“เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองด้วยหลักการ “อยู่สบาย ตายสงบ” | SE Stories ตอนที่ 3

ในชีวิตของเรา ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต้องพบกับความเจ็บป่วย และความตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากเราเลือกได้ เราก็คงอยากมีโอกาสเลือกใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายแบบที่เราต้องการโดยไม่ต้องมาแบกรับความคาดหวังในการรักษาจากญาติและคนรอบตัว เพราะความจริงแล้ว โรคบางโรคอย่างเช่นโรคมะเร็งระยะลุกลาม อย่างไรก็รักษาไม่หาย และการรักษาเพื่อยื้อชีวิตก็ต้องแลกกับความเจ็บปวดจากการ ผ่าตัด ฉายรังสี ให้เคมีบำบัด เป็นต้น

ด้วยความเชื่อที่ว่า “นาทีนี้ไม่ควรมีใครต้องทรมานก่อนตาย” ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้อำนวยการของเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม และศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ริเริ่มโครงการ “เยือนเย็น” เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับทั้งผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายและครอบครัว ให้ได้เลือกคุณภาพชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายที่ดีที่สุด

Yuenyen Cover Photo with logo
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร – ผู้อำนวยการของเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม และศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Q: จุดเริ่มต้นของเยือนเย็นเป็นอย่างไร และมองเห็นปัญหาอะไรที่ต้องการเข้าไปแก้ไข

A: เดิมทีหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็ง หากผู้ป่วยต้องการรักษาโรคนี้ให้หายก็ต้องแลกกับความเจ็บปวดในการรักษา ทั้งจากการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ซึ่งสำหรับโรคมะเร็งบางชนิดนั้น หากเป็นเยอะแล้วก็จะเข้าสู่ระยะลุกลาม รักษาไม่หายแล้วยังอาจกลับมาใหม่ เราเรียกกรณีแบบนี้ว่าเป็นการยอมเจ็บตัวเพื่อรักษา แต่ก็ไม่หายจากโรค ซึ่งเมื่อผู้ป่วยรู้แบบนี้แล้ว เขาก็เลือกที่จะไม่เดินเส้นทางนี้ เพราะเขาอยากที่จะอยู่สบาย ตายอย่างสงบ หรือที่เรียกว่า “ตายไม่กลัว กลัวทรมาน” มากกว่า ในทางกลับกัน ผู้ป่วยบางคนคิดว่าแม้จะไม่หายจากโรค แต่ก็จะสู้รักษาต่อไป หรือบางคนก็บอกว่าถ้าไม่หายจากโรค ก็จะขอใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ ซึ่งนี่เป็นที่มาของเยือนเย็น โดยเราก็จะเลือกดูแลผู้ป่วยที่คิดแบบนี้เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตตอนปลายอย่างมีความสุข สามารถที่จะอยู่กับลูกหลานและทำทุกอย่างที่ชอบได้โดยไม่ต้องกังวลกับความเจ็บปวดจากการรักษา ถ้าในวงการแพทย์เราเรียกการดูแลแบบนี้ว่าเป็นการดูแลแบบประคับประคอง หรือการดูแลแบบชีวาภิบาล (Palliative Care) โดยมุ่งเน้นไปที่การเติมเต็มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันสุดท้ายที่จะมาถึง โดยผู้ป่วยและครอบครัวสามารถวางใจได้ว่าแม้จะเป็นโรคมะเร็งก็ไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่สามารถรักษาที่บ้านได้


Q: เยือนเย็นดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมนี้อย่างไร แตกต่างจากการทำงานของโรงพยาบาลหรือไม่

A: เยือนเย็นเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ในการดูแลผู้ป่วยแต่ละครั้ง ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอยู่แล้ว หากผู้ป่วยและครอบครัวมีกำลัง ก็สามารถสนับสนุนค่าบริการเพื่อให้เยือนเย็นทำงานต่อไปได้ หรือหากไม่มีความพร้อมแต่อยากรักษาอยู่ที่บ้าน เยือนเย็นก็เปิดรับการสนับสนุนจากผู้ที่เชื่อในการทำงานของเรา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลตามกำลังของแต่ละคน ที่สำคัญคือหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย การรักษาที่บ้านจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมต่ำกว่าการไปรักษาที่โรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ที่บ้าน ซึ่งเราเชื่อว่าวิธีนี้เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับทั้งตัวผู้ป่วย และโรงพยาบาล ซึ่งแม้ว่าอาจจะเป็นรักษาฟรีตามสวัสดิการรัฐ แต่สุดท้ายแล้วระบบสุขภาพของรัฐก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้อยู่ดี เราเชื่อว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้านจะลดค่าใช้จ่ายให้กับระบบสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เพราะคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนตอนอยู่ที่โรงพยาบาล ที่ต้องมีการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ ฉีดยา ซึ่งทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ดังนั้นเราก็แค่เปลี่ยนจากการรักษาที่โรงพยาบาลมาเป็นการรักษาที่บ้านแทน ซึ่งนี่คือแนวคิดของเยือนเย็น

การทำงานของเรา คือ การดูแลคนที่มีความคิดตรงกัน คือ “ตายไม่กลัว แต่กลัวความทรมานมากกว่า”


Q: องค์กรมีรายได้จากช่องทางไหนบ้าง และผู้ป่วยต้องเสียค่าบริการไหม

A: รายได้มาจากครอบครัวผู้ป่วยจ่ายให้ตามกำลังทรัพย์ และองค์กร/ประชาชนทั่วไปที่เห็นความสำคัญในการทำงานของเรา ซึ่งตัวองค์กรเองจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางที่ต้องมีการใช้เวลาพูดคุยกับทั้งผู้ป่วยและครอบครัวทุกคน เพื่อวางแผนการในดูแลรักษาแบบประคับประคองที่บ้าน ทำให้ทุกคนสบายใจในการที่จะดูแลที่บ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลามากกว่าที่โรงพยาบาล ในครั้งแรกเราอาจจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่การคุยกันจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเกิดความสบายใจในการรักษามากขึ้น เมื่อวางแผนสำเร็จ หลังจากนั้นเราจะดูแลติดตามกันโดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เช่น การติดตามทาง LINE และเข้าไปเยี่ยมเยียนเมื่อผู้ป่วยต้องการหรือมีเหตุอันควรที่ควรจะเข้าไปเยี่ยม ในช่วงแรกจะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายตั้งต้นที่เยอะ แต่ว่าในที่สุดเมื่อเราเข้าใจกันดีแล้ว ค่าใช้จ่ายระหว่างทางจะน้อยมาก เพราะผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านจะใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่อยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายทั้งสองฝ่ายก็น้อยมาก ๆ หากมีการไปเยี่ยมบ้านอีกครั้งหนึ่งก็ถึงจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น โดยรวมแล้วจะคิดเป็นการลดของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดูแลผู้ป่วย


Q: ทำอย่างไรให้ครอบครัวของผู้ป่วย เชื่อมั่นในการดูแลแบบประคับประคอง

A: ในช่วงแรกเราต้องไปคุยกับทุกคนในครอบครัว ซึ่งสำคัญที่สุดคือการคุยกับผู้ป่วยว่าเขาคิดอย่างไร เชื่อเหมือนกันไหมที่ว่าไม่อยากพบความทรมาน ความเจ็บปวด และเขาอยากได้รับการดูแลรักษาแบบไหน จากนั้นเราจะทำให้ลูกหลานทุกคน ครอบครัว คู่ชีวิต ถ้าในกรณีผู้ป่วยเป็นเด็กก็จะคุยกับพ่อแม่ ให้เคารพในสิ่งที่ผู้ป่วยเลือก รวมถึงสร้างความเข้าใจ ปรับความคาดหวังและตอบคำถามทุกอย่าง เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าสิ่งที่ผู้ป่วยเลือก คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเอง นี่คือขั้นตอนแรกหรือที่เรียกว่า การประชุมครอบครัว เป็นสิ่งที่เราต้องนัดทุกคนให้มารวมตัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากที่โรงพยาบาล แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องมีการประชุมครอบครัวที่บ้านอยู่ดี  หลังจากนั้น เราจะทำขั้นตอนปรับแต่งการดูแล คือ การจัดการดูแลผู้ป่วยว่าควรดูแลแบบไหน จัดให้ตามความประสงค์ของผู้ป่วย เช่น บางบ้านต้องการถังออกซิเจนหรือว่าต้องการยา ซึ่งแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันออกไป ทางเราจะติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยครอบครัวหรือตัวผู้ป่วยเองสามารถปรึกษาเราได้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งเวลาครอบครัวพาผู้ป่วยไปเที่ยว มีความสุข ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถส่งรูปมาให้เราดูผ่าน LINE เพื่อจะติดตามความเคลื่อนไหวของอาการทุกอย่าง หากมีอาการมากขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนตัวยา ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดทรมานจากโรคมะเร็งหรือว่าโรคใดเลยจนถึงวันสุดท้าย สามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าอยู่สบายตายสงบที่บ้านได้ เรียกว่าเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนคงต้องการเหมือนกัน

“ การอยู่ที่บ้าน ตายที่บ้านในยุคนี้เป็นเรื่องดีต่อผู้ป่วย เพราะมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายสำหรับทุกคน บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานน้อยลง เพราะเรามาช่วยตรงนี้ ”


Q: ความยากและความท้าทายในการทำงานกับผู้ป่วยคืออะไร

A: หากมองเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนการทำงานของเราคือ เข้าไปเปลี่ยนแปลงผู้ป่วย แต่ที่จริงแล้วการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care เราจะค้นหาความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก แล้วปรับให้เขาได้สิ่งนั้น ซึ่งตรงข้ามกับการแพทย์กระแสหลักที่คอยบอกให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่วนความท้าทายหลักของเราคือเรื่องการโน้มน้าวญาติ และคนในครอบครัวบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ป่วยเลือก ยิ่งมีญาติเยอะ ความท้าทายก็ยิ่งเยอะ ญาติบางคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองและต้องการให้ผู้ป่วยทำตามสิ่งที่ตนเองคิด ดึงดันที่จะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งในกรณีแบบนี้ เราสามารถให้ผู้ป่วยแสดงความประสงค์โดยการเขียนจดหมาย หรือ “Living Will” ว่า “ฉันไม่ต้องการรับการรักษาจากโรงพยาบาล” พร้อมลงชื่อผู้ป่วย และหมอ เพื่อให้ญาติเคารพในความต้องการของผู้ป่วย และสุดท้ายก็สามารถยอมรับและตกลงตามความต้องการของเจ้าของชีวิต ซึ่งจะไม่ยุ่งยากเลยหากผู้ป่วยสามารถแสดงความประสงค์ว่าตนเองต้องการอะไร

แต่เรื่องนี้จะยากขึ้นมากหากว่าผู้ป่วยไม่ได้สติ หรือมีโรคทางสมองที่ไม่สามารถพูดสิ่งที่ตนเองต้องการได้ การตัดสินใจดังกล่าวก็จะตกอยู่ที่คนในครอบครัวที่ต้องประชุมหารือกันเพื่อหาทางออกว่า อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวผู้ป่วยเอง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือความเห็นที่ไม่ตรงกัน 100% ของคนในครอบครัว บางคนก็ไม่เห็นด้วย หรือบางอย่างเราก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยเพราะเขาไม่มีโอกาสได้พูด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือการได้พูดคุยกับผู้ป่วยตั้งแต่ตอนที่ยังมีสติ หรือสามารถแจ้งความต้องการได้ เพื่อที่เราจะได้ดูแลจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ป่วยจริง ๆ เรายังต้องเป็นบุคคลตรงกลาง ทำหน้าที่แทนผู้ป่วยในบางสถานการณ์ เพื่อชักจูงให้คนในครอบครัวได้ตัดสินใจแทนผู้ป่วย มิใช่ตัดสินใจตามความต้องการของคนในครอบครัว ซึ่งเราก้าวผ่านมาได้ด้วยประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย และพูดคุยกับคนในครอบครัวมาเยอะพอสมควร

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายของผู้มาเยี่ยมที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลจากเยือนเย็น มักมาแนะนำผู้ป่วยให้เปลี่ยนวิธีการรักษากลางทาง เราก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ไขว้เขวกับคำพูดของผู้อื่น แม้บางครั้งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยบางรายถึงขั้นเปลี่ยนแผนการดูแลเพราะผู้ที่มาเยี่ยมมีอิทธิพลทางความคิด โน้มน้าวได้ ซึ่งเราเองก็ต้องชี้แจงให้ครอบครัวทราบเพิ่มเติมว่าหากกลับไปรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยจะต้องพบกับความเจ็บปวดทรมานมากกว่านี้ ซึ่งบางครั้งเราเองก็มองว่า ในสังคมไทย ความหวังดีบางทีก็ทำร้ายคนได้เหมือนกัน


Q: การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือที่เรียกว่า Palliative Care เหมือนเป็นการออกแบบความตายของคนหรือเปล่า

A: ใช่ครับ เรียกว่าเป็นการดูแลเพื่อเน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึ่งเรารู้ว่ามันรักษาไม่หาย เป็นโรคที่ถึงแก่ชีวิต วิธีการแบบนี้เราจะบำบัดความทุกข์ทั้งมวลเช่น ความปวด ซึ่งไม่ใช่แค่บรรเทาปวด แต่ว่าทำให้ความปวดหายเกลี้ยง ต้องไม่ปวดสักวันหนึ่ง นี่คือเป้าหมายของเรา เราเน้นว่าเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรให้สร้างสรรค์ เติมเต็มคุณภาพชีวิต นี่คือส่วนเล็ก ๆ แต่เป็นส่วนสำคัญที่สุดคือ เราจะให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตให้เต็มที่ได้อย่างไร ซึ่งคำว่าเต็มที่ของแต่ละคนก็ต่างกันเช่น บางคนบอกว่าการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขคือ การกินของอร่อย บางคนบอกว่าคือ การไปเที่ยว บางคนบอกว่าการมีความสุขของฉันคือ การอยู่ที่บ้าน ปฏิบัติธรรม แต่ละคนมีมิติของคุณภาพชีวิตที่ไม่เหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาและเติมเต็ม และหากมีญาติบางคนที่ต้องการขัดขวางคุณภาพชีวิต เราก็จะต้องเข้าไปคุยโน้มน้าวญาติเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตแบบที่เขาต้องการ เรียกว่าเป็นวิธีค้นหา เติมเต็มและทำให้มันเกิดขึ้น เพื่อให้ตัวผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจตรงกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญที่จะทำให้เกิดขึ้น

สรุปแล้ว คุณภาพชีวิตหมายถึง การบำบัดความปวดอย่างเต็มที่ การบำบัดอาการทรมานทั้งหลายอย่างเต็มที่ และการเติมเต็มทางด้านจิตวิญญาณซึ่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราจะไม่ใช้คำนี้ในการดูแลผู้ป่วยเพราะมันไม่ใช่คำที่ฟังดูแล้วเข้าใจได้ ก็เลยไม่ได้ใช้คำนี้กับผู้ป่วย เราจะใช้คำว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเพื่อความเข้าใจง่าย และถือเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานของเรา

“ การเคารพในการตัดสินใจของผู้ป่วยนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานของเรา และเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขกับการมีชีวิตอยู่จนดับไป ”


Q: อัตราการรักษาที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไรบ้าง มีแบบไม่ประสบความสำเร็จบ้างไหม ผู้ป่วยเป็นอย่างไร

A:  เราสามารถทำให้ผู้ป่วยที่เลือกที่จะจากไปที่บ้านได้ร้อยละ 66 สามารถเสียชีวิตที่บ้านได้ตามความตั้งใจ และผู้ป่วยอีกร้อยละ 25 ที่เหลือมีเหตุที่ต้องไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่ก็มีน้อยมากที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้กลับบ้านเลย หรือว่าตั้งใจไว้ แต่มีเหตุให้ไม่ได้กลับบ้านแล้วเสียชีวิตก่อน หลายคนคิดว่าการตายที่บ้านยุ่งยาก แต่แท้จริงแล้วง่ายมากคือ แจ้งตำรวจแล้วไปวัดเลย ไม่ต้องส่งร่างไปผ่าศพพิสูจน์ เพราะมีหมอของเราดูแลและจัดการได้ทุกอย่าง ปกติญาติจะมีความกังวลอยู่ในใจ แต่เราก็ทำงานมามากพอที่จะให้ความมั่นใจว่าขั้นตอนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เรามองว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องสอนและทำความเข้าใจ เพื่อแก้ไขความทรงจำที่ไม่ดีในอดีตของญาติเรื่องของการตายที่บ้าน


Q: คุณหมอเป็นผู้สั่งยา หรือว่าไปปรึกษากับแพทย์เจ้าของไข้ในการจัดการความเจ็บปวดของผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการดูแลที่บ้าน

A:   มีทั้ง 2 แบบ เพราะบางครั้งคุณหมอที่ดูแลคนไข้ใช้สิทธิทางการแพทย์อะไรบางอย่างในการเบิกใช้ยา วิธีการบำบัดของเราคือ การติดตามอย่างต่อเนื่อง พูดคุยเรื่องอาการกับผู้ป่วยทุกวัน หากอาการปวดไม่หาย ก็ต้องเพิ่มยาเข้าไป ซึ่งเราจะเป็นผู้แนะนำเรื่องการใช้ยาจนผู้ป่วยหายเจ็บปวด ญาติและผู้ป่วยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตรายใด ๆ  เพราะทุกปัญหาเราสามารถจัดการได้หมด ถ้าเขามียาอยู่แล้ว เราก็จะแนะนำเรื่องการกิน หรือหากเขาไม่มียา เราก็จะสั่งยาให้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพดี และสามารถรักษาอาการปวดได้ เช่น มอร์ฟีน ซึ่งเราไม่สามารถฉีดให้ผู้ป่วยที่บ้านได้ แต่ก็ต้องคุยกับทางครอบครัวเพื่อสร้างความเข้าใจว่า ยากินจะบำบัดอาการปวดให้หายไปได้อย่างปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดการเสพติด


Q: ปัจจุบันมีการดูแลผู้ป่วยไปแล้วกี่ราย มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง

A:   มีการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมาแล้วจำนวนกว่า 300 ราย โดยมีผู้ป่วยมะเร็งเป็น 3 ใน 4 และ ไม่ใช่โรคมะเร็ง อีก 1 ใน 4 เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลงลืม โรคไตวาย เป็นต้น โดยมากผู้ป่วยจะเป็นโรคผู้สูงอายุ มีอายุเฉลี่ย 70 ปี โดยการดูแลของเราสำหรับผู้สูงอายุมีตั้งแต่อายุ 75 -100 ปี การที่เราสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ ทำให้ทุกคนอยู่บ้านได้และไม่ต้องมานอนโรงพยาบาลอีกเลย สิ่งนี้จะสามารถลดโรคติดเชื้อระหว่างที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล โรคเหล่านี้จะหายไปเลยและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ญาติเองก็มีภาระงานน้อยลง แม้ว่าผู้ป่วยทั้งหมดต้องเสียชีวิตในบั้นปลาย แต่การที่เราได้ดูแลผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 4 ชั่วโมง – 4 ปี ก็พอจะเห็นชัดเจนว่าการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอาจทำให้ผู้ป่วยมีอายุนานขึ้น เพราะสภาพจิตใจดี โรคแทรกน้อย แต่ประเด็นหลักเลยก็คือ ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข แวดล้อมไปด้วยความรัก อยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย เป็นสิ่งที่ดีเกินกว่าที่เราคิดไว้มาก


Q: ผู้ป่วยได้อะไรจากเรา เราได้อะไรจากผู้ป่วย

A:   ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ตรงกับใจเขา ส่วนเราก็ได้ดูแลตามความเชื่อของเราในเรื่องของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย คือเรียกว่าใจตรงกัน ถ้าคุยกับผู้ป่วยแล้วเขาต้องการต่อสู้กับความตาย ก็ให้หมอที่โรงพยาบาลดูแล แต่หากผู้ป่วยคิดว่าตายไม่กลัว แต่กลัวความเจ็บปวด ทรมาน ทางเราก็จะรับหน้าที่ดูแลแทน เป็นการนำคนที่มีความคิดตรงกันมาดูแลกัน เราเองได้ทำงานที่สุดยอด เพราะเราชอบงานนี้มาก

มีการบริการด้านสิ่งของเครื่องใช้ในการดูแลผู้ป่วย

Q: เยือนเย็นมีเป้าหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง

A:   เราต้องการให้ผู้ป่วยทุกคนได้เข้าถึงสิทธิการดูแลรักษาพยาบาลที่บ้าน เพราะมีผู้ป่วยร้อยละ 25 ไม่สามารถจ่ายค่าบริการตรงนี้ได้ แม้ว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้การรักษานั้นฟรีก็จริง แต่ระหว่างการรักษาก็จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัว และมีคุณภาพชีวิตลดลง เพราะผู้ป่วยต้องไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่การรักษาอยู่บ้าน ญาติต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถึงแม้จะน้อยก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอยู่ไกล เราก็ยินดีที่จะไป เพราะเราเชื่อว่าทุกคนไม่ควรต้องทนปวดเพียงเพราะไม่มีเงิน ต้องทำให้ผู้ป่วยหายปวดให้ได้ เราจะเป็นหน่วยงานดูแลที่บ้านมีการบริการครบวงจร (One Stop Service) ทำเองได้ทุกอย่าง สร้างความแตกต่างให้กับแต่ละครอบครัว นับว่าเป็นความภูมิใจขององค์กร เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่บ้าน และได้จากไปอย่างสงบ เราเชื่อว่าทุกคนต้องการการบริการนี้ เพียงแต่ว่าเขาจะได้รับการบริการรูปแบบไหน เมื่อไหร่ ที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่ควรจะต้องเจ็บตัวเพื่อรับการรักษา

สำหรับเป้าหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม สามารถแยกออกเป็น 2 หัวข้อหลัก คือ

  1. เราต้องการให้ผู้ป่วยหรือญาติได้รับการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อที่จะได้มีทางเลือกในการรักษา
  2. เราต้องการให้มีผู้ป่วยใช้การดูแลแบบประคับประคองให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีความสามารถในการจ่ายค่าบริการหรือไม่มีก็ตาม เราเองก็อยากที่จะให้เขาเข้าถึงการบริการเช่นเดียวกัน ซึ่งหากการดูแลแบบประคับประคองสามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว เราเชื่อว่าเป้าหมายนี้ย่อมเป็นไปได้แน่นอน

Q: มีวิธีวัดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง

A:   หากคนไข้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เราเลยหาข้อมูลวิจัยจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่เสียชีวิตภายใน 6 เดือน ต้องมีการนอนโรงพยาบาล 20 วันก่อนเสียชีวิต มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระบบต่อคนที่ 50,000 บาท ถ้าเราสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ ค่าใช้จ่ายก็จะเหลือ 0 บาท ประหยัดได้ต่อรายที่ 50,000 บาท ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และปัจจุบันดูแลไป 300 คน สามารถประหยัดเงินในระบบได้ 6 ล้านบาท เราเชื่อว่าจะประหยัดให้กับชาติโดยที่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป

และหากมองเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) การทำงานของเราถือว่าตอบโจทย์เป้าหมายข้อที่ 3 เรื่องการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) ค่าใช้จ่ายตรงส่วนที่ต้องสูญเสียไปนี้สามารถนำไปทำอย่างอื่นที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ถือว่าเราลดความจำเป็นในการใช้โรงพยาบาล โรคไหนที่รักษาหายได้ก็ให้ระบบโรงพยาบาลจัดการ แต่หากโรคไหนที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้วมีค่าใช้จ่ายก็ให้เราดูแลแทน

“ เราเพียงแค่ต้องการการสนับสนุนให้คนได้เข้าถึง เพื่อการดูแลได้ทุกส่วน
และตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นภายในสังคม ”


Q: อะไรคือสิ่งที่เยือนเย็นรอให้เกิดขึ้น ที่จะช่วยให้องค์กรทำงานได้ดีขึ้น ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น

A:   หากงานของเราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จะทำให้การทำงานของเราก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น เพราะจะได้มีงบประมาณมาสนับสนุนคนที่ต้องการเลือกการดูแลผู้ป่วยแบบนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ไม่รู้จักกับการดูแลแบบประคับประคองอีกมาก ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ นอกจากนี้หน่วยงานของเราทำหน้าที่แทนประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้บ้าง เพียงแต่เยือนเย็นไม่ใช่สถานบริการพยาบาล เราจึงต้องพูดคุยกับหน่วยงานเพื่อหาช่องทางให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ารับรองการให้บริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและให้การดูแลได้ทุกส่วนตอบโจทย์ทุกฝ่ายทำให้เกิดความยั่งยืน


Q: อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านหรือผู้ที่มีความสนใจในเยือนเย็น

A:   ความท้าทายในการทำงานของพวกเราคือ การสร้างการรับรู้และการสร้างความเข้าใจของสังคมต่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยอยากได้สิ่งนี้เพียงแต่ไม่รู้ว่ามันมี ก็เลยทำให้การบริการแบบนี้เข้าไม่ถึงญาติ และลูกหลาน แม้ว่าทัศนคติในช่วงท้ายของชีวิตระหว่างผู้ป่วยและญาติจะแตกต่างกัน แต่เราก็อยากให้ทุกคนรู้ว่าคนไข้ที่ทำใจยอมรับได้แล้วเขาควรจะได้อยู่ที่บ้าน และผู้ป่วยเองควรมีสิทธิ์เรียกขอใช้บริการแบบนี้ได้เช่นเดียวกับที่เลือกใช้บริการกับทางโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในระยะสุดท้ายแบบที่ตัวเองต้องการจริง ๆ


อ่านจบแล้ว หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือทำความรู้จักเยือนเย็นให้มากขึ้น…
คุณสามารถติดต่อเยือนเย็นได้ที่
บริษัท เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม
Facebook : เยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
LINE : yyen2018
เบอร์โทร : 080-7766712 สามารถโทรคุยหรือว่าปรึกษากับเยือนเย็นได้เลย


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ทลปภร ปัญโยรินทร์