หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องราวท้องถิ่นและสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวัน กล่าวคือผู้คนในชีวิตประจำวันความตั้งใจในการต่อสู้กับปัญหา โอกาสในแต่ละวัน และที่สำคัญที่สุดความหมายที่แท้จริงของชีวิต เราเฝ้ามองวิธีที่ผู้คนเหล่านี้ค้นพบ(ใหม่) พลังของความร่วมมือเพื่อเพิ่มความสามารถของพวกเขา และบ่อยครั้งวิธีการที่ค้นพบ(ใหม่)นี้ ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มรูปแบบใหม่ (องค์กรประสานความร่วมมือ) และสิ่งประดิษฐ์ที่องค์กรเหล่านี้ใช้เป็นพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหา นักออกแบบเป็นส่วนที่แข็งขันของการค้นพบใหม่นี้
ทุกวันนี้ “วัฒนธรรมการออกแบบ” มีบทบาททั้งด้านการดำเนินชีวิตของผู้คนในแวดวงต่างๆ มีการพูดถึงกันมากเรื่อง “การร่วมออกแบบ” อันมีนัยถึงการมีส่วนร่วม การคิดเชิงออกแบบนี้ไม่ได้แบ่งพรมแดนของคนทั่วไปกับนักออกแบบในแง่ของการร่วมเผชิญกับความท้าทายมากมายรายรอบตัวเราหนังสือเล่มนี้ได้ให้ความชัดเจนต่อการริเริ่มต่างๆ มากมายทั้งก่อนและหลังกระแส “ร่วมออกแบบ ร่วมสร้างสรรค์” (Co-design Co-creation)ผู้เขียน ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ อาจารย์ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมผู้ผันตนเองมาทำงานและกระตุ้นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอิตาลีถึงการออกแบบสังคม อันเป็นได้ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การออกแบบเชิงพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ความเป็นเจ้าของร่วม โดยสรุปคือการออกแบบโครงการชีวิตของผู้คนหรือองค์กร การออกแบบสำหรับโลกที่แท้จริงนี้จึงมากกว่าการออกแบบวัสดุเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมและการพาณิชย์ แต่คือการเข้ามาสู่ปริมณฑลแห่งชีวิตสังคมและนักออกแบบทั้งสมัครเล่นเช่นคนทั่วไป และนักออกแบบมืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญจะประสานความร่วมมือกัน
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการออกแบบพื้นที่ชีวิตตนเอง พื้นที่ละแวกบ้านหรือย่าน หมู่บ้าน ชุมชนอย่างที่เราร่วมฝันและทำให้นวัตกรรม มุ่งสู่อารยธรรมใหม่ เป็นจริงร่วมกันในท่ามกลางความท้าทายของสังคมที่มีทั้งวิกฤติและโอกาสในแง่วิกฤติ คงนำมาวางเรียงได้ยืดยาว อาทิ ความไม่เสถียรของภูมิอากาศโลกความไม่ปลอดภัยของอาหารและธรรมชาติแวดล้อม เมืองที่ไร้ระเบียบและความสัมพันธ์ของผู้คน สังคมผู้สูงวัยกับความเร่งรีบของเด็กและคนวัยทำงานแต่ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เปิดออกสู่หนทางใหม่ๆ มากมาย ทั้งกระบวนการและรวมถึงเครื่องมือที่ได้แจกแจงวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นในการสร้างเมืองหรือชุมชนแห่งการประสานความร่วมมือ
สังคมไทยมีการริเริ่มจำนวนไม่น้อยที่ได้แสดงศักยภาพของพลังพลเมือง ดังที่เรามีกระบวนการอาหารท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบที่ให้ความมั่นใจแก่ผู้ผลิตผู้บริโภคว่าจะได้อาหารที่ดีปลอดภัยด้วยการออกแบบการประสานความร่วมมือของคนกินคนปลูก พลังพลเมืองอาหารนี้ดีต่อเราและดีต่อโลก เรายังได้ยินเรื่องราวของการสร้างเมืองหลายแห่งจากการประสานความร่วมให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ช่วยลดปัญหาและความท้าทายของสังคมเมือง โอกาสที่เปิดออกนี้เป็นความร่วมมือทั้งของคนในพื้นที่และกระบวนการออกแบบของนักออกแบบ ทั้งหมดนี้นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมสังคม เราทุกคนจึงต่างเป็นนักออกแบบและนักนวัตกรรมสังคมไปในเวลาเดียวกัน
หากการเชื่อมต่อของ “ท้องถิ่นเปิดรับสากล” (Cosmopolitan Localism) ในสังคมยุคดิจิทัล หนังสือเล่มนี้อาจช่วยนำทางให้การเชื่อมต่อนี้สร้างคุณูปการในทางสร้างสรรค์แก่ทั้งท้องถิ่น โดยตระหนักว่ามีพลังที่ขับเคลื่อนไปในทิศทางบวกเช่นนี้อยู่ในที่ต่างๆ ของโลกด้วย และถ้าเรานำพลังพลเมืองเหล่านี้มารวมกัน โลกที่ทุกคนฝันถึงก็มีความเป็นจริงมากขึ้นโลกที่ดีจึงอยู่ที่เราทุกคนเพราะเราต่างเป็นนักออกแบบ สำนักพิมพ์จึงหวังใจว่าเนื้อหาของหนังสือจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกอันน่าปรารถนาร่วมกัน
ดาวน์โหลด: หนังสือ เราต่างเป็นนักออกแบบ.pdf
ที่มา: มูลนิธิสยามกัมมาจล