“บริษัท พัฒนาธุรกิจขนาดย่อม” พัฒนาศักยภาพของสตรียากจน สู่การเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง | SE Stories ตอนที่ 5

บริษัท พัฒนาธุรกิจขนาดย่อม จำกัด ทำหน้าที่ใส่เมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชน ในรูปแบบของสินเชื่อเงินกู้ เพื่อเป็นเงินทุนให้แก่กลุ่มสตรีในชุมชนภาคอีสาน ที่ไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบปกติได้ เมล็ดพันธุ์ที่ปลูกฝังไว้ทำให้ชุมชนงอกเงยต่อยอดเป็นต้นไม้ ที่เกื้อกูลกันระหว่างราก ลำต้น ใบ ดอก ผล อย่างเป็นระบบ

ผู้บริหารและทีมงานบริษัท พัฒนาธุรกิจขนาดย่อม จำกัด
ผู้บริหารและทีมงานบริษัท พัฒนาธุรกิจขนาดย่อม จำกัด

บริษัท พัฒนาธุรกิจขนาดย่อม ยกทีมตั้งแต่ระดับผู้บริหาร มาทำให้พวกเราได้รู้จักเขามากขึ้น ได้แก่ คุณเสนีย์ บัวเขียว – กรรมการ (ภาพใหญ่ด้านซ้าย) คุณโกวิทย์ กุลสุวรรณ – กรรมการบริหาร (ภาพกลางด้านบน) คุณชัชวาล ร่มเย็น –  ผู้จัดการ (ภาพขวาบน) คุณธนภร เรืองศิริ – ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมสินเชื่อ (ภาพกลางด้านล่าง) และคุณอิทธิฤทธิ์ สุวรรณคำ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิชาการและแหล่งทุนสัมพันธ์ (ภาพขวาล่าง)


Q: คำจำกัดความสั้น ๆ ขององค์กร

A: เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อ ให้กับกลุ่มสตรีออมทรัพย์ในพื้นที่ชนบท จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ


Q: ที่มาและแรงบันดาลใจของโลโก้องค์กร

โลโก้องค์กร
โลโก้องค์กร

 

A: คุณอิทธิฤทธิ์ – รูปต้นไม้ และคำว่า “Tree of Life” นิยาม คือ เมล็ด เปรียบเสมือนเงินกู้ที่องค์กรสนับสนุนไปยังกลุ่มสตรีออมทรัพย์ในพื้นที่

น้ำ เปรียบเสมือนการออมเงินของสมาชิก เพราะเรามีข้อตกลงกันหลัก ๆ ว่า คนที่เป็นสมาชิกต้องมีการออมเงิน น้ำจึงเปรียบเหมือนการทำให้กลุ่มเติบโตได้

ราก คือ การบริหารจัดการกลุ่ม ความสามัคคี และการมีสัจจะในการบริหารตนเองและกลุ่ม

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือ ปุ๋ย ในที่นี้หมายถึง การพัฒนาความรู้ ซึ่งองค์กรจัดการพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มสตรีออมทรัพย์ ในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม การบริหารความเสี่ยง และวิธีการบริหารให้กลุ่มเติบโต

คุณธนภร – เราทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีแต่ละสาขาอาชีพในชุมชน เหมือนเรานำเมล็ดพันธุ์ที่มีไปวางไว้ให้เขาในที่ที่ถูกที่ควร แล้วเขาก็ช่วยกันดูแล จากเมล็ดพันธุ์ งอกขึ้นมาเป็นราก ลำต้น ใบ ก็คือการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมานั่นเอง และผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์นั้น คือ สมาชิกในชุมชนได้รับประโยชน์ นอกจากให้เมล็ดพันธุ์แล้ว เราก็เป็นปุ๋ยให้เขาด้วย คือ ให้ความรู้ และพัฒนาทักษะอาชีพ และหัวใจสำคัญของการทำกลุ่ม คือ การออมเงินจากรายได้ที่มี หลังจากได้เงินทุนไปประกอบอาชีพนั้นแล้ว


Q: องค์กรเริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่เมื่อไหร่

A: เริ่มทำปี 2539 โดยสองปีแรกเราทำร่วมกับองค์กรพันธมิตร หลังจากนั้น ในปี 2542 เราเริ่มทำเอง มีกระบวนการจัดตั้งกลุ่มเอง มีสมาชิกเข้ามาเอง ตอนนี้จำนวนสมาชิกขององค์กรมี 200 กว่ากลุ่ม

เหมือนเรานำเมล็ดพันธุ์ที่มีไปวางไว้ให้เขาในที่ที่ถูกที่ควร แล้วเขาก็ช่วยกันดูแล จากเมล็ดพันธุ์ งอกขึ้นมาเป็นราก ลำต้น ใบ ก็คือการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมานั่นเอง และผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์นั้น คือ สมาชิกในชุมชนได้รับประโยชน์

 


Q: ทำไมเจาะจงกลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก

A: สมัยที่เพิ่งเริ่มต้น เราทำงานกับกลุ่มพ่อบ้าน แต่วิธีการบริหารจัดการเงินของพ่อบ้านไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก ทำให้เงินเหลือน้อย อีกทั้งพ่อบ้านเป็นคนที่เปลี่ยนอาชีพบ่อย ไม่ค่อยอยู่กับที่ การจัดการงานในส่วนนี้จึงไม่ต่อเนื่อง จึงถอยกลับมามองมุมใหม่ว่า คนที่อยู่ในชุมชนจริง ๆ  ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านหรือสตรี ฉะนั้น จึงเปลี่ยนมาสนับสนุนผู้หญิงเป็นหลักแทน เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่อยู่บ้าน และน่าจะมีความละเอียดเรื่องเงินมากกว่าผู้ชาย หลังจากที่เราตกลงส่งเสริมกลุ่มแม่บ้านหรือสตรี ปรากฏชัดเจนว่ากลุ่มผู้หญิงมีศักยภาพทั้งการบริหารเงิน และบริหารจัดการกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

SED ลงพื้นที่สนับสนุนกิจกรรมแก่กลุ่มสตรีออมทรัพย์
SED ลงพื้นที่สนับสนุนกิจกรรมแก่กลุ่มสตรีออมทรัพย์

Q: ผู้ชายสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ด้วยหรือไม่

A: ผู้ชายก็สามารถเข้าถึงได้ เข้ามาออมได้ แต่จะไม่มีสิทธิ์กู้ มีหน้าที่หาเงินมาให้แม่บ้านออมได้อย่างเดียว แม่บ้านเท่านั้นที่มีสิทธิ์บริหารจัดการเรื่องเงินกู้ เสมือนแม่บ้านเป็นต้นไม้ ส่วนพ่อบ้านก็ทำหน้าที่รดน้ำ พรวนดิน ให้ต้นไม้งอกงามเติบโต


Q: องค์กรเห็นปัญหาอะไร จึงได้หยิบยกเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการจัดตั้งองค์กร

A: เมื่อก่อนเราทำงานในพื้นที่ชายแดนที่มีการทำสงคราม เมื่อเกิดการสู้รบกัน มีคนตายทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ทีนี้คนที่ลำบากที่สุดคือชาวบ้านที่อยู่ชายแดน ไม่มีโครงการใด ๆ เข้าไปช่วยเหลือ มี UN ที่เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มกัมพูชาที่อพยพ ส่วนผู้ที่เดือดร้อนทั้งไทยและกัมพูชา องค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ จะช่วยในลักษณะสงเคราะห์ คือ ช่วยเรื่องข้าวสาร อาหารแห้ง สังกะสี เป็นต้น

แต่มีองค์กรอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการช่วยในลักษณะที่ต่างออกไป เช่น Canadian International Development Agency (CIDA) หรือ องค์กรสนับสนุนความช่วยเหลือระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา มีความคิดตรงกับเราว่า เราควรทำงานสงเคราะห์ให้เป็นงานพัฒนา เพราะงานสงเคราะห์จะทำให้คนในชุมชนพึ่งบุคคลภายนอกแบบไม่มีวันสิ้นสุด ส่งผลให้ชุมชนเกิดความอ่อนแอในที่สุด แต่ในทางกลับกัน หากบุคคลภายนอกช่วยกระตุ้นให้เกิดความเข้มแข็ง จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ต่อไป เราจึงใช้แนวคิดนี้มาตลอด เพราะความยั่งยืนของเรา หมายถึงเราพัฒนาสิ่งนั้นจนประสบความสำเร็จ ยืนได้ด้วยตัวเอง

เราคิดว่าชาวบ้านมีศักยภาพในตัวเองมากพอ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านซึ่งปกติแบกรับภาระทั้งงานชุมชน งานครอบครัว ถ้าเราไปเสริมศักยภาพสตรี เท่ากับว่าเราไปเพิ่มพลัง ให้ชุมชนมีการพัฒนามากขึ้นอย่างน้อยเป็นเท่าตัว


Q: ในปัจจุบันรายได้ขององค์กรมาจากช่องทางใดบ้าง

A: ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียม ส่วนรายได้อื่น ๆ มีบ้างที่ได้จากงานฝึกอบรม โดยเป็นวิทยากรให้แก่บุคคลภายนอก


Q: สมาชิกออมเงินกันเดือนละเท่าไหร่ และเมื่อนำเงินออกไปใช้ในรูปแบบของสินเชื่อหรือการกู้ เก็บดอกเบี้ยร้อยละเท่าไหร่ กระบวนการคืนเงินเป็นอย่างไร

A: เราใช้กฎระเบียบที่ร่วมกันตั้งภายในกลุ่ม โดยเรามีแนวทางให้ แต่จะให้สมาชิกร่วมกันกำหนดกฎของกลุ่มนั้น ๆ เอง สมัยก่อนข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านเริ่มออมกันคนละ 20 บาท ปัจจุบันเริ่มต้นที่คนละ 100 บาท เงินออมที่เราให้สมาชิกออม เราก็จะให้สมาชิกปล่อยกู้กันเอง บริหารจัดการตนเอง ส่วนเรามีระบบที่ให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วยติดตามทุกเดือน

การเก็บดอกเบี้ย บางกลุ่มร้อยละ 1 บาทต่อเดือน กำไรที่ได้จากดอกเบี้ยก็กลับคืนสู่สมาชิก โดยหนึ่งปีจะปันผล 1 ครั้ง และองค์กรมีการต่อยอดเงินกู้ให้ คือ สมาชิกออมคนละ 50 บาท 100 บาทก็ตามแต่ เราจะต่อยอดจากเงินนั้น (สมทบเงินเพิ่มให้) เมื่อก่อนเริ่มต้นที่ 7,000 บาท แต่ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 15,000 บาท และตอนนี้เงินออมของสมาชิกค่อนข้างสูงขึ้น


Q: มีกลไกอย่างไรให้สมาชิกมีแรงจูงใจนำเงินมาคืน เพื่อให้กระบวนการนี้ยังมีอยู่

A: น่าจะเป็นกลไกทางสังคม สมาชิกมารวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เกิดเป็นแหล่งที่มาของรายได้ แหล่งที่มาของเงินทุน ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดหนี้เสีย เราไม่มีกลไกอื่นเลย มีแต่กลไกทางสังคม ที่ทำให้ต้นทุนหนี้เสียต่ำ

กลุ่มแม่บ้านซึ่งปกติแบกรับภาระทั้งงานชุมชน งานครอบครัว ถ้าเราไปเสริมศักยภาพสตรี เท่ากับว่าเราไปเพิ่มพลัง ให้ชุมชนมีการพัฒนามากขึ้นอย่างน้อยเป็นเท่าตัว


Q: หากคนในชุมชนต้องการกู้เงิน เพื่อเป็นทุนทำธุรกิจ จำเป็นต้องหาผู้ค้ำหรือต้องมีหลักฐานอะไรในการกู้บ้าง และสามารถกู้เงินได้เท่าไหร่

A: หากมีการรวมกลุ่มมา เรามีสินเชื่อสำหรับกลุ่มอยู่แล้ว สมาชิกแต่ละคนจะมีสินเชื่อเป็นของตนเองในกลุ่มและกู้ในนามกลุ่ม สามารถกู้ได้สูงสุด 15,000 บาทต่อกลุ่ม เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้ทยอยชำระเป็นรายเดือน ใครต้องการชำระในระยะเวลา 6 เดือนเลยก็ได้

ปัจจุบันมีการกู้รายบุคคล ถ้าต้องการเงินมากกว่า 15,000 บาท ก็สามารถเสนอมาได้ มีองค์ประกอบ คือ ผู้กู้และวงเงินที่ต้องการ โดยผ่อนชำระคืนในระยะเวลาที่กำหนด


Q: ถ้ากลุ่มเริ่มยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว จะต้องส่งคืนเงินต้นให้กับบริษัทไหม

A: ต้องส่งคืน มีบางกลุ่มที่ดำเนินการมาระยะหนึ่ง และมีเงินทุนพอสมควรแล้ว เราก็จะให้เขายกเลิกการกู้ไป ซึ่งเรามีคนนอกช่วยตรวจสอบด้วย หากกลุ่มใดบริหารจัดการตัวเองได้ดี เข้มแข็งมากพอ เงินที่เขากู้ไป เราเองก็จะได้กลับคืนมาทั้งหมด และกลุ่มเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนในรูปแบบของสหกรณ์ แต่สามารถบริหารจัดการเงินเองได้เลย สำหรับกลุ่มที่ยังต้องพึ่งพากันอยู่ก็มีไม่น้อย บางกลุ่มขอปิดตัวก็มีเช่นกัน


Q: ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความแตกต่างในการทำธุรกิจหรือไม่ อย่างไร

A: คุณธนภร – ข้อแรก จากเดิมที่สมาชิกเป็นลักษณะรายบุคคลที่อยู่ในชุมชน ปัจจุบัน สมาชิกมีการรวมกลุ่มกัน และทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น

ข้อสอง สมาชิกยังคงมีความต้องการเงินทุนอยู่ และยิ่งต้องการเพิ่มมากขึ้น กู้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลายขึ้นมากกว่าในอดีต บางกลุ่มเน้นใช้เงินทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค บางกลุ่มเน้นลงทุนทำธุรกิจ เช่น การทอผ้า ธุรกิจในครัวเรือน ค้าขาย เป็นต้น

 

องค์กร Kiva หนึ่งในองค์กรพันธมิตร ลงพื้นที่เยี่ยมสตรีผู้ประกอบการ
องค์กร Kiva หนึ่งในองค์กรพันธมิตร ลงพื้นที่เยี่ยมสตรีผู้ประกอบการ

 

คุณอิทธิฤทธิ์ – ข้อสาม ในอดีตบริษัทของเราจะทำงานผ่านองค์กรพันธมิตร โดยเฉพาะเรื่องการให้สินเชื่อ ปัจจุบันเราปรับกลยุทธ์ใหม่ คือ เราให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มโดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านองค์กรพันธมิตร การให้การสนับสนุนด้านการเงินค่อนข้างเป็นความรู้เฉพาะทาง ที่ผ่านมาเราสรุปบทเรียนและได้มองเห็นถึงข้อจำกัดในเรื่องนี้ จึงปรับกลยุทธ์ใหม่โดยการที่บริษัทให้เงินกับสมาชิกโดยตรง และเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่แค่ครอบคลุมกับกลุ่มสตรี

เรามีการจดทะเบียนเพื่อให้บริการ PICO Finance (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับที่อยู่ในความดูแลของสํานักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนทั่วไป ทั้งผู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น สามารถเสนอชื่อหรือเสนอสินเชื่อเข้ามาได้


Q: เป้าหมายทางสังคมขององค์กร

A: ตอนนี้หลัก ๆ เรากำลังมองไปถึงเรื่องการให้บริการสินเชื่อที่ครอบคลุมกับทุกกลุ่มในพื้นที่ ที่ผ่านมาเราให้เฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้หญิง หรือกลุ่มสตรียากจน เราอยากจะขยายสินเชื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่กลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่การเข้าถึงสินเชื่อ แต่เป็นการเข้าถึงการออมเงิน


Q: มีวิธีการจัดการอย่างไร ให้คนในชุมชนรู้สึกดี และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับองค์กร

A: องค์กรของเราจะทำหน้าที่ในภาคสนาม เป็นคนคอยให้ความรู้เพื่อคัดเลือกกลุ่ม และอบรมเรื่องการบริหารจัดการสินเชื่อก่อน จากนั้นเราค่อย ๆ ประเมินกลุ่ม ว่าเราสามารถที่จะสนันสนุนเงินทุนได้หรือไม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด กลุ่มนี้ต้องผ่านการพัฒนาศักยภาพก่อน ให้เขาได้มองเห็นว่าเขามีศักยภาพที่จะดำเนินการได้จริง เช่น กลุ่มสตรีออมทรัพย์ เราไปชวนคุยให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนได้ แล้วดึงศักยภาพที่เขามีอยู่ออกมาใช้

SED ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดทำบัญชี แก่กลุ่มสตรีออมทรัพย์
SED ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดทำบัญชี แก่กลุ่มสตรีออมทรัพย์

Q: ขั้นตอนการพัฒนาศักยภาพมีรูปแบบและกระบวนการอย่างไรบ้าง

A: ตอนนี้เรามีบริษัทพันธมิตรที่ทำเรื่องการให้สินเชื่อ และอีกส่วนหนึ่งเป็นมูลนิธิสตางค์ ซึ่งทำเรื่องการพัฒนาศักยภาพ แต่ละปีเราจะมีหลักสูตรประจำปีต่างกันออกไป เช่น การบริหารจัดการกลุ่ม การบริหารความเสี่ยงของกลุ่มการเงินขนาดเล็ก การปันผล เป็นต้น นอกจากนั้น เรายังจัดให้กลุ่มมีการศึกษาดูงาน และพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ร่วมกับภาคีภายนอกด้วย

 

อบรมการตลาดออนไลน์กับมูลนิธิกองทุนไทย
อบรมการตลาดออนไลน์กับมูลนิธิกองทุนไทย

 

เช่น ปีนี้เราร่วมมือกับมูลนิธิกองทุนไทย ภายใต้โครงการ Go Digital ASEAN เป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ หรือกลุ่มในพื้นที่ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาอาชีพ หรือพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ เป็นการดึงทรัพยากรจากภายนอกมาเพื่อพัฒนาศักยภาพภายในกลุ่มของตนเอง ให้เห็นว่ากลุ่มของเขาทำเรื่องใดได้ดีแล้ว และมีเรื่องใดที่น่าจะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาเพิ่มขึ้น กลุ่มที่อยู่ในความดูแลของเรา 200 กว่ากลุ่ม ก็จะใช้วิธีให้กลุ่มเก่า ๆ มาเล่ามาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้กลุ่มใหม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของกลุ่มที่ผ่าน ๆ มา


Q: องค์กรมีอายุกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจัยความสำเร็จขององค์กรมีอะไรบ้าง

A: คุณเสนีย์ – ความสำเร็จสามารถมองได้หลายมุม มุมมองแรกสุด คือ คนที่ได้รับผลประโยชน์จากการบริการการเงินของเรามีเพิ่มขึ้นทุกปี  มีสมาชิกเพิ่มขึ้น และเม็ดเงินที่เราลงทุนไปมีการขยายตัวเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เราเติบโต หรือประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เรามองเห็นอาจจะเป็นเรื่องโครงสร้างทางเงินทุน คือ มีองค์กรที่สนับสนุนเงินทุนให้เราโดยไม่มีดอกเบี้ย ทำให้วัตถุดิบในการทำงานของเรามีต้นทุนต่ำ ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ความกดดันจึงมีน้อย สามารถให้สินเชื่อกับชาวบ้านในอัตราที่ต่ำได้ เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่น เราถือว่าของเราถูกที่สุดในประเทศไทย เพราะให้อยู่ที่ประมาณ 15% และที่สำคัญ คือ สินเชื่อที่เราให้เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันอะไรเลย ค้ำประกันกันเอง อาศัยความเป็นคนดีของสังคม

ส่วนที่สอง คือ เรื่องบทเรียนที่สอนเรา ทำให้เรานำมาพัฒนางานต่อไปได้

และส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ พนักงาน ทีมงาน กรรมการ ไปจนถึงผู้บริหาร เป็นการทำงานแบบเสียสละ เรามีเบี้ยประชุมครั้งละ 2,500 บาท และผู้บริหารของเราแทบจะไม่มีผลตอบแทนในรูปของเงินเดือนเลย ทุนที่เราปล่อยออกไปมีหนี้เสียน้อยมาก เป็นกลุ่มสตรีออมทรัพย์ NPL เราแค่ 2% แต่ถ้าเป็นลักษณะสินเชื่อรายบุคคล (Individual Loan) จะอยู่ที่ 4% เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นแล้วจะมากกว่าเราถึง 15% นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการทำงานกับชาวบ้านจนถึงทุกวันนี้


Q: ก้าวต่อไปขององค์กรคืออะไร และมีสิ่งใดที่ยังขาดอยู่หรือไม่

A: เราพยายามที่จะพัฒนาในเรื่องผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบางในชุมชน ตอนนี้เราก็ทำอยู่ แต่อยู่ในช่วงการพัฒนา คือ ทำไปเรียนรู้ไป พยายามที่จะทำเรื่อง Inclusive Finance (คือ การลงทุนที่จะทำให้สถาบันการเงินมุ่งเน้นในการขยายการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเงิน สำหรับประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมถึงบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก) กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย

หลัก ๆ เป็นกลุ่มผู้หญิง นอกเหนือจากนั้นเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กแต่ในส่วนที่ไม่ใช่กลุ่มสตรี จะเน้นเรื่องการออมในกลุ่มมากกว่า ในระยะยาว เรากำลังมองว่า สินเชื่อตัวไหนที่สามารถตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเหล่านี้ได้บ้าง เช่น เกือบ 60% เป็นกลุ่มที่ทำผ้าไหม นอกจากสินเชื่อแล้ว เราจึงพยายามมองว่ามีผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ที่จะส่งเสริมให้สามารถตอบโจทย์การเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มนี้ได้


Q: ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบเจอ

A: คุณเสนีย์ – ในช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องการหาสมดุลให้กับองค์กร ถ้าเป็นองค์กรแบบนายทุน เมื่อปล่อยกู้แล้ว เขาก็จะตามไม่ปล่อย แต่ถ้าเป็นภาครัฐ กู้ยืมแล้วถ้าไม่คืน ก็อาจจะไม่เป็นไรนัก พอเราเป็นคนที่ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ก็ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนในการให้ความรู้ก่อน และสร้างความเข้าใจว่าต้องการให้เกิดผลอะไร และคัดเลือกเฉพาะคนที่สมัครใจที่จะทำงานในแบบเดียวกับเรา เราจะเน้นกลุ่มที่มีคุณภาพและค่อย ๆ ขยายผล

คุณโกวิทย์ – ถ้าเป็นช่วงแรก ๆ จะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะเรากำลังทำงานกับกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด โดยเรามีบทเรียนหนึ่งว่า ทำงานกับคนจน หรือกับคนที่ต้องการการสงเคราะห์ เราจะจนไปด้วย แต่ถ้าเราทำกับคนที่ต้องการการพัฒนา ก็สามารถใช้คติที่ว่า ต้องกล้าที่จะเสียกับกลุ่มคนที่จนที่สุด เพราะเราต้องการช่วยเขา และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการต่อยอดศักยภาพที่ตัวเองมี ส่วนคนกลุ่มกลาง ๆ มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระดับหนึ่ง เราก็จะทำกับเขาอีกแบบหนึ่ง หรือกลุ่มที่ต้องการเงินก้อนใหญ่ในการทำธุรกิจ เราก็กำลังดำเนินการในอีกลักษณะหนึ่ง ลูกค้าเรา เขาจะมีทางเลือก

ส่วนปัญหาหรืออุปสรรคที่เราจะต้องพบเจอในอนาคต คือ องค์กรของเราทำสินเชื่อโดยใช้เงินเป็นวัตถุดิบ ปัจจุบันเงินทุนในการหมุนเวียนของเรายังมีอยู่ แต่ว่ามีสมาชิกที่มีความต้องการให้เราขยาย หรือสมาชิกต้องการที่จะเติบโต สิ่งเหล่านี้ทำให้การก้าวของเราเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ ถ้าเรายังติดในเรื่องเงินทุนที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เราต้องการการสนับสนุนจากองค์กรอื่น สรุปแล้วอาจจะเป็นเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องขยายเพิ่มในอนาคต


Q: อะไรคือความสุขในการทำงาน

A: คุณอิทธิฤทธิ์ – สำหรับกลุ่มที่เจอกันเป็นประจำ ความสุข คือ การได้ฟังเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาของเขา กระทั่งกู้เงินมาลงทุนทำธุรกิจ และเห็นรอยยิ้ม เห็นคุณภาพชีวิตได้รับการพัฒนา ทำให้เรารู้สึกดี มีรอยยิ้มไปด้วย

Whole Planet Foundation หนึ่งในพันธมิตร ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มสตรีออมทรัพย์
Whole Planet Foundation หนึ่งในพันธมิตร ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มสตรีออมทรัพย์

คุณธนภร – ทำงานมา 18 ปี มีความรู้สึกว่าเราได้สัมผัสชุมชนจริง ๆ แล้วได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ได้รับรู้เรื่องราวของแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านอาชีพ และปัญหาอื่น ๆ ในแต่ละชุมชน บางเรื่องเราก็สามารถช่วยได้บ้าง ก็ถือว่ามีความสุขระดับหนึ่งแล้ว คนในชุมชนมีความเป็นพี่เป็นน้อง ซึ่งทำให้เราไม่ได้มีหน้าที่แค่ติดตามหนี้สินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสนับสนุนพวกเขาด้วยการให้ความรู้ ให้แรงบันดาลใจ การลงพื้นที่จึงเป็นความสนุก ท้าทาย และมีความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง


Q: อยากเห็นอะไรในสังคมและมีอะไรอยากฝากกับสังคมบ้าง

A: คิดว่าธุรกิจเพื่อสังคมแต่ละองค์กร ก็ต่างทำหน้าที่ตอบโจทย์ปัญหาของสังคมในแต่ละเรื่อง อย่างองค์กรของเราเอง อาจจะตอบโจทย์แค่ในเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งเราก็ยังมีความต้องการให้องค์กรอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา ถ้าหากว่าแต่ละชุมชน มีองค์กรที่เข้าไปช่วยพัฒนาตามความถนัดของตน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนนั้นไม่น้อย

ทำงานกับคนจน หรือกับคนที่ต้องการการสงเคราะห์ เราจะจนไปด้วย แต่ถ้าเราทำกับคนที่ต้องการการพัฒนา ก็สามารถใช้คติที่ว่า ต้องกล้าที่จะเสียกับกลุ่มคนที่จนที่สุด เพราะเราต้องการช่วยเขา และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการต่อยอดศักยภาพที่ตัวเองมี


เรียบเรียงโดย สุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์