บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศ ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากผลการศึกษาในโครงการสภาพการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย (State of Social Enterprise in Thailand) จัดทำโดย บริติช เคาน์ซิล โดยการสนับสนุนของ HSBC และด้วยความร่วมมือกับ ESCAP, Social Enterprise UK สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand)
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.sethailand.org/resource/state-of-social-enterprise-in-thailand/
ใครบ้างเป็นธุรกิจเพื่อสังคมและมีธุรกิจเพื่อสังคมอยู่กี่แห่งในประเทศไทย
แม้ว่าแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นที่กล่าวถึงในประเทศไทยเพียงช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ประเทศไทยมีองค์กรที่ดำเนินงานด้วยแนวคิดนี้มาก่อนหน้านั้นอย่างยาวนาน แผนแม่บทเสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553–2557 (ต่อไปนี้เรียกว่า “แผนแม่บท”) แบ่งธุรกิจหรือกิจการเพื่อสังคมออกเป็น 6 ประเภท ตามกลุ่มบุคคล/องค์กรที่ก่อตั้ง ประเภทแรก คือกิจการที่ก่อตั้งโดยเครือข่ายและองค์กรชุมชน ประเภทนี้ครอบคลุมสหกรณ์ ซึ่งมีการจัดตั้งมากว่าร้อยปี และวิสาหกิจชุมชนซึ่งมีการจัดตั้งตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จุดเด่นของกิจการประเภทนี้คือ มีการจัดตั้ง เป็นเจ้าของ และบริหารจัดการโดยกลุ่มผู้รับผลประโยชน์เอง ประเภทที่สอง คือกิจการที่จัดตั้งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และต่อมามีการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน กิจการที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มนี้ก่อตั้งมายาวนานกว่า 30 ปี เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ Cabbages and Condoms ประเภทที่สาม ซึ่งมีค่อนข้างน้อย คือกิจการที่ก่อตั้งโดยหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ประเภทที่สี่ คือกิจการที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล ประกอบกับระบบนิเวศในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมที่เติบโตขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีองค์กรตัวกลางหลายองค์กรเกิดขึ้นเพื่อบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม การมีงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น รวมไปจนถึงโครงการส่งเสริมจากองค์กรระหว่างประเทศ ประเภทที่ห้า คือกิจการที่ก่อตั้งโดยธุรกิจเอกชน ซึ่งเกิดจากการผันงาน CSR ของบริษัทให้มีสภาพนิติบุคคลและดำเนินงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมที่แยกต่างหากออกจากบริษัทแม่ และ ประเภทสุดท้าย คือกิจการลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในห้าประเภทแรก
ประเทศไทยยังมีนิยามตามกฎหมายสำหรับ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม คือนิติบุคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดเบียนแล้วจะสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ได้แก่ กู้ยืมเงินจากกองทุนสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการ รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการประกอบกิจการระยะเริ่มแรก (ไม่เกิน 2 ปี) สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร สิทธิประโยชน์ตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ปัจจุบันมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว 148 องค์กร (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564)
องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมโดยมากเห็นว่านิยามตามกฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการระบุกิจการที่เข้าเกณฑ์ในการรับการส่งเสริมจากรัฐบาล มากกว่าจะเป็นเกณฑ์ตายตัวในการพิจารณาว่ากิจการนั้น ๆ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือไม่ และควรได้รับการสนับสนุนจากองค์กรตัวกลางหรือเปล่า การศึกษาตามโครงการสภาพการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยไม่ได้ใช้นิยามตาม พ.ร.บ. แต่ใช้นิยามที่ใกล้เคียงกับองค์กรตัวกลาง และเชิญชวนให้ธุรกิจเพื่อสังคมทั้งหกประเภทตามแผนแม่บทฯ เข้าร่วมให้ข้อมูลประกอบการศึกษา รายงานฉบับนี้ยังใช้ตัวเลขคาดการณ์จำนวนธุรกิจเพื่อสังคมที่มีในประเทศไทยตามแผนแม่บทฯ ซึ่งได้ประมาณการไว้ 116,298 ราย โดยมี 1,915 รายดำเนินกิจการในกรุงเทพฯ และส่วนที่เหลือดำเนินงานในต่างจังหวัด
ในการสำรวจข้อมูล มีองค์กร 200 แห่งเข้าร่วมการสำรวจ โดย 146 แห่งเข้าเกณฑ์การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ระบุไว้ในโครงการ ได้แก่ มีวัตถุประสงค์ทางสังคม มีการหารายได้จากการขายสินค้าและบริการ และใช้กำไรในการลงทุนซ้ำเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม องค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจโดยมากเป็นองค์กรประเภทที่สองถึงประเภทที่ห้าตามการจำแนกประเภทในแผนแม่บทฯ ส่วนประเภทที่หนึ่งคือองค์กรชุมชน เข้าร่วมการสำรวจค่อนข้างน้อย เนื่องจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงการสำรวจ ทำให้ผู้จัดทำโครงการสำรวจออนไลน์ได้เท่านั้น ซึ่งองค์กรชุมชนในต่างจังหวัดอาจมีอุปสรรคในการเข้าถึงการสำรวจออนไลน์ นอกจากนี้องค์กรชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองว่าตนเองเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ด้วยเหตุนี้ การศึกษาจึงสะท้อนลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคมประเภทที่สองถึงประเภทห้ามากกว่านั่นเอง
ธุรกิจเพื่อสังคมมีหน้าตาประมาณไหน
ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอายุน้อย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กว่าครึ่งของธุรกิจเพื่อสังคม (53.4%) จัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2551–2560 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายรัฐในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในช่วงเวลานั้น ประกอบกับระบบนิเวศในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมเริ่มมีความคึกคักขึ้น เห็นได้จากจำนวนองค์กรตัวกลางที่เข้ามาบ่มเพาะและสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจเพื่อสังคม อัตราการเกิดใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคมสูงขึ้นในระยะหลัง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของธุรกิจเพื่อสังคมที่จัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2561–2563 ซึ่งมีมากถึง 24% ของจำนวนธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด และอัตราการเกิดใหม่เฉลี่ยต่อปีของปี 2561–2563 สูงกว่าปี 2551–2560 ถึง 49%
แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมาย แต่การจดทะเบียนดังกล่าวไม่ได้ให้สถานะความเป็นนิติบุคคลกับผู้จดทะเบียน ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจเพื่อสังคมทั้งที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมและไม่ได้จดทะเบียนมีรูปแบบองค์กรทางกฎหมายที่หลากหลาย โดยมากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัด (62.3%) ส่วนที่เหลือจดทะเบียนในรูปของสหกรณ์ (8.2%) และมูลนิธิหรือสมาคม (5.5%) ห้างหุ้นส่วน (4.1%) และวิสาหกิจชุมชน (3.4%) กว่า 10% ระบุว่ายังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
ธุรกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่ที่ไหน
56.2% มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านั้นดำเนินงานในกรุงเทพฯ เท่านั้น มีธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่มีการดำเนินงานในจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาคเกษตร
ธุรกิจเพื่อสังคมมีขอบเขตการดำเนินงานหลายระดับ ขอบเขตการดำเนินงานในที่นี้หมายรวมถึงพื้นที่ในการดำเนินกิจการไปจนถึงตลาด ธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่ดำเนินงานในระดับที่เล็กกว่าจังหวัด (31.5%) ตามมาด้วยระดับประเทศ (30.1%) ระดับจังหวัด (19.2%) ยังมีจำนวนน้อยที่ดำเนินงานในระดับภูมิภาคและระดับโลก (9.6% สำหรับทั้งสองกรณี)
ใครเป็นผู้นำในธุรกิจเพื่อสังคม
ผู้นำของธุรกิจเพื่อสังคมในเมืองไทยอยู่ในกลุ่มอายุที่หลากหลาย กลุ่มที่อายุน้อยที่สุด คือช่วงอายุ 18–24 ปี มีสัดส่วน 1.4% ขององค์กรที่เข้าร่วมสำรวจทั้งหมด สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามช่วงอายุและมีสัดส่วนสูงสุดในช่วงอายุ 35–44 ปี ซึ่งมีสัดส่วน 27.4% ตัวเลขดังกล่าวค่อย ๆ ลดลงหลังช่วงอายุนี้ โดยองค์กรที่มีผู้นำอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 6.9%
ธุรกิจเพื่อสังคมมีผู้นำเป็นผู้หญิงมากกว่าธุรกิจโดยทั่ว ๆ ไป แม้ว่าธุรกิจเพื่อสังคมที่นำโดยผู้หญิงจะมีสัดส่วนเพียง 39.4% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าสัดส่วนองค์กรธุรกิจทั่ว ๆ ไป ถึง 11% นอกจากนี้ธุรกิจเพื่อสังคมยังสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับผู้หญิงจำนวนมากถึง 58% ในกลุ่มพนักงานเต็มเวลา และ 68% ในกลุ่มพนักงานไม่เต็มเวลา จากจำนวนพนักงานทั้งหมด
ธุรกิจเพื่อสังคมทำงานในประเด็นปัญหาอะไรบ้าง
วัตถุประสงค์ทางสังคมห้าอันดับแรกที่ธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมการสำรวจระบุ ได้แก่ เพื่อพัฒนาชุมชน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการศึกษา เพื่อพัฒนาสุขภาพและความอยู่ดีกินดี และเพื่อสนับสนุนองค์กรสังคมอื่น ๆ ผู้เข้าร่วมการสำรวจระบุกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ห้าอับดับแรกสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางสังคม ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มองค์กร (องค์กรไม่แสวงหากำไร วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว ธุรกิจเพื่อสังคม กลุ่มช่วยเหลือตนเอง และชุมชน) และกลุ่มผู้หญิง มีธุรกิจเพื่อสังคมมากถึง 27.4% ที่รายงานว่ามีผู้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานของตนมากกว่า 1,000 รายขึ้นไป
เพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมที่ระบุไว้ ธุรกิจเพื่อสังคมมีการดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย สามอันดับแรก ได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง (15.8%) การศึกษา (12.3%) สุขภาพและบริการสังคม (11.6%) ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่งถักทอวัตถุประสงค์ทางสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เช่นการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยธุรกิจการเกษตร ในขณะที่บางส่วนดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้รับผลประโยชน์โดยตรง แต่สร้างผลกระทบทางสังคมผ่านการจัดสรรกำไรไปเป็นประโยชน์ต่อผู้รับผลประโยชน์
ตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมในอุตสาหกรรมหลักสามอันดับแรก ได้แก่
เกษตรกรรม – บริษัทแจสเบอร์รี่ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ที่มีรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์เป็นที่ดึงดูดในตลาดโลก โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ Jasberry® บริษัทเริ่มจากการทำงานกับชาวนา 25 ครัวเรือนในปีแรก จนปัจจุบันสามารถขยายไปยังชาวนากว่า 2,500 ครัวเรือน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาให้พ้นจากความยากจน การดำเนินธุรกิจของแจสเบอร์รี่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาเมล็ดพันธุ์อินทรีย์คุณภาพสูงให้กับชาวนา ฝึกอบรมชาวนาเพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพสูง รับซื้อผลผลิตจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าผลผลิตข้าวดั้งเดิมถึง 200% แปรรูปและบรรจุ ไปจนถึงทำการตลาดให้กับสินค้าทั้งในและต่างประเทศ กำไรจากการดำเนินธุรกิจได้รับการลงทุนซ้ำในรูปของการอบรมชาวนา ขยายกลุ่มชาวนา และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยชาวนาในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การศึกษา – โรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทั่วประเทศ โดยโรงเรียนมีที่มาของรายได้จากกำไรของธุรกิจเพื่อสังคมหลายแห่ง ที่จัดตั้งขึ้นโดยคุณมีชัย วีระไวทยะ เช่น ร้านอาหาร Cabbages and Condoms รีสอร์ท Birds and Bees ในช่วงแรกของการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมทั้งสองแห่งนี้ กำไรจากการดำเนินธุรกิจได้ถูกนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาระดับชาติ ได้แก่ การขาดการวางแผนครอบครัว และการแพร่ระบาดของไวรัส HIV-AIDS หลังจากที่ปัญหาเหล่านี้บรรเทาลงแล้ว ธุรกิจเพื่อสังคมกลุ่มนี้ได้ปรับวัตถุประสงค์มาสนับสนุนด้านการศึกษาผ่านโรงเรียนมีชัยพัฒนา โรงเรียนมีการสร้างหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนานักธุรกิจเพื่อสังคมตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน และยังเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจให้กับชุมชนโดยรอบ ผ่านการให้ความรู้ด้านการประกอบการ และกองทุนระดับหมู่บ้านที่ให้ชาวบ้านสามารถกู้ยืมเพื่อลงทุนในธุรกิจของตนเองได้
สุขภาพ – บัดดี้ โฮมแคร์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ใช้นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาของคนสองกลุ่มในเวลาเดียวกัน ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล และเยาวชนชาติพันธุ์ที่มีรายได้น้อยและขาดโอกาสในการศึกษา บัดดี้ โฮมแคร์ จัดการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุให้กับเยาวชนชาติพันธุ์ ปัจจุบันมีเยาวชนที่ได้รับการอบรมแล้ว 35 คน ในจำนวนนี้ 15 คนเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุกับบัดดี้ โฮมแคร์ต่อ ส่วนที่เหลือทำงานในสายงานสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขและผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน การดำเนินงานของบัดดี้ โฮมแคร์ ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสการจ้างงานให้กับเยาวชนชาติพันธุ์ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้สูงอายุในครอบครัวชนชั้นกลางได้รับการดูแลที่ถูกต้องตามหลักวิชาในราคาที่เข้าถึงได้ กำไรจากการดำเนินงานได้รับการลงทุนซ้ำเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมในรูปแบบของการขยายการฝึกอบรมให้เยาวชนชาติพันธุ์ และให้บริการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวที่มีรายได้น้อย
ธุรกิจเพื่อสังคมพบเจออุปสรรคอะไรบ้าง
การศึกษาพบว่าอุปสรรคสามอันดับแรกของธุรกิจเพื่อสังคมในเมืองไทย ได้แก่ ปัญหากระแสเงินสด (34.3%) ปัญหาการเข้าถึงทุนทั้งเงินกู้และเงินลงทุน (23.3%) และการขาดความเข้าใจจากสาธารณชนและผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม (22.6%)
การระบุปัญหาด้านการเงินทั้งปัญหากระแสเงินสดและการเข้าถึงเงินทุนสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาอีกประการหนึ่ง คือแหล่งที่มาของการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม โดยธุรกิจเพื่อสังคมระบุแหล่งที่มาของเงินทุนสามอันดับแรก ได้แก่ เงินสนับสนุนจากเอกชน (26%) เงินทุนจากครอบครัวและเพื่อน (25.3%) และเงินส่วนตัวของเจ้าของกิจการที่มาจากงานหรือแหล่งอื่น ๆ (23.3%) สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาเงินทุนจากแหล่งทุนที่ไม่เป็นทางการ และยังมีอีกจำนวนหนึ่ง (21.2%) ที่ระบุว่าไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากแหล่งใดเลย
สาเหตุของอุปสรรคด้านการเงินมีความแตกต่างกันระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมระยะตั้งต้นและระยะเติบโต ผู้สำรวจที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมระยะตั้งต้นระบุว่าการมีโมเดลธุรกิจที่ยังไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถรับเงินทุนได้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการสนับสนุนองค์กรบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมมีโมเดลที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น
สำหรับธุรกิจเพื่อสังคมระยะเติบโต ผู้สำรวจระบุสาเหตุสองประการ ประการแรกคือข้อจำกัดในการเข้าถึงเครือข่ายนักลงทุน กล่าวคือมีนักลงทุนอยู่แต่ไม่มีความสามารถในการเข้าถึง เมื่อมองจากอีกมุมอาจเห็นได้ว่านักลงทุนไทยที่ลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม (impact investors) ยังมีไม่มาก ดังนั้นจึงยังมีโอกาสสำหรับองค์กรตัวกลางในการทำความเข้าใจกับนักลงทุนในการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนมาลงทุนเพื่อสังคมมากขึ้น รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมในการสื่อสารความคาดหวังทั้งด้านผลตอบแทนทางการเงินและการสร้างผลกระทบของทั้งสองฝ่ายให้สอดคล้องกัน สาเหตุประการที่สองเกิดจากการไม่เข้าเกณฑ์กู้เงินจากธนาคาร ซึ่งโดยมากเกิดจากการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันของธุรกิจเพื่อสังคม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนดังกล่าวยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจเพื่อสังคมย่ำแย่ลง ธนาคารออมสินร่วมกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมจึงได้จัดทำโครงการพิเศษเพื่อให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษกับธุรกิจเพื่อสังคม เงื่อนไขพิเศษนี้ครอบคลุมการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีมูลค่าน้อยลง การผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาผลประกอบการย้อนหลัง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยธุรกิจเพื่อสังคมสามารถนำเงินกู้ไปใช้ในการลงทุนระยะสั้น ระยะยาว หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในองค์กร
อุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน คือปัญหาด้านความเข้าใจของบุคคลทั่วไปและผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจเพื่อสังคม การสร้างความใจต่อสาธารณะจะมีผลอย่างยิ่งยวดต่อการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสหลาย ๆ ด้านให้กับธุรกิจเพื่อสังคม ได้แก่ การเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการของธุรกิจเพื่อสังคม การแก้ไขปัญหาการดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถเข้ามาทำงานกับธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจนการเข้าถึงเงินทุนด้วย
เราจะทำอะไรได้อีก
การศึกษามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและองค์กรตัวกลางที่ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ดังนี้
- สร้างความตระหนักเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดประกวดแข่งขัน การจัดงานประจำปี การทำแคมเปญสื่อสาร เป็นต้น
- ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อออกแบบนโยบายในการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมอย่างตรงจุด
- สนับสนุนการวัดผลและนำเสนอผลลัพธ์ทางสังคมของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงการทำให้แนวทางหรือเครื่องมือในการวัดผลใช้ได้ง่ายและใช้ได้จริง
- เร่งการบังคับใช้สิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนและการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมจากบุคคลทั่วไปด้วยการให้แรงจูงใจทางภาษี (กฎหมายในปัจจุบันรองรับการให้แรงจูงใจทางภาษีเฉพาะกับนิติบุคคล)
- ทำให้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นรูปธรรม โดยการหาแหล่งเงินทุนที่มั่นคงในช่วงตั้งต้นและทำให้ขยายได้ในอนาคต โดยอาจสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมกองทุนด้วยการลดหย่อนภาษี หรือให้ผลตอบแทนจากกองทุน
ผู้เขียน สุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม ผู้จัดการทั่วไป สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม