เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) ได้เข้าร่วมกิจกรรม “Discover Chiang Rai: Embracing the Richness of Life” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “MICE ม่วนใจ๋ Northern MICE Thailand” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE) ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่น
กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) โดยมีสมาชิกของสมาคมฯ ได้แก่ Local Alike และ The Next Forest เข้าร่วมในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ และมีบทบาทในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
เส้นทางแรกของการเดินทางในครั้งนี้ เน้น “รากมรดกวัฒนธรรมเชียงราย” ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ อนุรักษ์ และต่อยอดวัฒนธรรมล้านนาให้สอดรับกับยุคสมัยใหม่ และสามารถรองรับการจัดกิจกรรมด้าน MICE ได้อย่างมีเอกลักษณ์และคุณค่า
การเดินทางเริ่มต้นที่ Sawanbondin Tea House & Experience ซึ่งเป็นคาเฟ่ชาออร์แกนิกที่ดำเนินงานร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่นโดยใช้หลักการเกษตรยั่งยืน เพื่อส่งเสริมรายได้และคุณภาพชีวิตของชุมชน ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มผ่านการออกแบบประสบการณ์เชิงวัฒนธรรม
ต่อเนื่องด้วยการเยี่ยมชม อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง แหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เข้ากับภูมิปัญญาและงานหัตถกรรมล้านนา ผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะ วิถีชีวิต และสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดมาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ซึ่งสามารถกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับกิจกรรม MICE ที่แสดงอัตลักษณ์ได้อย่างโดดเด่น
จากนั้นคณะเดินทางได้เข้าสู่ พิพิธภัณฑ์ลื้อ ลายคำ บ้านศรีดอนชัย พื้นที่แสดงผลงานทอผ้าแบบดั้งเดิมของชุมชนไทลื้อ พร้อมพูดคุยกับผู้ผลิตในท้องถิ่นที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาในการทอผ้าลวดลายโบราณ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างรายได้และโอกาสในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
หนึ่งในจุดหมายสำคัญคือ เฮือนไทลื้อ 100 ปี บ้านไม้โบราณที่ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวล้านนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต้อนรับที่มีคุณภาพ
ปิดท้ายการเดินทางด้วยการเข้าสักการะ วัดพระแก้ว เชียงของ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของประชาชนริมแม่น้ำโขง และเป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว
ตลอดการเดินทางในเส้นทางแรกนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดเชียงรายในฐานะ จุดหมายปลายทางของการจัดงาน MICE ที่สามารถสร้างคุณค่าร่วมทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างของการบูรณาการกิจกรรมธุรกิจเข้ากับการพัฒนาชุมชนในระยะยาว
สมาคมธุรกิจเพื่อสังคมขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และทุกภาคส่วนในพื้นที่เชียงรายที่ร่วมกันเป็นแรงผลักดันในการสร้างระบบนิเวศของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และขอเชิญชวนติดตามเส้นทางต่อไปของโครงการ “MICE ม่วนใจ๋” ที่จะมีเนื้อหาสาระและแรงบันดาลใจเพื่อธุรกิจเพื่อสังคมอีกมากมาย