน


Q: จากประสบการณ์ การที่นักท่องเที่ยวจะตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง เขามีหลักการคิดอย่างไร แล้ว De Quarr หยิบมาใช้พัฒนารูปแบบสินค้าในครั้งต่อไปด้วยไหม

A: ชาวต่างชาติมักมีตาพิเศษในการเลือกซื้อของ ซึ่งแตกต่างจากคนไทยนิดหน่อย (หัวเราะ) เขามองว่าสิ่งที่ทำด้วยมือมันจะมีจุดที่ไม่เท่ากัน เช่น เส้นด้ายบางเส้นอาจจะนูน ส่วนบางเส้นบาง และมองว่ามันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สินค้าดูเป็น Craft โดดเด่น แตกต่าง หรือชอบเฉดสีที่ละมุน ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นผ้าแบบแบน ๆ เส้นด้ายทุกเส้นเท่ากันหมด เขาก็จะคิดว่านั่นคือของที่ผลิตจากโรงงาน และไม่น่าสนใจ นี่คือมุมมองของชาวต่างชาติ และส่วนใหญ่จะคอมเมนต์เรื่อง Function มากกว่า Emotion เช่น กระเป๋าไซซ์นี้ใส่ iPad ไม่ได้นะ เราก็จะนำไปปรับเรื่องขนาดให้ใช้งานได้ หรือ กระเป๋าใส่คอมฯ ไม่ควรมีซิปด้านใน เพราะจะขีดข่วนอุปกรณ์เกิดความเสียหายได้ เป็นต้น


Q: คำว่า “La Bouy Collection (ลาโบย คอลเลกชัน)” คืออะไร มีความหมายกับทีมงาน De Quarr อย่างไร แล้วคอลเลกชันนี้มีสินค้าอะไรบ้าง 

A: ลาโบย เป็นชื่อคุณแม่ชาวกะเหรี่ยงโป แห่งอมก๋อย เราไปค้นพบชุมชนนี้ได้ เพราะลูกค้าจาก B2G ส่งให้เราไปเจอ เหตุผลที่ไปชุมชนนี้ เพราะทราบมาว่าที่นี่มี “ยางรัก” และเป็นชุมชนเดียว

ในประเทศไทยที่สามารถนำยางรักออกมาจากป่าได้ โดยที่ได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนและได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้สิ่งที่เราเห็น คือ ชุมชนนี้ทอผ้าได้สวยมาก และยังคงมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เราจึงเลือกที่จะพัฒนากับชุมชนนี้ โดยเลือกกลุ่มที่ทำเรื่องผ้าก่อน จึงได้ไปพบกับ “แม่ลาโบย” คุณแม่อายุประมาณ 80 ปีแล้ว ท่านสื่อสารภาษาไทยไม่ได้เลย เราถึงขั้นต้องสื่อสารกันเป็นภาษามือ ส่วนคนที่พอจะสื่อสารกับแม่ได้ก็ช่วย ๆ กัน ครอบครัวของแม่ลาโบยทำทั้งยางรัก ทอผ้า และย้อมสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีทั้งผ้าทอ กระเป๋า และเสื้อผ้า


ยางรัก เป็นภูมิปัญญาที่กำลังจะตายไปจากประเทศไทย เป็นเครื่องลงปิดทองที่นำไปใช้ในโบสถ์ วัด วิหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ยางรักเป็นสิ่งผิดกฎหมายเพราะเป็นของป่า แต่จะไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน และเป็นสิ่งที่ยังต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ยางรัก เปรียบเสมือนพลาสติกจากธรรมชาติ เป็นยางพลาสติกที่นำไปทำเป็นชาม กระด้ง เป็นต้น ในกรุงเทพฯ จะนำมาใช้ทาวิหารวัด ยางรักมีสีดำสนิท หากลองนำสีมาผสมกับยางรักเพื่อให้เป็นสีอื่นมันจะไม่เกิดสี ยังคงเป็นสีดำเท่านั้น ทางญี่ปุ่น จีน หรือเวียดนาม ค่อนข้างให้ความสำคัญกับยางรักมาก เพราะเป็นสินค้าที่แพงและหรูหรา เปรียบเป็น Eco-luxury เลยทีเดียว ถ้าญี่ปุ่นนำมาทำเป็นงานศิลปะ มันจะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ที่ถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการงานศิลปะ และมีมูลค่าถึงหลายหลัก

ต้นยางรักอยู่ในป่า ถ้านำของป่าออกมาก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในยุคที่ยังไม่ผิดกฎหมายเพราะยังไม่ขึ้นเป็นอุทยานกับกรมป่าไม้ คนสมัยก่อนจะนำมาทำเป็นหีบผ้า เวลาผู้ชายจะขอผู้หญิงแต่งงาน ก็ต้องพาหีบผ้าไปบ้านผู้หญิงเป็นขันหมาก ซึ่งหีบผ้านั้นทำมาจากยางรัก เพราะถือว่าเป็นภาชนะหรือสิ่งของที่พิเศษสุด ซึ่งสามารถแสดงสถานะและรสนิยมของบ้านผู้หญิงได้


แม่ลาโบย คุณแม่ชาวกะเหรี่ยงโป แห่งอมก๋อย แรงบันดาลใจของ “La Bouy Collection (ลาโบย คอลเลกชัน)”
แม่ลาโบย คุณแม่ชาวกะเหรี่ยงโป แห่งอมก๋อย แรงบันดาลใจของ “La Bouy Collection (ลาโบย คอลเลกชัน)”

ตอนแรก เรายังไม่ได้ให้เป็นออร์เดอร์ แค่อยากเห็นฝีมือ เลยสั่งให้ทอผ้าก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ จากที่คิดว่าจะทำเล่น ๆ จนวันหนึ่งหลานชายของแม่ลาโบยสอบได้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และต้องมีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียน แม่ลาโบยไม่เคยรู้จักคอมพิวเตอร์เลย แต่ฝันอยากมีคอมพิวเตอร์ให้หลานชาย ก็ทอผ้าหาเงินเก็บสะสมวันละเล็กวันละน้อยจนครบ 2 เดือน แล้วให้หลานชายมาเบิกเงินออมนี้จาก De Quarr เงินออมทั้งหมดมี 13,500 บาท มาสมทบกับเงินเก็บของหลานชายก็พอซื้อคอมฯ วันที่รู้ว่าหลานชายได้คอมพิวเตอร์แล้ว ท่านดีใจมาก เพราะมันคือการให้การศึกษา และสิ่งที่มากกว่าคนหนึ่งคนในครอบครัวหนึ่งเรียนจบรัฐศาสตร์ คือ การได้มาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นความหวังของชุมชนต่อไป

เรานำกลับมาคิดว่า นี่เพียงหนึ่งชุมชนเท่านั้นที่มีโอกาส แล้วมีอีกกี่ชุมชนในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับโอกาสแบบนี้ น้อยมากที่กลุ่มนี้จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐบาล ในอีกมิติหนึ่งของชีวิต เงินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต่อยอดโอกาส จึงรู้สึกว่าไม่อยากทำเล่น ๆ อีกต่อไป อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ไปยาว ๆ 


Q: ก่อนและหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด มีวิธีการทำงานเปลี่ยนไปอย่างไร ปรับตัวอย่างไรบ้าง 

A: ปรับสินค้าจากที่เป็นของที่ระลึก มาเป็นสินค้าแบบไลฟ์สไตล์ ที่มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋าช้อปปิ้ง กระเป๋าแบ็คแพ็ค ผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น หรือขายเฉพาะวัตถุดิบ เป็นประเภทผ้าทอให้ดีไซน์เนอร์ทำงานต่อ แม้ว่าจะมีทางตันบ้าง แต่ก็ยังหาวิธีแก้ไขได้ ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาหาเราได้ แต่ก็ใช่ว่าจะซื้อสินค้าของเราไม่ได้

ตัวอย่างสินค้าของ De Quarr ที่ผ่านการออกแบบให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน
ตัวอย่างสินค้าของ De Quarr ที่ผ่านการออกแบบให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน

และในอนาคตอยากจะทำ De Quarr ให้เป็น Class de Quarr ที่เชื่อมกับการท่องเที่ยว ในรูปแบบของเวิร์กชอป เพื่อให้คนได้เข้าถึงภูมิปัญญานี้ได้มากขึ้น ลึกขึ้น และนำมาซึ่งความเข้าใจในคุณค่าของงานหัตถกรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านอื่น ๆ ที่ชัดเจนขึ้น 


Q: อะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในงานหัตถกรรม ในมุมมองของคุณซิลเวอร์

A: สิ่งที่ยั่งยืนก็คือ คนในชุมชนยังได้อาศัยอยู่ในชุมชน และได้ส่งต่อ สืบต่อ อาชีพนี้สู่คนรุ่นหลังต่อ ๆ ไป คนในชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง ไม่ต้องเดือดร้อนออกมาหางานทำในเมืองใหญ่ ในขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่ก็สามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้ โดยที่ไม่ต้องลำบากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นกรรมกร และพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อเจ้าของชุมชนได้อยู่ในชุมชนตัวเองแล้ว คน ๆ นั้นแหละที่จะช่วยกันรักษาทรัพยากรของชุมชนได้ดีที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมได้


Q: สิ่งที่ต้องการตอนนี้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปต่อได้คืออะไร

A: ต้องการสร้างการรับรู้ใหม่ ๆ เรื่องงานหัตถกรรมของเมืองไทย คือ เรายังรับรู้ในแบบเดิม ๆ อยู่เลยว่า สินค้าท้องถิ่นต้องราคาถูก มันต้องเป็นภาพลักษณ์นี้เท่านั้น 

ขณะเดียวกันที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องกระตุ้นสินค้าไทย ให้มีการอบรมเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพอะไรต่าง ๆ แต่ไม่เคยกระตุ้นให้ผู้บริโภคในประเทศเห็นความสำคัญ เห็นที่มาที่ไป เรื่องราวของสินค้า ให้รู้จักคุณค่าของงานหัตถกรรม เราควรสร้างรสนิยมและค่านิยมใหม่ กระตุ้นให้คนในชาติเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตตนเอง

วิถีชีวิต และที่มาที่ไปของสินค้า คือ สิ่งที่ De Quarr ต้องการกระตุ้นให้คนในชาติเห็นความสำคัญ
วิถีชีวิต และที่มาที่ไปของสินค้า คือ สิ่งที่ De Quarr ต้องการกระตุ้นให้คนในชาติเห็นความสำคัญ

Q: อยากสื่อสารอะไรเกี่ยวกับงานหัตถกรรมของไทย

A: อยากส่งต่อคุณค่านี้ให้ชาวต่างชาติรับรู้ถึงความเป็นไทย และความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้อย่างสมเกียรติ อยากให้ทรัพยากรไทยสร้างรายได้ให้กับคนไทย เรามีทรัพยากรที่ดีเยอะแยะมากมาย แต่เราไม่เคยรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นในการสร้างคุณค่าให้กับประเทศของเรา เช่น เรานำเข้าเส้นใยกัญชงจากประเทศเพื่อนบ้าน จริง ๆ แล้วเมืองไทยเรามีพื้นที่เยอะมาก และเราสามารถทำได้ดี แต่เราแค่ไม่ได้ทำ และที่น่าเศร้า คือ ช่วงที่เราเอาของต่างประเทศมาใช้ ภูมิปัญญาของเรากลับค่อย ๆ เลือนหายไป   


Q: คิดว่าอะไรคือคุณค่าของสิ่งที่ De Quarr พยายามทำมาโดยตลอด

A: เราสร้างคุณค่าในการกระจายรายได้ให้กับคนกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่มีโอกาส ให้ได้รับโอกาสเท่าเทียมกับคนในเมือง สมมติว่ารัฐบาลไม่สามารถที่จะกระจายรายได้และสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง แต่เรายังพอทำได้ โดยทำผ่านการอุดหนุนและสนับสนุนสินค้าเหล่านี้  

ส่วนสิ่งที่เราเคยคิดจะสร้าง กำลังสร้าง และพยายามสร้างมาโดยตลอด คือ เราอยากให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสาน สืบทอด ทำงานต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ คิดว่ามันเป็นต้นทุนชีวิตอย่างหนึ่งที่ดีมากอยู่แล้ว ไม่ต้องกระเสือกกระสนลงมาทำงานข้างล่าง อยู่พัฒนาชุมชนบนดอยของตัวเอง และภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี


Q: อยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน

A: สินค้าไทยมีคุณภาพดี จากที่เราเคยสนใจสินค้าแบรนด์ ลองหันมาดูสินค้าไทยดีไหม ดูและเกลี่ยจากที่เคยซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมของต่างประเทศ มาเป็นงานหัตถกรรมชุมชนในเมืองไทย มันจะสร้างคุณค่าให้กับตัวเราเอง และให้กับคนที่เขาไม่เคยได้รับโอกาสในชีวิตด้วย ซึ่งน่าจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราเองก็มีคุณค่า ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นในแบบที่เราทำได้ด้วยเช่นกัน 

“La Bouy Collection” หนึ่งในความภาคภูมิใจของงานหัตถกรรมไทย
“La Bouy Collection” หนึ่งในความภาคภูมิใจของงานหัตถกรรมไทย

เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ เอียดปุ่ม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์