เป็นอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมในบ้านเรา แฝงดีไซน์ที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นตามแบบฉบับของสินค้าแบรนด์ Folkcharm คุณภัสสร์วี ตาปสนันทน์ โคะดากะ หรือคุณลูกแก้ว ผู้ก่อตั้ง Folkcharm ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับฉุกให้คิดตามในทุกประเด็น นอกจากเรื่องงานหัตถกรรม ที่เห็นถึงความเชื่อมโยงตั้งแต่ผู้ผลิตในชุมชน ไปถึงคนเมือง ยังเผยให้เห็นถึงปัญหาสังคม ที่พ่อค้าคนกลางส่วนใหญ่เห็นกำไรของตัวเองสำคัญกว่าฝีมือและภูมิปัญญาดั้งเดิมของผู้ผลิต ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเคยชินของผู้บริโภคอย่างเราเอง ที่ไปกระทบสิ่งแวดล้อมโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ท้ายสุด บทสัมภาษณ์นี้ยังทำให้ผู้อ่านได้เกร็ดในการสร้างธุรกิจที่มีฐานการผลิตระดับชุมชน การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากชุมชน ไปถึงการสร้างแบรนด์ที่ใกล้ชิดกับชุมชน ซึ่งจะป้องกันการทำการตลาดแบบผิวเผินจนกลายเป็นการฉกฉวยทางวัฒนธรรม
Q: Folkcharm เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับอะไร
A: มันเริ่มต้นจากหลายอย่าง
สิ่งแรก คือ ภูมิปัญญา เราอยากให้ภูมิปัญญา หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมมันยังคงอยู่
สอง คือ สิ่งแวดล้อม เราใช้ผ้าจากธรรมชาติทุกกระบวนการ ไม่ใช้สารเคมีเลย พูดว่ารักษ์โลกก็ได้ แต่ที่มากกว่านั้น มันมีความเป็นธรรมชาติ ที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีดั้งเดิม เรียกว่าผนวกเรื่องธรรมชาติและวิถีดั้งเดิมเข้าด้วยกัน
สาม เราอยากทำตัวเป็นคนกลางที่แฟร์ ไม่ใช่เป็นเพียงคนกลางอย่างเดียว แต่เป็นคนกลางที่นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาต่อยอด ก็คือ นำผ้าฝ้ายมาต่อยอด เพิ่มมูลค่าเป็นเสื้อผ้า เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้
Q: ประเด็นปัญหาใดที่มองเห็น และตัดสินใจเข้าไปแก้ไข
A: ค่อนข้างเยอะพอสมควร แบ่งได้เป็นปัญหาด้านสังคม และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ปัญหาด้านสังคม
- ชุมชนทอผ้าที่ผู้ทอส่วนใหญ่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจงานด้านวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาแบบนี้แล้ว
- พ่อค้าคนกลางไม่ค่อยเป็นธรรม การนำผลิตภัณฑ์ชุมชนออกมาจำหน่ายดูไม่โปร่งใสเท่าไรนัก ชุมชนไม่รู้ว่านำสินค้าไปขายใครบ้าง ขายอย่างไร ขายราคาเท่าไหร่ ในขณะที่ลูกค้าก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนผลิตสินค้านี้กันแน่ จึงทำให้ลูกค้าไม่เข้าใจในกระบวนการและคุณค่าที่แท้จริง
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง เพราะชุมชนเองมักไม่เห็นศักยภาพของตัวเองมากพอ ไม่รู้ว่าผืนผ้าที่ทอสามารถแปรรูปไปเป็นอะไรได้บ้าง
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
- ฝ้าย เป็นพืชเศรฐกิจที่ถูกสเปรย์ด้วยสารเคมีสูงที่สุดในโลก
- อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ไม่ยั่งยืน เพราะในโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้โพลีเอสเตอร์ (เส้นใยที่ถูกผลิตมาจากพลาสติก) ในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งเป็นเส้นใยที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นบ่อเกิดของการสร้างขยะ สร้างไมโครพลาสติก
- Greenwashing หรือ การฟอกเขียว หลาย ๆ แบรนด์พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดี รักธรรมชาติ โลกสวย รับผิดชอบต่อสังคม แต่ในความเป็นจริงมีอีกตั้งหลายมุมที่เขาไม่พูดถึงตัวเอง เช่น ฉันใช้ผ้าออร์แกนิค แต่กระบวนการที่เหลือของคุณไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย คือ เราต้องการสะท้อนว่า ถ้าต้องการทำให้มันรักษ์โลกจริง ๆ มันมีวิธีการที่สามารถทำได้ ไม่ต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีอย่างเดียว
- การใช้น้ำ ในการปลูกฝ้ายต้องใช้น้ำปริมาณมาก ซึ่งของเราปลูกแบบใช้น้ำฝน นั่นคือปลูกตามฤดูกาล ปลูกช่วงหน้าฝน และเก็บเกี่ยวหลังฤดูฝน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองเรื่องการใช้น้ำเลย จึงตรงกันข้ามกับการผลิตฝ้ายในอุตสาหกรรมปกติ
Q: สัญลักษณ์บนโลโก้ที่เขียนว่า “Ethical Natural Local” คืออะไร เชื่อมโยงกันอย่างไร
A: เราใช้คำว่า “Inter-connection” เรามองถึงความเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนในเมือง จึงอธิบายทั้งหมดให้เชื่อมโยงกันโดยใช้คีย์เวิร์ด 3 คำนี้ ซึ่งคิดว่าน่าจะง่ายต่อความเข้าใจมากที่สุดแล้ว ได้แก่
Ethical คือ มีจริยธรรม ผลิตภัณฑ์ของเราถูกสร้างขึ้นโดยภูมิปัญญาของชุมชนในชนบท ดังนั้น เราจึงให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับทักษะและฝีมือที่เขามีอย่างยุติธรรม โดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่
- ความเป็นธรรม (Fairness) โดยการให้ผลตอบแทนทางการเงินที่เป็นธรรมกับการดำรงชีวิตของคนในชุมชน เป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของผู้ผลิต
- ผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Interest) สร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้เขามั่นใจว่าเราไม่ใช่องค์กรที่มาแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว โดยเน้นว่าถ้าเขาสามารถสร้างงานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องได้ จะส่งผลให้องค์กรของเรามีความยั่งยืนไปด้วย และในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็จะมีรายได้ที่ยั่งยืนขึ้น เพราะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ตอบโจทย์ตลาด
- โอกาส (Opportunities) จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การทำงานให้ในช่วงแรก สำหรับผู้ที่ไม่มีต้นทุน รวมถึงร่วมกันสร้างมาตราฐานและพัฒนา ให้มีความสามารถในการออกแบบที่ตอบโจทย์ตลาดได้ ผ่านการลองผิดลองถูกไปด้วยกัน และเติบโตไปพร้อมกัน
Local คือ พื้นถิ่น เราให้ความสำคัญกับเทคนิคการทอผ้าที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เคารพในวิถีชีวิตแบบชนบท และระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการผลิต ที่ไม่สามารถเร่งรีบมากจนเกินไปได้ นอกจากนั้น วัตถุดิบของเราประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ก็มาจากชุมชนทั้งหมด
Natural คือ เป็นธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูกและสภาพแวดล้อมในเมือง พยายามใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีให้มากที่สุด หรือหากจำเป็นต้องใช้วัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น ก็พยายามหาวิธีที่รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์ของเราทำจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีคุณสมบัติของเนื้อผ้าที่นุ่ม ปลอดสารเคมี สวมใส่สบาย ซักง่าย และแห้งง่าย
Q: คอนเซ็ปต์ของ Folkcharm ที่ว่า “Simple but Significant” และคอนเซ็ปต์ของการทำงานแบบ “Fair Folk Crafts” คืออะไร
A: Simple ก็คือ ทั้งกระบวนการ เป็นกระบวนการที่เรียบง่าย เป็นวิถีชุมชนที่มันเคยมีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรพิเศษ เน้นการออกแบบที่มินิมอลและเรียบง่าย
ส่วน but Significant คือ มันดูเหมือนเรียบง่ายก็จริง แต่ในกระบวนการผลิตมีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งการปลูก การทำเส้นฝ้าย การย้อม การทอ เป็นภูมิปัญญาที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งการตัดเย็บ ที่ช่างต้องมีประสบการณ์สูง ระบบภายในที่เราบริหารจัดการงานฝีมือ การดูแลคุณภาพ และกระบวนการที่เราผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสื่อสารให้ผู้ผลิตทุกคนรับรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง และเกิดความภาคภูมิใจ
และคำว่า “Fair Folk Crafts” สามารถให้ความหมายแยกย่อยลงไปในแต่ละคำได้ ดังนี้
Fair เป็นนิยามของความเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ใช้สารเคมี เราให้ความสำคัญกับระยะเวลาและกระบวนการในการผลิต และการให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ที่สูงขึ้นจากเดิม 30-50 เปอร์เซ็นต์ และคำนึงถึงผู้บริโภค ให้ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่นุ่มสบายจากธรรมชาติ และภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความโปร่งใสของกระบวนการทำงาน
Folk เป็นความบ้าน ๆ ที่เคารพในวิถีพื้นถิ่น ความสวยงามของธรรมชาติ ความเชื่อมโยงของผู้คน ระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านและคนเมือง ซึ่งมีวิถีการใช้ชีวิตแตกต่างกัน แต่สามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านงานของเรา
Craft เป็นกระบวนการสร้างงานด้วยมือ โดยใช้ทักษะ ความชำนาญ และความใส่ใจ ตั้งแต่ปลูก ปั่นเส้นฝ้าย ย้อมสี ทอมือ การตัดเย็บทีละตัว กระบวนการบริหาร ที่ค่อย ๆ ปรับให้เข้ากับการทำงานในบริบทของเราเอง ไปจนถึงการเล่าเรื่องและสื่อสารวิถีชีวิตผ่านงานทุกชิ้นส่งต่อไปถึงผู้รับ
Q: กว่าจะมาเป็นผ้าฝ้าย 1 ผืน สินค้า 1 ชิ้น มีกระบวนการผลิตอย่างไรตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วในแต่ละขั้นตอน ใครบ้างที่มีบทบาท
A: ผ้าหนึ่งผืนประกอบไปด้วยคนปลูกฝ้าย คนปั่นหรือเข็นฝ้าย คนทอผ้า คนย้อมผ้า ช่างตัดเย็บ พนักงานในออฟฟิศ แล้วก็นักออกแบบ
ฝ้ายที่เราใช้ มาจากแหล่งผลิต 2 ที่ในประเทศไทย เป็นฝ้ายปลูกแบบธรรมชาติ ใช้เมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น ไม่รดน้ำ ใช้น้ำฝนตามฤดูกาลและแสงแดดในการเติบโต โดยใช้ระยะเวลา 3 เดือนกว่า ๆ ในการออกดอกพร้อมเก็บเกี่ยว
ในกระบวนการทอ ทำไมเนื้อผ้าเราไม่เรียบ ดูหนาและกระด้าง แต่ผ้ากลับยิ่งใช้ยิ่งนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เพราะผ้าฝ้ายแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางเคมีจะนุ่มฟู ฝ้ายเข็นมือที่เกิดจากการนำปุยฝ้ายมาปั่นให้เป็นเส้น ทำให้มี texture หรือพื้นผิวที่ไม่เสมอกัน กระบวนการนี้ต้องใช้ความชำนาญสูงมาก กว่าจะได้ฝ้ายมาหนึ่งกิโลกรัม ต้องใช้เวลาปั่น 2-3 วัน และต้องปั่นทั้งวัน ดังนั้น ฝ้ายเข็นที่นำมาทอมือจะมีความห่างของเนื้อผ้ามากกว่าเส้นด้ายทั่วไป ทำให้ระบายอากาศได้ดี ซับเหงื่อ และแห้งง่าย โดยใช้เวลาทอมือประมาณ 1-2 เดือน และใช้ฝ้ายประมาณ 10 กิโลกรัม เพื่อให้ได้ผ้าฝ้ายหนึ่งม้วน
นอกจากเราใช้ฝ้ายที่ปลูกเองโดยสมาชิกของเราแล้ว เรายังใช้ฝ้ายอินทรีย์ ที่ปลูกโดยเกษตรกรไทย ภายใต้เครือข่ายสหกรณ์กรีนเนท ที่มีทั้งมาตรฐาน PGS Organic (ระบบรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) และ Fair Trade (การค้าที่เป็นธรรม)
เนื้อผ้าแต่ละแบบ จะนำมาตัดเย็บเสื้อผ้าตามความเหมาะสมของการสวมใส่ และมีเฉดสีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นสีที่หาได้ตามธรรมชาติ หรือปลูกกันเอง โดยใช้เทคนิคย้อมเย็น-ย้อมร้อน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชพรรณนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น สีขาวครีม เป็นสีฝ้ายธรรมชาติ ถ้าหากซักถูกวิธี ยิ่งใช้ผ้าจะยิ่งขาวสว่างขึ้น สวยสะอาดตา
สีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน ได้จากผลมะเกลือป่า สีจะเข้มหรืออ่อน เกิดจากความอ่อน-แก่ ของผลมะเกลือ ปริมาณสีที่ใช้ ย้อมโดยวิธีย้อมเย็น โดยตำผลมะเกลือ และโจกเข้ากับปูนจนเกิดฟอง ตามกาลเวลา สีมะเกลือจะค่อย ๆ จางลงเป็นสีน้ำตาล สวยคลาสสิค
สีเขียวใบตอง และเหลืองสว่างจากใบเอ็นหม่อน ใบเอ็นหม่อนเป็นพืชที่มหัศจรรย์ เป็นสมุนไพรที่หมอยาเล่าว่าช่วยคลายเส้นเอ็น นำมานวดพร้อมลูกประคบ จึงเรียกว่า “คลายเอ็น” ในภาษาพื้นถิ่น หากย้อมในภาชนะอลูมิเนียม จะได้สีเหลืองสวยสว่าง หากย้อมในภาชนะสังกะสีจะได้สีเขียวเข้ม สีของใบเอ็นหม่อนย้อมง่าย ติดทนนาน ช่างทอของเราจึงมักใช้ย้อมผ้าที่นำมาทอ
สีแดงอิฐ ได้จากเปลือกต้นหูช้าง โดยใช้ต้มย้อมร้อนเพื่อให้สีออก ใช้ปูน น้ำสังกะสี หรือหมักโคลนเพื่อให้สีเข้มและติดทนขึ้น
ฟ้าคราม จากใบครามที่สมาชิกเราปลูกเอง โดยการก่อหม้อ แต่มีปริมาณไม่มาก เพราะครามปลูกเป็นฤดู และมีสมาชิกน้อยคนที่ปลูก ช่างทอจึงนำมาย้อมแซมสีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มสีสันในผืนผ้า
การตัดเย็บ เราก็ทำงานร่วมกับช่างเย็บผ้าที่ทำงานที่บ้าน โดยทางเราตัดผ้าออกจากม้วน เพื่อให้ช่างตัดตามแพตเทิร์นทีละตัว ไม่ได้เป็นการผลิตทีละจำนวนมาก เราโชคดีที่ได้ช่างตัดเย็บฝีมือดีและมีประสบการณ์ ช่างเย็บเราแต่ละคน อายุก็ราว ๆ ช่างทอผ้าของเรา การบริหารจัดการทั้งหมดนี้จะทำกันที่ออฟฟิศ ที่เราเรียกว่า “Folkcharm Studio” โดยมีเราเองเป็นคนออกแบบและดู art direction ต่าง ๆ
Q: อะไรคือความท้าทายของเสื้อผ้าแบรนด์ Folkcharm
A: ความท้าทายหลัก ๆ ของ Folkcharm เลยก็คือ โดยส่วนตัว ผู้ก่อตั้งไม่มีหัวด้านธุรกิจเลย เพราะฉะนั้น การพัฒนาให้มันเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ ก็ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา พัฒนาตลอดเวลา ให้มันอยู่รอดได้ในเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่สิ่งที่อยากสะท้อนให้เห็น และอยากจะเล่าให้คนทำธุรกิจเพื่อสังคมด้วยกันฟังจริง ๆ ก็คือ การที่เราเป็นคนนอก และเข้าไปในชุมชน การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่ชาวบ้านมีต่อเรา มันต้องใช้เวลานาน ไม่ใช่แค่เข้าไปคุยกับชุมชน จากนั้นกลับมาทำงานต่อได้เลย เพราะเชื่อว่าถ้าเขาไม่ไว้ใจเรา เขาก็ไม่สามารถจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มันดีขึ้นมาได้ เช่น ไม่สามารถทำให้ตรงออเดอร์ที่ต้องการได้ ทำสินค้าให้ดูดีไม่ได้ จึงคิดว่า มันต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจนี้ให้ได้ก่อน บริษัทใด ๆ ก็ตามควรลงทุนเวลา และพลังกายพลังใจมายังส่วนนี้ให้มาก
ที่สำคัญ คือ ต้องระมัดระวังและรอบคอบในการวาง branding ของตัวเอง เพราะตอนนี้หลาย ๆ แบรนด์กำลังเกิดปัญหาเรื่อง Cultural Appropriation หรือ การฉกฉวยทางวัฒนธรรม
อย่างกรณีของ Folkcharm เอง การนำเอาสัญลักษณ์ของความเป็นชุมชนขึ้นมาชู มันต้องชูในมุมมองของการ empowerment (การสร้างพลัง) ไม่ใช่ชูให้เกิดความรู้สึกว่าสงสารป้า ๆ แม่ ๆ เพราะแก่มากแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ควรระวังอย่างมาก ข้อคิดคือว่า ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเราทำดีแล้ว แล้วมันจะดีสำหรับทุกคน
หรือในมุมของลูกค้าก็เช่นกัน เราจะไปคาดหวังให้ลูกค้าเข้าใจเราทุกอย่าง ทุกมุมมอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจกระบวนการแบบที่เราทำ เช่น ลูกค้าถามว่า “ทำไมยังไม่ได้ผ้าลายนี้มาสักที” เราบอกว่า “ให้รอก่อน แม่ ๆ ยังทอผ้าลายนี้ไม่เสร็จ” ลูกค้าก็แย้งกลับว่า “ก็ฉันสั่งไปตั้งนานแล้ว” นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ บางคนอาจจะโกรธและหายไปเลยก็มี
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรายังคงต้องยึดมั่นอย่างหนักแน่นต่อไป ตามกระบวนการที่เราตั้งใจตั้งแต่แรก นี่คือความท้าทายหลัก ๆ หนัก ๆ ของ Folkcharm เลยก็ว่าได้ จึงอยากฝากประเด็นนี้ไปถึงผู้ประกอบการทางสังคม ที่กำลังสร้างแบรนด์และมีความตั้งใจดีในการพัฒนาชุมชน เพราะปัจจุบันนี้เริ่มมีคนสนใจ และหันมาทำธุรกิจเพื่อสังคมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
Q: Folkcharm บริหารจัดการทีมอย่างไร ให้คนในชุมชนเกิดความเชื่อใจ และทำงานด้วยกันได้ เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่อายุมากกว่าเรา
A: ใช่ค่ะ ข้อแรก คือ อายุมากกว่าเรา ข้อสอง พูดกันคนละภาษา และสาม เราคือเด็กเมือง ซึ่งมันไม่มีข้อไหนดีเลย และเรามักใช้คำว่า “ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน” กับแม่ ๆ เสมอ คือ ถ้าแม่ ๆ พัง เราก็พังด้วย
ถ้าแม่ ๆ ทอผ้าเสีย เช่น ช่วงแรกเราได้ลองทำงานร่วมกับอีกชุมชนนึง สั่งผ้ามาชุดหนึ่ง แล้วผลิตไม่ตรงกับออเดอร์เลย เงินหายไปทันที 34,000 บาท เราเข้าใจในมุมของชาวบ้านว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาผลิตอย่างที่เราต้องการไม่ได้ เขาจะไม่กล้าบอกว่าทำไมทำไม่ได้ ขาดการสื่อสารกัน ซึ่งแรก ๆ เราเองก็ไม่ได้รู้วิธีการทอผ้าดีมากเท่าไรนัก จึงไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมเขาถึงทำให้เราไม่ได้ เมื่อถึงเวลากำหนดส่งสินค้า ปรากฏว่าสินค้าที่ได้ ไม่ได้ตรงตามที่ต้องการเลย ก็เลยต้องปรับจูนกันใหม่ว่า ถ้าแม่ ๆ ตัดผ้าออกมาแบบนี้ เราเองก็ไม่สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าต่อได้ ผลที่ตามมาคือเราขาดทุน แล้วถ้าขาดทุน จะเอางบที่ไหนมาลงทุนต่อเพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้า และที่สำคัญ จะเอางบที่ไหนกลับมาซื้อผ้าของแม่ ๆ ต่อได้อีก เราไม่ได้สื่อสารแบบนี้เพื่อต้องการตำหนิใคร แต่ต้องการให้เห็นภาพรวมของการทำงาน ว่าขั้นตอนที่แต่ละคนรับผิดชอบ จะเกิดผลกระทบต่อใครบ้าง นี่คือวิธีของเราในการปรับจูน
บางครั้ง ชาวบ้านก็ส่งผ้าที่ไม่ได้ทอจากธรรมชาติมาให้เรา เราก็ต้องจัดการ เพราะเขาอาจจะคิดว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องผ้าหรอก แต่จริง ๆ แล้วรู้ นี่คือช่วงแรก ๆ ที่ประสบปัญหา และมองว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านไม่มีความรับผิดชอบ แต่มันคือการปรับตัวของทั้งสองฝ่ายที่ต้องใช้เวลา ต้องใช้เวลาในการสื่อสาร หรือต้องใช้เวลาในการหาวิธีที่เหมาะสมในการจัดการ เช่น ถ้าผ้าคุณภาพไม่ดี ก็ต้องหาสาเหตุกันว่าทำไมคุณภาพไม่ดี จะพัฒนาให้มันดีได้ด้วยวิธีใดบ้าง อาจจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ (QC) ผ้า หรือขั้นต่อไปต้องมีการหักเงิน เป็นต้น โดยรวมเป็นการหาวิธีจัดการให้มันไปต่อได้
เคยมีบางช่วงที่ชาวบ้านพูดว่าเราจะเข้ามาโกงชุมชน เขาใช้คำนี้เลย เขาอาจจะมองว่าเราเป็นเด็กกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่เข้ามา และไม่นานก็ออกไป ไม่ได้ต้องการช่วยเหลืออะไรจริงจัง เขาบอกว่าถ้าให้ราคาผ้าสูงแบบนี้ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร เหล่านี้ เป็นคำที่ได้ยินตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่ลงชุมชน แต่ตอนนี้ไม่ได้ยินคำเหล่านี้แล้ว ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าที่คำสบประมาทเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป
ชาวบ้านกลุ่มที่เราทำงานด้วยในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ เขาเคยทอผ้าส่งชาวต่างชาติ ซึ่งฝรั่งเองก็ไม่เคยบอกเขาเลยว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร เป็นธรรมดาของชาวต่างชาติ ที่เห็นอะไรเป็นของชาวบ้านก็ช่วยอุดหนุนหมดทุกอย่าง แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น จะสื่อสารกันตรง ๆ ได้คือได้ ไม่ได้ก็จะบอกว่าไม่ได้ จากทักษะฝีมือที่ดีอยู่แล้ว ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีเพิ่มขึ้นไปอีก แม่ ๆ บอกว่าทำงานมาเป็น 10 ปี ไม่เคยมีลูกค้าคนไหนให้ feedback กลับมาละเอียดอย่างเรามาก่อน เราเป็นลูกค้าคนแรกที่ทำ เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่ทั้งเราและเขาต้องใช้เวลาเรียนรู้ และลองผิดลองถูกไปด้วยกัน
“การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่ชาวบ้านมีต่อเรา มันต้องใช้เวลานาน ไม่ใช่แค่เข้าไปคุยกับชุมชน จากนั้นกลับมาทำงานต่อได้เลย เพราะเชื่อว่าถ้าเขาไม่ไว้ใจเรา เขาก็ไม่สามารถจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มันดีขึ้นมาได้”
Q: จะพูดได้ไหมว่าลูกค้าของ Folkcharm เป็นกลุ่มเฉพาะ หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ
A: รู้สึกว่ามันไม่ได้เฉพาะหรอก เพียงแต่พื้นที่ ๆ เรามีโอกาสไปปรากฏตัว มันเฉพาะทาง เช่น งานออร์แกนิค งานคราฟท์ แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มนี้ก็ย่อมเฉพาะทางอยู่แล้ว แต่พอเราเริ่มมาออกตลาด เริ่มฝากขายตามร้านอื่น ๆ ก็จะเริ่มเห็นกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น แต่ลูกค้าก็จะมีบุคลิกลักษณะที่คล้าย ๆ กันอยู่ เช่น ช่วงอายุจะประมาณนี้ ไลฟ์สไตล์แบบนี้ เป็นต้น
Q: Folkcharm มีจุดเด่นในการเล่าเรื่องอย่างไร และเล่าแบบไหน ที่ให้ลูกค้าเข้าใจความเป็นเราได้
A: เราไม่มีจุดเด่นนะ ทุกวันนี้เราเองก็ยังไม่รู้ว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์ค เพราะฉะนั้น ตอบไม่ได้ว่าอะไรคือจุดเด่นจริง ๆ ของเรา อาจจะบอกได้แค่ว่า พยายามเล่ากระบวนการอย่างที่มันเป็นไป อยากจะเล่าอะไรเราก็เล่า เล่าตามความเป็นจริง Folkcharm เราชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว เล่าทุกมุม บางมุมลูกค้าก็ชอบ บางมุมก็ไม่ พอเราเล่าไปสักพัก ก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าลูกค้ามี feedback กลับมาอย่างไร ชอบแบบไหน นี่คือข้อดีของการเล่าบ่อย ๆ เพราะวัตถุประสงค์ของแบรนด์ไม่ใช่แค่ทำกำไร แต่คือการสื่อสารกระบวนการนี้ผ่านสินค้า ให้ลูกค้าเข้าใจที่ไปที่มา
Q: เป้าหมายในการเล่าเรื่องต่าง ๆ ของ Folkcharm ถึงลูกค้า คืออะไร
A: เป็นการ inspire ผู้คน โดยการให้ข้อมูลต่อเนื่อง ซ้ำ ๆ แล้วสารที่สื่อก็จะค่อย ๆ ไปปรับเปลี่ยนมุมมอง ให้เขาเห็นความต่อเนื่องของแบรนด์ เห็นคุณค่าของสินค้า เห็นกระบวนการว่ากว่าจะได้มาซึ่งเสื้อผ้าหนึ่งตัว มันไม่ได้ง่ายนะ เป็นการปรับมุมมองใหม่ของการมองงานหัตถกรรม
Q: มีการบอกเล่าเรื่องราวข้างนอกกลับไปยังกลุ่มที่ผลิตไหม เล่าให้แม่ ๆ ป้า ๆ ฟังด้วยไหมว่าในขั้นตอนการจำหน่ายเกิดอะไรขึ้นบ้าง
A: ก่อนหน้านี้ แม่ ๆ ป้า ๆ ไม่เคยเห็น end product (สินค้าสำเร็จ) ที่เขาทำเลย เขาไม่เคยเห็นเลยว่าสิ่งที่ทำนำไปขายใครบ้าง หรือผ้าพวกนี้สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ขายราคาเท่าไหร่ ดังนั้น ทุกครั้งที่กลับเข้าไปในชุมชน ก็จะไม่ลืมหยิบสินค้าสำเร็จรูปติดไม้ติดมือไปให้แม่ ๆ ได้ชมกันด้วยเสมอ พอเห็นของจริงเขาก็ภูมิใจ คอยถามกันว่าชิ้นนี้มาจากผ้าของใคร ทำออกมาแล้วดูสวย พอเราบอกราคาว่าเสื้อตัวนี้ขาย 2,000 บาท ก็พากันตื่นเต้นตกใจว่าผ้าฝ้ายที่เขามองมาตลอดว่ามันธรรมดามากสำหรับเขา สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขนาดนี้เลยหรือ
นอกจากนั้น ยังเป็นการ inspire อีกแบรนด์ที่เป็น local brand ได้ด้วย เพราะเขาก็ทำธุรกิจลักษณะเดียวกับเรา ทำให้เขากล้าตั้งราคามากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้กังวลเลย เพราะถือว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าจนสามารถ inspire คนอื่นที่ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกันได้
Q: มักจะได้ยินคุณลูกแก้วพูดคำว่า “โลกสวย” อยู่บ่อย ๆ เวลาที่ให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่าง ๆ คำว่า “โลกสวย” ของคุณลูกแก้วต้องการสื่ออะไร
A: เพราะว่าตัวเราเอง เราเริ่มด้วยความโลกสวย หลาย ๆ สื่อ เขาอยากจะเห็นความโลกสวยของแต่ละแบรนด์ เพราะมันสามารถไป inspire คนอื่นได้ ซึ่งจะทำให้คอนเทนต์นั้นน่าอ่านน่าติดตาม เราเองก็ชอบอ่านอะไรแบบนี้อยู่แล้วโดยส่วนตัว แต่มันอาจผิวเผินไป ไม่ได้สะท้อนถึงสภาพที่แท้จริงของแต่ละแบรนด์ว่า กว่าที่มันจะนำมาซึ่งจุดนี้ได้ คน ๆ นั้น หรือแบรนด์ ๆ นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง หรือแบรนด์ที่ว่ากันว่าสวยและดี มันดีจริงหรือเปล่า เพราะคนไม่ได้ตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ขนาดนั้น สิ่งที่เห็นโดยผิวเผิน จึงสร้างความโลกสวยได้เป็นธรรมดา
แต่สิ่งที่อยากให้เข้าใจมากกว่าความโลกสวยที่เห็นจากคอนเทนต์ คือ ต้องเข้าใจไปถึงกระบวนการที่มันไม่ง่าย ต้องเข้าใจมุมดาร์คของแบรนด์ด้วย เช่น เวลาที่ถูกลูกค้าตำหนิ เจ้าของแบรนด์จะรู้สึกดาร์ค แล้วเขานำเอาส่วนที่ถูกตำหนินั้นมาปรับปรุงอย่างไร จึงอยู่รอดได้ จนกระทั่งสามารถมานั่งให้สัมภาษณ์ในตอนนี้ได้
Q: นอกเหนือจากเรื่องผ้าฝ้ายแล้ว Folkcharm เข้าไปสร้างคุณค่าอะไรให้กับชุมชนอีกบ้าง
A: เราสนับสนุนอุปกรณ์ในการทอผ้าในช่วงแรก ชวนผู้เชี่ยวชาญไปจัดเวิร์กชอปเรื่องย้อมสีธรรมชาติให้แม่ ๆ เก่งขึ้น หรือมีอาจารย์เข้าไปสอน มีปรึกษาหารือกันเองในหมู่บ้าน นำมาซึ่งความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยต่าง ๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องผ้าทั้งหมด ไม่ได้ทำเรื่องอื่นเลย เพราะมองว่าเฉพาะเรื่องผ้าก็ค่อนข้างวุ่นวายมากพอแล้ว ผิดกับตอนแรกที่ตั้งเป้าหมายไว้ใหญ่มาก ถึงขนาดต้องการให้มีกองทุนหมู่บ้าน แต่พอกลับมาคิดทบทวน คิดว่าแค่สามารถสร้างรายได้ให้มันต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดในตอนนี้แล้ว
Q: คนไทยมักมีความเชื่อหรือมุมมองเดิม ๆ ว่าสินค้าที่เป็นงานหัตถกรรม ผลิตโดยภูมิปัญญาของคนไทย ต้องเป็นของราคาถูก คุณลูกแก้วคิดอย่างไรต่อมุมมองนี้ แล้วคิดว่าตอนนี้ ความเชื่อนี้เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง
A: มันยังไม่เปลี่ยนหรอก ยังไม่เปลี่ยนไปอีกนาน ยิ่งมีโควิดด้วย ยิ่งเปลี่ยนยาก อย่างงานโอทอป เป็นงานที่ทำให้เราต่อราคาสินค้าของชาวบ้านได้ในราคาที่ต่ำมาก มันก็มีข้อดีนะ ที่อาจจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ แต่ลองคิดอีกมุมสิว่า เงินที่หมุนเวียน มันจะหมุนได้เพียงพอหรือเปล่าหากสินค้าที่ควรราคาสูง มันราคาถูกเกินไป
นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม Folkcharm ถึงเล่าเรื่องเยอะมาก เพราะเราอยากสื่อสารคุณค่าและคุณภาพนี้ออกไป ให้คนซื้อเห็นคุณค่าของสิ่งที่กำลังจะได้มาครอบครอง เช่น ลูกค้าบางคนต่อราคาหนักมาก เราก็ใช้วิธีส่งลิงก์กระบวนการผลิตผ้าไปให้อ่าน ผลที่ตามมาคือ ลูกค้าแบบแรกเข้าใจ และไม่ต่อราคาอีกเลย ส่วนอีกแบบก็หายไปเลย ซึ่งกลุ่มที่หายไป เรามองว่าเขาสนใจเพียงเพราะแค่ชอบ เห็นว่ามันสวยดี แต่ไม่ได้เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นจริง ๆ ก็เพียงเท่านั้น
“สิ่งที่อยากให้เข้าใจมากกว่าความโลกสวยที่เห็นจากคอนเทนต์ คือ ต้องเข้าใจไปถึงกระบวนการที่มันไม่ง่าย ต้องเข้าใจมุมดาร์คของแบรนด์ด้วย เช่น เวลาที่ถูกลูกค้าตำหนิ เจ้าของแบรนด์จะรู้สึกดาร์ค แล้วเขานำเอาส่วนที่ถูกตำหนินั้นมาปรับปรุงอย่างไร จึงอยู่รอดได้ จนกระทั่งสามารถมานั่งให้สัมภาษณ์ในตอนนี้ได้”
Q: ผลกระทบทางสังคมที่ Folkcharm ได้สร้างขึ้นมีอะไรบ้าง
A: จากที่กลุ่มเราเริ่มทอผ้ากันเพียง 3-4 คน ตอนนี้มีประมาณเกือบ 30 คนที่วนกันมาส่งผ้า จาก 4 คน ใน 1 หมู่บ้าน ตอนนี้เพิ่มเป็น 4 หมู่บ้าน และมีเกือบ ๆ 30 คน
ถัดมา คือ ราคาผ้า หรือผลตอบแทนที่เราให้ สูงขึ้นประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่เคยขายได้ก่อนหน้านี้
สุดท้าย คือ เงินที่ไหลกลับสู่ชุมชน ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าประมาณ 4 ล้านกว่าบาท
Q: ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วปรับตัวอย่างไร
A: ก่อนโควิด เราเห็นภาพแล้วว่าเราจะจัดการอย่างไร แต่พอเกิดโควิด ทุกอย่างเปลี่ยนหมด ก่อนหน้านี้เราวางแผนไว้เลยว่าจะออกงานปีละ 10 ครั้ง และพัฒนาเรื่องออนไลน์ควบคู่ไปกับการออกงาน และสิ่งนี้ต้องเป็นรายได้หลักของเรา ปรากฏว่าพอมีโควิดทุกอย่างเป็นศูนย์ ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ทุกอย่างต้องเป็นออนไลน์ ซึ่งการขายออนไลน์มันท้าทายมากกว่าขายออกงานปกติเยอะมาก ทั้งเรื่องราคา เรื่องเนื้อผ้าที่ถ้าไม่สัมผัสก็ไม่รู้ เป็นต้น
ตอนนี้ก็ต้องเน้นเรื่องออนไลน์ และ CRM (ระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์) มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ขายของออนไลน์ แต่ต้องสร้าง community ด้วย โดยส่วนตัวยังคงคิดแบบเดิมว่าออนไลน์มันยาก แต่มันน่าจะเป็นทางออกได้
Q: แล้ววางแผนจะขยายตลาดไปต่างประเทศบ้างไหม
A: ตั้งใจว่าจะขยายอย่างแน่นอน แต่เมื่อลงมือทำจริง ๆ เริ่มสำรวจหลาย ๆ ตลาดแล้ว พบว่าราคาผ้าทอในเมืองไทยไม่ตอบโจทย์ในเรื่องราคาและคุณภาพ Folkcharm อาจจะยังไม่ดีถึงขนาดนั้น มันจะมีงานคราฟต์ของประเทศไทยที่ราคาสูงมาก แล้วขายได้ในเมืองนอก หรือไม่ก็เป็นงานคราฟต์โอทอปที่ในเมืองนอกขายราคาถูกมาก ๆ ซึ่ง Folkcharm ดันอยู่ตรงกลางระหว่างสองอย่างนี้ คือมันไม่ได้หรูขนาดนั้น และมันไม่ได้ mass แบบนั้นด้วย นั่นคือความอันตราย
Q: เคยคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเองไหม เช่น ไม่เอาแล้วความเชื่อนี้ เปลี่ยนไปทำผ้าให้ราคาถูกลง
A: ไม่เคยนะ พอพูดแบบนี้แล้วทุกคนก็หาว่าโง่ บอกว่าถ้าเราไม่เลิกซื้อผ้าปริมาณมากขนาดนี้ และซื้อราคาสูงแบบนี้ เราจะพัง เพราะโดยหลักการ ราคาผ้าจะถูกลงเมื่อเราซื้อเยอะ แต่กลับเป็นสิ่งเดียวที่เรายืนยันว่า ต่อให้เราซื้อเยอะ เราก็จะไม่ลดราคาให้ถูกลง มันจึงฟังดูสวนทางสำหรับคนอื่น ยิ่งตอนนี้มีโควิด เราลดจำนวนผ้าที่ซื้อลง 30-40 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยซื้อ เพราะฉะนั้น ยิ่งเราซื้อผ้าลดลง เราจะไปลดราคาตาม ก็ยิ่งไม่ได้ ต้องมองถึงความต่อเนื่อง ว่าถึงแม้จะรับน้อยลงแต่ยังรับต่อเนื่อง รับทุกเดือน และวางแผนให้แต่ละหมู่บ้านวนกันมาส่งผ้า เพราะช่วงแรก ๆ หมู่บ้านไหนมีผ้ากี่ม้วนเราจะรับหมด ผ่านมาระยะหนึ่งก็ใช้ไม่ทัน จึงเปลี่ยนวิธีว่า ในหนึ่งเดือนรับผ้าสูงสุด 10 ม้วนต่อหนึ่งหมู่บ้าน โดยให้แต่ละหมู่บ้านวนกันมาส่ง และช่วงโควิดนี้ก็ลดลงมาอีก เรามองว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดก็พอ ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่ได้มากมายเท่าเดิมก็ตาม
Q: มีบางคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมไปสักระยะหนึ่งแล้ววิสัยทัศน์เปลี่ยน จะแนะนำคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคมว่าอย่างไร ให้ยังคงแน่วแน่ในเป้าหมายเดิม
A: การแนะนำใครก็ตามให้ยังคิดเหมือนเดิมมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ตั้งแต่ทำธุรกิจมาเชื่อไหมว่าเราเปลี่ยนแทบทุกอย่างเลย แม้แต่โมเดลธุรกิจก็ไม่เหลือ แต่สิ่งที่ Folkcharm ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ mission (ภารกิจ) กับ vision (วิสัยทัศน์) และถ้าหากในอนาคตจะต้องเปลี่ยนอย่างอื่นอีก ก็ขึ้นอยู่กับว่าเปลี่ยนด้วยเหตุผลอะไร ถ้าเปลี่ยนด้วยเหตุและผลที่เราอาจจะคิดไม่ถึงตรงจุดนั้นมาก่อน ก็เปลี่ยนได้ แต่ mission หลักจะยังคงเหมือนเดิม เพราะมันชัดเจนมากแล้วว่าเราทำงานนี้ทำไม
มองว่า Folkcharm มี passion ที่ชัด จึงทำให้ mission และ vision ไม่เปลี่ยน ส่วนคนที่เปลี่ยนสองอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ศรัทธาในสิ่งที่ทำ แต่อาจจะเป็นเพราะ passion ยังไม่นิ่ง ซึ่งสำหรับเรา เราตกผลึกแล้วว่าต่อให้เวลาผ่านไปอย่างไร เรายังมี passion เดิม แล้วเราก็หากระบวนการที่มันสามารถจะสนับสนุน passion ของเราได้ แค่นั้นเอง
Q: ถ้าวันนั้นไม่ได้ตัดสินใจทำ Folkcharm จะเสียใจหรือเสียดายไหม
A: ถ้าไม่ทำคงเสียดาย เพราะมันรู้สึกว่ามี passion ที่อยากทำมาก ๆ และถ้าไม่ทำตาม passion ของตัวเอง เราจะกลายเป็นมนุษย์ที่เหี่ยวเฉาคนหนึ่ง
“มองว่า Folkcharm มี passion ที่ชัด จึงทำให้ mission และ vision ไม่เปลี่ยน ส่วนคนที่เปลี่ยนสองอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ศรัทธาในสิ่งที่ทำ แต่อาจจะเป็นเพราะ passion ยังไม่นิ่ง ซึ่งสำหรับเรา เราตกผลึกแล้วว่าต่อให้เวลาผ่านไปอย่างไร เรายังมี passion เดิม แล้วเราก็หากระบวนการที่มันสามารถจะสนับสนุน passion ของเราได้ แค่นั้นเอง”
Q: อยากให้สื่อสารถึงคนที่กำลังอ่านบทความนี้
A: Folkcharm เราแค่ต้องการแก้ปัญหาสังคมแบบนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบนี้ โดยการสร้างโมเดลธุรกิจแบบนี้ ซึ่งฟังดูเป็นกลไกทางธุรกิจมาก ๆ แต่สิ่งที่เราตั้งใจจะเปลี่ยนก็คือ เราแค่อยากให้ผู้บริโภคทั่วไป หรือลูกค้าทั่วไป เริ่มสังเกตการจับจ่ายใช้สอยของตัวเอง ว่ามันกระทบใครหรือเปล่า เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำ กับเสื้อผ้าที่เราใส่ กับอาหารที่เราทาน ว่าตอนนี้เราซื้อเสื้อผ้ามากไปหรือเปล่า หรือกินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากเกินไปหรือเปล่า หรือเสียเงินไปกับอาหารแพง ๆ ที่เงินเราไม่ได้ไปถึงเกษตรกรหรือเปล่า นี่เป็นเพียงประเด็นตัวอย่างที่ฝากคิดตาม
อยากให้ทุกคนที่ได้อ่านกลับไปมองตัวเอง แล้วก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน ทำเพราะความเป็นอัตโนมัติหรือเปล่า เช่น ถ้าซื้อเสื้อผ้าราคาถูกมาก ๆ มาสวมใส่ ก็ลองตั้งคำถามว่า ถ้าผ้าราคาถูกขนาดนี้ แล้วคนเย็บจะได้เงินเท่าไหร่ ผ้าชิ้นนี้ทำมาจากอะไร คุณภาพแย่หรือเปล่า ลองสำรวจตัวเองว่าเราจำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าบ่อยขนาดนั้นไหม ในราคาที่ถูก หรือซื้อในราคาที่สูงกว่า แต่คุณภาพดี สามารถจะระบุได้ว่าของมันมาจากไหน ใครเป็นคนทำ มันมีคุณค่าทางใจและทางกายอย่างไรบ้าง
อาหารก็เช่นกัน ระหว่างอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ราคาแพง กับข้าวสารกรีนเนทที่แค่หุงก็อร่อยแล้ว เพราะมันทั้งอร่อย ทั้งมีคุณค่า มีประโยชน์ และรายได้ก็กลับสู่เกษตรกรอย่างแท้จริง เป็นต้น อยากให้คนเริ่มรับรู้ และสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น โดยสรุปก็คือว่า อยากให้เริ่มตั้งคำถามกับวิถีชีวิตตัวเอง ว่าการใช้ชีวิตของเรามันทำให้โลกใบนี้ยั่งยืนหรือเปล่า