ปัญหาช่องว่างทางการศึกษา เป็นปัญหาใหญ่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หากเด็กทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเทศของเราย่อมก้าวไปได้ไกลกว่าเดิมอย่างแน่นอน
แต่ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันที่ครู และผู้ปกครองในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ต้องพบกับความท้าทายหลากหลายด้าน การพัฒนาเด็กให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รู้จักวิธีการปัญหาในชีวิตจริง รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กมีจริยธรรมและศีลธรรม ไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ทางอารมณ์ สังคม สุขภาพ และสติปัญญา จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทาง Starfish Education Social Enterprise มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในการศึกษาของประเทศไทยให้ได้มากที่สุด
วันนี้ SE Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ผู้ที่ถือว่าเป็นนักการศึกษานวัตกรรมใหม่ และ Positive Impact Maker มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอน รวมไปถึงการบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือที่รู้จักกันในนามของ ดร.แพร ซีอีโอบริษัท สตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น โซเชียล เอนเทอไพรส์ จำกัด ซึ่งดำเนินการมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมและโรงเรียนบ้านปลาดาว
Q: จุดเริ่มต้นขององค์กรเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำงานกับใครบ้าง
A: เนื่องจากว่าฐานของเราตั้งแต่ตอนแรกทำเป็นในลักษณะมูลนิธิ เป็นลักษณะ Non-profit หรือ องค์กรไม่แสวงหากำไร ในส่วนของเงินทุนจะมีลักษณะต่างจากการที่เป็น Social Enterprise หรือ กิจการเพื่อสังคม คือ เงินของมูลนิธิจะมาจากเงินบริจาคเป็นส่วนใหญ่ และมูลนิธิเองก็ทำงานกับโรงเรียนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ เรามองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่จำเป็นต้องมาจากเงินบริจาคเท่านั้น เราเองก็มีวิธีการที่ทำให้เขาสามารถที่จะจ่ายได้ เพื่อนำเงินไปช่วยคนที่เขาไม่สามารถที่จะจ่ายได้ เช่น สตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น โซเชียล เอนเทอไพรส์ ได้ทำหลักสูตรพัฒนาครูเพื่อทำให้ครูสามารถทำงานร่วมกับผู้ปกครองได้มากขึ้น ซึ่งหากเราดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิฯ จะมีข้อจำกัดที่ค่อนข้างเยอะ เลยมองว่ากิจการเพื่อสังคม จะเปิดโอกาสให้กับคนที่ต้องการมีส่วนร่วมหรือคนที่ต้องการเข้ารับบริการได้เข้าถึงเราได้มากขึ้น รวมไปถึงเราสามารถนำรายได้จากการให้บริการนี้ไปขยายหรือพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
Q: อยากรู้ที่มาและสโลแกนประจำองค์กร ว่ามีที่มาอย่างไร
A: เรามีมูลนิธิที่ทำมาก่อน คือ Starfish Country Home Foundations เป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งมาระยะใหญ่แล้ว พอมาช่วงหลังเราอยากมีอีกองค์กรเพื่อการทำงานที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงได้เกิดเป็น Starfish Education ซึ่งหลายคนถามว่า ชื่อนี้มาจากอะไร ที่จริงแล้ว มันมีที่มาจากนิทานที่เรานำมาใช้เป็นเครื่องเตือนใจตอนเราทำงาน ชื่อเรื่องว่า นิทานปลาดาว โดยมีเนื้อหาคือ มีเด็กคนหนึ่งอยู่ที่ชายหาด แล้วเจอปลาดาวกำลังจะตายมาเกยตื้น เขาพยายามที่จะโยนปลาดาวกลับไปที่ทะเลทีละตัว มีคนเดินผ่านมาแล้วถามว่า ทำไมถึงทำแบบนั้น เพราะปลาดาวที่เกยตื้นแล้วกำลังจะตายมีเยอะมาก โยนกลับไปทีละตัวมันช่วยอะไรไม่ได้หรอก เด็กก็ตอบว่า มันจะสร้างความแตกต่างกับปลาดาวที่เขาโยนกลับทะเลไป ซึ่งก็เปรียบได้กับปัญหาเรื่องการศึกษาที่มีเยอะมาก ถ้าหากไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ได้ ปัญหาเรื่องการศึกษามีเยอะมาก ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่ได้ ถึงเราจะแก้ปัญหาได้ไม่หมด แต่ก็ยังมีคนที่เราทำงานด้วย หรือเด็กๆที่เราสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตเขาได้
Q: Starfish Education มี Product หรือ Service อะไรบ้างเพื่อที่จะให้เห็นภาพการทำงานขององค์กร
A: เราเองก็เพิ่งตั้ง Social Enterprise ดังนั้นตัวผลิตภัณฑ์ของเราอาจจะยังมีอยู่ไม่มาก แต่มีแผนในการขยายจำนวนผลิตภัณฑ์ เเละปัจจุบันผลิตภัณฑ์คือ หลักสูตรพัฒนาครู และหลักสูตรพัฒนาผู้ปกครอง ซึ่งได้ถอดมาจากการดำเนินกิจการโรงเรียนและการพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านครูและผู้ปกครอง ตอนนี้ในส่วนของเด็กและเยาวชนก็อยากที่จะเข้ามาพัฒนาตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอาจจะทำให้เด็กปรับตัวไม่ทัน ซึ่งความต้องการดังกล่าวทำให้เรามองเห็นช่องว่างตรงนี้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เราทำเป็นส่วนใหญ่ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่วนการเรียนการสอน ซึ่งเราถือว่ามีความเชี่ยวชาญ และเรามองว่าเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาโรงเรียน โดยตัวผู้ปกครองเองก็เริ่มสนใจตรงนี้ด้วยเช่นกัน
ในส่วนที่ 2 คือเรื่องของสื่อ เช่น วิดีโอ Education content ที่เป็นสื่อการศึกษาที่ค่อนข้างทันสมัย และตอบโจทย์การพัฒนาทักษะ แต่จะเห็นว่าการผลิตสื่อวิดีโอมีราคาค่อนข้างสูงโดยปกติถ้าเราจะทำวิดีโอตัดต่อ 3-5 นาที ก็จะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก เรามองเห็นช่องว่างเรื่องการขาดแคลนงบประมาณของบางโรงเรียน เราจึงตัดสินใจให้บริการในเรื่องของการทำ Content ทางการศึกษาที่จะเป็นสื่อการเรียนการสอนดังกล่าว
Q: การบริการของ Starfish Education มีอะไรบ้าง และกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานเป็นใคร
A: Starfish Labz เป็น Online Learning Platform สำหรับครู ผู้ปกครอง และเด็ก โดย Content มี 3 ลักษณะ คือ 1. Video 2. คอร์สเรียน 3. บทความต่าง ๆ โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถที่จะเข้ามาเรียนรู้ แบ่งปันกันได้
ส่วน Starfish Class เป็น Application ที่เราทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่องของการประเมินทักษะของนักเรียน เพราะเบื้องต้นสิ่งที่เรามองหา และสิ่งที่เราต้องการคือการพัฒนาทักษะและสมรรถนะเด็ก ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าเด็กมีการพัฒนาไปอย่างไร เราจึงมีเครื่องมือการประเมิน โดยเครื่องมือนี้จะสามารถตั้งเป้าหมายได้ว่าผู้ใช้งานต้องการอะไร และเครื่องมือนี้ยังช่วยให้เราประเมินผลและเก็บข้อมูลเพื่อนำไปเป็น Digital Portfolio (แฟ้มสะสมผลงานแบบดิจิทัล) สำหรับเด็กรายบุคคลได้ นับว่าเป็นเป็นตัวช่วยให้ครูในเรื่องการประเมินผลการเรียนรู้ต่าง ๆ ของเด็ก และช่วยผู้ปกครองในการติดตามพัฒนาการของบุตรหลานของตนเองเช่นกัน ซึ่ง Starfish Class และ Starfish Labz ก็เป็นตัวผลิตภัณฑ์ที่เราทำอยู่
และในส่วนของ Starfish Academy เป็นโครงการที่เปรียบเสมือนสมองของเราในการทำงานเรื่องหลักสูตร และการจัดการหลักสูตร รวมทั้งการทำงานกับครู ผู้ปกครองในลักษณะ Online และ Offline รวมถึงกิจกรรมการ Workshop ก็มาจาก Starfish Academy ในส่วนนี้ไม่ได้เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้ นมาเพื่อทำหลักสูตรโดยเฉพาะ แต่ยังถอดองค์ความรู้ที่มีเพื่อทำงานกับโรงเรียนบ้านปลาดาวของเราอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นโรงเรียนที่เน้นเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรม การเรียนการสอนและการจัดการบริหารโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นทุกบทเรียนที่เราได้และตัวทฤษฎีที่เรามีก็จะสามารถนำมาใช้ เเละความที่เราทำงานด้านวิชาการเพื่อการนำหลักแนวคิดทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ เราจึงมีพื้นที่ในการทดลองก่อนที่จะนำมาใช้มีการถอดบทเรียนตรงนี้เพื่อที่จะนำมาใช้ผ่านทาง Starfish Academy และนำองค์ความรู้ที่ได้มาเผยแพร่
“ ปัญหาเรื่องการศึกษาที่มีเยอะมาก ถ้าหากไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ได้ ถึงเราจะแก้ปัญหาได้ไม่หมด แต่คนที่เราร่วมทำงานหรือเด็กที่เราร่วมทำงานด้วยก็จะสามารถแก้ปัญหาชีวิตเขาได้ ”
Q: เนื่องจากปัญหาการศึกษาในประเทศไทยมีมากมาย ทาง Starfish Education มองว่าปัญหาการศึกษาประเด็นใดควรได้รับการแก้ไข
A: เรามุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่เด็กต้องมี เราพูดรวม ๆ ในศตวรรษที่ 21 และมองย้อนกลับไปในเรื่องพัฒนาเด็กและการศึกษา จะมีเด็ก ผู้ปกครอง คุณครู ชุมชน อาจมีคนที่ทำเรื่องของนโยบายที่เกี่ยวข้อง เรามองว่าการที่จะเข้าไปเปลี่ยนระบบใหญ่ หรือ System change อาจจะทำได้ยากในฐานะองค์กรเอกชน เรามองในสิ่งที่เล็กกว่านั้นคือ อะไรบ้างที่เด็กต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเนื้อหาบางส่วนไม่มีการสอนในโรงเรียน สิ่งที่สอนในโรงเรียนอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ รวมถึงเรื่องยากที่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าเด็กควรพัฒนาตัวเองแบบไหน เช่น ในตอนนี้ทักษะที่เด็กได้สร้างในโรงเรียน เหมาะกับอาชีพในปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดเกิดช่องว่างค่อนข้างมากคือ สิ่งที่เด็กเรียนกับสิ่งที่เด็กต้องใช้มันต่างกันเลยมองว่าตรงนี้คือความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมให้เด็กในปัจจุบันและอนาคต ใช้คำว่า Future-ready คือการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตเเละช่วยสร้างความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้จะเกี่ยวข้องในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเรื่องของสังคมและอารมณ์ ซึ่งมีความจำเป็นในการใช้ในชีวิตด้วย
Q: อยากให้ขยายคำว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 ว่ามีทักษะอะไรบ้าง นอกเหนือจากที่กล่าวมา
A: ทักษะในศตวรรษที่ 21 ค่อนข้างเปลี่ยน คือในหนึ่งศตวรรษมีทักษะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งที่จำเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยคือ 4C โดยประกอบไปด้วย Critical Thingking Collaboration Communication และ Creativity ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนพยายามพัฒนาทักษะนี้ให้กับเด็ก เพียงเเต่เรามีทัพยากรเเละวิธีในการจัดการยังไง เช่นในเรื่องของทักษะด้านสังคมเเละอารมณ์ การบริหารจัดการตนเอง และการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ในที่นี้อาจหมายถึง Softskill (ทักษะที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ดีและประสบความสำเร็จ) เป็นทักษะที่จำเป็นหรือแม้กระทั่งในการทำงานทักษะในเรื่องการปรับตัว การสร้าง Growth Mindset หรือ ความคิดในการเติบโต เป็นสิ่งที่จำเป็น เเต่เรามองว่าการศึกษาแบบเดิม จะทำให้เด็กไม่เกิดการพัฒนา โดยเราจึงมีวิธีในการพัฒนาเด็ก ไม่ใช่แค่พูดว่า ทักษะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ตัวผู้ปกครองคุณครูเองก็ไม่มีเครื่องมือ ในการพัฒนาทำให้เราคิดว่าเราอยากที่จะเข้ามาเสริม เเละเติมในเรื่องนี่ได้ ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน การบริหารจัดการโรงเรียน หรือแม้แต่การใช้สำหรับผู้ปกครองในการดูแลเด็ก มองว่าเป็นสิ่งสำคัญและอยากจะชวนให้องค์กรที่มีศักยภาพมาพูดคุย หรือ มาเสริมเรื่องนี้ เพราะในหลักสูตรที่เด็กเรียนในปัจจุบัน อาจจะไม่ทันแล้ว คิดว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันจะสามารถช่วยพัฒนาการศึกษาได้อีกแง่มุมหนึ่ง
Q: การที่จะเตรียมน้อง ๆ เป็น Future-ready นักเรียนที่เรากำลังพูดถึงอยู่เป็นใครบ้างและเรียนอยู่ชั้นไหน กลุ่มเป้าหมายกับกลุ่มผู้เรียนเป็นคนเดียวกันหรือไม่
A: ตอนแรกที่เราทำกลุ่มเป้าหมายหลักมีแค่ 3 กลุ่มคือ ครู ผู้ปกครองและเด็ก อีกส่วนหนึ่งที่ทำคือ Starfish Labz Online Learning Platform เป็นหนึ่งช่องทางที่ใช้ในการใช้ทำงาน ในตอนหลังพบว่ามีเยาวชนที่อยู่ในช่วงมัธยมตอนปลาย ซึ่งเขาเริ่มสนใจที่จะพัฒนาตนเอง อยากเรียนรู้เรื่องของการพัฒนาทักษะ เเต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะไปเรียนที่ไหน ภายหลังเลยทำให้เราคิดว่า ถ้าเด็กมีความพร้อมอยากจะเรียน เราก็พร้อมสื่อสารกับผู้เรียนโดยตรง ซึ่งจะสร้างประโยชน์และตรงตามความต้องการของผู้เรียน โดยกลุ่มเป้าหมายปัจจุบันที่เราทำงานด้วยคือ คุณครู ผู้ปกครอง และเด็ก ซึ่งแต่ละรูปแบบจะแบ่งการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เเละในส่วนของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานร่วมกัน เราทำแบบ B2B คือการร่วมกันเพื่อทำอะไรบางอย่าง เป็นโครงการไป
“ การเตรียมความพร้อมในอนาคต จะช่วยให้เขามีความพร้อมในการอยู่ศตวรรษนี้ยังไง เกี่ยวข้องในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเรื่องของสังคมและอารมณ์ ที่มันจำเป็นในการใช้ในชีวิตด้วย ”
Q: ปัจจุบันมีหลักสูตรใดบ้าง ที่มาของการคิดหลักสูตรเเละเเรงบันดาลใจคืออะไร
A: หลักสูตรมี 2 ลักษณะ คือ
แบบที่ 1 เป็นหลักสูตรที่เราจัดทำขึ้นเอง เกิดการเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาใช้เเละเรียนรู้
แบบที่ 2 จะเป็นหลักสูตรที่ถูกปรับให้เหมาะสม เเละตามความต้องการของโรงเรียนหรือองค์กร
เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะผู้เรียน สิ่งหนึ่งที่เราทำ คือการพัฒนาทักษะผู้เรียน หรือ Maker Space เหมือนเป็นการจัดพื้นที่นักสร้างสรรค์ ที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ ค้นคว้า สร้างผลิตภัณฑ์เเละทำในสิ่งที่ต้องการ โดยที่ผู้ใหญ่เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการสภาพแวดล้อม และช่วยเหลือในเรื่องของกระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งการจะทำแบบนี้สามารถทำได้ในลักษณะโรงเรียนในระบบและแบบ Home school (เรียนที่บ้าน) โดยเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่เราผลิตออกมาค่อนข้างเยอะ แต่ละหลักสูตรไม่ได้มีการตายตัวมาก เพราะขึ้นอยู่กับบริบทของผู้ที่จะเข้ามาเรียน
ในส่วนของของการปรับโรงเรียนคือ การปฏิรูปโรงเรียนทั้งระบบ ซึ่งเราจะทำอย่างไร เเละมีปัจจัยอะไรบ้างที่เราจะต้องมองหา เช่น การพัฒนาครูในโรงเรียน การสร้างเป้าหมาย การทำแผนกลยุทธ์ ซึ่งเป็นส่วนเฉพาะในการจัดการบริหารโรงเรียนอื่น โดยจะเป็นในเรื่องของลักษณะการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน หรือการประเมินรวมไปถึงการสร้างห้องเรียน ให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน ซึ่งเราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้งานของครูได้อย่างไร นับว่าเป็นหลักสูตรที่เรากำลังทำในปัจจุบัน
“ เราคิดว่าเนื้อหาที่สอนในโรงเรียนอาจจะทำให้ปรับตัวไม่ทันหรือตรงกับความต้องการจากช่องว่างที่เกิดขึ้นจึงทำให้เราได้เห็น เเละนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่วนการเรียนการสอน ”
Q: นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นรูปแบบ Online หรือ Offline มากกว่ากัน เเละหากผู้เรียนมีข้อสงสัยจะสามารถใช้การสื่อสารแบบสองทางได้หรือไม่
A: การสื่อสารของเราส่วนใหญ่สถิติผู้ใช้งานผ่านช่องทาง Online เยอะกว่า แบบ Offline เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว และทันเวลามากกว่า ช่องทางในการสื่อสาร อย่าง Starfish Labz เอง ก็มีช่องทางในการติดต่อ เพื่อถามคำถามผ่านกล่องข้อความ และช่องทางที่คนใช้บริการเยอะก็คือช่องทาง Starfish Labz Facebook Page โดยเราจะมีผู้ดูแลระบบเพื่อให้บริการทางด้านข้อมูล รับเรื่องติดต่อ เเละส่งต่อข้อมูลให้กับองค์กร ซึ่งช่องทางที่ติดต่อได้เยอะที่สุดก็จะเป็นผู้ใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์ จำนวน 130,000 ราย นับว่าเป็นช่องทางที่ทำให้ติดต่อกับผู้ใช้งานได้มากที่สุด อีกช่องทางหนึ่งคือแบบ Offline ผู้ใช้งานติดต่อมาในช่องทางที่มากที่สุดคือ โรงเรียนบ้านปลาดาว ซึ่งเรามีสำนักงานอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ เเละ กรุงเทพฯ
Q: อะไรเป็นจุดดึงดูดที่ทำให้ผู้เรียนอยากจะใช้งาน และสตาร์ฟิชมีวิธีการดึงดูดผู้ใช้งานอย่างไร
A: ยิ่งตอนเป็นครูในช่วงเเรก เราออกแบบหลักสูตรที่ค่อนข้างเเน่น แม้จะพยายามทำให้มันเป็นก้อนเล็ก ๆ ไม่ต้องเรียนนาน แต่ในความเล็กที่เราคิดนั้นก็ยังใหญ่สำหรับผู้ใช้งาน เราเลยคิดว่าการที่ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้โดยที่ไม่มีใครบังคับ เราควรตั้งหัวข้อที่มันมีความหมายกับชีวิตเขา เป็นสิ่งที่เขาอยากจะเรียนรู้อยู่แล้ว เเละไม่ยากเกินไป เพราะบางครั้งผู้ใช้งาน ใช้ชีวิตวันนึงก็เหนื่อยมากแล้ว อีกทั้งเขายังจะต้องมาเรียนอะไรที่มันยาก เขาจะรู้สึกไม่ค่อยอยากเรียน เพราะฉะนั้นการลดวิชาการลงเป็นสิ่งสำคัญ และการทำหลักสูตรให้น่าสนใจ การใช้สื่อวิดีโอกราฟฟิค ให้มีความน่าสนใจ รวมไปถึงการใช้คำพูดที่ฟังง่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องการจะปรับเพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้งาน รู้สึกว่า การที่จะเรียนรู้ไม่ใช่การที่จะต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนเรียน แต่อยากให้มองว่าเป็นสิ่งที่อยากจะเรียนและตอบโจทย์ สิ่งที่สำคัญคือ หัวข้อที่เราอยากจะฟังว่าผู้เรียนอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไรเช่น ตอนนี้เด็กอยากจะเรียนรู้ว่าอาชีพที่เขาสนใจ และมีวิธีการจะนำไปสู่อาชีพนั้นอย่างไรบ้าง เช่น ครู พยาบาล หมอ วิศวกร แต่ในปัจจุบันมีความหลายหลายทางอาชีพเช่นการเป็น YouTuber เป็นอาชีพที่เด็กอยากจะเป็น และสนใจทำ แต่เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอาชีพนี้ได้อย่างไร และเราก็เริ่มที่จะปรับ Content บางอาชีพไม่ใช่แค่เด็กที่สนใจ แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ให้ความสนใจด้วย
นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการเตรียมตัว และทักษะการขายของ บางครั้งผู้ที่ขายของออนไลน์ อาจจะต้องหาข้อมูล เเละใช้ความสามารถของตนเองในการประสบความสำเร็จ และยังมีเด็กอีกหลายคนที่อยากจะทำแต่ไม่มีความรู้ เราจึงใช้ช่องทางตรงนี้เป็นส่วนช่วยในการพัฒนาเด็ก และพัฒนาคนที่อยากทำ เมื่อก่อนคนส่วนใหญ่มองว่าบางอาชีพ เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ไม่สามารถสร้างรายได้ เเต่ในปัจจุบันอาชีพนี้กลับเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ เเละมีคนสนใจที่อยากจะทำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่มากับเทคโนโลยี ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าหากเราทำจะได้รับการตอบรับ และได้รับความสนใจได้ดีจากผู้ใช้งานเป็นอย่างยิ่ง
“ สิ่งที่เราทำเพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าการที่จะเรียนรู้ไม่ใช่การที่จะต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนเรียน ให้มองว่าเป็นสิ่งที่อยากจะเรียนและตอบโจทย์ เเละสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ”
Q: เป้าหมายและผลลัพธ์ทางสังคม ที่องค์กรอยากจะให้เกิดขึ้นคืออะไร
A: เพราะเราไม่ได้มองว่าสิ่งใดคือความสำเร็จที่สุด เราตั้งเป้าหมายในแต่ละโครงการ ว่าเราอยากจะประสบความสำเร็จอะไร ซึ่งถ้าเราประสบความสำเร็จในโครงการนั้น และเราจะมองต่อไปว่าสามารถใช้โครงการนั้นไปต่อยอดได้อย่างไร ซึ่งความสำเร็จของเรา คือการทำให้เด็กประสบความสำเร็จได้ เราคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นภารกิจที่จะทำให้เราถึงเป้าหมายมากกว่า และเราต้องปักหมุดบางอย่างเพื่อที่จะวัดความสำเร็จ แต่ด้วยฐานของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้เราคิดว่าสิ่งที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ กับสิ่งที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตแตกต่างกัน เราไม่มองในการประสบความสำเร็จที่สุด แต่มองในเรื่องของ Small win คือการต่อยอดในการปรับและพัฒนาการบริการ และการทำเพื่อสังคมได้อย่างไร แต่เรามองว่ามันเป็นนวัตกรรม ที่ต้องเกิดขึ้นจากการต่อยอด
ปัจจุบันมีปัญหาเกิดขึ้นทุกวันเราเลยมีไม่มีเป้าหมายที่สิ้นสุด เราพยายามทำงานแบบทำไปปรับไป โดยดูว่าต้องเปลี่ยนอะไร พัฒนาอะไร แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยินดีกับสิ่งที่สำเร็จ เรามีการชื่นชมตนเอง ทีมงาน จากนั้นเราก็ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
“ การเข้าไปเปลี่ยนระบบใหญ่อาจจะทำได้ยาก เราในฐานะองค์กรเอกชน จึงไปมองถึงสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอนหรือไม่ตอบโจทย์คือเรื่องทักษะในชีวิตประจำวันเพื่อให้เยาวชนสามารถพัฒนาตนเองได้ ”
Q: วิธีการวัดผลลัพธ์ทางการศึกษามีความเชื่อมโยงกับการวัดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไร
A: เราคิดว่าการวัดผลลัพธ์ที่จริงแล้วเป็นเรื่องยาก ซึ่งเรามีการคุยกับทีมเสมอว่า เราจะมีการวัดผลทางบวกของเราได้อย่างไร จึงได้ข้อสรุปว่าทางออนไลน์ เราก็จะสามารถวัดได้จากค่าการปฎิสัมพันธ์ แต่ถ้าเรามองไปลึกกว่านั้นในมุมมองของการทำงานวิชาการ เช่น Starfish Academy เอง ก็เป็นโครงการที่เราทำวิจัย และมีการวัดผลด้วยเครื่องมือวิจัย ซึ่งเราสามารถทำได้ในบริบทที่เราทำงานกับโรงเรียน คือการเข้าไปช่วยเรื่องการพัฒนาโรงเรียน เราสามารถวัดค่าตรงนี้ได้ แต่ถ้าเป็นเชิงการทำงานวงกว้าง Social media เองจะไปวัดในเชิงของช่องทางออนไลน์ หากมองลึกไปกว่านั้นคือ เราพยายามจะมองว่าคนที่เข้ามาใช้บริการของเรานั้นเป็นใคร เพื่อหากระแสตอบรับจากเขา และต้องการข้อมูลในเชิงคุณภาพ ว่าเขาได้อะไรจากการที่เขาเข้ามาอยู่ใน Platform ของเรา มีความชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งเราสามารถใช้หลากหลายกลยุทธ์ในการวัดผล แต่ในการวัดผลกระทบต้องมองทั้ง 2 มุมไม่ใช่แค่ว่าทำ Workshop content ไปแล้วจบ แต่เราต้องวัดว่าคนที่รับบริการแล้วได้อะไรกลับไป
Q: ในแง่ความยั่งยืนขององค์กร์ รายได้มาจากช่องทางใดบ้างที่จะทำให้องค์กรสามารถทำงานต่อไปได้
A: เราต้องคิดว่าการที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ฐานมาจากการทำงานพัฒนา ความหมายของคำว่าพัฒนาคือ ไม่มีจุดสิ้นสุด มันอาจจะสิ้นสุดในธงที่เคยปักไว้ แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีจุดสิ้นสุด เเละความคิดที่ว่าการทำงานที่ดี ควรจะมีจุดสิ้นสุดในการทำงาน คือหมายความว่า ใน 1 โครงการใหญ่ จะมีโครงการย่อยที่เราต้องการพัฒนา เมื่อเราทำโครงการย่อยสำเร็จเ เราต้องคิดต่อว่าภารกิจต่อไปคืออะไร ต้องฟังเสียงของผู้รับผลประโยชน์เป็นหลักว่าเขาต้องการอะไร ความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาคืออะไร ซึ่งความยั่งยืนองค์กรมาจากการที่เราหาว่าลูกค้าของเราต้องการซื้อผลิตภัณฑ์แบบไหน ในที่นี้หมายถึงต้องตอบโจทย์และพัฒนาผู้ใช้งาน และถ้ามองถึงความยั่งยืน โดยต้องมองว่าสิ่งที่เราทำได้คือผลิตภัณฑ์อะไร เเละสามารถตอบโจทย์ลูกค้าด้านใดได้บ้าง วิธีการปรับตัวหากยืนยันที่จะทำแบบเดิม ที่คิดว่าใช้ได้ในทุกธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายจะไม่มีลูกค้า เพราะไม่ตอบโจทย์ตลาด ดังนั้นเราจึงต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ
Q: การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการทำเพื่อสังคมคิดว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร
A: เรามองว่าแต่ละธุรกิจมีความท้าทายที่แตกต่างกัน ในการดำเนินธุรกิจใช้อะไรเป็นทรัพยากร มีหลากหลายโมเดล ในเมื่อเป็นธุรกิจเราต้องมองถึงค่าใช้จ่าย เนื่องจากเรามาจากมูลนิธิ การบริหารจัดการก็จะเป็นคนละแบบ เราจึงต้องมีการจัดสรรรายได้ว่าจะนำไปใช้ในลักษณะใดบ้าง จะนำไปใช้ในการทำธุรกิจ ถ้าเราสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ที่ไม่มีความสามารถในการซื้อ แล้วเขาจะซื้อผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างไร โดยอยากให้บริการของเราคาบเกี่ยวคนให้ได้มากที่สุด และหาเเหล่งเงินทุนเพื่อนำไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยสิ่งที่เรามองหาคือ การขับเคลื่อนสังคมควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายที่เราต้องจัดสรรด้วยเหมือนกัน
Q: ถ้าเราต้องการขยายลัพธ์ทางสังคมในอนาคต เรามีวิธีการอย่างไร
A: ผลลัพธ์ที่เราคาดว่าน่าจะเป็นไปได้ คือการสร้างเครือข่าย เราคิดว่าบางครั้งต้นทุนไม่ได้มาในลักษณะของเงินทุนเพียงอย่างเดียว บางครั้งอาจมาในลักษณะของการร่วมมือกัน เรามองว่าการมีเพื่อนที่มีความคิดในการพัฒนาคล้ายกัน แต่ไม่ได้ทำงานเหมือนกัน 100 % ถือว่าเป็นการเเลกเปลี่ยนความคิด เช่น การสร้างเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเอง ต้องมีใจเพื่อทำเพื่อสังคม เครือข่ายเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยกันเป็นการสร้างความเข้มแข็ง สิ่งที่อยากทำเพิ่มเติม แต่คือการสร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น โอกาสที่เข้ามาจะทำให้เราได้ทำงานด้วยกัน เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น
Q: โอกาสอะไรที่ Starfish มองว่าจะทำให้องค์กรเติบโตทั้งในแง่ผู้ใช้ รายได้ ที่มากขึ้น
A: คิดว่าโอกาสที่เราต้องการคือเรื่องของการรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับงานที่เราทำ เราไม่มีความถนัดในเรื่องของเรื่องการประชาสัมพันธ์ การที่เราทำงานเยอะแต่ไม่มีใครรู้จะไม่เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งเราจะทำอย่างไรที่สามารถบอกต่อได้ ยกตัวอย่างเช่น Platform ของเราเองก็เป็นโอกาสที่ทำให้ทุกองค์กรสร้างการรับรู้ในเรื่องของ ภารกิจ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายฐานการรับรู้ เเละฐานการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น
“ องค์กรจะยั่งยืนได้เราต้องรู้วิธีการปรับตัวเสมอ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หากยืนยันจะทำแบบเดิมสุดท้ายจะไม่มีลูกค้า เพราะไม่ตอบโจทย์ตลาดอีกต่อไป ”
Q: สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน เเละคนในสังคม
A: เราคิดว่าเรื่องของการศึกษา โดยตอนนี้ในทุกคนที่อยู่ในประเทศอยู่ในฐานะครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ทุกคนรู้ดีว่าการศึกษาที่ดี ควรให้เด็กได้เรียนรู้ เเละมีอีกหลายอย่างในการศึกษาที่ต้องปรับ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ต้องปรับการศึกษา ในหลายประเทศก็พบความยากลำบาก เนื่องจากโครงสร้างทางการศึกษาที่มีความซับซ้อน มีข้อบังคับ ทำให้เกิดการแข็งตัวของระบบการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งพวกเราเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นได้ชัดคือ เรื่องโควิด เป็นต้น สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น เราก็เห็นได้จากสถานการณ์นี้ เเละเราไม่สามารถคาดเดาทางการศึกษาว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นแรงความคิดและขับเคลื่อน ในการทำงานว่าจะให้รับมือได้อย่างไร เพราะเด็กไม่หยุดโต เด็กเองต้องปรับตัวอยู่เสมอ และอะไรเป็นแรงเสริมในการที่ให้เขาเติบโตไปได้
โดยประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดว่าจะมีวิธีอย่างไร และแรงของ Starfish เพียงคนเดียวคงเปรียบเหมือนการโยนปลาดาวลงทะเล โยนเท่าที่เราโยนได้ เเต่ในทางกลับกันก็มีปลาดาวอีกจำนวนมาก ซึ่งประเด็นเรื่องการศึกษา คือเราจะทำอย่างไรให้การศึกษาตอบโจทย์ ความต้องการของเด็กในปัจจุบัน ซึ่งครอบครัวก็ควรดูแลเรื่องการศึกษาให้กับเด็ก ไม่น้อยไปกว่าครู เเละชุมชนเองต้องมีเป้าหมายว่า อยากให้เด็กในชุมชนมีทักษะหรือการศึกษาแบบไหน
สุดท้ายนี้อยากชวนทุกคนให้มองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน กลุ่มคนที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศของเรา ต้องได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ เเละเราเองในฐานะองค์กรต้องทำให้องค์กรเเข็งเเรงขึ้น เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายการทำงานให้กว้างขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าการทำภารกิจเพื่อขับเคลื่อนสังคม จึงจะเรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งนี้เราเลยอยากจะเชิญชวนเพื่อนที่มีภารกิจทำงานใกล้เคียงกัน มาขับเคลื่อนการศึกษาไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนา
“ อยากชวนทุกคนให้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่คนเฉพาะกลุ่ม เพราะสุดท้ายคนที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศของเรา เขาต้องได้รับการศึกษาที่ดีเพื่อจะมีความรู้มาพัฒนาประเทศต่อไป ”